รู้หรือไม่ ไซยาไนด์ สารพิษที่มีในธรรมชาติ และการสังเคราะห์ทางเคมี

ไซยาไนด์ อันตราย
ไซยาไนด์ สารพิษที่มีทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต

ไซยาไนด์ เป็นสารเคมีมีพิษที่มีในธรรมชาติ และการสังเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ โดยไซยาไนด์ที่เกิดขึ้นเองในธรรมชาติ ได้แก่ การทำปฏิกิริยาทางเคมีต่างๆ ในธรรมชาติ, การขับถ่ายของเสีย หรือการสลายตัวของสารประกอบบางชนิดในธรรมชาติโดยจุลินทรีย์พืชและสัตว์

มีพืชประมาณ 1,000 ชนิด และจุลินทรีย์มากกว่า 90 สายพันธุ์ ที่สามารถสังเคราะห์ไซยาไนด์ได้ และมีพืชชั้นสูงกว่า 800 ชนิด ที่มีไซยาไนด์เป็นองค์ประกอบ เช่น มันสำปะหลัง, ข้าวฟ่าง, ต้นไผ่ (หน่อไม้), ข้าวโพด, อัลมอนด์ ฯลฯ ดังนั้น การบริโภคพืชเหล่านี้ จึงต้องปรุงสุกเสียก่อน ซึ่งบางครั้งก็มีข่าวการเสียชีวิตจากการกินพืชดังกล่าวโดยเฉพาะหน่อไม้ และมันสำปะหลัง ขณะที่แมลงหลายชนิดก็สามารถสร้างไซยาไนด์ และปล่อยออกมาเพื่อใช้ป้องกันตัวเองจากศัตรู เช่น ตะขาบ, กิ้งกือ, ผีเสื้อ, แมลงปีกแข็ง ฯลฯ

ทว่าแหล่งกำเนิดพิษของไซยาไนด์ที่สำคัญไม่ได้เกิดจากธรรมชาติ แต่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ เช่น ท่อไอเสียรถยนต์, ควันบุหรี่ ฯลฯ และที่สำคัญคือ การสังเคราะห์สารไซยาไนด์ (Cyanide) เกิดขึ้นในต้นศตวรรษที่ 18

ต่อมาใน ค.ศ. 1782 Karle Scheele นักเคมีชาวสวีเดน เป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรกที่สังเคราะห์ “ไฮโดรเจนไซยาไนด์” สำเร็จ หากหลังการค้นพบดังกล่าวเพียง 4 ปี Karle Scheele ก็เสียชีวิตเนื่องจากได้รับพิษของไฮโดรเจนไซยาไนด์ในห้องปฏิบัติการ

ค.ศ. 1834 เริ่มผลิตโซเดียมไซยาไนด์ขึ้นครั้งแรก ปัจจุบันมีผู้ผลิตไซยาไนด์รายสำคัญคือ Dupont จากอเมริกา, Degussa จากเยอรมนี และ ICI จากอังกฤษ

ไซนาไนด์ และไฮโดรเจนไซยาไนด์ เป็นสารเคมีที่ใช้กันแพร่หลายในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมเหมืองทองคำ, อุตสาหกรรมเหล็กกล้า, การผลิตพลาสติก, กาว, สารทนไฟ, เครื่องสำอาง, ยารักษาโรค, อาวุธสงคราม (ในสงครามโลกครั้งที่ 2) ฯลฯ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสากรรมเหมืองทองคำ ที่ใช้ไซยาไนด์ยาวนานตั้งแต่ ค.ศ. 1806 มากกว่า 90% ของการผลิตทองคำทั่วโลก ในแต่ละปีใช้ไซยาไนด์แยกสกัดทองคำออกจากสินแร่ เนื่องจากไซยาไนด์มีคุณสมบัติที่ดีในการละลายทอง และต้นทุนในการผลิต ขณะที่ความเป็นพิษของไซยาไนด์ แม้ว่ามีความเป็นพิษสูงแบบฉียบพลัน แต่ไม่จัดเป็นสารก่อมะเร็ง

สำหรับความเป็นพิษ ไซยาไนด์ สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทางการหายใจ, การสัมผัส และการบริโภค ซึ่งทำให้เกิดพิษแบบเฉียบพลัน คือ ทำอวัยวะที่สัมผัสไซยาไนด์โดยตรง (เช่น ผิวหนัง, ปอด, กระเพาะอาหาร ฯลฯ) และอวัยวะอื่น (เช่น ระบบสมอง, หัวใจ ฯลฯ) บาดเจ็บและเป็นอันตราย จนถึงขั้นเสียชีวิตได้

ส่วนการเกิดพิษแบบเรื้อรัง ส่วนมากเกิดจากการบริโภคอาหารที่มีไซยาไนด์ปริมาณต่ำเป็นเวลานาน แม้ไม่อันตรายถึงชีวิต แต่ส่งผลกับสุขภาพและการเกิดโรคต่างๆ เช่น ระบบการหายใจ, สมอง และการมองเห็น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก จุฑารัตน์ อาชวรัตน์ถาวร. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับไซยาไนด์ CYANIDE INTRODUCTION, สำนักอุตสาหกรรมพื้นฐาน กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่, พิมพ์ครั้งที่ 1 มีนาคม 2547.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 เมษายน 2566