ก่อนที่ “บวบ” จะสื่อถึง “องคชาต” บวบ (ต้ม) เคยสื่อถึง “เต้านม” มาก่อน

ช่วงปลายเดือนมกราคม 2566 วลี “ฉันบวบ” กลายเป็นคำยอดฮิตในโลกสังคมออนไลน์ จากกรณี แพรี่ ไพรวัลย์ โพสต์แฉพระสงฆ์รูปหนึ่งในจังหวัดนครสวรรค์มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม หากไม่ยอมสึกจะแฉด้วยภาพ “ฉันบวบ” ซึ่ง “ฉันบวบ” ในที่นี้หมายถึง การอมองคชาต ฉัน หมายถึง กิน หรืออม ส่วน บวบ หมายถึง องคชาต

แต่รู้หรือไม่ ก่อนที่บวบจะถูกนำมาสื่อความหมายถึงองคชาตนั้น บวบเคยสื่อความหมายถึงเต้านมของผู้หญิงมาก่อน

บวบ
บวบ (ภาพจาก มติชนออนไลน์)

เต้านมที่เปรียบเหมือนบวบนั้น ก็คือเต้านมของ “นางประเเดะ” จากเรื่อง “ระเด่นลันได” ที่แต่งโดยพระมหามนตรี (ทรัพย์) อันเป็นวรรณคดีขบขันยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ช่วงสมัยรัชกาลที่ 3

นางประแดะ เป็นนางในวรรณคดีที่มีความงดงามแบบแหวกขนบนางในวรรณคดีไทย แหวกอย่างไร โปรดพิจารณาจากข้อความดังต่อไปนี้

“สูงระหงทรงเพรียวเรียวรูด [ผอมสูงราวเปรต]

งามละม้ายคล้ายอูฐกะหลาป๋า [สวยคล้ายอูฐ]

พิศแต่หัวตลอดเท้าขาวแต่ตา [หัวจรดเท้าขาวแค่ดวงตา]

ทั้งสองแก้มกัลยาดังลูกยอ [ผิวแก้มขรุขระเหมือนลูกยอ]

คิ้วก่งเหมือนกงเขาดีดฝ้าย [คิ้วโก่งมากคล้ายกงที่เอาไว้ดีดฝ้าย]

จมูกละม้ายคล้ายพร้าขอ [จมูกโค้งงุ้มคล้ายพร้าขอ]

หูกลวงดวงพักตร์หักงอ [ใบหูเป็นโพรง หน้าหักงอ]

ลำคอโตตันสั้นกลม [ลำคอใหญ่ ตัน สั้น และกลม]

สองเต้าห้อยตุงดังถุงตะเคียว [เต้านมยานยาวเหมือนถุงตะเคียว คือถุงที่ถักเป็นตาโปร่ง มีหูรูด]

โคนเหี่ยวแห้งรวบเหมือนบวบต้ม [โคนเต้านมแห้งเหี่ยวเหมือนบวบที่ต้มแล้ว]

เสวยสลายาจุกพระโอษฐ์อม [ปากเคี้ยวหมากอมยา]

มันน่าเชยน่าชมนางเทวี”

ภาพนางประแดะกับแขกระเด่นลันได จากหน้าปกหนังสือ บทละครเรื่อง ระเด่นลันได ของ พระมหามนตรี (ทรัพย์)

โคนเต้านมของนางประแดะ ที่มีลักษณะแห้งเหี่ยว จึงถูกนำมาเปรียบเหมือนบวบที่ต้มแล้วนั่นเอง แต่สำหรับ “บวบ” ในปัจจุบัน ด้วยมีลักษณะเป็นแท่ง (จะเล็ก ใหญ่ สั้น หรือยาว ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์) จึงถูกนำมาสื่อความหมายถึง องคชาต หรืออวัยวะเพศชาย

งานนี้คงต้องบันทึกคำว่า “ฉันบวบ” รวมอยู่ในหมวดกิจกรรมทางเพศเช่นเดียวกับคำว่า ชักว่าว, ขัดจรวด, ตำแตง, ฟันดาบ, ตอกเสาเข็ม, นั่งเทียน, ถวายบัว, ล้างตู้เย็น, ลวกก๋วยเตี๋ยว ฯลฯ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 มกราคม 2566