พระสงฆ์ “อิทธิพล” หนึ่งในท้องถิ่น ด้วยความรู้และอาคมที่สร้างศรัทธาบารมี

พระสงฆ์ ชาวบ้าน เทศนา
ภาพประกอบเนื้อหา - พระสงฆ์สยามในอดีต

พระสงฆ์ มีบทบาทในฐานะของ “อิทธิพล” แบบหนึ่งในท้องถิ่น แม้พระสงฆ์ในฐานะของผู้วิเศษถูกปราบปรามอย่างหนัก จนไม่สามารถเป็นผู้มีอํานาจของท้องถิ่นได้ แต่ด้วยมีความรู้เชี่ยวชาญในภาษาบาลี ภาษาที่มักใช้ในคัมภีร์ไสยศาสตร์ และคาถาอื่นๆ ทั่วไป ทำให้มีความรู้ในเรื่องไสยศาสตร์

ความรู้เรื่องไสยศาสตร์ที่เป็นนามธรรม แปรเป็นเครื่องรางของขลังรูปแบบต่างๆ เช่น ผ้าประเจียด, ตะกรุด, ลูกประคํา, การสักยันต์บนร่างกาย, มนต์คาถาต่างๆ ที่ช่วยรักษา หรือบรรเทาอาการเจ็บป่วย ฯลฯ บางครั้งก็ยังถ่ายทอดให้แก่บรรดาลูกศิษย์

ตัวอย่างเช่น ที่วัดประดู่ เมื่อปี 2447 ปรากฏหลักฐานว่า พระสงฆ์รูปหนึ่งทำน้ำมนต์รักษาโรคต่างๆ จนมีราษฎรไปรักษาเป็นจํานวนมาก หรือที่วัดปลาสุก (วัดสนามไชย) เมืองอินทร์ ในปี 2449 ปรากฏเรื่องของพระครูอินทมุนี ที่มีชื่อเสียงในทางเป็นหมอยา ชาวบ้านในท้องถิ่นก็ให้ความนับถือเป็นอย่างมาก

พระสงฆ์ จึงเป็นเสมือนผู้มีพลังศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสของชุมชน

ชื่อเสียงบารมีดังกล่าวไม่ได้จำกัดอยู่แต่เพียงพระสงฆ์ผู้มีวิชาเท่านั้น หลายครั้งเผื่อแผ่และอ้างอิงไปยังบรรดาลูกศิษย์ ทั้งพบว่า “โจร” บางคนเข้าไปพึ่งพิงพระสงฆ์ ในฐานะอาจารย์กับศิษย์ และหลายครั้งความผูกพันของอาจารย์กับศิษย์ ทำให้มีการเกื้อกูลกันเมื่อลูกศิษย์เดือดร้อน เช่น การหนีการจับกุม พระสงฆ์จะให้ความช่วยเหลือเพื่อให้พ้นจากเจ้าหน้าที่ ให้ที่พํานักหลบซ่อน ฯลฯ

ตัวอย่างเช่น คดีอ้ายตุ่นลักเรือ ในเขตกรุงเก่า เหตุเกิดเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ร.ศ. 117 (พ.ศ. 2441) บริเวณท่าน้ำวัดชุมพล โดยอ้ายตุ่นวานให้นายห้อยช่วยยกเรือสำปั่นลงไปที่ท่าน้ำ โดยบอกแก่นายห้อยว่าได้ยืมจากเจ้าของเรียบร้อยแล้ว ภายหลังเจ้าของเรือมาถึงจึงรู้ว่าเรือถูกขโมยไป นายห้อยจึงถูกจับไปคุมขังอยู่ในคุกที่กรุงเก่า

พระครูธรรมทิวากรมีหนังสือถึงหลวงราชภพเพื่อขอให้ปล่อยตัวนายห้อย ความตอนหนึ่งมีว่า “นายห้อยเป็นคนเสียสติ อาตมาภาพขอบิณฑบาต ไว้ปรนนิบัติอาตมาภาพต่อไป” ในที่สุดก็ได้ปล่อยตัวนายห้อยไป เพราะเห็นว่า “ถ้าเป็นโทษแต่เล็กน้อย ก็ให้ตักบาตรเสียเถิด”

จึงปรากฏว่า นักเลงบางคนมักอาศัยวัดเป็นแหล่งหลบซ่อนตัว หรือโจรบางรายขอให้พระสงฆ์ผู้เป็นอาจารย์บวชให้ เพื่อหนีจากสถานะของโจรสู่เพศบรรพชิต รัฐตระหนักและพยายามหาวิธีควบคุมการบวชให้แก่โจร ในที่ประชุมศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย ร.ศ. 125 (พ.ศ. 2449) ปรึกษาหารือเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหานี้ เพราะการจะเอาผิดกับพระสงฆ์ผู้เป็นประธานในการบวชหรือพระอุปัชฌาย์ เป็นการไม่สมควรเป็นอย่างยิ่ง

ที่ประชุมมีมติโดยยกเอากฎของสงฆ์ ว่าด้วยเรื่องพระที่สามารถจะเป็นพระอุปัชฌาย์ และได้ข้อสรุปว่า ถ้าพระรูปใดไม่มีตราเสมาธรรมจักรแล้วทําการบวชให้ถือว่ากระทําความผิด ให้เนรเทศไปอยู่เสียในเมืองที่ห่างไกล และ “ถ้าอุปชฌารูปใดรับโจรผู้ร้ายบวช ลงโทษถอดตราอนุญาตเสียอย่าให้เป็นอีกต่อไป เพราะการเป็นอุปชฌาย่อมเป็นที่เกิดลาภสการะ จะพาให้ยําเกรงได้มาก” 

ส่วนการจะขอบวชตามกฎหมายเก่าที่จะต้องให้มีผู้ประกันนั้น ให้ยกเลิกเสีย โดยให้เปลี่ยนเป็นการขออนุญาตจากนายอําเภอแทน ซึ่งนายอําเภอมีหน้าที่ที่จะต้องไต่สวนให้ถี่ถ้วนเสียก่อนว่าเป็นโจรหรือต้องคดีอยู่หรือไม่ ก่อนออกใบอนุญาต

เมื่อลดบทบาท “พระสงฆ์” ผู้มีอํานาจทางการเมืองในท้องถิ่นลง ปรากฏการณ์ใหม่ก็เกิดขึ้น นั่นคือ “การปล้นวัด” ดังตัวอย่างในวันที่ 8 มิถุนายน ร.ศ. 115 (พ.ศ. 2439) ที่วัดใหญ่ บางปลากด แขวงเมืองสมุทรปราการ มีหลักฐานกล่าวถึงการปล้นว่า

“…มีอ้ายผู้ร้ายมาเรือมาตแจวประมาณ 4-5 คน มาจอดเรือเข้าที่ตพานวัดใหญ่ แล้วอ้ายผู้ร้ายก็เดินขึ้นไปที่กุฏิสมภาน ทันใดนั้นอ้ายผู้ร้ายก็ยิงปืนขึ้นไปสามนัต จุดประทัต ร้องอ้ายเสือเอาวา สมภานก็รู้ชัดว่าผู้ร้ายมาปล้น แล้วสมภานก็หนีลงทางน่าต่างไปได้ อ้ายผู้ร้ายก็เปิดประตูเข้าไปจุดไต้เพลิงขึ้น เที่ยวค้นหาเงินได้ไปเป็นเงินตราประมาณ สามสิบบาทเสศ…” 

อ่่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ บทความนี้เขียนเก็บความจาก พรีศักดิ์ ชัยได้สุข. ชาติเสือต้องไว้ลาย, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2551.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 ตุลาคม 2566