การปรากฏของ “กะเทย” ในเอกสารประวัติศาสตร์ ยุคแรกหมายถึงคนกลุ่มใด?

จิตรกรรมฝาผนัง วัดสุวรรณดาราราม อยุธยา
ภาพประกอบเนื้อหา - จิตรกรรมฝาผนัง วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร อยุธยา

“กะเทย” คือคำแรก ๆ ที่นิยามถึงบุคคลเพศที่สาม อันนอกเหนือจากชายและหญิง พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายของคำว่ากะเทย คือ “(1) น. คนที่มีอวัยวะเพศทั้งชายและหญิง, คนที่มีจิตใจและกิริยาอาการตรงข้ามกับเพศของตน (อะหม ว่า เทย)” 

ในบทความนี้ นำเสนอคำดังกล่าวในบริบทสังคมยุคสมัยที่หลักฐานชิ้นนั้นๆ ได้รับการบันทึก ซึ่งย่อมต่างจากความรับรู้ในยุคปัจจุบัน ที่ตระหนักถึงความหลากหลายทางเพศมากขึ้น 

“กะเทย” ในเอกสารล้านนาโบราณ

การปรากฏคำว่ากะเทยในเอกสารประวัติศาสตร์ยุคแรก ๆ ส่วนใหญ่อยู่ในเอกสารที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ในสังคมล้านนาสมัยโบราณ จากเอกสาร “ตํานานไทยวน” กล่าวถึงการสร้างมนุษย์แบบระบบ 3 เพศ อันได้แก่ เพศชาย เพศหญิง และไม่มีเพศ การจัดประเภทเช่นนี้ก็เพื่อแยกสภาวะความเป็นชายออกจากเพศสภาวะอื่น ๆ ที่อาจแฝงปรากฏบนเพศสรีระของชาย เนื่องจากตํานานการสร้างโลกของไทยวนได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาพุทธ

โดยตํานานการสร้างโลกของไทยวนเรียกว่า “ปฐมมูลมูลี” พบคําว่า “นบุํสกลิงคฯ์” แปลเป็นภาษาบาลีว่า “นปุงสกลิงค์” หมายถึง บุคคลไม่มีเพศ ทั้งนี้ไม่อาจยืนยันได้ว่ามีความหมายตรงกับเพศวิถีใดตามแนวคิดของสังคมในปัจจุบัน แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่ามีระบบเรื่องเพศมากกว่าชายและหญิงมาตั้งแต่อดีต

ในสังคมลาวสมัยโบราณ จากเอกสาร “คัมภีร์สุวรรณมุข” ก็มีการกล่าวถึงกะเทย ว่าด้วยข้อห้ามและผลของการที่ชายหญิงลอบเป็นชู้กัน เมื่อตายไปแล้วเกิดชาติใหม่เป็นหญิงเลว 500 ชาติ และเกิดเป็น “มอง” 500 ชาติ

คำว่า “มอง” หมายความว่าคนหรือสัตว์ที่ไม่ปรากฏเพศชัดว่าเป็นชายหรือหญิง หรือก็คือ กะเทย นั่นเอง ซึ่งคำว่า มอง ไปพ้องความหมายของคำว่า “กะเทิย (น. คำนาม)” ในภาษาล้านนา ตามที่ปรากฏในพจนานุกรมล้านนา-ไทย ฉบับแม่ฟ้าหลวง ความว่า “คนที่มีอวัยวะเพศทั้งชายและหญิง คนที่มีจิตใจและกริยาอาการตรงข้ามกับเพศของตน (สมัยก่อนใช้ แซ, ทุย, เทิน, มอง, มองทุย, หน้อง)”

ในสังคมไทยสมัยโบราณ จากเอกสาร “กฎหมายตราสามดวง” ในส่วนพระไอยการลักษณภญาน ก็กล่าวถึงกะเทย (กับบัณเฑาะก์) ว่าเป็นหนึ่งในคน 33 จำพวกที่ไม่สามารถเป็นพยานได้ เว้นแต่โจทก์หรือจำเลยยินยอม ความว่า “คน 33 จำพวกนี้ อย่าให้ฟังเอาเปนพญาณ ถ้า โจท/จำเลย ยอมให้สืบ ฟังเอาเปนพญาณได้”

ด้วยเหตุที่ “กฎหมายตราสามดวง” แยกกะเทย ออกจากบัณเฑาะก์ เป็นคนละพวกกัน ย่อมหมายความว่าในสมัยนั้นให้นิยามต่างกัน บัณเฑาะก์ อาจหมายถึงคนที่ไม่ปรากฏเพศชายหรือหญิง หรือคนที่มีอวัยวะเพศกำกวม ไม่สามารถที่จะบอกเพศได้อย่างแน่ชัด ซึ่งโดยรวมแล้วน่าจะหมายความว่าเป็น “กะเทยทางกายภาพ”

ส่วนคำว่ากะเทยนั้น อาจหมายความว่าเป็น “กะเทยทางสังคม” คือบุคคลที่มีลักษณะกิริยาท่าทางตรงข้ามกับเพศของตน แตกต่างไปจากชายและหญิง จนสามารถแยกออกมาเป็นบุคคลอีกกลุ่มหนึ่งได้ อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถกล่าวได้ว่ากะเทย ใน “กฎหมายตราสามดวง” มีพฤติกรรมรักร่วมเพศระหว่างชาย-ชาย

ลูกสวาท-เล่นเพื่อน 

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นปรากฏพฤติกรรมรักร่วมเพศ เช่น กรณีลูกสวาท คือพระสงฆ์อุปการะเลี้ยงเด็กชาย “กอดจูบหลับนอนเคล้าคลึงไปไหนเอาไปด้วย” หรือกรณีพระสงฆ์สมัยรัชกาลที่ 2 “พอใจลูบคลำเล่นของที่ลับพวกลูกศิษย์ที่รุ่นหนุ่มสวย ๆ” จนถูกสึก

จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมรักร่วมเพศจะไม่กล่าวถึง “กะเทย” หรือ “ความเป็นกะเทย” แต่อย่างใด โดยคำว่า “เล่นสวาท” (ชาย-ชาย) หรือ “เล่นเพื่อน” (หญิง-หญิง) จะเป็นคำที่ถูกนำมาใช้อธิบายและเชื่อมโยงกับพฤติกรรมรักร่วมเพศ ในขณะที่คำว่ากะเทยเป็นคำนามที่บ่งบอกถึงคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ใช่ชายและหญิง ไม่ได้เหมารวมว่าคนที่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศ = กะเทย

คำว่ากะเทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493 ได้กล่าวไว้ว่า คนไทอะหมก็มีคำว่า “เทย” ใช้ในความหมายเดียวกัน, กะเทย ในภาษาเขมรก็มีคำว่า “เขทิย” มีความหมายเช่นเดียวกัน ขณะที่พจนานุกรมเขมร-ไทย ฉบับของพระยาอนุมานราชธน กล่าวถึงกะเทยว่า “เขฺทีย (เขฺตย) 1. กระเทย [สะกดตามต้นฉบับ] 2. นอกคอก นอกรีต”

ศาสตราจารย์กิตติคุณกาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิต ตั้งข้อสังเกตว่า มีคำในภาษาไทยและภาษาเขมรหลายคำที่พ้องกัน โดยไม่สามารถตัดสินได้ว่าเป็นคำไทยเดิมหรือคำเขมรเดิม ดังนั้น คำว่า เขทิย ก็อาจเป็นหนึ่งในคำพ้องเหล่านั้น อาจเป็นไปได้ว่าคำว่ากะเทย, เทย และเขทิย เป็นคำที่ใช้เรียกลักษณะของสิ่งที่ไม่ปรากฏเพศ หรือมีลักษณะกลาง ๆ ไม่เป็นเพศใดเพศหนึ่งที่ใช้กันอยู่เดิมในภูมิภาคนี้ก็เป็นได้

ขณะที่ “สัพะ พะจะนะ พาสาไท” พจนานุกรมของ สังฆราชปาลเลอกัวซ์ ที่จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2397 สมัยรัชกาลที่ 4 ให้ความหมายของคำว่ากะเทย ว่าตรงกับภาษาอังกฤษว่า Hermaphrodite เช่นเดียวกับ “อักขราภิธานศรับท์” พจนานุกรมของ หมอบรัดเลย์ ที่จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2416 ให้ความหมายของกะเทย ว่า “คนไม่เปนเภษชาย ไม่เปนเภษหญิง มีแต่ทางปัศสาวะ”

โดยสรุปแล้วคำว่ากะเทยในยุคแรก หมายถึงลักษณะที่กำกวมของอวัยะเพศ (อาจมีสองเพศในคนเดียว) และหมายถึงคนอีกประเภทหนึ่งที่มีลักษณะทางจิตใจและกิริยาที่ไม่เป็นชายไม่เป็นหญิง นอกจากนี้ คนที่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศก็ไม่ได้ถือว่าเป็นกะเทยแต่อย่างใด

จากเอกสารเหล่านี้ ทำให้เห็นว่ากะเทยในยุคแรกถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนที่ไม่พึงประสงค์ หากทำกรรมชั่ว ผิดประเวณี ลอบเป็นชู้ ชาติหน้าก็จะเกิดเป็นกะเทย ถูกกีดกัดจากระบบยุติธรรม ถูกจัดเป็นหนึ่งในคน 33 จำพวกที่ไม่สามารถเป็นพยานในคดีความได้ ซึ่งเหล่านี้ล้วนแต่ได้รับอิทธิพลแนวคิดจากศาสนาทั้งสิ้น

กะเทย กลุ่มคนเล็กๆ ในสังคม 

แม้มีเอกสารหลายชิ้นที่ระบุถึงกะเทยอยู่บ้าง แต่แทบไม่พบส่วนที่กล่าวถึงชีวิตของคนกลุ่มนี้เลย ลำพังเรื่องราวของชาวบ้านสามัญก็แทบจะไม่ถูกบันทึกลงบนเอกสารทางประวัติศาสตร์ ยิ่งเป็นกะเทย ซึ่งเป็นกลุ่มคนเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่งในสังคมด้วยแล้ว ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะถูกบันทึกไว้เป็นเรื่องเป็นราว

อย่างไรก็ตาม มีเอกสารชิ้นหนึ่งคือ “บันทึกว่าด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีของเจินละ” โดย โจวต้ากวาน ราชทูตจีนสมัยราชวงศ์หยวนที่ได้เดินทางไปยังเขมรในสมัยพุทธศตวรรษที่ 19 ราว 700 ปีก่อน ได้บันทึกถึงกะเทยไว้ว่า “ในประเทศนี้มีพวกกะเทยอยู่มากมาย ทุกวันจะไปเดินตามตลาดเป็นหมู่ ๆ ละ 10 คน มักจะชอบชักชวนชาวจีนและกลับได้ของให้อย่างงาม ช่างน่าเกลียดและน่าบัดสีเสียนี่กระไร”

อภิญญา ตะวันออก อธิบายความตอนนี้เพิ่มเติมว่า “กะเทยสมัยนครธม ดูจะมีเสรีภาพอย่างเพียงพอในการแสดงออกต่อสาธารณชน โดยเพียงบรรทัดเดียวก็ทำให้เข้าใจว่า ณ ตลาดชุมชนของเมืองพระนคร ได้มีพ่อค้าจีนถูกชาวเพศที่ 3 แห่งเมืองพระนครคุกคามด้วยพฤติกรรมอันน่ารังเกียจจากเอาตัวเข้าพัวพันเพื่อหวังทรัพย์สินมีค่าบางอย่าง…ชาวกะเทยเมืองพระนคร มิได้ถูกจำกัดสิทธิเยี่ยงทาสไพร่แต่อย่างใด”

นอกจากนี้ อภิญญา ยังตั้งข้อสังเกตว่า ชาวเขมรเมืองพระนครที่ประกอบอาชีพค้าขายส่วนใหญ่เป็นหญิง บางครั้งจึงต้องอาศัยกะเทยเป็นตัวแทน เพื่อทำการติดต่อเจรจากับพ่อค้าบางกลุ่ม โดยเฉพาะกรณีที่เป็นชาวต่างชาติ

นี่ดูจะเป็นบันทึกที่กล่าวถึง “กะเทย” ได้อย่างเห็นภาพชัดเจน และมีสีสันมากที่สุดเรื่องหนึ่ง อย่างน้อยบันทึกของโจวต้ากวานก็ทำให้เห็นว่าในอดีตกะเทยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มมีสัมพันธ์แน่นแฟ้น เหมือนคำกล่าวในปัจจุบันที่ว่า “กะเทยตาย กะเทยเผา”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

อนุมานราชธน, พระยา. พจนานุกรมเขมร-ไทย เล่ม 1 ก-ต. กรุงเทพฯ : จงเจริญการพิมพ์, 2517.

โจวต้ากวาน เขียน, เฉลิม ยงบุญเกิด แปล. บันทึกว่าด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีของเจินละ. กรุงเทพฯ : มติชน. พิมพ์ครั้งที่ 2, 2543.

วัชรวุฒิ ซื่อสัตย์, พัชรินทร์ สิรสุนทร และฐานิดา บุญวรรโณ. การปรากฏอัตลักษณ์ กายา และอาณาบริเวณทางสังคมของกะเทยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (พ.ศ. 2470-2516) ใน, ดำรงวิชาการ, มกราคม-มิถุนายน 2565.

เทอดศักดิ์ ร่มจำปา. จาก “กะเทย” ถึง “เกย์” ประวัติศาสตร์ชายรักร่วมเพศในสังคมไทย ใน, วารสารอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. มกราคม-มิถุนายน 2546.

อภิญญา ตะวันออก. อัญเจียแขมร์ : เมืองนคร – ตอนทาสไพร่ – กะเทย ใน, มติชนสุดสัปดาห์, 15-21 พฤศจิกายน 2562.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2565