หลังฉากเส้นทางรักอมตะ “เกรซ แพทริเซีย เคลลี” จากดาราโฉมงามสู่เจ้าหญิงแห่งโมนาโก

พิธีสมรสระหว่างเจ้าหญิงเกรซกับเจ้าชายเรนีเยร์ที่ 3 แห่งราชรัฐโมนาโก วันที่ 19 เมษายน ค.ศ. 1956 ขณะที่ทั้งสองนั่งบนรถ Rolls Royce โบกมือทักทายประชาชน (Photo by AFP)

ในศตวรรษที่ 20 ยังมีพิธีสมรสที่โด่งดังไปทั่วโลกคือ พิธีสมรสระหว่างนางสาวเกรซ นักแสดงชาวอเมริกัน กับเจ้าชายเรนีเยร์ที่ 3 แห่งราชรัฐโมนาโก (Rainier III, Prince of Monaco) รัฐที่ปกครองในระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส

ประวัติเจ้าหญิงเกรซ

เจ้าหญิงเกรซแห่งโมนาโก (Princess Grace of Monaco) มีชื่อเดิมว่า เกรซ แพทริเซีย เคลลี (Grace Patricia Kelly) เกิดเมื่อ 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1929 ที่เมืองฟิลาเดเฟีย มลรัฐเพนซิเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ในครอบครัวชาวไอริชคาทอลิกที่มีอันจะกิน ในปี ค.ศ. 1947 เธอได้เข้าเรียนที่สถาบันสอนการแสดงที่เมืองนิวยอร์ก และทำงานเป็นนางแบบภาพนิ่งเพื่อหาเงินจ่ายค่าเล่าเรียนด้วยตนเอง กระทั่งเธอได้มีโอกาสแสดงละครเวทีบอร์ดเวย์เป็นครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1949 ที่มีชื่อเรื่องว่า “The Father”

ไม่กี่ปีต่อมาเกรซก็ได้มีโอกาสไปคัดตัวเป็นนักแสดงละครและภาพยนตร์ แม้จะเริ่มจากบทบาทสมทบเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ตาม เธอเปิดตัวในฐานะนักแสดงหน้าใหม่ทางหน้าจอเป็นครั้งแรกในละครเรื่อง Fourteen Hours (1951) ไม่กี่ปีต่อมา เกรซก็ได้แสดงละครในบทบาทที่สำคัญ ๆ มากขึ้น เกรซมีชื่อเสียงโด่งดังจากภาพยนตร์เรื่อง Mogambo (1953) ซึ่งเธอได้รับเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Academy Award หรือที่รู้จักกันคือรางวัล Oscars

เกรซได้รับเสียงชื่นชมการแสดงของเธออันยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์เรื่อง “The Country Girl (1954)” และได้รับรางวัล Oscars สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมเป็นครั้งแรกจากภาพยตร์เรื่องนี้ ในงานประกาศผลรางวัล Academy Award ครั้งที่ 27 ค.ศ. 1955 หลังจากเกรซแสดงภาพยนตร์เรื่อง The Swan (1956) และ High Society (1956) เธอได้ลาจอและไปสมรสกับเจ้าชายเรนีเยร์ที่ 3

เจ้าหญิงแห่งโมนาโก

เกรซได้เข้าร่วมงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1955 เธอได้รับเชิญให้เข้าร่วมถ่ายภาพร่วมกับเจ้าชายเรนีเยร์ที่ 3 ที่พระราชวัง แต่ขณะนั้นเกรซกำลังคบหาดูใจกับนักแสดงชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งอยู่ อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นให้หลังเกรซกับเจ้าชายเรนีเยร์ที่ 3 ก็เริ่มสานสัมพันธ์กันเรื่อยมา และตัดสินใจแต่งงานกันในที่สุด

เบื้องหลังการสานสัมพันธ์ครั้งนี้เริ่มต้นมาจากการถ่ายภาพในงานเทศกาลภาพยนตร์ครั้งนั้นเริ่มมาจากแค่ Pierre Galante ผู้อำนวยการนิตยสาร “ปารีส แมตช์” (Paris Match) เป็นผู้ดำเนินการให้บุคคลทั้งสองมาถ่ายภาพคู่

เอ็ดวาร์ด ควินน์ (Edward Quinn) ช่างภาพซึ่งเป็นผู้ลั่นชัตเตอร์ภาพก่อนที่เรื่องราวจะถูกบันทึกในประวัติศาสตร์เล่าห้วงเวลาที่ทั้งคู่พบกันว่า เกรซ เคลลีย์ ทักทายเจ้าชายอย่างสุขุมในแบบอเมริกัน เธอค้อมคำนับ งอเข่า และทั้งคู่ก็จับมือกัน

“หลังจากที่เกรซ จากไป เธอกล่าวกับคนอื่นว่า ‘เขาเป็นชายที่มีเสน่ห์มาก’ และนั่นคือตอนจบของเหตุการณ์ครั้งนั้น”

ตอนจบของเหตุการณ์นั้นน่าจะกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการของทั้งคู่ โดยรายงานข่าวจากสื่อต่างประเทศบรรยายว่า ผู้ที่ทำหน้าที่สานสัมพันธ์ต่อคือ บาทหลวงทัคเกอร์ (Tucker) ผู้ใกล้ชิดพระองค์ซึ่งส่งจดหมายไปหาเกรซ เนื้อความตอนหนึ่งกล่าวขอบคุณเธอ “สำหรับการแสดงให้เจ้าชายทรงรับทราบว่าหญิงอเมริกันคาทอลิกเป็นอย่างไรและสร้างความรู้สึกประทับใจอย่างลึกซึ้งตราตรึงพระทัยของพระองค์” หลังจากนั้นไม่ถึงปีทั้งคู่ก็เข้าพิธีสมรส

พิธีสมรสจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่เป็นเวลา 3 วัน ในวันแรกเป็นงานพิธีเป็นการภายใน ตรงกับวันที่ 17 เมษายน ค.ศ. 1956 มีเพียงครอบครัวและเพื่อนสหายผู้ใกล้ชิดเท่านั้นที่ร่วมงาน วันถัดมาได้จัดพิธีสมรสทางกฎหมาย (Civil Ceremony) ณ ท้องพระโรง พระราชวังแห่งโมนาโก เกรซสวมชุดลูกไม้สีเบจพร้อมหมวกรัดรูป แต่เธอดูประหม่าอย่างเห็นได้ชัดตลอดพิธี

พิธีสมรสระหว่างเจ้าหญิงเกรซกับเจ้าชายเรนีเยร์ที่ 3 แห่งราชรัฐโมนาโก วันที่ 19 เมษายน ค.ศ. 1956 (Photo by AFP)

หลังจากพิธีสมรสทางกฎหมายเสร็จสิ้น ทั้งคู่ปรากฏตัวสั้น ๆ บนระเบียงของพระราชวัง มีประชาชนประมาณ 500 คนรอแสดงความยินดีอยู่ด้านล่าง คู่บ่าวสาวถูกห้อมล้อมด้วยดอกไม้สีแดงและสีขาวจำนวนมากซึ่งเป็นสีบนธงชาติของโมนาโก ก่อนจะโบกมือให้ฝูงชนสักครู่แล้วกลับเข้าไปข้างในพระราชวัง

ตามวัฒนธรรมของโมนาโกแล้วต้องทำพิธีสมรสทางกฎหมายก่อนพิธีสมรสทางศาสนา ในวันที่ 19 เมษายน ค.ศ. 1956 จึงได้จัดพิธีสมรสทางศาสนา ณ วิหารเซนต์นิโคลัส (Saint Nicholas Cathedral) เจ้าหญิงเกรซสวมชุดแต่งงานสีขาวงาช้างที่ทำจากผ้าไหมและประดับด้วยลูกไม้ กล่าวกันว่าเจ้าหญิงงดงามเหมือนดาราฮอลลีวูดในภาพยนตร์ และชุดเจ้าสาวชุดนี้ก็ได้รับการออกแบบและตัดโดยช่างที่มีฝีมือของวงการแฟชันในยุคนั้นคือ เฮเลน โรส (Helen Rose)

ในพิธีมี Monsignor Marella จากกรุงปารีสเป็นผู้แทนของพระสันตะปาปามาทำพิธี ขณะกำลังทำพิธีทั้งคู่แทบจะไม่ได้มองหน้ากันเลย และได้คุกเข่าและหันหน้าไปทางแท่นบูชา เมื่อเสร็จพิธีแล้วทั้งสองนั่งรถไปตามถนนมอนติ-คาร์โล ในรถเปิดประทุนโบกมือให้ประชาชนที่มาร่วมแสดงความยินดีกว่าหลายพันคน

ชีวิตหลังแต่งงาน

เกรซกลายเป็น “เจ้าหญิงเกรซ” ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เนื่องจากเธอเป็นนักแสดงฮอลลีวูดที่มีชื่อเสียงมาก ด้วยหน้าตาและความสามารถที่เป็นที่ชื่นชอบของชาวอเมริกัน แล้วได้ผันชีวิตสู่การเป็นเจ้าหญิงแห่งราชรัฐโมนาโก ประเทศเล็ก ๆ แต่ร่ำรวยมากในยุโรป เจ้าหญิงเกรซมีพระโอรสพระธิดาทั้งหมด 3 พระองค์ คือ เจ้าหญิงคาโรลีน (Caroline ประสูติ ค.ศ. 1957), เจ้าชายอัลเบิร์ต (Albert ประสูติ ค.ศ. 1958) และ เจ้าหญิงสเตฟานี (Stéphanie ประสูติ ค.ศ. 1965)

เจ้าหญิงเกรซถูกทาบทามให้กลับไปแสดงภาพยนตร์มาโดยตลอด กระทั่งมีรายงานว่าเจ้าหญิงเกรซจะร่วมแสดงภาพยนตร์เรื่อง Marnie (1964) แต่ได้รับเสียงต่อต้านเรื่องบทบาทที่จะแสดงนั้นอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักาณ์ของเจ้าหญิง ดังนั้นเจ้าหญิงเกรซจึงปฏิเสธการแสดงนั้นไป อย่างไรก็ตาม เจ้าหญิงเกรซยังคงออกงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกุศล ศิลปะ และวัฒนธรรม และมีงานพากย์เสียงภาพยนตร์สารคดี เช่น The Poppy Is Also a Flower (1966) ที่นำออกฉายทางโทรทัศน์ของช่อง ABC

ใน ค.ศ. 1976 เจ้าหญิงเกรซได้ดำรงตำแหน่งอยู่ในคณะกรรมการของบริษัท Twentieth Century-Fox บริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่ของฮอลลีวูด

วันที่ 13 กันยายน ค.ศ. 1982 ขณะที่เจ้าหญิงเกรซกำลังขับรถยนต์อยู่ในเขตโกตดาชูร์ (Côte d’Azur) ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส เจ้าหญิงเกรซเจอภาวะโรคหลอดเลือดสมองตีบฉับพลัน มีอาการชักกระตุกจนเสียการควบคุมรถแล้วพุ่งตกเขาลึกหลายสิบเมตร ขณะที่เจ้าหญิงสเตฟานีซึ่งอยู่ในรถก็ได้รับบาดเจ็บแต่ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต เจ้าหญิงเกรซมีอาการบาดเจ็บที่สมองและทรวงอกและกระดูกขาหัก กระทั่งวันต่อมา 14 กันยายน ค.ศ. 1982 เจ้าหญิงเกรซจึงสิ้นพระชนม์

พิธีพระศพจัดในวันที่ 18 กันยายน ค.ศ. 1982 พระศพของเจ้าหญิงเกรซถูกฝัง ณ วิหารเซนต์นิโคลัส เจ้าชายเรนีเยร์ที่ 3 ไม่ได้แต่งงานใหม่ และเมื่อเจ้าชายสิ้นพระชนม์เมื่อ ค.ศ. 2005 ก็ได้นำพระศพมาฝังไว้เคียงข้างเจ้าหญิงเกรซ

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Encyclopedia Britannica.  (2019).  Grace Kelly. Access 18/04/2019, from www.britannica.com/biography/Grace-Kelly

BBC On This Day.  (2019).  1956: Prince Rainier marries Grace Kelly.  Access 18/04/2019, from news.bbc.co.uk/onthisday/hi/dates/stories/april/19/newsid_2720000/2720723.stm

OLIPHANT, VICKIIE. “How Grace Kelly went from American actress to beautiful Princess after one chance meeting”. Express. Online. Published 27 JUL 2019. Access 22 AUG 2019. <https://www.express.co.uk/news/royal/1158513/Royal-Wedding-how-Grace-Kelly-meet-Prince-Rainier-Monaco>


หมายเหตุ : ปรับปรุงเพิ่มเติมจากเนื้อหาเรื่อง “19 เมษายน 1956 : พิธีสมรสแห่งทศวรรษ จากสามัญชนสู่เจ้าหญิงเกรซแห่งโมนาโก” 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 สิงหาคม 2562