“เค้ก” ของหวานยอดฮิตทุกเทศกาล ย้อนความเก่าไปได้แค่ไหน คนไทยรู้จักเค้กตั้งแต่เมื่อไหร่

เค้ก
เค้ก ชนิดต่างๆ (ภาพถ่าย นุสรา สมบูรณ์รัตน์)

เค้ก ของหวานที่รู้กันแพร่หลายในชีวิตประจำวัน เรากินเค้กในโอกาศกาสพิเศษๆ หรือเทศกาลต่างๆ เช่น วันเกิด, วันแต่งงาน, เทศกาลคริสต์มาส, เทศกาลปีใหม่ รวมถึงวันที่เราเกิดอยากกิน 

เค้ก (Cake) มีรากศัพท์มาคำว่า “kaka” ซึ่งเป็นภาษาของชาวไวกิ้ง (Old Norse Word) หากมีการค้นพบหลักฐานการอบเค้กเก่าแก่ที่สุดโดยชาวอียิปต์โบราณ ช่วงศตวรรษที่ 13 ซึ่งขนมดังกล่าวมีรสชาติคล้ายเป็นเค้กผลไม้ และGinger bread

กลางศตวรรษที่ 17 ในยุโรป เป็นช่วงที่มีการพัฒนาของสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวกับทำเค้ก เช่น พัฒนาการของเตาอบ, แบบพิมพ์ขนม, น้ำตาลทราย โดยที่เค้กรสผลไม้เป็นรสชาติที่ได้รับความนิยม

ค.ศ. 1843 (พ.ศ. 2386) อัลเฟรด เบิร์ด (Alferd Bird 1811-1878) นักเคมีชาวอังกฤษค้นพบ ผงฟู (Baking powder) เนื่องจากภรรยาเขาแพ้เกี่ยวกับไข่และยีสต์ ทำให้สามารถทำขนมปังชนิดที่ไม่มียีสต์ได้เป็นครั้งแรก และขนมอบอื่นๆ

สำหรับประเทศไทย เค้ก เข้ามาเมื่อใดไม่มีหลักฐานชัดเจน แต่เมื่อ พ.ศ. 2480 เค้กยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย มีเพียงผู้ที่ใกล้ชิดกับชาวต่างประเทศที่เข้ามาทำธุรกิจ เวลานั้นแม้แต่ในกรุงเทพฯ เอง ร้านเบเกอรี่ก็มีไม่มากนัก ส่วนใหญ่จะอยู่ในย่านถนนเจริญกรุง หนึ่งในร้านยุคแรกนี้คือ “ร้านมอนโลเฮียงเบเกอรี่”

ต่อมา พ.ศ. 2490 เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ประเทศไทยมีการติดต่อค้าขายทำธุรกิจกับชาวต่างชาติ และบางส่วนก็เข้ามาท่องเที่ยว ทำให้ธุรกิจโรงแรมขยายตัว จึงต้องผลิตขนมอบชนิดต่างๆ เช่น ขนมเค้ก ขนมปัง ฯลฯ เพื่อบริการลูกค้าและนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่ไม่คุ้นเคยกับอาหารไทย

เค้ก ก็เหมือนอาหารและสิ่งของอื่นๆ จากต่างประเทศ ที่ส่วนใหญ่จะแพร่หลายในกลุ่มชนชั้นนำในสังคมก่อน ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ บันทึกไว้ว่า “นับแต่นายปรีดีหลบหนีไป นอกจากทำหน้าที่แม่แล้ว ข้าพเจ้ายังต้องทำหน้าที่พ่อด้วย ดูแลอบรมสั่งสอนลูกๆ ข้าพเจ้าหางานอดิเรกด้วยการทำขนมเค้กขาย บางทีก็เป็น Marble cake บางทีก็เป็นขนม Blitz torte ญาติมิตรชมว่าขนมอร่อย แต่รายได้ไม่มากนัก เพราะข้าพเจ้าใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ ราคาย่อมสูงตามคุณภาพของขนม…Marble cake ที่ข้าพเจ้าทำขายชิ้นละ 1 บาท ในตอนนั้นถือว่าราคาแพงแล้ว” (สั่งเน้นโดยผู้เขียน)

ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช กล่าวถึง เค้กในเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2497 ว่า คนไทยเริ่มนิยมให้เค้กเป็นของขวัญปีใหม่ โดยร้านที่มีชื่อที่สุดเวลานั้นคือ “ร้านกวงเซี่ยงเฮียง” ที่มีราคาตั้งต้นที่ 40 บาท ซึ่งถือว่าแพงในสมัยนั้น

ชุลี สารนุสิต หนึ่งในสมาชิก กบฏบวรเดช บันทึกประสบการณ์ถูกกุมขังที่คุกบางขวาง 6 ปี ช่วงหนึ่งเอ่ยถึงรายการอาหารไว้ว่า

“ชีวิตปีแรกในคุกบางขวางการกินอยู่ของพวกเราฟุ่มเฟือยมาก มื้อเช้า กาแฟ ขนมปังกรอบฮันทเลย์แอนด์ปาลเมอร์ เนยตราวัว นมข้นหวานตราหมี ตับห่านกระป๋อง มื้อกลางวันขนมปังสดหรือขนมปังอบกับแฮมหรือไส้กรอกจากซุ่ยเฮงหรือโอเรียนเต็ลโฮเตล หากมีญาติมาเยี่ยม อาจได้กินไอศกรีมจากออนล็อกหยุ่น เค็กจากมอนโลเฮียง หูฉลามร้อนๆ จากแป๊ะม้อ ผลไม้ตามฤดูกาลจากตลาดบางลำภูหรือสพานหัน” (สั่งเน้นโดยผู้เขียน)

สมัยสงครามเวียดนาม (พ.ศ. 2498-2518) ประเทศไทยเป็นที่พำนักของทหารอเมริกันจำนวนมาก กิจการร้านเบเกอรี่เฟื่องฟูมากขึ้น เค้ก, ขนมปัง, คุกกี้ ฯลฯ เป็นที่นิยมแพร่หลาย จนมีการก่อตั้ง “โรงโม่แป้งสาลี” ขึ้นในประเทศไทย โรงโม่แป้งสาลีในยุคแรกๆ ได้แก่ บริษัทยูไนเต็ดฟลาวมิลล์, บริษัทสยามฟลาวมิลล์, บริษัทแหลมทองสหการ ฯลฯ ต่อมาบางบริษัทก็ผลิตเค้กและเบเกอรี่อื่นจำหน่าย รวมถึงเปิดสอนเป็นหลักสูตรระยะสั้นต่างๆ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

สุธิชา ภมรเวชวรรณ. โครงการร้านขนมหวานและอาหารว่างครบวงจร (Sweet Sphere), การค้นคว้าอิสระตามหลักสูตร นิเทศศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารธุรกิจบันเทิงและการผลิต มาหวิทยาลัยกรุงเทพฯ

เอกสารหน่วยที่ 1 ความรู้เบื้องต้นในการทำเค้ก และการแต่งหน้าเค้ก. เว็บไซต์วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี

อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ. “มองสังคมไทยผ่านขนมเค้กของท่านผู้หญิงพูนสุข” ใน, เว็บไซต์ สถาบันปรีดี พนมยงค์.

ชุลี สารนุสิต. แดนหก, โรงพิมพ์สมรรถภาพ พ.ศ. 2488.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 ธันวาคม 2566