“สติกเกอร์ท้ายรถ” ปรัชญาเด็กแว้น-สิบล้อ แฟชั่นหรือภาพสะท้อนสังคมไทย?

สติกเกอร์หน้ารถ สติกเกอร์ท้ายรถ
จาก “สติกเกอร์หน้ารถ” ที่กำลังเป็นประเด็นทางสังคม ขอชวนผู้อ่านย้อนไปทำความเข้าใจ “สติกเกอร์ท้ายรถ” ในฐานะภาพสะท้อนสังคมไทย (ภาพ “สติกเกอร์หน้ารถ” จาก ข่าวสดออนไลน์ https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_7954223)

สติกเกอร์ท้ายรถ วัยรุ่นสร้างตัว, จิ๊กโก๋ทำกิน, สวยขึ้นฟรี หุ่นดีครึ่งราคา, ผู้หญิงก็เหมือนยาคูลท์ ต้องรีบมีชู้ก่อนหมดอายุ, บรรทุกซิ่งวิ่งสร้างตัว ฯลฯ ข้อความเหล่านี้เราคงเคยพบเห็นกันทั่วไปไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็นบนพาหนะส่วนตัว รถจักรยานยนต์ รถกระบะ รถสองแถว หรือบนรถรับจ้างประเภทต่างๆ รถบรรทุก รถสิบล้อ ข้อความสติกเกอร์ท้ายรถเหล่านี้อาจถูกเรียกว่า คำขวัญท้ายรถ วรรณกรรมคนรถ หรือจะเป็นปรัชญาท้ายรถ ขึ้นอยู่กับคนอ่านว่าจะตีความอย่างไร

จุดเริ่มต้นของ สติกเกอร์ท้ายรถ มาจากการเขียนข้อความตามท้ายรถด้วยชอล์ก หรือการพ่นสีของกลุ่มชนชั้นแรงงานที่ประกอบอาชีพขับรถบรรทุก รถโดยสารประจำทางอย่างรถเมล์ รถสองแถว โดย ทวีศักดิ์ ปิ่นทอง เขียนไว้ในหนังสือ “วรรณกรรมเก็บตก” ตั้งแต่ พ.ศ. 2523 เกี่ยวกับหลักฐานที่มีการกล่าวถึงสติกเกอร์ท้ายรถอย่างเป็นทางการ ถ้าหากนับมาจนถึงปัจจุบัน วิวัฒนาการและการดำรงอยู่ของสติกเกอร์ท้ายรถในสังคมไทยก็มีระยะเวลากว่า 40 ปีมาแล้ว

ในวิทยานิพนธ์ของ เจตยา วรปัญญาสกุล เรื่อง “ความหมายและบทบาทความสามารถของสื่อแผ่นติดขนาดเล็กประเภทถ้อยคำสำนวน” กล่าวว่า เมื่อรูปแบบของรถยนต์มีการเปลี่ยนแปลงให้ทันสมัย การเขียนข้อความด้วยชอล์กหรือสีสเปรย์จึงกลายเป็นงาน “สติกเกอร์” เพื่อให้เหมาะสมกับลักษณะของรถยนต์ที่ทันสมัยมากขึ้น

สติกเกอร์ในช่วงประมาณไม่ถึง 10 ปีมานี้ จนถึงปัจจุบัน มีลักษณะรูปแบบตัวอักษรที่เลียนแบบการเขียนตัวหนังสือด้วยลายมือ นิยมใช้สีสะท้อนแสง เช่น สีเขียว สีม่วง สีชมพู หรือสีส้ม เป็นสีตัวอักษร และรองพื้นด้วยสีขาวหรือสีดำ เพื่อให้เห็นตัวอักษรได้ชัด ข้อความยังคงถูกถ่ายทอดในรูปแบบสัมผัสตัวอักษร สัมผัสสระ เน้นคำคล้องจองและแสดงออกเชิงอารมณ์ขัน

ถึงแม้ว่ารูปแบบข้อความท้ายรถจะเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่เนื้อหาข้อความยังคงมีลักษณะเดิม กล่าวคือ เป็นเรื่องครอบครัว ความรัก การขับรถ สภาพเศรษฐกิจ สังคม บ้านเมือง คติธรรม คติสอนใจ และคนที่ใช้ก็ยังเป็นคนกลุ่มเดิม แต่อาจมีคนกลุ่มใหม่เพิ่มเข้ามา เช่น รถยนต์ และจักรยานยนต์ส่วนบุคคล ไปจนถึงกลุ่มเด็กแว้น

ภาพสะท้อนสังคมไทยจาก “คำขวัญท้ายรถ”

นริศรา เกตวัลห์ ผู้ศึกษาเรื่องภาพสังคมไทยจากคำขวัญท้ายรถ” แบ่งภาพสะท้อนเกี่ยวกับสติกเกอร์คำคมท้ายรถไว้ได้ 7 ด้าน คือ

1. สะท้อนเรื่องบาป-บุญ-นรก-สวรรค์ อาทิ “ปิดทองฐานพระ” ที่สื่อถึงการทำดี แต่ไม่ได้รับการยกย่อง ไม่มีใครเห็นค่า หรือจะเป็น “ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ชั่วมีถมไป” น่าจะเกิดจากการท้อแท้ในการทำความดี ดังโบราณว่าไว้ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว แต่ในสังคมปัจจุบันนั้นคนทำชั่วได้ดีกลับมีมาก เป็นต้น

2. สะท้อนความเชื่อทางโหราศาสตร์ อาทิ รถคันนี้สีเหลือง รถคันนี้สีชมพู โดยสติกเกอร์ไม่ได้เป็นไปตามสีที่แท้จริงของรถ ซึ่งอาจมาจากสีรถที่ใช้ไม่เป็นดังใจ จึงมีการแก้เคล็ดตามความเชื่อ โดยติดสติกเกอร์แทน

3. สะท้อนเรื่องการเลือกคู่และการครองเรือน อาทิ “ผู้หญิงก็เหมือนยาคูลท์ ต้องรีบมีชู้ก่อนหมดอายุ” “คนแรกคือดวงใจ คนต่อไปคือกำไรชีวิต” เห็นถึงการเสียดสีพฤติกรรมชีวิตคู่ และทรรศนะของผู้ชาย (บางส่วน) ที่มีต่อเพศหญิง

นอกจากนี้ ยังมีคำคมท้ายรถที่สั่งสอนเกี่ยวกับพฤติกรรมเพศหญิง เช่น “ถ้าน้องเลิกตอแหล แล้วพี่จะให้แม่มาขอ” หรือจะเป็นคำที่แสดงให้เห็นความทุกข์อันเนื่องจากการมีความรัก เช่น “สุขใจเมื่อไกลเมีย” “เมียอยู่ในรถ แม่มดอยู่ที่บ้าน” ที่ปรากฏในลักษณะผู้ชายที่นอกใจภรรยา เป็นต้น

4. สะท้อนถึงการแสดงพฤติกรรมทั้งดีและไม่ดีของคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการสั่งสอนเพศหญิง การเสียดสีทางเพศ มีค่านิยมเห็นผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ ดูถูกอาชีพ ส่อเสียดพฤติกรรมของคนในสังคมปัจจุบัน การขาดระเบียบวินัยของคนในสังคม หรือแม้แต่ตัวเจ้าของรถเอง

อย่าง “เงินมาผ้าหลุด เงินหยุดผ้าปิด” “เมาไม่ขับ กลับไม่ถูก” “ชมรมเมาไม่จับ” “คนลงที่ป้าย ควายลงไฟแดง” และส่วนใหญ่คำขวัญท้ายรถที่พบเจอมักเกี่ยวกับปัญหาอบายมุขที่แสดงออกมากในการใช้ภาษา แม้จะสอดแทรกอารมณ์ขัน แต่ก็เป็นการล้อเลียนเสียดสีรัฐบาลให้เห็นอยู่บ่อยๆ

5. สะท้อนปรัชญาการดำเนินชีวิต อาทิ “หมากรุกยังต้องคิด หมากชีวิตไม่คิดได้อย่างไร” เห็นถึงการแก่งแย่งชิงดีกันในสังคมปัจจุบันว่า หากปล่อยชีวิตล่องลอยไปวันๆ จะสำเร็จได้อย่างไร เป็นต้น

6. สะท้อนปัญหาสังคม โดยคำขวัญท้ายรถมักเปลี่ยนไปตามสภาพสังคมในช่วงเวลานั้น ๆ อย่างถ้าเป็นปัญหารถติด หรือการขาดวินัยในการขับขี่ ก็เป็นที่มาของคำขวัญเสียดสีอย่าง รถติดคือมรดกไทย อนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลาน” “ถ้ารีบทำไมไม่มาตั้งแต่เมื่อวาน”

นอกจากนี้ ยังมีคำขวัญที่สะท้อนปัญหายาเสพติดในสังคมได้อย่างเห็นภาพ เช่น ยาบ้า คนเสพตาย คนขายติดคุก” “ขับเร็วหาว่าแดกม้า ขับช้าก็หาว่าหมาไม่แดก” โดยม้าที่หมายถึงไม่ใช่สัตว์ แต่กำลังพูดถึงยาม้า (ยาบ้า) ได้ชัดเจน

7. สะท้อนสภาพเศรษฐกิจของคนในปัจจุบัน ทุกวันนี้สังคมประสบปัญหาเศรษฐกิจฝืดเคือง คนส่วนใหญ่มีหนี้สิน สะท้อนออกมาเป็นคำขวัญ เช่น เมียซื้อเงินสด รถซื้อเงินผ่อน” “ไม่รวยพูดยากพูดมากไม่ได้”

จะเห็นไว้ว่า ที่แบ่งออกมาเป็นด้านต่างๆ นี้ สะท้อนได้ทั้งตัวตนของผู้ส่งสาร (เจ้าของรถ, ผู้ขับขี่) และสะท้อนถึงสารที่สื่อออกมาได้หลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกถึงตัวตน บ่งบอกคุณลักษณะของยานพาหนะ เพศ (เรื่องบนเตียง) การสื่อในทางลามกอนาจาร ความรัก ความสัมพันธ์ในครอบครัว ความเชื่อ คำด่าทอ การเสียดสี ความน้อยเนื้อต่ำใจ นักเลงอันธพาล ผู้ขับขี่แบบคึกคะนอง สภาพเศรษฐกิจ สิ่งที่เป็นกระแส คติ คำคม การเมือง และแง่มุมอื่นๆ อีกหลากหลาย

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หากมองภาพกว้างๆ ผู้เขียนกลับเห็นถึงแง่มุมลักษณะการต่อสู้ การเข่นเขี้ยวของชนชั้นแรงงานภายในประเทศ สุดท้ายแล้ว เป็นสิ่งที่น่าสนใจว่า สติกเกอร์คำคมท้ายรถนั้นถือเป็นแฟชั่นที่ได้รับความนิยมแบบมาไวไปไวเหมือนแฟชั่นอื่นๆ หรือเป็นการสะท้อนให้เห็นแนวความคิดและรูปแบบการชีวิตของกลุ่มคนอีกกลุ่มหนึ่งของสังคม

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

นริศรา เกตวัลห์.  (2550). ภาพสังคมไทยจากคำขวัญท้ายรถ วารสารศิลปศาสตร์ปริทัศน์, 2 (3), 66-72.

เอกกมล จิระกุลชา. (2562). สติกเกอร์กับวาทกรรมในสังคมไทย. (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

เอกกมล จิระกุลชา และ อดิพล เอื้อจรัสพันธุ์. (2563). สติกเกอร์ท้ายรถ: วรรณกรรมของกลุ่มคนรถและกลุ่มเด็กแว้นกับการต่อสู้ทางสังคม. วารสารวิชาการนวัตกรรมสื่อสารสังคม, 8 (1), 22-33.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2566