หนึ่งสัปดาห์มี 7 วัน ทำไมต้อง 7 วัน?

ปฏิทิน สัปดาห์ วัน
(ภาพจาก Pixabay) - มีการตกแต่งกราฟิกเพิ่มโดย กอง บก.ศิลปวัฒนธรรม

สำหรับบางคน การรอวันหยุดสุดสัปดาห์มันช่างยาวนานราวนับอสงไขย เฝ้านับวันแล้ววันเล่า ตั้งแต่วันจันทร์ อังคาร… ไปถึงศุกร์ แล้วอุทิศช่วงเวลาแห่งการพักผ่อนให้กับวันเสาร์-อาทิตย์ วนสัปดาห์ใหม่เรื่อยไปแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่ากว่าจะหมดเดือน หรือครบขวบปีตามระบบ ปฏิทิน แต่เคยสงสัยกันไหมว่า อะไรคือเหตุผลของการมี 7 วันในหนึ่ง “สัปดาห์” ?

ในขณะที่เหตุผลของการนับวันวันหนึ่งนั้นเข้าใจง่ายมาก และแทบไม่ต้องมีคำอธิบายเพิ่ม เพราะนับจากกลางวัน-กลางคืน ครบรอบหลังโลกหมุนรอบตัวเอง ส่วนปีคือการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ซึ่งใช้เวลา 365 วัน กับอีก 1 ใน 4 ของวัน เป็นเหตุผลของการเพิ่มวันพิเศษประจำเดือนกุมภาพันธ์อีก 1 วัน ในทุก ๆ 4 ปี 

ถึงอย่างนั้น ความเข้าใจดังกล่าวแทบไม่ช่วยอธิบายเลยว่า เหตุใดระบบสัปดาห์จึงแบ่งวันออกเป็น 7 วัน

กล่าวได้ว่า การแบ่งสัปดาห์เป็นผลผลิตจากการนับเดือนตามลักษณะปรากฏของดวงจันทร์ หรือวัฏจักรที่เราเห็นเป็นพระจันทร์ข้างขึ้น-ข้างแรมนั่นเอง เรียกว่าวิธีนับแบบ “จันทรคติ” ซึ่งเป็นระบบที่ค่อนข้างยุ่งยากซับซ้อน เมื่อเทียบกับการนับวันกับปีด้วยดวงอาทิตย์ เพราะวัฏจักรของดวงจันทร์มีระยะ 27 วัน กับอีก 7 ชั่วโมง รวมเป็น 13 รอบใน 1 ปี

แต่ใครกัน… ใครกันที่เริ่มเฝ้าสังเกตลักษณะปรากฏของดวงจันทร์รอบแล้วรอบเล่า จนให้กำเนิดการนับแบบจันทรคติ?

พวกเขาเหล่านั้นคือ ชาวบาบิโลเนียน กลุ่มชนในยุค 6-7 ร้อยปีก่อนคริสตกาล หรือ 2,600-2,700 ปีที่แล้ว บริเวณระหว่างแม่น้ำสองสาย ซึ่งปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ประเทศอิรัก พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของอารยธรรมระดับสูง ณ ช่วงเวลานั้นที่เรียกว่า อารยธรรมเมโสโปเตเมีย แห่งลุ่มแม่น้ำไทกริส-ยูเฟรตีส 

ชาวบาบิโลเนียนครอบครองพื้นที่กสิกรรมขนาดใหญ่ และเป็นชุมชนมนุษย์ที่มีวิทยาการก้าวล้ำเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ทั้งเป็นชนชาติที่หลงใหลดวงดาวบนท้องฟ้า พวกเขามักเฝ้าสังเกตความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของดาวเหล่านั้น นักบวชผู้เฉลียวฉลาด (และว่าง) ซึ่งถูกนับถือในฐานะผู้ติดต่อกับสรวงสวรรค์และเทพเจ้า คือผู้บันทึกข้อมูลของดวงดาว แน่นอนว่า พวกเขาคือต้นกำเนิดการกำหนดให้สัปดาห์หนึ่งมี 7 วันด้วย

เดิมทีชาวบาบิโลเนียนสร้าง ปฏิทิน ที่เรียกว่าระบบปฏิทินจันทรคติ โดยแบ่งกำหนด 28 วัน เป็น 1 เดือน สอดคล้องกับวงจรข้างขึ้น-ข้างแรมของดวงจันทร์ แต่วัฏจักรอันสมบูรณ์แบบดังกล่าวกินระยะเวลา (และจำนวนวัน) ที่นานเกินกว่าจะจัดสรรให้มีประสิทธิภาพได้สำหรับสังคมเกษตรกรรม ที่เหล่านักบวชมีบทบาทในมากพอ ๆ กับกษัตริย์ 

พวกเขาจึงแบ่งเดือนอีกเป็น 4 ส่วนเท่า ๆ กัน เป็นที่มาของสัปดาห์ที่มี 7 วัน โดยกำหนดวันสุดท้ายของสัปดาห์เป็นวันที่อุทิศเพื่อกิจกรรมทางศาสนา

ไม่ใช่แค่กำหนด 7 วันในหนึ่งสัปดาห์เท่านั้น ชาวบาบิโลเนียนยังเป็นผู้ริเริ่มตั้งชื่อวันทั้ง 7 ด้วย ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับวัตถุเปล่งแสงบนท้องฟ้าทั้ง 7 ดวงที่พวกเขาหลงใหล ตั้งแต่ดวงที่ทรงอานุภาพจนสว่างไสวไปทั่วทุกหนแห่งในยามกลางวัน ดวงที่ส่องสว่างโดดเด่นที่สุดในยามราตรี ตลอดจนดวงดาวอื่น ๆ ที่ส่องประกายรายล้อมอยู่ 

ดวงดาวเหล่านั้นประกอบด้วย ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ ในระบบสุริยะ ซึ่งมองเห็นง่ายที่สุดยามค่ำคืน เพราะล้วนเป็นเพื่อนบ้านร่วมระบบสุริยะทั้งสิ้น ได้แก่ ดาวอังคาร ดาวพุธ ดาวพฤหัสบดี ดาวศุกร์ และดาวเสาร์ หากสังเกตตำแหน่งการเรียงวัน (เริ่มจากวันอาทิตย์) จะพบว่าวันต่าง ๆ ยังถูกเรียงลำดับจากความเจิดจ้าหรือลำดับของการ “มองเห็น” ทั้งสิ้น

การกำหนดสัปดาห์หนึ่งให้มี 7 วัน แพร่กระจายไปทั่วพื้นที่อารยธรรมเมโสโปเตเมีย และไปสู่อารยธรรมข้างเคียงอื่น ๆ เริ่มจาก ชาวยิว คือชนต่างชาติกลุ่มแรกที่รับระบบการนับและแบ่งแบบดังกล่าวมาใช้ระหว่างที่พวกเขาเป็นข้าแผ่นดินและเชลยสงครามของจักรวรรดิบาบิโลน 

ก่อนจะแพร่หลายไปยังชาวเปอร์เซียและชาวกรีกที่รับไปใช้ ในช่วงที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชเริ่มพิชิตดินแดนทางตะวันออกของกรีก รวมถึงนำพาอารยธรรมกรีกไปยังดินแดนต่าง ๆ ทั่วตะวันออกใกล้จนถึงอินเดีย 

ตรงนี้เองที่แนวคิดสัปดาห์หนึ่งมี 7 วัน ได้แพร่กระจายเข้าไปในชมพูทวีป นักวิชาการวิเคราะห์ว่า ชาวจีนรับระบบการนับแบบดังกล่าวจากอินเดียนี่เอง

ทั้งนี้ อารยธรรมอื่น ๆ ในยุคโบราณก็มีระบบการนับ สัปดาห์ ของตนเองเช่นกัน อย่างชาวอียิปต์มีสัปดาห์ที่ยาวนานถึง 10 วัน หรือชาวโรมันที่มี 8 วันในหนึ่งสัปดาห์ แต่เมื่อชาวโรมันครอบครองดินแดนซึ่งเคยรับอิทธิพลมาจากอารยธรรมกรีก ในที่สุดพวกเขาก็เปลี่ยนไปนับสัปดาห์แบบ 7 วันด้วย การแบ่งนี้ถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการในสมัยจักรพรรดิคอนสแตนตินมหาราช เมื่อราว ค.ศ 321 พร้อมการประกาศให้วันอาทิตย์เป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์

นอกจากนี้ ชาวบาบิโลเนียนยังได้มอบมรดกทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นและมีอิทธิพลต่อโลกสมัยใหม่อย่างยิ่งอีกประการคือ ระบบเลขฐาน 60 ที่ใช้ในการนับวินาที นาที ชั่วโมง อันเป็นภูมิความรู้ของพวกเขาตั้งแต่ศตวรรษที่ 6-7 ก่อนคริสตกาลด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Kristin Heineman, Discover Magazine (Jan 16, 2020) : Why Are There Seven Days in a Week?. (Online)

Encyclopaedia Britannica (Retrieved Mar 7, 2023) : week, chronology. (Online)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 มีนาคม 2566