ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
แช่งให้เป็น “กะเทย 500 ชาติ” คำสาบานก่อนขึ้นให้การ และคำขู่-แช่งที่คนยุค ต้นรัตนโกสินทร์ กลัวกัน?
มุมมองของผู้คนที่มีต่อบ้านเมืองใดบ้านเมืองหนึ่งในอดีต (หรืออาจมาจนถึงปัจจุบันด้วย) มักประกอบด้วยตัวชี้วัดสำคัญอย่างเรื่องกฎหมายในแต่ละพื้นที่ สำหรับมุมมองของบุคคลภายนอกต่อสยาม มีบันทึกของชาวต่างชาติที่พูดถึงเรื่องกระบวนการยุติธรรมหลากหลายชิ้น บางชิ้นเล่าถึงกระบวนการภายในศาลที่น่าสนใจ ซึ่งประกอบด้วยการเอ่ยถึงคำสาบานอย่างหนึ่งว่า “หากตนให้การเท็จ…ขอให้เป็นกะเทยถึงห้าร้อยชาติ”
ในเอกสาร Siam Repository ซึ่งรวบรวมบันทึกของชาวต่างชาติ (จากตะวันตก) ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ข่าวภาษาอังกฤษในกรุงเทพฯ เนื้อหาส่วนหนึ่งบอกเล่าถึงสภาพที่ชาวต่างชาติพบเห็นในศาลไทย และบรรยายรายละเอียดขั้นตอนในศาลเอาไว้ ประกอบกับความคิดเห็นเกี่ยวกับระบบของศาลไทยไว้ด้วย
เอกสาร Siam Repository เล่ม 4 เนื้อหาส่วน “ระบบศาลยุติธรรมของสยาม” (Siamese Judiciary) เริ่มต้นด้วยการบอกเล่าสภาพการดำเนินคดีของไทยว่า
“ชาวสยามมีประมวลกฎหมายแพ่ง (code of civil) และกฎหมายอาญา (criminal laws) ที่ยอดเยี่ยมหากถูกบังคับใช้อย่างเหมาะสม แต่ว่ากระบวนการพิจารณาคดี (Judiciary) กลับปรากฏการทุจริต นานๆ ครั้งจะเกิดการพิพากษา ตัดสินให้ฝั่งที่จ่ายสินบนมากกว่าเป็นฝ่ายได้คดีไป…” [1]
ข้อเขียนเดียวกันยังเล่าถึงสภาพการไต่สวนคู่ความว่า “ตระลาการ” นั่งบนเสื่อที่ปูอยู่มุมหนึ่งของศาล มีหมอนหนุนข้อศอกวางด้านข้างตัว ขณะที่คู่ความ พยาน จะนั่งหมอบที่พื้น
ชาวต่างชาติยังบันทึก “คำสาบาน” ที่ผู้ให้การเป็นพยานจะเอ่ยในกระบวนการพิจารณาคดีด้วยว่า
“พยานจะถูกนำตัวไปที่วัดของศาสนาพุทธ และมีกล่าวคำสาบานว่า ‘ข้าพเจ้าถูกนำตัวมาที่นี้ในฐานะพยานของคดีความขอกล่าวต่อหน้าพระพุทธรูปอันศักดิ์สิทธิ์ว่า จะไม่เข้าข้างฝ่ายใด ไม่โน้มเอียงไปตามความคิดเห็นใดๆ ไม่ได้เกิดการจ่ายเงินเป็นผลประโยชน์หรือจ่ายเงินล่วงหน้าให้ข้าพเจ้า
หากสิ่งที่ข้าพเจ้าให้การเป็นความเท็จ หรือสิ่งที่ให้การไปทำให้บิดเบือนความจริงจนทำให้การตัดสินคดีผิดทิศทางไป…ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ (Three Holy Existences) ต่อหน้าข้าพเจ้า ร่วมกับเทวดาทั้งหลาย (Tewadas) แห่ง 22 สรวงสวรรค์ (twenty-two firmaments) ลงโทษข้าพเจ้า…
เมื่อข้าพเจ้าตายแล้ว ให้ตกนรก เผชิญการทรมานอย่างแสนสาหัสหลายกัลป์…หากไม่ตกนรก ก็ให้ไปอยู่ในร่างของทาสและทุกข์ทรมานกับความเจ็บปวด ความยากลำบากขั้นสุด…หรือให้ไปเกิดใหม่ในร่างสัตว์ตลอดห้าร้อยชาติ หรือเกิดมามีทั้งอวัยวะเพศชายและเพศหญิง (Hermaphrodite) 500 ชาติ’ (บางแห่งอธิบายคำนี้ว่า “สัตว์กะเทย” – กองบรรณาธิการ) “[1]
สภาวะการลงโทษดังกล่าวยังปรากฏในเอกสารบันทึกเรื่องระเบียบในสมัยรัชกาลที่ 1 (หรือช่วง ต้นรัตนโกสินทร์) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงยกสภาพ “กะเทย 500 ชาติ” นี้มาขู่ถึงผู้ชายที่ล่วงเกินภรรยาของผู้อื่น ใจความตอนหนึ่งว่า
“ครั้นดับสังขารอนาคตไปตกอยู่ในโลกกุมภีนรกหกหมื่นปีแล้วขึ้นมาทนทุกขเวทนาอยู่ในอุสุทธ์นรกสิมพลีไม้งิ้ว หนามยาวสิบหกองคุลี นายนิริยบาลรุมกันทิ่มแทง แร่งการุมกันจิกครั้นสิ้นกรรมขึ้นมาเปนหญิง 500 ชาติ เปนกะเทย 500 ชาติ เปนสัตว์เขาตอนเสีย 500 ชาติ บาปกรรมในอบายภูมิฉนี้” [2]
อ่านเพิ่มเติม :
- การปรากฏของ “กะเทย” ในเอกสารประวัติศาสตร์ ยุคแรกหมายถึงคนกลุ่มใด?
- กำเนิดทนายหลวงว่าความแผ่นดิน จาก “กรมอัยการ” สู่ “อัยการสูงสุด”
- “นายกบ้าๆ นายกหมาๆ” ย้อนดูคดีหมิ่นประมาทในอดีต “ด่า” กันจนต้องขึ้นโรงขึ้นศาล
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เชิงอรรถ :
[1] Siam Repository Vol. 4. น. 208-209. อ้างถึงใน ชัย เรืองศิลป์. ประวัติศาสตร์ สมัย พ.ศ. 2352-2453 ด้านสังคม. กรุงเทพฯ : ศิลปาบรรณาคาร. 2545.
[2] ประชุมกฎหมายประจำศก เล่ม 2, น. 554. อ้างถึงใน ชัย เรืองศิลป์. ประวัติศาสตร์ สมัย พ.ศ. 2352-2453 ด้านสังคม. กรุงเทพฯ : ศิลปาบรรณาคาร. 2545.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 สิงหาคม 2564