ละครบุษบาลุยไฟ กับการต่อยอดเพื่อการท่องเที่ยวและสร้างทัศนคติในความเป็นคน

ละครบุษบาลุยไฟ บุษบาลุยไฟ
ละคร "บุษบาลุยไฟ" สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (ภาพจาก https://www.thaipbs.or.th)

“ก็เจ๊กศิษย์จะยกสีมาให้เจ๊กครู มิได้รึ”: ชนชั้นในสังคมไทย ซึ่งวันนี้ก็ยังมีอยู่ คำพูดข้างต้นนี้ มาจาก ละครบุษบาลุยไฟ ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส คาดว่าตอนนี้คนไทยคงกำลังพูดถึงอยู่ไม่น้อย ถ้อยคำดังกล่าวมีนัยยะสำคัญถึงการใช้คำว่า “เจ๊ก” ที่ครูคงแป๊ะพูดกระทบศิษย์ฝั่งครูทองอยู่ (ทั้งที่ครูทองอยู่นั้นแสนจะมีหลักการและมีความเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ หนักแน่นกว่าศิษย์มากนัก)

เจ๊กศิษย์ – เจ๊กครู หรือ อาฮุน – ครูคงแป๊ะ คนหลังมีตัวตนอยู่จริงในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ว่ากันว่าเป็นศิลปินจิตรกรเอกคนโปรดของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 3 เลยทีเดียว “ว่ากันว่า” นี้ปรากฏอยู่ในเอกสารสาส์นสมเด็จ ที่ยังระบุรายละเอียดเมื่อครูคงแป๊ะเกิดมีเรื่องวิวาทและฆ่าคนตาย แต่โปรดให้ละโทษมิต้องลงดาบประหาร ด้วยนานๆ จะมีคนดีมีฝีมือปรากฏในแผ่นดินให้ทรงเรียกใช้สอย

ภาพเหมือนครูคงแป๊ะ ที่ครูทองอยู่เขียนล้อเลียนไว้ที่ผนังโบสถ์ไว้ที่วัดบางยี่ขัน (แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย ถ่ายเมื่อ ก.ค. 2566)

ด้วยยุคนั้นโปรดการสร้างวัด สร้างงานศิลปะวิทยาการต่างๆ นานา รวมกันไว้ที่วัด นับเป็นทุนทางมรดกวัฒนธรรมที่ลูกหลานไทยยังได้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวอยู่ทุกวันนี้ นอกเหนือจาก “เงินถุงแดง” ที่พระมหากษัตริย์พระองค์นี้ ได้ฝากไว้เป็นทุนไถ่บ้านไถ่เมืองยุคล่าอาณานิคมในเวลาต่อมาอีกด้วย

ปรานประมูล คือคนเขียนเรื่องและเขียนบทของ ละครบุษบาลุยไฟ ที่ว่านี้ เธอให้เหตุผลน่าสนใจว่า ที่จับเอาเหตุการณ์สมัยรัชกาลที่ 3 มาเป็นฉาก เพราะก่อนหน้านี้ละครไทยมักเป็นฉากสมัยรัชกาลที่ 5 หรือไม่ก็เป็นเรื่องราวในสงครามคือฉากสมัยอยุธยา ต่อธนบุรีมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 1 ตรงนี้ทำให้นึกถึงคำพูดของอาจารย์ น. ณ ปากน้ำ ที่เคยพูดว่า สมัยรัชกาลที่ 3 เป็นยุคทองของงานศิลปกรรม (นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ เรียกว่าศิลปะนอกอย่าง ศิลปะกระบวนจีน ศิลปะแนวพระราชนิยมรัชกาลที่ 3 เรียกว่ามีการแตกแถว พัฒนาต่อยอดจากศิลปะไทยโบราณดั้งเดิม)

นอกจากนี้ เอกสารอีกหลายฉบับก็ยืนยันว่าเป็นยุครุ่งโรจน์ของไทยในด้านเศรษฐกิจการค้า และการต่างประเทศอีกด้วย โดยเฉพาะการค้าสำเภาจีน ที่ทำให้เห็นชาวจีนเข้ามาเกี่ยวข้องพัวพันกับบ้านเมืองเราอย่างคึกคัก ไม่จำเพาะที่เป็นแรงงาน แต่ยังเป็นช่างเขียนฝีมือดีที่ชื่อ ครูคงแป๊ะ อีกด้วย น่าสนใจที่ราชทินนามของท่านครูคือ หลวงเสนีย์บริรักษ์นั้น ความหมายออกไปในเชิงราชการทหาร เพราะ เสนีย์ แปลว่า ผู้นำทัพ

ในที่นี้จึงขอบังอาจเดาว่า เพราะครูคงแป๊ะเชี่ยวชาญในการเขียนภาพกระบวนทัพหรือการเคลื่อนไหวของมวลชนขนาดใหญ่ หรือเปล่า เช่น ภาพกองทัพมโหสถอันลือเลื่องที่ผนังโบสถ์วัดสุวรรณาราม แข่ง (ประมูล) กับภาพเนมีราชฝีมือหลวงวิจิตรเจษฎาหรือครูทองอยู่ ที่พูดถึงเมื่อย่อหน้าแรก

ภาพเคลื่อนไหวของมวลชนหรือกระบวนทัพ งานเขียนถนัดของครูคงแป๊ะ (แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย ถ่ายเมื่อ ก.ค. 2566)
ภาพเนมีราชฝีมือหลวงวิจิตรเจษฎาหรือครูทองอยู่ (แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย ถ่ายเมื่อ ก.ค. 2566)

ละครเรื่องนี้มีฉากอันน่าประทับใจหลายฉาก เช่น ครูคงแป๊ะร่ำสุราว่ากลอนกับท่านครูสุนทรภู่ อย่างชื่นมื่น ซ้ำยังมีฉากที่แม่บุษบาท่าเรือจ้าง สมญาของคุณพุ่ม กวีหญิงฝีปากกล้าในสมัยนั้น เข้าฉากมาประชันสักรวายามค่ำคืนกับผู้สูงศักดิ์ในพระนครอีกด้วย ทำให้คนดูละครอย่างเราอดทึ่งไม่ได้ที่ได้เห็นภาพบรรยากาศโดยเฉพาะศิลปินที่ย่อมมีทางได้พบปะเสวนากันบ้างละมัง เพราะขนาดว่ารัชกาลที่ 3 ท่านยังโปรดให้นักปราชญ์ราชบัณฑิตทั้งหลายมาประชุมบอกจารึกที่วัดโพธิ์ ท่าเตียน

อันน่าจะนับเป็นการสัมมนา “วิชาการไทยศึกษา” ครั้งแรกในประเทศไทย และเป็นการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเสียด้วย คือมีการบอกความรู้แล้วให้จารึก-เขียนภาพ ลงไว้เป็นเรื่องเป็นราวอย่างถาวร เรียกว่าบรรยากาศสมัยนั้นคงอบอวลไปด้วยวิชาความรู้ การสนทนาเสวนาในหมู่นักวิชาการ ศิลปิน ซึ่งท่านเหล่านี้ หากเทียบยุคเรา แต่ละท่านคงขึ้นชั้นศิลปินแห่งชาติโดยแน่แท้ และตอนนี้เมืองไทยของเราจะมีศิลปินแห่งชาตินับเป็นพันเป็นหมื่นคนแล้ว

จิตรกรรมสกุลช่างครูคงแป๊ะ แสดงอาการควบขับม้าผาดโผนอย่างคึกคะนองผิดภาพเขียนตามขนบโบราณของไทย จนนักวิชาการเรียก ศิลปะนอกอย่าง (แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย ถ่ายเมื่อ ก.ค. 2566)

เหตุที่ผู้เขียนเคยทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับคติความเชื่อเรื่องมหาชาติชาดกจากภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดสุวรรณารามหรือวัดทอง คลองบางกอกน้อยแห่งนี้ เมื่อราว พ.ศ. 2531-2533  สรุปสั้นๆ ว่าภาพเขียนนี้เป็นฝีมือช่างหลวงคือหลวงเสนีย์บริรักษ์หรือครูคงแป๊ะ ประชันฝีมือกับหลวงวิจิตรเจษฎาหรือครูทองอยู่ ในยุคนั้น วัดทองถือเป็นวัดสำคัญของพระนครทีเดียว ในส่วนที่เกี่ยวกับชาวบ้านละแวกวัด ก็คือเป็นหมู่บ้านช่างบุที่สืบทอดฝีมือมาแต่ครั้งกรุงเก่า น่าเสียดายที่งานช่างบุที่เป็นหนึ่งในงานช่างสิบหมู่โบราณของไทยมีสภาพซบเซาลงไปมาก

ดังนั้น หาก ททท.หรือกระทรวงวัฒนธรรม จะช่วยกันสร้างมูลค่าเพื่อชูคุณค่าชุมชนแห่งนี้ให้เป็นที่ประจักษ์ แบบการท่องที่ยวแนวนวัตวิถี ก็น่าจะดีอยู่ไม่น้อย ไหนๆ ละครดีๆ เรื่องนี้ก็จินตนาการบรรยากาศยุครัชกาลที่ 3 มาให้เราเห็นกันอย่างน่าประทับใจได้ขนาดนี้

ชุมชนบ้านบุ ริมคลองบางกอกน้อย หมู่บ้านหัตถกรรมที่ควรได้รับการฟื้นฟูในฐานะเป็นหนึ่งในช่างสิบหมู่ของไทย (แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย ถ่ายเมื่อ ก.ค. 2566)

หรือทำเส้นทางท่องเที่ยวตามรอยละครเรื่องนี้ โดยเกาะสองฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นหลัก เรียงลำดับเหตุการณ์ก่อน/หลัง ให้ดีๆ เชื่อว่าเราจะได้เส้นทางท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่ยอดเยี่ยมเส้นทางหนึ่ง ทั้งการลอยเรือเล่นสักรวากันในยามค่ำคืน (ให้แตกต่างไปบ้างจากการล่องเรือขนาดใหญ่ กินและร้องเพลงและดิ้นกันในเรือ) ไปดูฉากการต่อเรือที่วัดกัลยาณมิตรของเจ้าสัวโต ที่ต่อมาคือเจ้าพระยานิกรบดินทร์-ต้นตระกูลกัลยาณมิตร บริเวณปากคลองบางหลวงหรือคลองบางกอกใหญ่ อันเป็นสัมมาชีพแรกๆ ของอาฮุนก่อนจะมาเป็นช่างฝีมือลูกศิษย์ครูคงแป๊ะ

ตลอดจนตามไปดูภาพเหมือนครูคงแป๊ะ ที่ว่ากันว่าครูทองอยู่เขียนไว้ที่วัดบางยี่ขัน ด้วยอารมณ์ล้อเลียนเพื่อนช่างหลวงด้วยกัน แล้วต้องไม่ลืมพาไปตลาดน้อยที่ตอนนั้นเต็มไปด้วยโรงอบายมุขแบบเจ๊กๆ เช่น โรงโคมเขียว โรงยาฝิ่น โรงบ่อนฯลฯ อาจเรียกว่าเป็น China Town ย่อยๆ เลยก็ว่าได้ แต่ก็ยังมีละครของนายโรงสุ่นแทรกเข้าไปเปิดวิกแบบไทยๆ ด้วย (ขนผู้คนจากนิวาสถานบ้านแถวคลองบางยี่ขัน มาเปิดวิกถึงตลาดน้อยทีเดียว)

เสน่ห์หนึ่งของภาพจิตรกรรมไทยตามวัด คือแสดงวิถีชีวิตที่น่ารัก เช่นเด็กขี่ม้าก้านกล้วย (แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย ถ่ายเมื่อ ก.ค. 2566)

และคงจะดีหาน้อยไม่ เมื่อเราคุยกันในรถแท๊กซี่เกี่ยวกับละครเรื่องนี้ แล้วคนขับบอกว่า “ผมได้ความรู้ดีจังวันนี้” เพราะนี่คือกระบวนการ “ซึมซับรับรู้” เรื่องราวของคนรุ่นปู่ย่าตายายของเรา โดยไม่ต้องเรียนในห้องเรียนที่แสนจะน่าเบื่อหน่ายตามแบบกระทรวงศึกษาธิการไทย สมดังที่พ่ออี๊ดหรือคุณสุประวัติ ปัทมสูตร ผู้กำกับละครเรื่องนี้วาดหวังว่า อยากให้คนสามรุ่นมานั่งดูละครเรื่องนี้ด้วยกันในบ้าน ทุกค่ำคืนวันศุกร์เสาร์และอาทิตย์

ในเมื่อเราเคยชื่นชมซีรีย์โบราณของเกาหลี ที่มีไฮไลต์น่าทึ่ง ทั้ง อาหาร หมอแผนโบราณ จดหมายเหตุ ศิลปะ  ตอนนี้เรามีละครไทยดีๆ ให้เด็กๆ ได้เข้าใจไม่แต่เฉพาะวิถีชีวิต-โลกทัศน์สังคมเมืองไทยยุคก่อน ที่เพิ่งมีฝรั่งเข้ามาผ่าตัดเป็นครั้งแรก แต่จะได้เห็นมรดกวัฒนธรรมหลากหลายทั้งงานจิตรกรรม งานวรรณกรรม และรู้จักสุนทรภู่ คุณพุ่ม บุษบาท่าเรือจ้าง ที่มีตัวตนอยู่จริง และคงน่ายินดีมากมายที่คนไทยแห่กันไปดูจิตรกรรมที่วัดทองและที่วัดบางยี่ขัน เหมือนแห่กันไปงานมอเตอร์โชว์หรืองานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ

ภาพประดับในกรอบรูปเหนือหน้าต่าง ศิลปะแบบจีนๆ ที่นิยมกันในสมัยรัชกาลที่ 3 (แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย ถ่ายเมื่อ ก.ค. 2566)

ที่สำคัญคือจะได้เรียนรู้ชีวิตต้องสู้ของเจ๊กจีนอย่างอาฮุน ผู้มีสติปัญญาล้ำเลิศ รู้จักเอาไสยศาสตร์มาต่อยอด ว่าแม่ลำจวนมาเข้าฝันพระพี่ชาย เพื่อให้นายโรงสุ่น ยอมเลิกเหล้าและรักษาตัว อาฮุนคือตัวแทนของคนจีนหลายคนที่ได้รับการบ่มเพาะทัศนคติที่ดีจากอากง (สวมบทโดยญาณี ตราโมท ซึ่งเล่นดีที่สุด ทั้งสีหน้าแววตา) ที่อากงก็สั่งสมประสบการณ์มายาวนานแบบสังคมจีนจารีต จึงสามารถสร้างพื้นฐานให้หลานชายด้วยอุปนิสัยดีงามและนำไปสู่อาชีพการงานและการใช้ชีวิตแบบครอบครัวไทย-จีน เหมือนหลายครอบครัวที่เกิดขึ้นจริงในบ้านในเมืองเรา ด้วยคุณสมบัติ ทั้งอดทน ขยัน ประหยัด เมตตา ซื่อสัตย์ กตัญญูและไม่ลืมที่จะอ่อนน้อมถ่อมตนตามสภาวะอากาศ

ก๋วยเตี๋ยวป้าแดง สะอาด ไม่แพงและอร่อยแบบบ้านๆ หลังจากชมจิตรกรรมฝาผนังที่วัดทอง (แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย ถ่ายเมื่อ ก.ค. 2566)

ยกเว้นสยามจีนางกูรหลายคน ที่แหกคอก ขี้คด ขี้โกง ขี้ฉ้อ ขี้ปด ขี้งก ฯลฯ —- สยามจีนางกูร คือคนไทยเชื้อสายจีน มาจาก สยาม+จีน+อังกูร

อย่าลืมดูละครเรื่องนี้กันให้มากๆ ก่อนจะลาโรงไปเสียก่อน

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 สิงหาคม 2566