ทำไม ผีรักษาพระแก้วมรกต กับ ผีรักษาพระบาง ถึงเป็นอริกัน?

ภาพวาด พระแก้วมรกต
พระแก้วมรกตทรงเครื่องสามฤดู ภาพวาดบนผืนผ้าที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้คณะราชทูตสยามเชิญไปถวายพระจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส เมื่อ ค.ศ.1861 (พ.ศ.2404) ปัจจุบันเก็บรักษาและจัดแสดงในพระราชวังฟองแตนโบล ประเทศฝรั่งเศส

คติโบราณหนึ่งของชาวล้านช้างเชื่อถือกันว่า พระพุทธรูปสำคัญมี “ผี” คือเทวดารักษาทุกพระองค์ ผู้ปฏิบัติบูชาจำต้องเซ่นสรวงผีที่รักษาพระพุทธรูปด้วย เพราะถ้าผีนั้นไม่ได้ความพอใจ ก็อาจบันดาลให้เกิดภัยอันตรายต่างๆ นอกจากนี้ หาก “ผีรักษาพระพุทธรูป” เป็นอริกัน ถ้านำพระพุทธรูปนั้นมาตั้งบูชาไว้ใกล้ ก็มักเกิดภัยอันตราย เพราะ ผีรักษาพระพุทธรูป วิวาทกัน เลยขัดเคืองถึงผู้ปฏิบัติบูชา ดังมีเรื่องเล่าสืบมาว่า ผีรักษาพระแก้วมรกต กับ ผีรักษาพระบาง ไม่ถูกกัน!

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ทรงสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โปรดให้เชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานเมื่อ พ.ศ. 2327 ครั้งนั้นโปรดให้เชิญพระบาง อันเป็นพระสำคัญคู่เมืองหลวงพระบาง (ภายหลังตกไปเป็นของพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตอยู่ ณ เมืองเวียงจันท์) คราวเสด็จเป็นแม่ทัพไปตีได้เมืองเวียงจันท์ครั้งกรุงธนบุรี แล้วเชิญลงมากรุงธนบุรีด้วยกันกับพระแก้วมรกต เข้ามาประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

เจ้านันทเสน บุตรพระเจ้าล้านช้าง กราบบังคมทูลว่า ผีรักษาพระแก้วมรกต กับ ผีรักษาพระบาง เป็นอริกัน พระพุทธรูป 2 องค์อยู่ด้วยกันในที่ใด มักมีเหตุภัยอันตราย โดยอ้างอิงตัวอย่างเหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมาว่า

เมื่อครั้งพระแก้วมรกตอยู่เมืองเชียงใหม่ กรุงศรีสัตนาคนหุตก็อยู่เย็นเป็นสุข ครั้นพระเจ้าไชยเชษฐาเชิญพระแก้วมรกตจากเมืองเชียงใหม่ไปไว้ด้วยกันกับพระบาง ที่เมืองหลวงพระบาง เมืองเชียงใหม่ก็เป็นขบถต่อกรุงศรีสัตนาคนหุต พม่าก็ยกทัพมารุกราน จนต้องย้ายราชธานีลงมาตั้งอยู่ที่เมืองเวียงจันท์

ครั้นเชิญพระบางลงมาไว้เมืองเวียงจันท์กับพระแก้วมรกตด้วยกันอีก ก็เกิดเหตุจลาจลต่างๆ บ้านเมืองไม่ปรกติมาจนเสียเมืองเวียงจันท์แก่กองทัพกรุงธนบุรี

ครั้นเชิญพระแก้วมรกตกับพระบางลงมาไว้ด้วยกันในกรุงธนบุรี ไม่ช้าก็เกิดเหตุจลาจล

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ มีพระราชดำริว่า พระบางก็ไม่ใช่พระพุทธรูปซึ่งมีลักษณะงาม เป็นแต่พวกชาวศรีสัตนาคนหุตนับถือกัน จึงโปรดให้ส่งพระบางคืนขึ้นไปไว้ ณ เมืองเวียงจันท์

ถึงรัชกาลที่ 3 เจ้านครเวียงจันท์ (อนุ) เป็นขบถ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์ เสด็จเป็นจอมพลยกขึ้นไปปราบปราม ชาวเวียงจันท์พาพระบางหนีไปได้

ครั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชาขึ้นไปติดตามเจ้านครเวียงจันท์ (อนุ) ครั้งหลัง ได้พระบาง, พระแซกคำ, พระฉันสมอ ลงมากรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เชิญไปประดิษฐานไว้ตามวัดนอกพระนคร ด้วยทรงรังเกียจตามคติที่ถือกันมาแต่ก่อน

ถึงรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปรารภว่า วัดบวรสถานสุทธาวาสที่ในพระบวรราชวังยังไม่มีพระประธาน ทรงสืบหาพระโบราณ ได้ทรงทราบว่า พระเสริมอยู่ที่เมืองหนองคาย จึงให้เชิญลงมา ครั้นทอดพระเนตรเห็นก็โปรดพระพุทธลักษณะ จึงประดิษฐานไว้ในท้องพระโรง แต่ไม่ได้เชิญไปตั้งเป็นพระประธานวัดบวรสถาน

ในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างพระอารามขึ้นใหม่หลายพระอาราม มีวัดปทุมวันเป็นต้น โปรดให้สืบหาพระพุทธรูปโบราณทางแขวงล้านช้าง ได้มาอีกหลายพระองค์ แต่คนทั้งหลายมักกล่าวรังเกียจตามคติชาวล้านช้าง เช่น ปีใดฝนแล้ง ก็มักโทษกันว่า เพราะเชิญพระล้านช้างเข้ามา จึงพระราชทานแยกย้ายไปประดิษฐานไว้ตามพระอารามต่างๆ มักอยู่นอกพระนคร

ครั้นถึงปีมะเมีย พ.ศ. 2401 เกิดดาวหางฝนแล้งและความไข้เนื่องกันถึง 3 ปี เสียงคนทั้งหลายโทษว่า เพราะพระบางกลับลงมาอยู่ในกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริอย่างเดียวกันกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ โปรดให้เชิญพระบางขึ้นไปไว้ยังเมืองหลวงพระบางแต่นั้นมา

กลายเป็นที่มาที่ว่า ผีรักษาพระแก้วมรกต กับ ผีรักษาพระบาง ไม่ถูกกัน นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ตำนานพระพุทธรูปสำคัญ, วัดชนะสงคราม ราชวรมหาวิหาร พิมพ์ถวายเป็นมุทิตาสักการะ ในวโรกาสพระราชพิธีศุภมงคลเฉลิมพระชนมพรรษ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2558


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2566