ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
ป.อินทรปาลิต นักเขียนชื่อดังเรื่อง “สามเกลอ” หรือ “พล นิกร กิมหงวน” เคยเป็นนักเรียนนายร้อยทหารบก หรือ โรงเรียนนายร้อย จปร. ในปัจจุบัน เรียนรุ่นเดียวกับ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (บ้างว่ารุ่นเดียวกับ จอมพลถนอม กิตติขจร ด้วย) แต่เลิกเรียนโรงเรียนนายร้อยต่อ ด้วยเหตุผลว่าถ้าจบมาเป็นทหาร อาจถูกยิงเป้า หรือติดคุกหัวโต
ป.อินทรปาลิต ชื่อจริงว่า ปรีชา อินทรปาลิต (พ.ศ. 2453-2511) เป็นบุตรชายพันโท พระวิสิษฐพจนการ (อ่อน อินทรปาลิต) กับนางวิสิษฐพจนการ (ชื่น อินทรปาลิต) เมื่อ พ.ศ. 2462 เข้าโรงเรียนนายร้อยทหารบก หรือ โรงเรียนนายร้อย จปร. (โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า) ในปัจจุบัน
ขณะนั้นยังแยกเป็นโรงเรียนนายร้อยฝ่ายประถม และมัธยม โดย ป.อินทรปาลิต เลขประจำตัว 3389 ขณะที่เพื่อนร่วมรุ่นอย่าง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เลขประจำตัว 3377 ซึ่งทั้งคู่เป็นนักเรียนนายร้อยทหารบก รุ่น พ.ศ. 2462
หากเรียนจบหลักสูตร ป.อินทรปาลิต จะได้ติดยศเป็นนายทหาร และคาดว่าหากเขาเข้ารับราชการเป็นนายทหารใน พ.ศ. 2474 ทว่า ป.อินทรปาลิต ลาออกระหว่างหลักสูตร และเลือกไปเรียนต่อที่โรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์ จนจบชั้นมัธยมปีที่ 8 แทน
แฟนหนังสือของ ป.อินทรปาลิต ผู้หนึ่งชื่อว่า สำราญ อินทะกง เป็นนักเรียนนายร้อย จปร. ที่คุ้นเคยกับ ป.อินทรปาลิต และเคยมาเยี่ยมเยียนที่บ้านถึงที่บ้านเป็นประจำ เมื่อทราบว่า ป.อินทรปาลิต เคยเรียนที่โรงเรียนนายร้อย จปร. เช่นกัน จึงเกิดความเคารพศรัทธากันมากถึงกับฝากตัวเป็น “ลูกบุญธรรม” ทั้งสองมักพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงชีวิตความเป็นอยู่ และสภาพโรงเรียนนายร้อยในยุคของตนว่าเป็นอย่างไร
ครั้งหนึ่ง ป.อินทรปาลิต กล่าวว่า “หากพ่อเรียนจบหลักสูตรของโรงเรียนและได้เป็นนายทหาร เวลานี้ถ้าพ่อไม่เป็นนายพลเหมือนเพื่อนๆ พ่อก็อาจจะถูกยิงเป้าหรือติดตะรางไปแล้ว”
เมื่อสำราญถามเหตุผล ป.อินทรปาลิต ก็ตอบว่า
“อ้าว-สมัยก่อนเขาถือว่าการปฏิวัติเป็นเกมสนุก ที่สามารถแสดงถึงพละกำลังและอำนาจที่มีอยู่ในมือตนน่ะซี เอะอะอะไรก็ปฏิวัติ…ชนะได้ชื่อว่ารัฐประหาร ถ้าแพ้เพราะไม่สามารถล้มล้างรัฐบาลได้ก็กลายเป็นกบฏ
โอ๊ย-ยุคนั้นน่ะเรอะ ปฏิวัติเป็นว่าเล่น ไม่พอใจเอารถถังออกมาวิ่ง เอากำลังทหารมายึดโน่นล้อมนี่ ประชาชนอกสั่นขวัญแขวนตื่นตระหนกอย่างไรไม่สนใจ เพราะถือว่าชาวบ้านมีแต่มือเปล่า พวกเขามีอาวุธ…
ทีนี้ ถ้าพ่อเป็นนายทหาร…ต้องอยู่ข้างใดข้างหนึ่งอาจจะพวกรัฐบาลหรือคณะปฏิวัติก็ได้ หากอยู่ฝ่ายล้มล้างรัฐบาลแล้วกระทำการสำเร็จก็มีตำแหน่งใหญ่ แต่บังเอิญพลาดท่าปราชัย…ถ้าไม่ถูกยิงเป้า ก็ติดคุกหัวโตเท่านั่นแหละ…”
เมื่อ ป. อินทรปาลิต ไม่ได้เรียนโรงเรียนนายร้อยทหารบกจนจบ เราจึงไม่มี “นายพล” ที่ชื่อ ปรีชา อินทรปาลิต แต่มี “พล นิกร กิมหงวน” อ่าน ซึ่งก็คุ้มอยู่
อ่านเพิ่มเติม :
- 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2453 วันเกิด ป. อินทราปาลิต ผู้ให้กำเนิด พล นิกร กิมหงวน
-
ป.อินทรปาลิต กับ “พล นิกร กิมหงวน” จินตนาการปี 2550 ไทยมีรถไฟฟ้า-เลิกพูดภาษาไทย
ข้อมูลจาก :
ปริญญา อินทรปาลิต. โลกส่วนตัวของ ป.อินทรปาลิต. สำนักพิมพ์แสงดาว พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2541.
อนุสรณ์ ป.อินทรปาลิต ที่ระลึกในงานประชุมเพลิงศพ นายปรีชา อินทรปาลิต ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม วันพฤหัสบดีที่ 9 มกราคม พุทธศักราช 2512.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566