พิธีจุดประทีปไต้น้ำมัน : วันออกพรรษาของชาวอีสาน

พิธีจุดประทีปไต้น้ำมัน วันออกพรรษา
พิธีจุดประทีปไต้น้ำมันวันออกพรรษา ของคณาจารย์ และนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ภาพจาก http://web.msu.ac.th/ssystem/msuhotnews/detailnews.php?hm=&hotnewsid=6217&uf=&qu=)

พิธีจุดประทีปไต้น้ำมัน : วันออกพรรษา ของชาวอีสาน

หลังจากพระภิกษุสงฆ์อยู่จำพรรษาในอารามครบ 3 เดือนตามพระวินัยบัญญัติแล้ว เมื่อถึง วันออกพรรษา ที่เรียกว่า วันมหาปวารณา ชาวพุทธจะถือเป็นวันสำคัญ เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงสู่โลกมนุษย์ หลังจากเสด็จขึ้นไปจำพรรษาเพื่อการตรัสอภิธรรมเทศนาโปรดพระมารดาในเทวโลก อยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ถ้วนไตรมาส พออออกพรรษาแล้วก็เสด็จมายังโลกมนุษย์ โดยเสด็จมาทางบันไดสวรรค์ที่ประตูเมืองสังกัสสะ แคว้นปัญจาละ (รัฐปัญจาบ ประเทศอินเดีย)

วันที่เสด็จลงจากเทวโลก เรียกกันว่า “วันเทโวโรหณะ” ตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือโบราณเรียกว่า วันพระเจ้าเปิดโลก หมายถึง โลกธาตุทั้ง 3 คือ สวรรค์ มนุษย์ และนรก สามารถมองเห็นกันได้

หอประทีป ของชุมชนบ้านดงเค็ง ตำบลป่าสังข์ อำเภอจตุรพักตรพิมาน จังหวัดร้อยเอ็ด

มูลเหตุนี้เองชาวอีสานจึงมี พิธีจุดประทีปไต้น้ำมัน ในเวลากลางคืนตั้งแต่ช่วงเวลา 18.00-20.00 น. เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และเฉลิมฉลองวาระที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จลงสู่โลกมนุษย์ ก่อนถึงวันออกพรรษาชาวบ้านจะไปรวมกันที่วัดเพื่อตั้งหอประทีป เรียกตามแต่ละท้องถิ่นว่า หอประทีป, หอฮุ่งเฮือง, หอไต้น้ำมัน ฯลฯ ตั้งเป็นหอเพียงตา ผนังด้านหลังปิดด้วยฝาไม้ไผ่ขัด ตามต้นเสาประดับด้วยต้นกล้วยต้นอ้อย ประดับดอกไม้ เพื่อใช้วางดวงประทีปทำด้วยลูกตูมกาขาว ภาคอีสานเรียก หมากขี้กา

ชาวบ้านจะนำลูกตูมกามาเจาะรูคว้านเนื้อด้านในออก ใส่น้ำมัน พร้อมไส้ทำด้วยฝ้าย (มีลักษณะเหมือนตะเกียง) หรือนำลูกตูมกามาผ่าครึ่ง ขูดเอาเนื้อด้านในออก ใส่เทียนไขทำไส้เป็นรูปตีนกา บางท้องถิ่นนำลูกตูมกาคว้านเอาเนื้อและเมล็ดข้างในออก จากนั้นใช้มีดแกะลายต่างๆ อย่างประณีต ส่วนล่างเจาะรูไว้สำหรับสอดเทียนเข้าไปด้านใน เมื่อเวลาจุดเทียนแสงก็จะออกตามลายที่แกะ ทำให้มีความสวยงามไปอีกแบบหนึ่ง

พิธีจุดประทีปไต้น้ำมัน
พิธีจุดประทีปไต้น้ำมัน ในวันออกพรรษาของชุมชนบ้านป่าชาด ตำบลแดงใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น (ภาพจาก http://sridonklang.com/gallery-detail_963

พิธีจุดประทีปไต้น้ำมัน ชาวอีสานจัดประกอบพิธีทั้งหมด 3 วัน คือ วันไต้ประทีปน้อย ในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 วันไต้ประทีปใหญ่ ในวันวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 และวันไต้น้ำมันล้างหางประทีป ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 เป็นวันสุดท้าย

ลูกตูมกาที่ชาวบ้านนำมาผ่าครึ่งขูดเอาเนื้อด้านในออกใส่เทียนไข ทำไส้เป็นรูปตีนกาสำหรับจุดถวายเป็นพุทธบูชา
ลูกตูมกาขาว ภาคอีสานเรียก หมากขี้กา ภาพจาก https://medthai.com/ตูมกาขาว/

ตอนเช้าในวันแรม 11 ค่ำ เดือน 11 มีการตักบาตรเทโวโรหณะ ถวายภัตตาหาร รักษาศีล ฟังพระธรรมเทศนา บางท้องถิ่นมีการกวนข้าวทิพย์ และถวายต้นปราสาทผึ้งด้วย ถือเป็นงานบุญสำคัญอีกอย่างหนึ่งของชาวอีสานที่สืบทอดมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันอย่างไม่เสื่อมคลาย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

ธรรมกิตติวงศ์, พระ. (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ. ๙ ราชบัณฑิต. พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด. กรุงเทพฯ: เลี่ยงเชียงเพียรเพื่อพุทธศาสน์. 2548

ประเพณีอีสาน ฉบับ ส.ธรรมภักดี. ม.ป.ท. : ม.ป.พ. , ม.ป.ป.

วัฒนธรรมพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดร้อยเอ็ด. หนังสือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2542

พระไตรปิฎก เล่มที่ 4 พระวินัยปิฎก เล่มที่ 4 มหาวรรค ภาค 1 “วิธีปวารณา”. พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ. ออนไลน์. http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=4&A=6371&Z=6395&pagebreak=0. สืบค้นเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2560


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 ตุลาคม 2560