“ปัจจุบันสมัยไทยอีสาน” ในภูมิปัญญาสร้างสรรค์ ท่ามกลางท้องถิ่นนิยม-วัฒนธรรมแห่งชาติ

ภาพประกอบเนื้อหา - ผู้สาวลำซิ่ง การปรับตัวไปตามวิถีสังคมใหม่ ที่มีพื้นฐานแห่งพลังสร้างสรรค์ที่สนุกสนาน

คนอีสานหรือชาวอีสาน ไม่ใช่ชื่อเชื้อชาติเฉพาะ แต่เป็นชื่อสมมุติเรียกคนหลายหลากมากมายในดินแดนอีสาน และเป็นชื่อเรียกอย่างกว้างๆ รวมๆ ตั้งแต่อดีตดึกดำบรรพ์สืบจนปัจจุบัน

ด้วยเหตุดังกล่าว ความเป็นมาของคนอีสานหรือชาวอีสานจึงไม่หยุดนิ่งอยู่โดดเดี่ยว แต่ล้วนเกี่ยวข้องเคลื่อนไหวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับความเป็นมาของคนสุวรรณภูมิหรืออุษาคเนย์ ตั้งแต่ยุคดั้งเดิมเริ่มแรกสืบจนทุกวันนี้ ซึ่งมีความเคลื่อนไหวไปๆ มาๆ ทั้งใกล้และไกลในทุกทิศทาง และหลายครั้งหลายหน จนระบุชัดเจนแน่นอนนักไม่ได้ แต่สิ่งหนึ่งซึ่งคนอีสานและชาวอีสานมีสำนึกร่วมกันอย่างแข็งขันและองอาจคือคำสมมุติเรียกว่า พลังลาว อันมีรากจากวัฒนธรรมลาว (สุจิตต์ วงษ์เทศ. “พลังลาว” ชาวอีสาน มาจากไหน?. 2549. น. 12.)

Advertisement
๑ การออกแบบเครื่องประดับที่เอารูปแบบลวดลายการสักอีสานรูปสัตว์สัญลักษณ์มาออกแบบรับใช้วิถีสังคมใหม่ ออกแบบโดย เพชรมิลตรา กลางประพันธ์
๒ โคราช ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลที่ออกแบบโดย อาจารย์ทวี รัชนีกร ที่นำรากเหง้าทางวัฒนธรรมการศึกษาโบราณอย่างไม้ประกับหนังสือผูกใบลานมาสร้างสรรค์

อัตลักษณ์ในการสร้างสรรค์อีสาน อัตลักษณ์ในแง่ของนิยามความหมาย อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ อธิบายว่าคือกระบวนการจัดสรรสิทธิและอำนาจ โดยที่มิใช่ใครจะสามารถสร้างให้แก่ตนเองได้โดยลำพัง หากแต่ผู้ที่สามารถกำหนดอัตลักษณ์ให้คนอื่นๆ หรือกลุ่มวัฒนธรรมอื่นๆ ได้คือผู้ที่มีอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ โดยคนกลุ่มนี้มีเป้าหมายนัยยะทางการเมืองเรื่องวัฒนธรรมที่ซ่อนเร้น เช่นการจำกัดสิทธิอำนาจคนอื่น การเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ตนเองต้องการควบคุมให้อยู่ในการกำกับของตนเองโดยสร้างอัตลักษณ์ นิยามตัวตนให้กับผู้คนเหล่านั้น โดยสร้างเงื่อนไขต่างๆเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับกลุ่มของตนเอง โดยกระบวนการหรือกลไกสำคัญของคนกลุ่ม นี้คืออำนาจทางการบริหารที่ลิดรอนสิทธิการเข้าถึง อีกทั้งระบบการศึกษา สื่อ กฎหมาย และกลไกการปกครอง ทำให้นิยามแห่งอัตลักษณ์นั้นเป็นที่ยอมรับในสังคมหรือในทางตรงกันข้าม ก็อาจนิยามอัตลักษณ์ของกลุ่มตนหรือกลุ่มแนวร่วมที่เห็นด้วย ให้มีความชอบธรรมหรือสิทธิพิเศษในการใช้อำนาจมากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ แต่ทั้งนี้กลุ่มผู้ถูกนิยามอัตลักษณ์ ซึ่งถูกมองเป็นลูกไล่ก็ย่อมมีการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อจะสร้างอัตลักษณ์ของตนขึ้นมาใหม่ เพื่อหวังช่วงชิงอำนาจและสิทธิของตนกลับคืนมาโดยทั้งหมดเป็นกระบวนการทางสังคมที่ซับซ้อน ดังนั้นผู้ช่วงชิงและถูกช่วงชิงจึงไม่สามารถหยั่งรู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่เสมอไป (นิธิ เอียวศรีวงศ์, 2553. น. 25-26)

ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าวาทกรรมการสร้างแนวคิดเรื่องอัตลักษณ์แบบท้องถิ่นนิยม ไม่ว่าจะท้องถิ่นไหนก็ตามแต่ ได้เริ่มก่อตัวขึ้น จนต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองยุคคณะราษฎรในปี พ.ศ. 2475 ได้มีการผลัดเปลี่ยนรสนิยมใหม่ด้วยนัยยะทางการเมืองและอิทธิพลกระแสแฟชั่นตามยุคศิลปะสมัยใหม่ที่แพร่หลายและทรงอิทธิพลไปทั่วโลกยุคต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 แต่เป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ จนถึงในปี พ.ศ. 2490 ที่เป็นยุคปลุกกระแสความคลั่งชาติสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม แบบรัฐจารีตของกลุ่มอนุรักษนิยม ทำให้สังคมไทยได้ย้อนกลับไปหยิบยืมแนวคิดในการสร้างอัตลักษณ์ความเป็นไทยสมัยรัชกาลที่ 6 ที่เคยถูกใช้ในวงจำกัดโดยถูกนำมาใช้ขยายผลในวงกว้าง ในแบบฉบับแห่งชาติอีกครั้งโดยคราวนี้ได้สร้างกระแสที่รุนแรงแบบถอนรากถอนโคนอยู่ในทุกมิติและยังทรงอิทธิพลมาถึงทุกวันนี้ เช่น วัฒนธรรมแห่งชาติ ศิลปะแห่งชาติ โดยทั้งหมดได้ส่งอิทธิพลต่อศิลปะและการสร้างสรรค์ในวัฒนธรรมอีสาน ทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่แม้กระนั้นดินแดนอีสาน (บางส่วน) ก็สามารถแสดงออกถึงการต่อรองในเชิงสร้างสรรค์ภายใต้เงื่อนไขทางสังคม การเมือง ตามยุคสมัย เช่น

๓ โต๊ะเตี้ยร่วมสมัยจากวัสดุพื้นบ้านที่ผสานกับวัสดุใหม่ (กระจก)
๔ ผลงานการออกแบบที่นำเอารูปทรงก่องข้าว(ตีนก่อง) มาออกแบบเป็นตู้จัดแสดงศิลปวัตถุในพิพิธภัณฑ์ ออกแบบโดย จารึก สนประเสริฐ
๕ จานใส่ส้มตำและกระติบข้าวเหนียวในตัวโดยจานมีนัยยะวัฒนธรรมการกินแบบล้อมวงผลงานการออกแบบของกลุ่มกู๊ดซิติเซ่น (ภาพจาก “กันดารคือสินทรัพย์อีสาน”)
๖ ก่องข้าวที่รับใช้ทุนนิยมในสังคมใหม่แห่งเมืองขอนแก่น

สื่อถึงความเป็นวัฒนธรรมแบบชาวบ้าน (โดยไม่มีวัฒนธรรมแบบราชสำนักอย่างล้านนา ล้านช้าง หรืออยุธยา) จึงมีความเป็นกันเอง จากวิถีที่ต้องอดและทนต่อสภาวะที่ถูกทำให้เป็นอื่น รักความสนุกสนาน สื่อสารเข้าใจง่าย ไม่มีรูปแบบแห่งฉันทลักษณ์ที่ซับซ้อน ไม่ยึดติดรูปแบบโดยมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงสูงกว่าวัฒนธรรมราชสำนัก ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ศิลวัฒนธรรมอีสานในวิถีชาวบ้านจึงมีลักษณะของการเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็ว ทั้งในแง่รูปแบบทางศิลปะรวมถึงประโยชน์ใช้สอยและวัสดุแห่งเทคโนโลยี ที่เน้นการพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด โดยมิได้นำเข้าแบบทั้งดุ้น ดั่งเช่น สิม ที่ลอกเลียนของภาคกลางเข้ามาก็มีรูปแบบที่แปลกแตกต่างออกไปจากรูปแบบเดิม หรืออย่างวัฒนธรรมความบันเทิง เช่น หมอลำซิ่ง หรือหนังบักตื้อซิ่งที่เป็นการปรับตัวในบริบทสังคมใหม่

มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยมีวัฒนธรรมลาวเป็นกระแสหลัก และมีกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ เช่นกวยหรือเขมรซึ่งมีศิลปวัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์ของตนเองโดยเฉพาะมีความเป็นอิสระในการแสดงออกที่เป็นพลังสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมที่สำคัญโดยมีการบูรณาการไปตามบริบทพื้นที่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเรื่องวัฒนธรรม เช่น วัฒนธรรมเขมร ลาว เวียดนาม กรุงเทพฯ หรือแม้แต่ความเป็นตะวันตก ภายใต้ตัวแปรของห้วงเวลา สถานที่ รวมถึงกาละเทศะ

ดังนั้นการแสวงหาอัตลักษณ์หรือภูมิปัญญาแห่งปัจจุบันสมัยจึงเป็นขบวนการสร้างพลังต่อรองเชิงอำนาจผ่านอัตลักษณ์ท้องถิ่นที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ เพื่อตอบสนองรับใช้รัฐและตลาดสมัยใหม่ ที่เชื่อมโยงท้องถิ่นต่างๆ เข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างเบ็ดเสร็จโดยทั้งหมดนี้ทำให้ตัวตนเดิมของท้องถิ่นต่างๆ เลือนหายไป โดยมักเป็นการลอกเลียนมากกว่าเรียนรู้ ด้วยสาเหตุที่ตัวตนของอดีตแม้จะสัมพันธ์กับบริบทนั้นๆ ในยุคสมัยหนึ่ง แต่เมื่อมีการปฏิรูปโครงสร้างสังคมใหม่จากรัฐอย่างถอนรากถอนโคนทำให้ท้องถิ่นต้องสูญเสียตัวตนในมิติต่างๆ ไป ด้วยเงื่อนไขตัวแปรจากระบบเครือข่ายของรัฐได้หล่อหลอมรวมจนผู้คนในท้องถิ่น จำต้องปรับตัวตามวิถีอย่างคนเมืองที่เน้นการพึ่งพาคนอื่นโดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านความสะดวกสบายที่โดนใจพื้นฐานกิเลสมนุษย์อยู่แล้วผ่านสื่อต่างๆที่รุมเร้าอยู่รอบตัวทำให้วิถีอย่างในสังคมแบบชาวนาแห่งวิถีการเกษตรแบบเดิมๆ ไม่สอดคล้องกับวิถีในโครงสร้างสังคมใหม่ ที่มีความซับซ้อนมากกว่าในอดีตโดยเฉพาะระบบการค้าแบบทุนนิยมที่เข้ามาแทนที่

๗ โบสถ์ในสังคมใหม่ตามปรัชญาธรรมสายพระป่าที่ไมยึ่ดติดรูปแบบของบูรพาจารย ์ หลวงปู่ชาแห่งวัดหนองป่าพง เมืองอุบล
๘ พระธาตุบัวเหลี่ยม อัตลักษณ์แห่งวัฒนธรรมไทย-ลาวสกุลช่างเมืองเลย ที่ปรับตัวไปตามรสนิยมและการใช้งานของสังคมใหม่ ผลงานการออกแบบของ อาจารย์ช่วง มูลพินิจ

โดยกระบวนการนี้เริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 และเพิ่มความเข้มข้นในยุคพัฒนาของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยภูมิปัญญาที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ เช่น การทำมาหากินและความมั่นคงทางอาหารและสังคม ก็มีความสัมพันธ์กับสิ่งที่เรียกว่าภูมิปัญญาชาวบ้าน

ดังนั้นหมายความว่าคิดเรื่องอะไรก็ได้ ล้วนเป็นหรือสัมพันธ์กับภูมิปัญญาชาวบ้านทั้งนั้น วาทกรรมนี้ทรงพลัง แต่ต้องระวังเพราะจะมีผู้ช่วงชิงกันเข้ามาให้ความหมาย ที่ทำให้ชาวบ้านเองหมดพลังต่อรองลงได้ เช่น ถ้าภูมิปัญญาชาวบ้านหมายถึงความฉลาดที่จะผลิตสินค้าสำหรับโครงการหนึ่งหมู่บ้านหนึ่งผลิตภัณฑ์เท่านั้น ภูมิปัญญาชาวบ้านก็เลยกลายเป็นแค่เรื่องการสานกระบุง ตะกร้า หรือทอผ้า ทำไวน์ เป็นเรื่องๆ ไป โดยไม่สัมพันธ์กับการจัดการฐานทรัพยากรและการจัดการทางสังคม (นิธิ เอียวศรีวงศ์. มติชนสุดสัปดาห์. ฉบับ 7-13 มีนาคม 2546, น. 45-46.)

ดังนั้นภูมิปัญญาสร้างสรรค์ ในนิยามความหมายของกลุ่มอนุรักษนิยม จึงเป็นเพียงแค่สิ่งที่ตกยุคสมัยหรือความเปิ่นเชยหรือความล้าหลังทางเทคโนโลยีอะไรอื่นๆ อีกมากมาย ด้วยกรอบแนวคิดอันคับแคบเช่นนี้จึงทำให้สิ่งที่เรียกว่าภูมิปัญญาสร้างสรรค์ไม่สามารถสนองตอบต่อวิถีชีวิตที่แท้จริงบนโครงสร้างสังคมใหม่ สุดท้ายจึงเป็นเสมือนการแสดงออกหรือการโหยหาอดีตที่ตายไปแล้วโดยขุดเอามาสร้างจุดขายทางวัฒนธรรมอย่างที่นิยมใช้ในพิธีกรรมที่ดูขลังและศักดิ์สิทธิ์สนองตอบต่อระบบทุนนิยม อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม จนกลายเป็นสิ่งที่ถูกแช่แข็งในด้านรูปแบบและหยุดนิ่งของภาพมายาคติแห่งวัฒนธรรมประดิษฐ์ที่ถูกผลิตซํ้าแล้วซํ้าอีกอย่างปลอมๆ หลอกๆ ซึ่งตกยุคสมัยโดยเฉพาะที่ผิดกับบริบททางสังคม ที่มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

ดังนั้นเมื่อพิจารณาศิลปะในมิติทางสังคมวัฒนธรรมไม่ว่าจะเป็นกระแสท้องถิ่นนิยม หรือวัฒนธรรมแห่งชาติ ต่างมีลักษณะร่วมที่เหมือนกัน คือ ต่างยึดคอกความคิดตัวเองเป็นศูนย์กลางแห่งมาตรฐาน อะไรที่คนอื่นมองต่างคิดต่างและทำต่างจากของที่ตนเองสร้างความชอบธรรมซึ่งคุ้นเคย ดูจะเป็นสิ่งต้องห้ามและรับไม่ได้ โดยมีทั้งกลุ่มอนุรักษนิยมสุดลิ่มที่ห้ามเถียงและห้ามถาม และกลุ่มหัวก้าวหน้าสุดโต่งที่นิยมรื้อไว้ก่อนแต่สร้างเสริมเติมต่อไม่เป็น

โดยทั้งหมดสะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายแห่งสิทธิและเสรีภาพทางความคิดและแสดงออก (ที่ต้องมีขอบเขต) อย่างไทยๆ ที่มีมากขึ้นโดยที่ทุกสำนักคิดต้องยอมรับและเคารพ ภายใต้กติกาที่ทุกๆ ฝ่ายยอมรับได้

 


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 19 มิถุนายน พ.ศ.2560