ประหาร “7 ชั่วโคตร” เรียงตระกูลอย่างไร ใครโดนบ้าง

เพชฌฆาต ลงดาบ นักโทษ ตัดษีรษะ ประหารชีวิต ที่ วักโคก
เพชฌฆาตกำลังลงดาบ นัก โทษ ประหารรายหนึ่งที่วัดโคก (ภาพจากหนังสือ กรุงเทพในอดีต โดยเทพชู ทับทอง )

เรื่อง “ประหาร 7 ชั่วโคตร” เป็นโทษอยู่ใน “กฎมณเฑียรบาล” และ “ลักษณะกบฏศึก” เทพชู ทับทอง เขียนอธิบายไว้ในหนังสือเก่าชื่อ “กรุงเทพฯ แห่งความหลัง” สรุปเนื้อหาได้ดังนี้

ฆ่า 7 ชั่วโคตร” หมายถึงเฉพาะ 1. นักโทษและเมีย 2. ลูก 3. หลาน 4. เหลน 5. พ่อแม่ 6. ปู่ย่าตายาย 7. ทวด ซึ่งก็เกือบหมดวงศ์ตระกูลเช่นกัน แต่ยังมีเหลือญาติบ้าง

ในหนังสือกฎหมายเก่าครั้งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งใช้มาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ในต้นรัชกาลที่ 5 ปรากฏว่าโทษที่ต้องฆ่าทั้งโคตร และ ประหาร 7 ชั่วโคตร เป็นโทษอยู่ในกฎหมาย “กฎมณเฑียรบาล” และ “ลักษณะกบฏศึก” หลายมาตรา

กฎมณเฑียรบาล มีดังนี้

ถ้าเรือประเทียบล่มก็ดี ประเทียบน้ำตกก็ดี แลว่ายน้ำอยู่บันดาตาย ให้ภูดาษแลชาวเรือยืนเสร้าแลซัดมะพร้าวให้เกาะตามแต่จะเกาะได้ ถ้ามิได้อย่ายึด ถ้ายึดขึ้นให้รอดโทษถึงตาย ถ้าซัดมะพร้าวให้รางวัลเงินสิบตำลึงขันทองใบหนึ่ง ถ้าเรือเทียบล่มมีผู้อื่นเหนแลซัดมะพร้าวเอาขึ้นให้รอดโทษทวีคูณตายทั้งโคตร

อนึ่งชาววังสนม ตำรวจในบันดาขานขันหมากแลมิได้ขานขันหมาก โทษแหวะปาก ถ้างานพระราชพิธีแขกเมืองถวายบังคม ฆ่าเสียทั้งโคตร

อนึ่งถ้าเสด็จทรงม้า แลให้ขุนช้างชาวช้างขี่ช้างไล่ไซ้ ให้ขุนช้างทำคาใส่คอ ครั้งหนึ่งให้กราบทูลพระกรุณาว่าช้างเหลือมือ ถ้ามิฟังแลจำให้ไล่ไซ้ ให้วางจงสิ้นเชิงอย่ารั้งพระที่นั่งจึงจะพ้นถ้ามิทำตามอัยการดั่งนี้ พระที่นั่งเป็นอันตรายไซ้ให้เอาผู้ขี่ช้างฆ่าเสียทั้งโคตรเป็นต้น

ลักษณะกบฏศึก มีดังนี้

1 มาตราหนึ่ง ผู้ใดใจใหญ่ใฝ่สูงศักดิ์ มักกบฏประทุษร้าย จะต่ำพระองค์ลงจากกำภูฉัตร อนึ่งทำร้ายพระองค์ด้วยโหรายาพิศม แลด้วยยศเครื่องสาสตราสรรพยุทธให้ถึงสิ้นพระชนม์ อนึ่งพระเจ้าอยู่หัวให้ผู้ใดไปรั้งเมืองครองเมือง แลมิิได้เอาสุพรรณบุบผา แลภัทยาเข้ามาบังคมถวายแลแขงเมือง อนึ่งผู้ใดเอาใจไปแผ่เผื่อฆ่าศึกสัตรู นัดแนะให้ยกเข้ามาเบียดเบียฬพระนครขอบขันธ์เสมาธานีน้อยใหญ่ อนึ่งผู้ใดเอากิจการบ้านเมืองแลกำลังเมืองแจ้งให้ฆ่าฟัง ถ้าผู้ใดกระทำดังกล่าวนี้โทษผู้นั้นเป็นอุกฤษฐ์ โทษ 3 สฐาน สฐานหนึ่งให้ริบราชบาทวฆ่าเสียให้สิ้นทั้งโคตร สฐานหนึ่งให้ริบราชบาทวฆ่าเสีย 7 ชั่วโคตร… เมื่อประหารชีวิตนั้นให้ประหารให้ได้เจ็ดวัน จึงให้สิ้นชีวิต เมื่อประหารนั้นอย่าให้โลหิตแลอาสพตกลงในแผ่นดินให้ใส่แพลอยเสียตามกระแสน้ำ…

5 มาตราหนึ่งเป็นข้าพระเจ้าอยู่หัวเลี้ยงให้มียศถาศักดิ์ แลมันโมหจิตรคิดใหญ่ใจใคร่ฝ่ายสูงศักดิ์ทำกบฏประทุษร้าย ต่อรบพุ่งเมืองท่านทำดังนั้น ท่านว่าโทษหนัก ให้ฆ่าเสียให้สิ้นทั้งโคตร

14 มาตราหนึ่ง ผู้ใดพระเจ้าอยู่หัวแต่งให้มียศถาศักดิ์ แลเป็นนายหมวดนายกองทแกล้วทหารไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน มีการรณรงค์สงครามมิได้อยู่ช่วยราชการ ภาครอบครัวอพยพหนีไปเข้าด้วยฆ่าศึก แลไปซุ่มซ้อนอยู่ในป่าดงท่านว่าขบถ ให้ฆ่าเสียให้สิ้นทั้งโคตร อย่าให้ดูเยี่ยงอย่างกันต่อไป เป็นต้น

การฆ่านั้นมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี ซึ่งโดยมากเป็นการทรมานไปด้วยในตัว ตามกฎหมายลักษณะกบฏศึกกล่าวถึงการฆ่าชนิดทรมานนี้ว่า มีถึง 21 วิธี อาทิ

“ให้ต่อยกระบานศีศะเลิกออกเสีย แล้วให้เอาคีมคีบก้อนเหล็กแดงใหญ่ใส่ลงให้มันสมองศีศะพลุ่งฟูขึ้นดังม่อเคี่ยวน้ำส้มพอูม…สฐานหนึ่งคือให้นอนลงโดยข้างๆ หนึ่งแล้ว ให้เอาหลายเหล็กตอกลงไป โดยช่องหูให้แน่นกับแผ่นดิน แล้วจับเท้าทั้งสองหันเหียนไปดังบุทคลท่ากางเวียน…สฐานหนึ่งคือให้เคี่ยวน้ำมันให้พลุ่งพล่าน…แล้วรดสาดลงมาแต่ศีศะกว่าจะตาย…สฐานหนึ่ง คือ ให้เอาขวานผ่าอกทั้งเป็นแหกออกดังโครงเนื้อ…สฐานหนึ่ง คือให้ตีด้วยไม้ตะบองสั้นตะบองยาว” เป็นต้น

การฆ่าโดยไม่ทรมานได้แก่ การตัดศีรษะด้วยดาบ ซึ่งมีทั้งการเสียบประจานและไม่เสียบประจาน

สำหรับการประหารชีวิตในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์สมัยต้นๆ ได้ความว่า ทำกันที่ป่าช้าวัดโพธารามหรือวัดโพธิ์ (ท่าเตียน) ตรงที่เคยเป็นที่ตั้งบริษัทบาโรบราวน์ ริมคลองหลอดฝั่งตะวันออก

ต่อมาย้ายมาประหารที่วัดโคกหรือวัดพลับพลาไชย แล้วย้ายมาประหารที่วัดบางกะสัน (วัดมักกะสัน) ริมคลองแสนแสบ ประตูน้ำปทุมวัน แล้วย้ายกลับไปประหารที่วัดโคกอีก ต่อมาจึงได้มาทำการประหารที่วัดภาษี ริมคลองแสนแสบ ถนนเอกมัย และวัดบางปลากด อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ตามลำดับ

ถ้าเป็นเจ้านาย ได้ความว่าทำการสำเร็จโทษที่วัดปทุมคงคา สำเพ็ง โดยการใส่ถุงแดงแล้วทุบด้วยท่อนจันทน์

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 ธันวาคม 2561