ผู้มีญาณว่า “อนุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหง ไม่เหมือนพระองค์จริง”?

ภาพวาดพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

ก่อนอื่นผมต้องขอบอกไว้ก่อนว่าตัวเองไม่มีสัมผัสพิเศษเรื่องวิญญาณ หรือหยั่งรู้เรื่องของชาติที่แล้ว จึงไม่อาจยืนยันได้ว่า บุคคลสำคัญในอดีต รวมถึงพระมหากษัตริย์พระองค์ต่างๆ ทรงมีพระพักตร์เช่นไร และตอบไม่ได้ว่า อนุสาวรีย์ของกษัตริย์ในอดีตจะมีพระพักตร์เหมือนพระองค์จริงหรือไม่ แต่ในประเทศนี้มีคนที่ (อ้างว่า) มีสัมผัสพิเศษเช่นนี้อยู่มากมายทีเดียว แล้วหลายคนก็ได้รับการยอมรับเชื่อถือพอสมควรด้วย

ตัวอย่างหนึ่งคือกรณีของการสร้างล็อกเกตที่ระลึกพ่อขุนรามคำแหงในโอกาศครบรอบ 20 ปีของมหาวิทยาลัย ซึ่งในเอกสารข่าวรามคำแหง ฉบับวันที่ 11 มกราคม 2536 หน้า 5 ได้พาดหัวข่าวไว้ว่า “พระบรมสาทิสลักษณ์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช” โดยในเนื้อข่าวมีข้อความระบุว่า

“พระบรมสาทิสลักษณ์นี้วาดจากภาพที่ปรากฎในสมาธิตามคำบอกเล่าของคุณศรีเพ็ญ จัตุทะศรี โดยอาจารย์ลาวัณย์ ดาวราย ในลักษณะครึ่งพระองค์ ขณะที่ทรงมีพระชนมายุ ๓๕ พรรษาในฉลองพระองค์ชุดที่ทรงโปรดสวมใส่อยู่เสมอๆ เวลาเสด็จไปในสถานที่ต่างๆ ที่ไม่ใช่งานพระราชพิธี เริ่มลงมือวาด ๖ ตุลาคม ๒๕๑๐ และได้นำเสนอ ฯลฯ จอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๑๐ …”

ผลงานอาจารย์ลาวัณย์ (ดาวราย) อุปอินทร์

อาจารย์ลาวัณย์ ดาวราย จากมหาวิทยาลัยศิลปากร เล่า (เบื้องลึก) ให้ฟังว่า “สมัยนั้น ท่านนายกฯ ถนอม คิดอยากจะทำอนุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหง คุณศิริ พัฒนกำจร คุณหมอที่รู้จักกับท่านนายกฯ ได้แนะนำเรื่องของอาจารย์พร รัตนสุวรรณ ซึ่งอยู่ที่สำนักค้นคว้าทางวิญญาณ มีลูกศิษย์ชื่อคุณศรีเพ็ญ สามารถติดต่อกับคนที่ตายไปแล้วได้ ท่านสนใจ อาจารย์พรจึงมาติดต่อครู”

แม้ตอนแรกอาจารย์ลาวัณย์จะรู้สึกขบขันแต่ก็อยากลองดูจึงได้เริ่มวาดในสตูดิโอของทางคณะในช่วงบ่ายที่ท่านว่างจากการสอน ตอนนั้นคุณศรีเพ็ญเพิ่งจะมีอายุราวๆ 16 ปีเท่านั้น คุณศรีเพ็ญจะเข้าสมาธิแล้วบอกเค้าโครงที่เห็นให้อาจารย์วาดตาม ซึ่งเมื่อได้ฟังคำพูดของเด็กอายุขนาดนี้แล้ว ท่านก็อดเชื่อไม่ได้ ว่าคำพูดของคุณศรีเพ็ญมาจากพระราชดำรัสของพ่อขุนรามคำแหงเอง!

“คือ ท่านพูดว่า เวลาทำอนุสาวรีย์ให้ทำรูปท่านกำลังยืน เอามือไขว้หลัง มือข้างหนึ่งถือเหล็กจาร แล้วต้องปั้นออกมาให้ได้อารมณ์นักปราชญ์ ไม่ใช่นักรบ อนุสาวรีย์จะต้องมีหอระฆัง ๔ ทิศ คือท่านบอกหมดทุกอย่างว่ารูปทรงหอระฆังเป็นอย่างไร ขนาดเท่าไร ห่างออกไปจากอนุสาวรีย์กี่ก้าว อนุสาวรีย์สูงเท่าไร ระฆังเป็นแบบทรงฉัตรมีลูกตุ้มข้างในมีเชือกห้อยยาวลงมา เพื่อว่าเวลาชาวต่างประเทศมาดูจะได้บอกให้ทราบว่า ในสมัยท่านปกครองระบบพ่อปกครองลูก”

“นี่คือสิ่งที่ท่านพูด แล้วเห็นไหมคะว่า นี่เป็นภาษาช่าง ต้องคนที่มีความรู้ด้านนี้จึงจะพูดได้แบบนี้ สัดส่วนอนุสาวรีย์ที่ออกมาก็งามได้ส่วน คุณศรีเพ็ญอายุ ๑๖ ปี พูดแบบนี้ไม่ได้แน่ๆ”

ภาพที่ออกมาทำให้อาจารย์ลาวัณย์คนวาดเองอดแปลกใจไม่ได้เหมือนกัน เช่น ฉลองพระองค์ที่ออกไปทางพรามณ์ และรองพระบาทที่ได้รับการยืนยันจากคนเข้าสมาธิว่าเป็นสีเทาใสมองเห็นพระบาท ซึ่งอาจารย์ไม่เชื่อว่าจะมีพลาสติกในสมัยนั้น แต่เมื่อได้รับคำอธิบายว่าเป็นรองพระบาทที่พระองค์ได้รับบรรณาการจากพระเจ้ากรุงจีน ทอจากใยไหมแก้วท่านจึงได้หายข้องใจ

อย่างไรก็ดี เมื่ออาจารย์วาดรูปเสร็จและได้เสนอให้นายกฯ ถนอมพิจารณา ปรากฏว่าทางกรมศิลปากรก็ได้ดำเนินการไปแล้ว และแบบของท่านก็มิได้ถูกนำไปใช้

“ระหว่างที่วาดรูปกันไป ทางโรงหล่อที่กรมศิลปากรก็ขึ้นรูปไป พระองค์ยังเสด็จไปดูเลย ท่านบอกว่า ไม่เหมือนท่าน แล้วเรื่องรูปวาดที่ท่านนายกฯ ไม่ได้ทำอะไรนี่ มีคนจะบริจาคเงินให้สร้าง ท่านบอกว่า รูปปั้นคนคนเดียวไม่ต้องสร้างหลายรูป เป็นการสิ้นเปลือง เมื่อสร้างแล้วก็แล้วกัน แม้ว่าจะฉิวอยู่บ้างที่ขอให้พระองค์มาเป็นแบบเพื่อสร้างอนุสาวรีย์แล้วไม่ได้สร้าง”

เห็นได้ว่าจากที่อาจารย์ลาวัณย์เคยรู้สึก “ขบขัน” แต่ภายหลังท่านเชื่อแล้วว่า ท่านได้วาดพ่อขุนรามคำแหงตัวจริง หลังจากนั้นท่านยังได้วาดพระมหากษัตริย์พระองค์อื่นๆ ตามคำบอกเล่าของคุณศรีเพ็ญอีกหลายรูป

หลายคนอ่านแล้วก็อาจจะมีข้อสงสัยหลายอย่างตามมาได้ เช่น เหตุใดพระองค์จึงยังไม่ได้เกิดใหม่ตามหลักวัฏสงสาร หรือท่านกับผู้เข้าสมาธิสื่อสารด้วยภาษาใด ภาษาไทย หรือภาษาขอม? และฉลองพระองค์ของท่านออกจะเหมือนเสื้อพระราชทานมากไปหน่อยหรือเปล่า?

เรื่องนี้คงต้องใช้วิจารณญาณของท่านในการตั้งคำถามและหาคำตอบ รวมถึงการพิจารณาหลักฐานว่า หลักฐานเช่นใดรับฟังได้ ที่ผมนำเรื่องนี้มาเล่าเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่แปลกดี ถึงแม้ความเชื่อจะเป็นเรื่องส่วนตัว แต่ในสมัยนั้นก็มีการตั้งคำถามเหมือนกันกับการที่สถาบันการศึกษาสมัยใหม่ (ซึ่งความเป็นสถาบันก็ไม่เข้าข่ายเป็นเรื่องส่วนตัวแล้ว) ให้ความเชื่อถือปากคำคนที่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ แต่อ้างว่าสามารถสื่อสารกับคนที่ตายไปแล้วได้ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่? และตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าทัศนะดังกล่าวยังคงอยู่ หรือเปลี่ยนไปแล้วหรือยัง?

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

รายงานพิเศษ “เข้าทรงพ่อขุนรามคำแหงฯ ถกประวัติศาสตร์ไทย” ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ มิถุนายน 2536.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 มิถุนายน 2562