“พระบาง” พระพุทธรูปสำคัญแห่งล้านช้าง ที่สยามอัญเชิญมา-อัญเชิญกลับ ถึง 2 ครั้ง!

พระบาง พระพุทธรูป ล้านช้าง
พระบาง

“พระบาง” เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์แห่ง “ล้านช้าง” ที่ในสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ มีการอัญเชิญมายังราชสำนักสยาม แต่แล้วก็มีการอัญเชิญกลับถึง 2 ครั้ง เป็นเพราะเหตุใดกัน?

เรื่องนี้ ปฐมพงษ์ สุขเล็ก เล่าไว้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม ปี 2556 ว่า การอัญเชิญ “พระบาง” มาสู่ราชสํานักไทยทั้ง 2 ครั้ง ล้วนแต่เกิดจากการขนย้ายทรัพย์สินไพร่พลในฐานะฝ่ายที่มีชัยชนะทั้งสิ้น

การอัญเชิญ “พระบาง” สมัยพระเจ้าตาก

ปฐมพงษ์ เล่าว่า ใน พ.ศ. 2322 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ยกทัพไปปราบกบฏเมืองเวียงจันทน์ เมื่อปราบกบฏเรียบร้อยแล้วได้ขนย้ายกวาดต้อนบรรดาเชื้อพระวงศ์ ทรัพย์สินมีค่าต่าง ๆ รวมถึง พระบาง และ พระแก้วมรกต กลับมายังกรุงธนบุรีด้วย

เมื่อพระเจ้าตากทรงทราบว่า สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพกลับกรุงธนบุรีพร้อมด้วยพระบางและพระแก้วมรกต ก็ทรงจัดแต่งสถานที่ และการมหรสพในการสมโภช รวมถึงเสด็จพระราชดําเนินไปรับพระพุทธรูปสำคัญทั้งสองด้วยพระองค์เอง

อย่างไรก็ดี หลังเหตุการณ์การสมโภชพระบางข้างต้นแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีการกล่าวถึงพระบางอีกเลยตลอดสมัยกรุงธนบุรี

เรื่อง “พระบาง” มาปรากฏอีกครั้งสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ เจ้านันทเสน ทูลขอพระราชทานพระบางคืนกลับไปล้านช้าง และ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ก็ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบางคืนให้

เหตุใดเจ้านันทเสนถึงกล้าทูลขอพระราชทาน? ทั้งที่ “พระบาง” เป็นสัญญะของอํานาจเหนือล้านช้างของรัชกาลที่ 1

สาเหตุของการพระราชทานพระบางกลับคืนล้านช้าง น่าจะมีสาเหตุจากความเชื่อเรื่อง “ผีรักษาพระพุทธรูป” ที่เจ้านันทเสนกราบทูลต่อรัชกาลที่ 1 ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขํา บุนนาค) ดังนี้ (เว้นวรรคและย่อหน้าใหม่โดย กอง บก.)

“พระแก้วกับพระบางมีปิศาจที่รักษาพระพุทธรูปไม่ชอบกัน ถ้าอยู่ด้วยกันเมืองใดก็ไม่มีความสบายที่เมืองนั้น การเห็นเป็นอย่างมา 3 ครั้ง แล้วคือ

“แต่เมื่อครั้งพระแก้วมรกตอยู่เมืองเชียงใหม่ กรุงศรีสุตนาคนหุตก็อยู่เย็นเป็นสุข ครั้งพระเจ้าไชยเชษฐาเชิญพระแก้วมรกตจากเมืองเชียงใหม่ไปไว้ด้วยกับพระบางที่เมืองหลวงพระบาง เมืองเชียงใหม่ก็เป็นกบฏต่อกรุงศรีสุตนาคนหุต แล้วพม่ามาเบียดเบียนจนต้องย้ายราชธานีลงมาตั้งอยู่ ณ นครเวียงจันทน์

“ครั้นอัญเชิญพระบางลงมาไว้นครเวียงจันทน์กับพระแก้วมรกตด้วยกันอีก ก็เกิดเหตุจลาจลต่าง ๆ บ้านเมืองไม่ปกติจนเสียนครเวียงจันทน์ให้กับกรุงธนบุรี

“ครั้งอัญเชิญพระแก้วมรกตกับพระบางลงมาไว้ด้วยกันในกรุงธนบุรี ไม่ช้าก็เกิดเหตุจลาจล ขออย่าให้ทรงประดิษฐานพระบางกับพระแก้วมรกตไว้ด้วยกัน”

หลังจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ปราบดาภิเษก สร้างพระนคร รวมถึงวัดพระศรีรัตนศาสดารามเรียบร้อยแล้ว เอกสารทางประวัติศาสตร์ฉบับต่างๆ ได้กล่าวถึงแต่เพียง “พระแก้วมรกต” ในการอัญเชิญมาสู่พระนครแห่งใหม่ และอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ปฐมพงษ์ ผู้เขียนบทความระบุว่า สำหรับพระบางนั้น เชื่อว่าน่าจะอัญเชิญจากโรงพระราชวังเดิมมาพร้อมกัน หากไม่นํามาประดิษฐานในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ก็น่าจะต้องอยู่ในเขตพระบรมมหาราชวัง เพราะเป็นพระพุทธรูปสําคัญทั้ง 2 องค์ ที่พระองค์เองเป็นผู้อัญเชิญมาจากล้านช้าง

ดังนั้น เหตุผลเรื่องความเชื่อ “ผีรักษาพระแก้วมรกต” และ “ผีรักษาพระบาง” ไม่ถูกกัน จนทําให้บ้านเมืองทั้ง 3 แห่งที่อัญเชิญพระพุทธรูปทั้ง 2 องค์ไว้ด้วยกันเกิดเหตุร้าย จนถึงขั้นเสียบ้านเสียเมือง อีกทั้งในขณะกรุงรัตนโกสินทร์อยู่ในช่วงเวลาเริ่มก่อร่างสร้างเมือง รัชกาลที่ 1 จึงพระราชทานพระบางกลับคืนสู่ล้านช้าง สอดคล้องกับที่เจ้านันทเสนกล้ากราบทูลขอพระราชทานพระบางกลับคืนสู่ล้านช้าง เพราะเจ้านันทเสนเองเป็นผู้ที่แจ้งเรื่องผีรักษาพระพุทธรูปทั้งสอง

การอัญเชิญครั้งที่ 2 สมัย “พระนั่งเกล้าฯ”

ปฐมพงษ์ เล่าว่า พระบาง ถูกอัญเชิญมาสู่ไทยเป็นครั้งที่ 2 ในสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยเหตุเจ้าอนุวงศ์เป็นกบฏ พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้ พระยาราชสุภาวดี ซึ่งต่อมาคือ เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ยกทัพไปปราบ

เมื่อปราบกบฏเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ได้นําพระบางกลับลงมาสู่กรุงรัตนโกสินทร์ด้วย จึงมีประเด็นที่น่าสนใจว่า เจ้าพระยาบดินทรเดชา “รู้” หรือ “ไม่รู้” เรื่องผีรักษาพระบาง เพราะหากรู้เรื่องผีรักษาพระบาง เหตุใดเจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงนําพระบางกลับมาสู่กรุงรัตนโกสินทร์อีก

ย้อนไปครั้งที่รัชกาลที่ 1 พระราชทานพระบางกลับคืนสู่ล้านช้าง ซึ่งน่าจะเกิดราวๆ พ.ศ. 2327 คราวนั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชาอายุได้ไม่กี่ปี ต่อมา เจ้าพระยาอภัยราชา (ปิ่น) ผู้เป็นบิดา ได้นําตัวนายสิงห์เข้ารับราชการในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร พระราชโอรสในรัชกาลที่ 1 ที่ทรงมีพระราชสมภพ เมื่อ พ.ศ. 2310

เมื่อเทียบเหตุการณ์การพระราชทานพระบางกลับคืนล้านช้าง ช่วงเวลานั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร มีพระชนมายุราว 16 พรรษา เมื่อพิจารณาถึงเรื่องพระชนมายุ และการสนองงานในราชสํานัก จึงน่าจะเป็นไปได้ว่า พระองค์ทรงรับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องผีรักษาพระแก้วมรกตและผีรักษาพระบางไม่ถูกกัน

รัชกาลที่ 3 ทรงรับรู้เรื่องผีรักษาพระแก้วมรกตและพระบาง จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) อัญเชิญไปไว้วัดจักรวรรดิราชาวาส เพราะเป็นพระอารามที่อยู่นอกพระนคร เพื่อไม่ให้ใกล้ชิดกับพระแก้วมรกต ที่ประดิษฐานอยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง ปรากฏหลักฐานดังนี้

“ครั้นเมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว…จึงทรงพระราชศรัทธาให้เชิญพระบาง พระแฑรกคํา พระฉันสมอ ไว้ในหอพระนาค วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ครั้นภายหลังได้ทรงสดับการแต่หลังมา จึงทรงดําริว่า จะขัดแก่การซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ได้ทรงบังคับมาแต่ก่อน เพื่อจะให้เป็นมงคลแก่พระนครหาควรไม่ ควรจะให้พระมีชื่อซึ่งลาวนับถือว่ามีปิศาจสิง 3 พระองค์ให้ไปอยู่ภายนอกพระนคร

“จึ่งพระราชทานพระบางให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาเชิญไปไว้วัดกระวัดราชาวาศ พระราชทานพระฉันสมอ ให้เจ้าพระยาพลเทพ (ฉิม) ไปไว้วัดอับษรสวรรค์ พระราชทานพระแฑรกคําให้พระยาราชมนตรี (ภู่) ไปไว้วัดคฤหบดี เป็นภายนอกพระนครทั้งสามพระองค์”

จากเหตุผลข้างต้น จึงน่าจะเชื่อได้ว่า เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) รับรู้เรื่องความเชื่อเรื่องผีรักษาพระแก้วและพระบางไม่ถูกกัน จากคําบอกเล่าของผู้คนในราชสํานัก หรือคําเล่าของบิดาก็เป็นได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ เหตุผลที่เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) อัญเชิญพระบางกลับมาสู่ราชสํานักไทยเป็นครั้งที่ 2 จึงน่าจะเป็นการแสดงถึงแสนยานุภาพของฝ่ายที่มีชัยชนะเหนือศัตรู กล่าวคือ พระบางถือเป็นสัญญะแห่งอํานาจเหนือล้านช้าง

เข้าสู่รัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พบหลักฐานว่า เสนาบดีเข้าชื่อกันทําเรื่องราวทูลเกล้าฯ ถวาย เรื่องราษฎรกล่าวว่าพระบางทําให้ฝนแล้ง เป็นที่โจษจันไปทั่ว ทำให้ท้ายที่สุด พ.ศ. 2409 พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ เจ้าอุปราชเมืองหลวงพระบาง อัญเชิญพระบางกลับสู่ล้านช้าง (หลวงพระบาง) เช่นเดิม

เหตุผลในการพระราชทานพระบางคืนกลับไปสู่ “ล้านช้าง” ในครั้งที่ 2 ไม่ต่างกับเหตุผลครั้งแรก คือการเชื่อถือว่า ผีรักษาพระพุทธรูปทั้ง 2 องค์ เมื่ออยู่เมืองใดเมืองนั้นย่อมประสบความเดือดร้อน นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2566