ผู้เขียน | กัญญารัตน์ อรน้อม |
---|---|
เผยแพร่ |
กะเทย หรือ ฮิจรา (Hijra) ในวัฒนธรรม “อินเดีย” คำนี้เป็นภาษาอูรดู ภาษาถิ่นของทางอินเดียเหนือ ภาษาฮินดีได้ยืมคำนี้มาใช้เรียกคนข้ามเพศหรือเพศที่สาม บุคคลเพศชายที่แสดงลักษณะและพฤติกรรมท่าทางใกล้เคียงกับลักษณะของเพศหญิง
ตำนานที่มาของฮิจรา
ตำนาน “ฮิจรา” ได้รับการพูดถึงในไทย ลงบทความในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 17 มกราคม 2566 โดย อธิพัฒน์ ไพบูลย์ กล่าวถึงตำนานฮิจราว่า “ตอนหนึ่งของรามเกียรติ์ หรือ รามายณะของฉบับอินเดียใต้ ครั้งที่พระรามถูกเนรเทศ มีกลุ่มคนออกไปส่งพระราม จนกระทั่ง 14 ปี พระรามกลับมา คนกลุ่มนั้นก็ยังยืนรออยู่ ด้วยเหตุเพราะ 14 ปีก่อน พระรามบอกเข้าเมืองแต่ด้วยคนกลุ่มนั้นไม่ใช่ทั้งชายและหญิง จึงไม่กล้ากลับเพราะไม่กล้าโกหก พระรามอวยพรให้มีสิทธิให้พรใครก็ได้ และมีสิทธิ์สาปใครก็ได้โดยคำสาปนั้นจะเป็นจริงเสมอ”
ตำนานฮิจรามีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรราว 400 ปี ถือเป็นเครื่องยืนยันถึงความหลากหลายทางเพศที่มีมานาน แต่มักถูกลืมเลือนในวัฒนธรรมอินเดีย
ต่อมาปลายศตวรรษที่ 15 มีนิทานพื้นบ้านที่เล่าเกี่ยวกับความภักดีของชาวฮิจรา ซึ่งมีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์มุสลิมของอินเดีย ทำหน้าที่เป็นสุนัขเฝ้าบ้านที่ไร้เพศของฮาเร็มโมกุลของจักรพรรดิโมกุลในอินเดีย
ปัจจุบันฮิจรายังไม่เป็นที่ยอมรับมากนักในสังคม จึงเกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น การทำร้ายร่างกายภายในครอบครัว มักจะโดนไล่ออกจากบ้าน เพราะถูกมองว่าเป็นเพศที่น่ารังเกียจ ทำให้ฮิจราจำนวนมากเกาะกลุ่มและสร้างชุมชนฮิจรา ขึ้นมา เพื่อดูแลและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ประเทศที่มีฮิจรามากที่สุด คือ อินเดีย ปากีสถาน และ บังกลาเทศ ตามลำดับ
ความเชื่อของคนอินเดียที่มีต่อฮิจรา
คริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึง 19 ฮิจรายังถือว่ามีอำนาจทางศาสนาและได้รับการขอพร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงพิธีทางศาสนา วันสำคัญต่างๆ เช่น พิธีต้อนรับเด็กเกิดใหม่ ซึ่งจะนำโชคลาภและความอุดมสมบูรณ์สู่เด็กและครอบครัว
ภายใต้วัฒนธรรมฮินดูดั้งเดิม ฮิจราได้รับความเคารพในระดับหนึ่ง แต่โดนรัฐบาลอังกฤษเข้ามาเปลี่ยนวัฒนธรรม ครั้งที่อินเดียตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 อังกฤษได้ใช้ความรู้สึกส่วนตัวในการตัดสินเรื่องศีลธรรมทางเพศ โดยตัดสินว่าเพศสภาพของฮิจรานั้นขัดต่อธรรมชาติ ทำให้ผู้คนเริ่มลดการเคารพและให้เกียรติฮิจรา
ฮิจราจะนับถือพระแม่พหุชรา เป็นเทพธิดาท้องถิ่นในศาสนาฮินดู ซึ่งมีที่มาและนิยมสักการะบูชาในรัฐคุชราต และรัฐราชสถานของประเทศอินเดีย พระนางได้รับการนับถือในศาสนาฮินดูว่าเป็นเทพีผู้อุปถัมภ์คุ้มครองรักษาเหล่าฮิจรา (กะเทย) และเป็นเทพีผู้อุปถัมภ์คุ้มครองรักษากลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศของศาสนาฮินดูและศาสนาท้องถิ่นของเอเชียใต้
ทุกวันนี้ ฮิจรา รวมถึงคนข้ามเพศพบเจอได้ง่ายบนท้องถนน พวกเธอจะสวมชุดส่าหรีระยิบระยับ ใบหน้าเคลือบหนาด้วยเครื่องสำอางราคาถูก เดินโซเซตามถนนสี่แยกที่มีผู้คนพลุกพล่าน เคาะกระจกรถขอเงินจากผู้คนที่จอดรถตามไฟจราจร โดยมีความเชื่อที่อ้างมาจาก ตำนาน “รามายณะ” หรือ “รามเกียรติ์” หากผู้ใดที่ได้คำอวยพรจากฮิจรา จะมีความโชคดี ได้สิ่งที่ต้องการตามปรารถนา ทว่ามีฮิจราส่วนน้อยมากที่จะอวยพรหรือให้พรกลับ ถึงแม้จะไม่ได้รับพรจากฮิจรา ผู้คนก็ยังคงให้เงินแก่ฮิจราทุกครั้ง เพราะหากไม่ให้เงิน พวกเธอก็จะสาปแช่ง ซึ่งถือเป็นความโชคร้ายและเคราะห์แก่ผู้ที่โดนสาปแช่ง
สังคมอินเดียยังไม่เปิดกว้างต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ และระบบวรรณะยังคงฝังราก กลายเป็นข้อจำกัดที่ทำให้ฮิจราไม่สามารถขยับสถานะทางสังคมหรือประกอบอาชีพอื่นได้มากนัก ประกอบกับความเชื่อการให้โชคของฮิจรายังมีผู้คนสนับสนุนและพร้อมที่จะให้เงิน จึงยังคงพบเห็นฮิจราขอเงินอยู่ทั่วไป
อ่านเพิ่มเติม :
- การปรากฏของ “กะเทย” ในเอกสารประวัติศาสตร์ ยุคแรกหมายถึงคนกลุ่มใด?
- “เป็นกะเทย 500 ชาติ” คำสาบานก่อนขึ้นให้การ และคำขู่-แช่งที่คนยุคต้นรัตนโกสินทร์กลัวกัน?
อ้างอิง :
อธิษฐาน จันทร์กลม. “’หญิง-ชาย’ไม่ใช่ทุกสิ่ง ย้อนปรัชญา ทวนประวัติศาสตร์โลก เจาะลึกวัฒนธรรม ‘ความหลากหลายทางเพศ’,” มติชนรายวัน. 17 มกราคม 2566. หน้า 13.
Sridevi Nambiar. (2017, January 1). A Brief History Of Hijra, India’s Third Gender. Retrieved January 24, 2023, from https://theculturetrip.com/asia/india/articles/a-brief-history-of-hijra-indias-third-gender/?fbclid=IwAR04GGmSRnm5UH1UZI6d7d_GC5SMJxw2- wLaesQWMo5Xd1ne0j8uz65v5K8w
Soutik Biswas. (2019, May 31). How Britain tried to ‘erase’ India’s third gender. Retrieved January 24, 2023, from https://www.bbc.com/news/world-asia-india-48442934?fbclid=IwAR3UHXaGGTSxAPzl8C880mZHEBeZwATXks_3109VBbb9C5oKJykoDpkYSys
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 มกราคม 2566