การเสริมสร้างและด้อยค่าความเป็นคน ผ่าน “The Little Mermaid” เวอร์ชันคนแสดง

นางเงือก the little mermaid บน โขดหิน
The Little Mermaid (ภาพจาก Disney)

ดิสนีย์ เปิดตัววิดีทัศน์โฉมแรกของ “The Little Mermaid” ฉบับคนแสดง พลันก็มีผลตอบรับกลับอย่างล้นหลามทางอินเทอร์เน็ต เต็มไปด้วยกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึง ฮันลี่ เบลีย์ ผู้รับบทเจ้าหญิงแอเรียล ที่แลดูไม่สวยสดใส และประเด็นเรื่องการเหยียดสีผิว ที่ชาวเน็ตมองว่า เจ้าหญิงแอเรียลไม่ควรเป็นคนผิวดำ ทำให้เกิดแฮชแท็ก #notmyariel ผุดขึ้นมาจำนวนมากผ่านสังคมทวิตเตอร์ ส่วนในยูทูบมีผู้ชมวิดีทัศน์ตัวอย่างภาพยนตร์เรื่องนี้ที่กดดิสไลก์หรือไม่ชอบมากกว่า 1.5 ล้านครั้ง และมีการแสดงความคิดเห็นเชิงเหยียดสีผิวรูปลักษณ์ของเบลีย์อีกจำนวนมาก [1]

ก่อนหน้านี้ ค.. 2009 ดิสนีย์เคยผลิตภาพยนตร์การ์ตูน “The Princess and the frog” ที่มีตัวละครเอกอย่าง เจ้าหญิงเทียน่า ซึ่งเป็นเจ้าหญิงผิวสีคนแรกของดิสนีย์ หลังจากตลอด 7 ทศวรรษ ดิสนีย์ผลิตภาพยนตร์การ์ตูนที่ตัวละครเอกเป็นคนผิวขาวมาโดยตลอด หรือแม้แต่ ค.. 1997 ได้นำนักร้องผิวดำ แบรนดี้ นอร์วู้ด มารับบทซินเดอร์เรลล่า [2] แต่กลับไม่มีเสียงวิจารณ์ในทางลบมากเท่าเจ้าหญิงแอเรียล

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้นักวิชาการหลายคนออกมาแสดงความคิดเห็นเชิงวิชาการ มีทั้งนักวิชาการอนุรักษนิยม และนักวิชาการเสรีนิยม ที่พยายามอธิบายความรู้สึกนึกคิดของชาวอเมริกันที่มีต่อปรากฏการณ์ของแอเรียล

บรู๊ก นิวแมน นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ แห่ง Center at Virginia Commonwealth University สหรัฐอเมริกา แสดงความเห็นว่า ทั้งหมดนี้เป็นผลพวงจากการนำเสนอของสื่อต่าง ๆ ภายในประเทศ ที่นิยมนำเสนอภาพลักษณ์ตัวละครเอกเป็นคนผิวขาวเป็นหลัก โดยมิได้คำนึงถึงประชากรกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติอื่น ๆ

แล้วยกตัวอย่างว่า ย้อนไปเมื่อ ค.. 1989 ภาพยนตร์เด็กที่ทำรายได้สูงสุด ได้แก่ “The Little Mermaid”, “Honey, I Shrunk the Kids” และ “All Dogs Go To Heaven” ภาพยนตร์เหล่านี้ก็ไม่มีตัวละครสีผิวอื่นเลยแม้แต่เรื่องเดียว (ยกเว้น เอลซูล่า วายร้ายผิวสีม่วงในเจ้าหญิงเงือกน้อย) จะเห็นได้ว่า นอกจากนี้ ตัวละครสีผิวอื่นแทบไม่ปรากฏในสื่อสำหรับเด็กต่าง ๆ ทั่วโลก หรือแม้แต่ภาพยนตร์การ์ตูนของดิสนีย์

นิวแมนยังอธิบายเพิ่มเติมถึงความรู้สึกนึกคิดของเด็ก ๆ ชาติพันธุ์อื่นที่อาศัยอยู่ในสหรัฐด้วยว่า ช่วงทศวรรษ 1940 Kenneth และ Mamie Clark ทำการทดลองด้านจิตวิทยาที่เรียกว่า Doll Test เพื่อประเมินถึงผลกระทบการเลือกปฏิบัติ และการแบ่งแยกต่อการรับรู้ทางเชื้อชาติของเด็กเชื้อสายอเมริกาแอฟริกา โดยนำตุ๊กตาที่มีสีผิวต่างกันมาให้เด็ก ๆ เลือกว่าชอบตุ๊กตาตัวใด ผลปรากฏว่า เด็กส่วนใหญ่ชอบตุ๊กตาผิวขาว และเด็ก ๆ ก็มีลักษณะเชิงบวกต่อคนผิวขาว [3]

หลายทศวรรษหลังการทดลอง สังคมอเมริกาได้เปลี่ยนแปลงไปมาก แต่จากการศึกษาในปัจจุบันบ่งชี้ว่าเด็ก ๆ โดยรวมยังมีทัศนคติเชิงบวกต่อคนผิวขาวสูงกว่าคนสีผิวอื่น เป็นผลมาจากเหตุที่เด็ก ๆ อาจไม่เคยพบเห็นตัวละครที่มีหน้าตาละม้ายคล้ายตัวเด็กที่รับชมสื่อหรือคนในครอบครัวเลย เพราะตัวละครผิวขาวยังคงปรากฏตามสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือสำหรับเด็ก รายการโทรทัศน์ และภาพยนตร์ ทำให้เด็กจดจำได้มากกว่า

กลับมาที่แฟนคลับดิสนีย์ ที่ความไม่พอใจก่อตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ดิสนีย์ประกาศอย่างเป็นทางการว่าให้ฮันลี่ เบลีย์ มารับบทแอเรียล

พวกเรารับทราบ และเคารพการตัดสินใจของดิสนีย์ แต่ถ้าทางดิสนีย์ต้องการให้มีตัวละครผิวดำอยู่ในภาพยนตร์ ก็ควรสร้างตัวละครใหม่ลงไป และควรเคารพบทประพันธ์ดั้งเดิม เช่น เจ้าหญิงควรมีผิวขาวสวยเช่นเดียวกับคนยุโรป[4]

ข้อกังวลนี้เป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยเท่านั้น เพราะความจริงแล้ววรรณกรรมเรื่องดังกล่าวที่ประพันธ์โดย ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน ชาวเดนมาร์ก และได้รับการตีพิมพ์เมื่อ ค.. 1837 ตามต้นฉบับได้บรรยายถึงเจ้าหญิงเงือกน้อยเอาไว้แต่เพียงว่า เจ้าหญิงและเผ่าพงศ์ชาวเงือกของเธออยู่ในมหาสมุทรอันไกลโพ้น และอาศัยอยู่ในห้วงทะเลลึก วรรณกรรมมิได้เจาะจงลงไป ณ จุดใดจุดหนึ่ง ฉะนั้น จะเจาะจงให้เจ้าหญิงเงือกมีผิวขาวนั้นก็แล้วแต่จะมีคนตีความ

หรือเจ้าหญิงเงือกน้อยเป็นธิดาของเจ้ามหาสมุทรลำดับที่ 6 สวยที่สุดในบรรดาเจ้าหญิงทั้งหมด ผิวของเธอสดใสบอบบางราวกลีบกุหลาบ ดวงตาสีสวยดุจสีน้ำทะเลลึก แต่ดิสนีย์ก็ได้ดัดแปลงรูปลักษณ์แอเรียลทั้งสีผมดวงตาออกไปอีกนั้นไม่ใช่เรื่องผิด เพราะไม่มีกฎบัญญัติใด ๆ ที่จะต้องตามบทประพันธ์

หรือตอนจบของเรื่อง เจ้าหญิงเงือกน้อยต้องสังหารเจ้าชายเอริค พระเอกของเรื่องตามบัญชา แต่เธอโยนมีดทิ้งไปด้วยความสิ้นหวัง และสลายตัวเป็นฟองอากาศในทะเล ยังไม่รวมบุคลิกของเจ้าชายเอริค ที่ดิสนีย์ก็ปรับเปลี่ยนให้มีดวงตาสีฟ้าสดใส ขณะที่วรรณกรรมระบุว่า มีดวงตาสีดำเหมือนถ่านหิน และมีเส้นผมดำขลับ [5] แม้กระทั่งเจ้าหญิงเงือกก็ไม่ได้มีชื่อว่าแอเรียล โดยชื่อนี้ดิสนีย์ตั้งให้เมื่อผลิตเป็นการ์ตูนแล้ว

ดังที่กล่าวข้างต้น เมื่อ ค.. 1989 ดิสนีย์ได้ดัดแปลงวรรณกรรมเรื่องนี้เสียใหม่หมด ให้ออกมาในรูปแบบรักโรแมนติกหวานซึ้ง ไร้ความมืดมนตามวรรณกรรมต้นฉบับ ทำให้ความลุ่มลึกทางปรัชญาที่ซ่อนไว้ในเนื้อหาวรรณกรรมเจือจางไป โดยถูกทดแทนด้วยบทเพลงประกอบที่ได้รับความนิยมอย่างน่าเหลือเชื่อ และมีตอนจบแบบสุขสมหวังของเจ้าชายเอริคและเจ้าหญิงแอเรียล การดัดแปลงเนื้อเรื่องเช่นนี้ถือเป็นการทำลายวรรณกรรมหรือไม่ นิวแมน ตั้งคำถามถึงผู้วิจารณ์ หลังจากการประกาศผู้แสดงเป็นแอเรียลอย่างเป็นทางการของดิสนีย์

นอกจากนักวิชาการเสรีนิยมแล้ว ยังมี แมตต์ วอลช์ นักวิชาการฝ่ายขวา ที่วิจารณ์การคัดเลือกตัวนักแสดงเป็นแอเรียลที่ไม่สมเหตุสมผล โดยกล่าวไว้ว่า “ในมุมของวิทยาศาสตร์ มันไม่สมเหตุสมผลเลยที่จะมีคนผิวคล้ำลงไปอยู่ในทะเลลึกได้” และกล่าวอีกว่าไม่เพียงตัวเงือกน้อยเท่านั้นที่ไม่ควรมีผิวสีซีด เธอควรจะมีผิวโปร่งแสงด้วยซ้ำ [6]

การกล่าวเช่นนี้สร้างความไม่พอใจให้ เอเจ เวลลิ่งแฮม ผู้สื่อข่าวของ CNN ที่ออกมาตอบโต้และวิจารณ์ทันที ทั้งเรื่องเอเรียลเป็นผิวดำมิใช่เรื่องแปลกอย่างที่วอลช์กล่าวอ้าง เพราะสัตว์น้ำใต้ทะเลลึกมีสีผิวที่ต่างกันได้ ไม่ใช่ว่าสัตว์ทะเลทุกตัวจะมีสีซีด หลายศตวรรษก่อน นักเดินเรือทะเลยังเข้าใจผิดคิดว่าพะยูนเป็นนางเงือกได้ ทั้งที่พะยูนก็ไม่ได้มีสีผิวที่ซีด [7]

การเหยียดสีผิวและรูปลักษณ์ที่เบลีย์เผชิญนั้นไม่ใช่กรณีแรก ย้อนไปเมื่อ ค.. 2017 ดิสนีย์เคยสร้างตัวละครนำใหม่ขึ้นมาใน Star War : The Last Jedi ที่ เคลลี มารี ทราน นักแสดงเชื้อสายเอเชียอเมริกา มารับบทแสดงนำ ก็ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องสีผิว เชื้อชาติ มาแล้ว จนเธอต้องปิดช่องทางการสื่อสารออนไลน์ทุกช่องทาง เพราะมีชาวเน็ตเข้าไปตำหนิเธอเรื่องการรับบทนำเป็นจำนวนมาก

ส่วนเรื่องเงือกน้อย ยิ่งมีแรงต้านเบลีย์มากก็ไม่ได้กระทบกระเทือนต่อทีมผู้ผลิตภาพยนตร์ โดย ร็อบ มาร์แชล ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ และเป็นผู้ที่เลือกเบลีย์มารับบทเป็นแอเรียล ซึ่งเป็นผลมาจาก การค้นหาอย่างหนักหน่วงกล่าวในรายการทางโทรทัศน์เอ็นบีซีนิวส์ว่า

ชัดเจนมากว่า ฮัลลี่มีการผสมผสานที่หาได้ยากของจิตวิญญาณ หัวใจ ความเยาว์วัย ความไร้เดียงสา และแก่นแท้ บวกกับเสียงร้องเพลงอันไพเราะ คุณสมบัติภายในทั้งหมดที่กล่าวมา จำเป็นสำหรับการแสดงบทที่โด่งดังนี้ [8]

มาจนถึงวันนี้บรรดาผู้คลั่งไคล้ดิสนีย์ต้องการภาพจำในโลกภาพยนตร์ให้เป็นเหมือนกับที่พวกเขาเคยรับชมมาในวัยเด็ก แต่ประเพณีวัฒนธรรมคติชนวิทยาและค่านิยมทางสังคมต่าง ๆ ได้ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยอยู่เสมอ เพราะการเห็นภาพจำจากสื่อในวัยเด็กมีความสำคัญสำหรับเด็กมาก เด็กเห็นหน้าจอหรือพบเห็นจากหนังสือจะจินตนาการจากความเป็นไปได้ ดังนั้น คนที่ตั้งแฮชแท็ก #notmyariel ควรจะถามกลับตัวเองไปด้วยว่า ความทรงจำในวัยเด็ก และประสบการณ์การรับชมของใครสำคัญที่สุด ระหว่างผู้ตั้งแฮชแท็กเองหรือเด็ก ๆ ในยุคปัจจุบันที่ต้องเผชิญทางชาติพันธุ์และความคิดต่างที่หลากหลาย ?

สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งมองเห็นโคลนตม อีกคนตาแหลมคม เห็นดวงดาวอยู่พราวพราย ของ อาจารย์ ฟ.ฮีแลร์ คงไม่ผิดนักถ้านำมาเปรียบเทียบการมอง เบลีย์  เธอโดนโจมตีอย่างหนัก แต่อย่าลืมว่า การวิจารณ์ต้องอยู่บนขอบเขตของสิทธิอันชอบธรรม และไม่กล่าวละเมิดด้อยค่าความเป็นคน แบบที่เบลีย์ต้องเผชิญอยู่

ถ้าจะวิจารณ์ควรดูที่ผลงานความสามารถทางการแสดงของเธอเป็นสำคัญ อีกหนึ่งประการที่ต้องทราบ คือ ดิสนีย์มีความเชี่ยวชาญมากพอที่จะผลิตภาพยนตร์ออกมาให้โดนใจคนดูระดับหนึ่ง ไม่อย่างนั้นคงไม่กล้าทำ ถึงพังดิสนีย์ก็ไม่ขาดทุน ทุกอย่างถูกคิดมาแล้วเป็นอย่างดี เพียงแค่เราเปิดใจรับชมเราอาจเห็นความสามารถทางการแสดงของ เบลีย์ มากกว่าที่เราคิดก็เป็นได้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1], [4], [6] และ [7] AJ Willingham. (2023, 10 April). Analysis: A definitive rebuttal to every racist ‘Little Mermaid’ argument. สืบค้นจาก https://edition.cnn.com/2022/09/17/entertainment/little-mermaid-racist-backlash-halle-bailey-disney-cec/index.html. (ออนไลน์).

[2] Brooke Newman. (2023, 10 April). The white nostalgia fueling the ‘Little Mermaid’ backlash. สืบค้นจาก https://www.washingtonpost.com/lifestyle/2022/09/15/little-mermaid-halle-bailey-black-girls/. (ออนไลน์).

[3] อ่านเพิ่มเติมได้ที่ Kenneth and Mamie Clark Doll เว็บไซต์ https://www.nps.gov/brvb/learn/historyculture/clarkdoll.htm

[5] vanat putnark.  (2023, 11 April). ปลิดลิ้นและเต้นรำบนคมมีด ความเจ็บปวดไร้เสียงใน The Little Mermaid ของแอนเดอร์เซน. สืบค้นจาก https://thematter.co/social/andersen-the-little-mermaid/185542. (ออนไลน์).

[8] Allyson Chiu. (2023, 10 April). After Protests Over Black Ariel, Disney Defends Casting Halle Bailey In And As The Little Mermaid. สืบค้นจาก https://www.ndtv.com/entertainment/after-protests-over-black-ariel-disney-defends-casting-halle-bailey-in-and-as-the-little-mermaid-2067201. (ออนไลน์).

อ้างอิง :

AJ Willingham. (2023, 10 April). Analysis: A definitive rebuttal to every racist ‘Little Mermaid’ argument. สืบค้นจาก https://edition.cnn.com/2022/09/17/entertainment/little-mermaid-racist-backlash-halle-bailey-disney-cec/index.html. (ออนไลน์).

Allyson Chiu. (2023, 10 April). After Protests Over Black Ariel, Disney Defends Casting Halle Bailey In And As The Little Mermaid. สืบค้นจาก https://www.ndtv.com/entertainment/after-protests-over-black-ariel-disney-defends-casting-halle-bailey-in-and-as-the-little-mermaid-2067201. (ออนไลน์).

Brooke Newman. (2023, 10 April). The white nostalgia fueling the ‘Little Mermaid’ backlash. สืบค้นจาก https://www.washingtonpost.com/lifestyle/2022/09/15/little-mermaid-halle-bailey-black-girls/. (ออนไลน์).

Brown v. Board of Education National Historical Park Kansas. (2023, 12 April). Kenneth and Mamie Clark Doll.  สืบค้นจาก https://www.nps.gov/brvb/learn/historyculture/clarkdoll.htm. (ออนไลน์).

vanat putnark. (2023, 11 April). ปลิดลิ้นและเต้นรำบนคมมีด ความเจ็บปวดไร้เสียงใน The Little Mermaid ของแอนเดอร์เซน.  สืบค้นจาก https://thematter.co/social/andersen-the-little-mermaid/185542. (ออนไลน์).


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 พฤษภาคม 2566