“นายกบ้าๆ นายกหมาๆ” ย้อนดูคดีหมิ่นประมาทในอดีต “ด่า” กันจนต้องขึ้นโรงขึ้นศาล

วัฒนธรรมคำด่าในไทยไม่ว่ายุคไหนสมัยไหนก็มีความเจ็บลึกถึงทรวงอกเสมอ เคยได้ยินป้าคนหนึ่งสบถด่าออกมาว่า “ร้อยควย” ได้ยินครั้งแรกก็นึกขำนึกตลก แต่พอมารู้ทีหลังว่า นี่คือคำด่าที่เจ็บแสบของคนยุคก่อนก็ถึงกับร้องอ๋อ คนสมัยหนึ่งด่ากันว่า “อ้ายเหี้ย” ถึงกับไปฟ้องศาลก็มี แต่สมัยนี้ด่ากันว่า “เหี้ย” คงไม่สะทกสะท้านเท่าใดนัก

ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจก่อนว่า คดีความทั้งหลายในบทความนี้ใช้มีการพิจารณาคดีด้วยกฎหมายแบบเก่า ก่อนที่จะมีการปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญา เมื่อ พ.ศ. 2499 เรื่องราวต่าง ๆ คดีความต่าง ๆ ก็อยู่ในยุคก่อน พ.ศ. 2499 ทั้งสิ้น

นายกบ้าๆ

เริ่มที่คดีแรกคือ คดีหมิ่นประมาทนายกเทศบาลเมืองสกลนคร โจทก์คือนายณรงค์ วงศ์สกล นายกเทศบาลเมืองสกลนคร ฟ้องจำเลยคือนายประยูร ศรีดามา ว่าจำเลยกระทำผิดกฎหมายหลายกระทงคือ

“ก. บังอาจกล่าววาจาแสดงกิริยาขัดขวางนายเก่งพนักงานเทศบาลกับพวกผู้ไปทำการรังวัดถนนและคูเมืองสาธารณะ โดยโจทก์เป็นนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองสกลนครสั่งไป จำเลยแสดงกิริยาท่าทางโกรธมากจนนายเก่งกับพวกไม่กล้ารังวัด

ข. ด่าและหมิ่นประมาทโจทก์ต่อหน้าบุคคลแต่สองคนขึ้นไปว่า

“นายกบ้า ๆ นายกหมา ๆ นายกส้นตีน มันเที่ยวฟ้องคนทั้งบ้านทั้งเมือง”

เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานกระทำการตามหน้าที่ ขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 116, 119, 282, 71″

ศาลชั้นต้นเห็นว่า นายกเทศบาลฟ้องเมื่อพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว และตามคำฟ้องข้อ ก. ศาลเห็นว่า จำเลยทำผิดต่อเจ้าพนักงานของโจทก์ ดังนั้นโจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง ส่วนคำฟ้องข้อ ข. ศาลเห็นว่า คำกล่าวของจำเลยเป็นถ้อยคำภาษาธรรมดา ไม่เป็นเหตุให้เสียหาย เสียชื่อเสียง หรือให้คนทั้งหลายดูหมิ่นเกลียดชัง พิพากษาว่าจำเลยไม่มีผิดฐานหมิ่นประมาทตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 282

ส่วนที่โจทก์กล่าวว่าเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานนั้น ศาลเห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จึงพิพากษายกฟ้อง ดังนั้นโจทก์จึงยื่นอุทธรณ์ โดยศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ยกคำฟ้องตามข้อ ข. ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนมูลฟ้องตามคำฟ้องข้อ ข. ความผิดฐานต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่ตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 119 แห่งกฎหมายลักษณะอาญาแล้ววินิจฉัยชี้ขาดไปตามรูปคดี

โจทก์จึงยื่นฎีกาว่า ตามคำฟ้องข้อ ก. โจทก์มีอำนาจฟ้องตามมาตรา 28 (2) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพราะความเสียหายเกิดขึ้นแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้สั่งงาน และเกิดความเสียหายต่อนายเก่งเช่นกัน และตามคำฟ้องข้อ ข. ที่ว่า “มันเที่ยวฟ้องคนทั้งบ้านทั้งเมือง” นั้นเป็นการใส่ความหมิ่นประมาทโจทก์ตามมาตรา 282

ศาลฎีกาเห็นว่า ตามคำฟ้องข้อ ก. นั้น จำเลยกระทำการต่อสู้หรือขัดขวางแก่นายเก่ง ซึ่งเป็นพนักงานเทศบาล แต่จำเลยไม่ได้การกระทำต่อโจทก์โดยตรง โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้อง ส่วนคำว่า “มันเที่ยวฟ้องคนทั้งบ้านทั้งเมือง” ในคำฟ้องข้อ ข. นั้น ศาลเห็นว่าไม่เป็นคำใส่ความอันจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 282

ศาลฎีกาจึงไม่พิพากษายืน ให้ยกฎีกาโจทก์ นายประยูร ศรีดามา ในฐานะจำเลยจึงไม่มีความผิด

ศาลจังหวัดสกลนคร ในอดีต (ภาพจากเว็บไซต์ ศาลจังหวัดสกลนคร)

สำหรับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 119 นี้ ปัจจุบันจะเป็นมาตรา 138 ความว่า “ผู้ใดต่อสู้ หรือขัดขวางเจ้าพนักงานหรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่ ต้องระวางโทษ…” ส่วนประมวลกฎหมายอาญามาตรา 282 ปัจจุบันจะเป็นมาตรา 326 ความว่า “ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษ…”

เรื่องนี้ Thinnakrit Sartrod ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายให้ความเห็นว่า “…การจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามป.อาญามาตรา 326 ได้ต้องเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงคือ ทำให้คนเชื่อได้ว่าอาจเป็นความจริงได้ เช่น หาว่าล้มละลาย หาว่าคอรัปชั่น หาว่าเป็นเมียน้อย เป็นต้น แต่ถ้าเป็นเพียงการด่าแบบเปรียบเปรย เช่น ด่าว่าเป็นหมา ด่าว่าส้นตีน วิญญูชนย่อมรู้ว่าไม่มีทางเป็นความจริงไปได้ เพราะคนไม่มีทางกลายเป็นหมา หรือไม่มีทางเป็นส้นตีนไปได้ ดังนั้น การด่าหยาบ ๆ แต่ไม่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงจึงผิดเพียงฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า ซึ่งเป็นลหุโทษ ไม่ผิดหมิ่นประมาท…”

ล่วงละเมิด

เรื่องที่สองเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากเรื่องหนึ่ง เมื่อนายรำพรรณ พุกกะเจียม บรรณธิการหนังสือพิมพ์ได้ลงโฆษณามีข้อความว่า “ฯลฯ ผมกำลังได้รับความโกรธแค้นอย่างสาหัสเพราะน้ำมือของผู้ชายใจทรามแห่งโรงพยาบาลศิริราช เรื่องของผมมีดังนี้ ภรรยาผมเป็นข้าราชการ ทางรัฐบาลได้มีคำสั่งให้ไปตรวจร่างกาย ฯลฯ เมื่อภรรยาของผมเข้าไปในห้องก็ถูกนายแพทย์ชายบังคับให้เปลื้องผ้าออกหมด ภรรยาของผมปฏิเสธ แต่นายแพทย์ผู้นั้นขู่ว่า ฯลฯ เธอถึงกับร้องไห้แต่ก็จำต้องยอมเปลื้องออกหมดสิ้นตามคำสั่งของนายแพทย์คนนั้น

เมื่อเปลื้องผ้าออกหมดแล้วก็โดนบังคับให้นอนบนเตียงอีกด้วย ภายในห้องนั้นมีภรรยาของผมกับนายแพทย์คนนั้นสองต่อสองเท่านั้น หมอคนนั้นได้ลูบคลำร่างกายของภรรยาผมไปมาบางครั้งก็บีบเคล้นอวัยวะบางส่วนอันเป็นของสงวนของสตรีเพศอีกด้วย ถึงแม้ภรรยาผมจะร้องให้และขอร้องให้มันยุติการตรวจแบบลามกเช่นเดิม แต่หมอกลับตบหน้าภรรยาของผมและบอกให้ภรรยาของผมนอนเฉย ๆจนกระทั่งพอใจของเขา แล้วเข้าจึงปล่อยให้ภรรยาของผมแต่งตัวออกไปนอกห้องได้” 

ร้อนถึงนายแพทย์เฉลิม พรมมาส อธิบดีกรมมหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ หรือมหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน โร่เข้าแจ้งความ โดยมีพนักงานอัยการกรมอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายรำพรรณฐานะจำเลย ศาลชั้นต้นเห็นว่า เรื่องนี้อาจทำให้นายแพทย์ในโรงพยาบาลศิริราชเสื่อมเสียชื่อเสียงหรือถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ศาลจึงพิพากษาให้จำเลยมีความผิด จำเลยจึงยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ พิพากษาให้จำเลยไม่มีความผิิด โจทก์จึงยื่นฎีกา

คดีนี้โจทก์ไม่ได้สืบหาว่านายแพทย์คนดังกล่าวตามที่ถูกระบุในคำกล่าวหานั้นเป็นผู้ใดกันแน่ ทั้งการฟ้องของโจทก์ก็ไม่มีช่องทางจะแสดงให้เห็นว่าจำเลยมุ่งหมายกล่าวหาหรือใส่ความนายแพทย์เฉลิม พรมมาส ดังนั้น นายแพทย์เฉลิม พรมมาส จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ยกฟ้องในที่สุด

พระเมา

จาก

ทว่าเรื่องไม่จบลงด้วยดี พระเทียมฟ้องต่อศาลว่าแจ้งความเท็จและหมิ่นประมาทตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 118, 158, 282 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยมีความผิด แต่ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษา ยกฟ้อง จำเลยไม่มีความผิด จนเรื่องต้องเข้าสู่ศาลฎีกา ศาลเห็นว่าในข้อแจ้งความเท็จฟังไม่ขึ้น ส่วนข้อหาฐานหมิ่นประมาทนั้น จำเลยไม่มีความผิด จึงพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้ยกฎีกาโจทก์

ภาพถ่ายเก่า “ศาลสถิตยุติธรรม” ที่มีหอนาฬิกาตั้งอยู่บนอาคาร (ภาพจาก สมชาติ จึงสิริอารักษ์. สถาปัตยกรรมตะวันตกในสยาม สมัยรัชกาลที่ ๔-พ.ศ. ๒๔๘๐. (กรุงเทพฯ : คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๓), น. ๑๘๖.)

เ-็ด

ศาลชั้นต้นสืบความได้ว่า ทั้งสองฝ่ายได้ทะเลาะวิวาท โต้เถียง ด่าทอกันไปมา ศาลจึงเห็นว่าสองแม่ลูกที่ถูกด่าตามความดังกล่าวไม่ใช่ผู้เสียหายตามนิตินัยจึงพิพากษายกฟ้อง เรื่องเข้าสู่ศาลอุทธรณ์ก็ยกฟ้องเช่นกัน แต่ได้สั่งปรับคนละ 10 บาท ตามประมวลกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 337 (1) ในความผิดฐานกล่าวคำลามกอนาจาร ส่วนศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องเช่นกัน “เห็นว่าเป็นคำด่าซึ่งเกิดขึ้นในขณะจำเลยมีโทสะจริตไม่ใช่คำใส่ความ” จำเลยจึงไม่มีความผิดตามมาตรา 282

นี่แหละอาการคนหัวร้อน (ทั้งคู่)

ครูชาติหมา

คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อนายไส กิจนาวา ได้กล่าวดูหมิ่นครูกำจรว่า “อ้ายครูกำจร ครูชาติหมาสอนให้เด็กชกต่อยกัน” จนเป็นเรื่องต้องถึงศาลเพราะคำกล่าวนั้นอาจทำให้เสียชื่อเสียงและให้คนทั้งหลายดูหมิ่นเกลียดชัง โดยมีพนักงานอัยการจังหวัดจันทบุรีเป็นโจทก์ และนายไสเป็นจำเลย

แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ แต่ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องทั้งสามศาล โดยเห็นว่าถ้อยคำที่จำเลยกล่าวนั้นเป็นคำธรรมดาสามัญ นอกจากถ้อยคำที่เป็นคำหยาบแล้ว จะมีความหมายเพียงว่า ครูสอนให้เด็กชกกัน ซึ่งคนทั่วไปย่อมไม่เห็นเป็นการใส่ร้ายแต่อย่างใด จำเลยจึงไม่มีความผิดตามมาตรา 282

อ้ายเหี้ย

นายทองคำ ตรุษานนท์ หรือ ทวีศักดิ์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นางสงวน หรือ หงวน เชี่ยวพาณิช ผู้เป็นจำเลย เพราะนางสงวนได้ดูหมิ่นด่าทอด้วยคำว่า “อ้ายเหี้ย” ต่อหน้าผู้คนนับสิบคน จึงร้องศาลขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 282 ศาลชั้นต้นเห็นว่า คำว่า “อ้ายเหี้ย” นั้น ไม่เป็นถ้อยคำหมิ่นประมาทตามมาตรา 282 แต่อาจเป็นการหมิ่นประมาทซึ่งหน้าตามมาตรา 339 (2) แต่โจทก์ก็ไม่ได้ขอมา จึงพิพากษายกฟ้อง

โจทก์จึงยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น โจทก์จึงยื่นฎีกา จากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1021/2494 ศาลฎีกาเห็นว่า “คำว่า ‘อ้ายเหี้ย’ นั้นเป็นภาษาไทยธรรมดา ซึ่งมีความหมายในการด่าว่า ‘เลวทราม’ เท่านั้น ไม่ใช่เป็นการใส่ความ อันอาจจะให้เสียชื่อเสียหรืออาจจะให้คนทั้งหลายดูหมิ่นเกลียดชังตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา 282 ดังฟ้องโจทก์ จึงพิพากษายืน”

เป็นอันว่าจำเลยผู้ด่าโจทก์ว่า “อ้ายเหี้ย” ไม่มีความผิด

พระบ้าหญิง

ในงานวัดญาโนทัย จังหวัดปัตานี สิบตำรวจโทเคลื่อน เพ็ชร์จำนงค์กล่าวขึ้นว่า “พระวัดนี้ดูหนัง พระวัดนี้เลวมากดูหนังบ้าง บ้าผู้หญิงบ้าง ฯลฯ” พระแดงซึ่งเป็น 1 ใน 6 พระสงฆ์ในวัดจึงได้เข้าร้องต่อเจ้าพนักงาน แล้วส่งเรื่องให้อัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องตำรวจผู้นี้

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยไม่ได้กล่าวหมิ่นประมาทพระแดงโดยตรง ท่านจึงไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจร้องทุกข์ จึงพิพากษายกฟ้อง แต่ในชั้นศาลฎีกา จากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 448/2489 ศาลเห็นว่า จากคำกล่าวของจำเลยเป็นการหมิ่นประมาทพระสงฆ์ในวัดนั้นทุกรูป พระแดงย่อมมีอำนาจร้องทุกข์ได้เพราะเป็นผู้เสียหายโดยตรงด้วย จึงพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดให้ลงโทษจำเลย

ภาพการพิจารณาคดีในชั้นศาลในอดีต

นอกจากนี้ยังมีวลีเด็ดจากคดีหมิ่นประมาทอีกเช่น

“อีร้อยควย อีดอกทอง… มันเย็ดกันทั่วเมืองใคร ๆ เขาก็รู้กันทั้งนั้น เย็ดกันรอบบ้านเย็ดกับยี่เก ฯลฯ” (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1442/2495) ในชั้นศาลชั้นต้นตอนแรกจำเลยให้การปฏิเสธ แต่ภายหลังกลับคำรับสารภาพ ศาลชั้นต้นตัดสินให้ผิด แต่โจทก์ยื่นอุทธรณ์เพราะต้องการให้ลงโทษมากกว่านี้ ศาลอุทรธรณ์เพิ่มโทษแล้วแต่ทั้งสองฝ่ายยังไม่จบเรื่องจึงยื่นฎีกาทั้งสองฝ่าย จนสุดท้ายศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยมีความผิด รอลงอาญาจำคุก 3 ปี

“ไอ้เหี้ยไอ้สัตว์เดียรัจฉาน” (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 863/2497) ซึ่งทั้งสามศาลยกฟ้องเพราะเห็นว่าโจทก์และจำเลยต่างทะเลาะด่าทอกันทั้งสองฝ่าย เห็นว่าคำดังกล่าวไม่ใช่คำลามกอนาจาร และไม่เป็นการหมิ่นประมาท

การตัดสินคดีความในระบบยุติธรรมไทยนั้นไม่ใช่แค่ต่อสู้กันระหว่างโจทก์และจำเลยในแง่ของตัวบทกฎหมายเพียงอย่างเดียว หากจำต้องใช้ชั้นเชิงบางอย่างเข้ามาทำคดี ซึ่งหากอ่านคดีต่าง ๆ ข้างต้นแล้วคงจับสังเกตได้ บางคดีรอดได้เพราะคำฟ้องไม่แข็งแรงพอ บางคดีไปจนถึงที่สุดเพราะโจทก์หรือจำเลยชำนาญกฎหมาย บางคดีจากผิดก็พลิกกับมาเป็นถูกเพราะการต่อสู้เชือดเฉือนด้วยเทคนิคแพรวพราว

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นตามที่ได้อธิบายแต่แรกแล้วว่า คดีความเหล่านี้พิจารณาตัดสินกันโดยกฎหมายแบบเก่า ปัจจุบันก็มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายไปถึงไหนต่อไหนแล้ว ฉะนั้นจะไปเทียวด่าคนนั้น “ไอ้เหี้ย” คนนี้ “ไอ้โง่” คนโน้น “ไอ้ควาย” ไม่ได้ ระวังจะโดนฟ้องหมิ่นประมาทเข้าจริง ๆ


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 กันยายน 2562