นักวิจัยจับ “มัมมี 7 พันปี” เก่าแก่ที่สุดในโลก มาวิเคราะห์ครั้งใหญ่

นักมานุษยวิทยาแสดงร่างมัมมีของชาวชินชอร์โรที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของชิลี เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2016 (AFP PHOTO / Martin BERNETTI)

เมื่อพูดถึงมัมมีคนมักนึกถึงอารยธรรมอียิปต์โบราณ แต่มัมมีที่เก่าแก่ที่สุดที่เคยพบมา มาจากกลุ่มชนที่เรียกว่า “ชินชอร์โร” (Chinchorro) กลุ่มอารยธรรมโบราณที่อยู่ในพื้นที่ประเทศชิลีในปัจจุบัน โดยเมื่อสัปดาห์ก่อน มัมมี 15 ร่างที่มีอายุกว่า 7 พันปี ได้ถูกส่งไปตรวจดีเอ็นเอ รวมทั้งการสแกนแบบ tomography (การสร้างภาพแบบแยกส่วนจากการใช้คลื่น)

นักวิจัยหวังว่า เทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่จะช่วยในการวิเคราะห์รูปร่างหน้าตาที่ควรจะเป็นของเจ้าของร่างมัมมีเหล่านี้ได้ และการถอดรหัสพันธุกรรมก็น่าจะช่วยไขปริศนาเกี่ยวกับอารยธรรมโบราณกลุ่มนี้ได้เช่นกัน

มัมมีทั้ง 15 ร่าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นร่างของเด็ก และทารกที่ตายแต่แรกคลอด ถูกส่งไปทำการตรวจสอบที่คลีนิลอสคอนเดส ในซานติอาโก ซึ่งผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ภาพที่ได้จากการสแกนนับพันๆ ชิ้นที่มีความเที่ยงตรงระดับมิลลิเมตรจะช่วยให้พวกเขาสร้างจับแยกชิ้นส่วนของร่างได้แบบเสมือนจริง โดยที่ไม่ต้องแตะร่างของมัมมี ทำให้พวกเขารักษาร่างของมัมมีได้ไปอีกนับแสนปี

“เราต้องการเห็นว่า รูปร่างทางกายภาพของพวกเขาเป็นยังไง เพื่อที่จะได้สร้างพวกเขาขึ้นมาใหม่ทำให้คนที่เสียชีวิตไปแล้วนับพันๆ ปีให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง” มาร์เซโล กัลเวซ (Marcelo Galvez) นักรังสีวิทยาในทีมที่ทำการวิเคราะห์ในครั้งนี้ด้วยกล่าวกับเอเอฟพี

ทั้งนี้ ชาวชินชอร์โร ไม่ได้เหลือร่องรอยอะไรให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อมากนัก นอกเหนือจากมัมมีของพวกเขา ซึ่งแสดงถึงความเข้าใจกายวิภาคของร่างกายมนุษย์เป็นอย่างดี การทำมัมมีของพวกเขาเริ่มด้วยการถลกหนังและตัดกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ออก จากนั้นจึงเสริมร่างกายของผู้ตายด้วยไม้ ดินเหนียวแล้วจึงเย็บผิวหนังกลับเข้าไป ตามด้วยปาก ตาและเส้นผม และสวมทับใบหน้าด้วยหน้ากาก