ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
“กวาดยา” บ้างก็เรียกว่า “กวาดคอ” ตามวิธีการรักษาคือนำยาที่ปรุงแล้วกวาดในลำคอของผู้ป่วย ซึ่งมักใช้กับเด็กเล็กอายุประมาณ 1-5 ขวบ เป็นวิธีการรักษาแบบกลางบ้าน ที่ใช้บรรเทา และรักษาอาการโรคภัยที่มีอาการเจ็บป่วยไม่รุนแรง เช่น เจ็บคอ, เป็นหวัด, ร้อนใน, เป็นแผลในปาก, ไอ, ปวดท้อง, เบื่ออาหาร ฯลฯ
ยาที่ใช้ “กวาดคอ” กันเป็นประจำได้แก่ ยาแสงหมึก, ยาเทพมงคล, ยามหานิล, ยาดำ, ยาแท่ง หรือยาเม็ดที่ปรุงไว้แล้ว นำมาฝนในฝาละมี หรือบดในโกร่งยา แล้วใช้น้ำสุก, น้ำมะนาว, น้ำเปลือกมังคุด ฯลฯ เป็นกระสาย ขึ้นกับอาการป่วย เช่น ถ้าเจ็บคอ, ไอ, เป็นหวัดก็จะใช้น้ำมะนาว ถ้าปวดท้องจะใช้น้ำเปลือกมังคุด
หมอกวาดยาโดยมากจะเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน (บางคนกวาดยาอย่างเดียวไม่ได้รักษาอาการเจ็บป่วยอื่น) ส่วนใหญ่จะกวาดยาให้โดยไม่คิดค่าบริการ แต่จะเรียกค่าครูเพียงเล็กน้อย เช่น 1 บาท หรือ 1.50 บาท ซึ่งนอกจากการกวาดยาทั่วไป หมอกวาดยาบางคนยังมีคาถากำกับในการกวาดยา โดยจะตั้งนะโม 3 จบ แล้วจึงว่าคาถาต่อ เป็นต้นว่า “พุทธัง ปัจจักขามิ ธัมมัง ปัจจักขามิ สังฆัง ปัจจักขามิ”
หลังจากนั้นหมอกวาดยาจึงใช้นิ้วชี้มือขวาป้ายยาจากโกร่งยาขึ้นมา แล้วล้วงลงไปในลำคอ กวาดไปให้ทั่วลำคอ บางครั้งผู้ป่วยก็เผลอกัดนิ้วหมอกวาดยาก็มี นี่จึงเป็นสาเหตุให้รักษาด้วยการกวาดยาใช้กับเด็กเล็ก เพราะถ้าผู้ป่วยเป็นผู้ใหญ่แรงกัดคงเอาเรื่องนิ้วหมอคงมีความเสี่ยงสูงมากหลายเท่า
ส่วนเวลาที่กวาดยา มักจะเป็นช่วงเย็นเวลาโพล้เพล้ ทั้งนี้เป็นคติความเชื่อว่ากวาดยา จะทำให้โรคที่เป็นหายไปเหมือนดวงอาทิตย์ที่กำลังจะตก
อ่านเพิ่มเติม :
ข้อมูลจาก :
บุญมี พิบูลย์สมบัติ. “กวาดยา” ใน, สานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง, มูลนิธิสารานุกรมวัฒนรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดพิมพ์เรื่องใน พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542
นางพรทิพย์ เติมวิเศษ บรรณาธิการ. ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยใกล้ตัว, จัดพิมพ์โดยกลุ่มงานพัฒนาวิชาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2566