นัยของการเรียกชื่อนำหน้า จากระบบชนชั้นในสังคมมลายูที่ชายแดนใต้ อดีตถึงปัจจุบัน

(ซ้าย) เติงกูมูฮาญีดิน ซึ่งคำนำหน้าชื่อบอกว่าเป็นเชื้อพระวงศ์, (ขวา) เจ๊ะอับดุลลาห์ หลังปูเต๊ะ สังกัดอยู่ในกลุ่มชนชั้นที่ถือเป็น “มุสลิมใหม่”

สังคมมลายูมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันประกอบด้วยจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เชื่อกันว่ามีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการมานับตั้งแต่ยุคโบราณสมัยมีราชอาณาจักรมลายูลังกาสุกะ (พ.ศ. 700-2043) จนถึงยุคนครรัฐอิสลามปาตานี ดารุสซาลาม (พ.ศ. 2043-2335)

ต่อมาตกเป็นส่วนหนึ่งของสยามในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จนมาเป็นยุคเทศาภิบาล มณฑล หัวเมืองมลายู และสุดท้ายเป็นจังหวัดในราชอาณาจักรไทยที่สมบูรณ์แบบตั้งแต่ พ.ศ. 2445 เป็นต้นมา มีหลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาและการจัดการบ้านปกครองเมือง เช่น ผู้คนมีการโยกย้ายอพยพไปมาพลุกพล่าน การพัฒนาการศึกษามีมหาวิทยาลัยในพื้นที่เพื่อรองรับการต่อยอดให้คนท้องถิ่น (ไม่มากนัก?) เศรษฐกิจแหล่งอุตสาหกรรม เกิดขึ้นมีแรงงานจากภาคการเกษตรมาเป็นชนชั้นแรงงานกินเงินเดือน อยู่บ้านเช่าทิ้งบ้านเรือนที่ชนบทมากมาย

ถึงแม้สังคมจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ตาม การดำเนินชีวิตแบบดั้งเดิมก็ยังมีอยู่ที่ควบคู่กับความเป็นไป แห่งยุคเทคโนโลยีอันทันสมัย คือวิถีชีวิตมลายูมุสลิมยังมีให้เห็นความร่ำรวยและความมั่นคงแห่งสังคม วิถีที่มีราก ฐานทางศาสนายังคงเป็นสถาบันหลักหนึ่งที่เสริมสร้างความเป็นเอกลักษณ์ทำให้ท้องถิ่นมีความเข้มแข็งอย่างหาได้ยากกับสังคมอื่นๆ ในประเทศไทย

บรรดาวิถีชีวิตดั้งเดิมที่สำคัญครอบคลุมเป็นกรอบกำหนดทิศทางเดินแห่งชุมชนคือศาสนาอิสลาม วัฒนธรรมทางภาษาที่สืบเนื่องเป็นเรื่องเดียวกับศาสนาคือภาษามลายูเป็นสื่อที่ใช้ในชีวิตประจำวัน อีกทั้งยังเป็นภาษาสำหรับการเรียนการสอนศาสนาทั้งในระบบที่จัดขึ้นในชุมชนและระบบการศึกษาในโรงเรียน ดังนั้นศาสนาและภาษาเป็นตัวกำหนดแนวทางการดำเนินชีวิตที่สำคัญสำหรับมลายูมุสลิม (ถ้าคิดจะให้มีการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตดั้งเดิม มันมีความหมายถึงการทำลายให้สังคมท้องถิ่นล่มสลายไปด้วย)

ในวัฒนธรรมย่อยที่มีปรากฏในชุมชนประการหนึ่งที่ไม่อาจจะทราบได้ว่าเริ่มต้นเกิดขึ้นเมื่อเวลาใด และมีความเป็นมาอย่างไร แต่ในสังคมมลายูมุสลิมทั้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ บางรัฐในประเทศมาเลเซียยังมีใช้และปฏิบัติกันอยู่ในปัจจุบัน คือการกำหนดสายสืบทอดทางสายเลือดหรือการสืบทอดทายาทตามบรรพชนเฉพาะกลุ่ม ที่จะขอใช้คำว่าชนชั้น (เป็นเบื้องต้น) ดังนี้

ชนชั้นเจ้าคือ “กู ตวน ต่วน ตวนกู เติงกู” เวลาเขียนในภาษามลายูอักขระอังกฤษที่เรียกว่ามลายูรูมี (Rumi) หรือรูมาไนซ์ (Rumanise) คือ Ku/Tuan/Tengku/Tuanku ใช้เรียกคำนำหน้ากษัตริย์ มกุฎราชกุมาร พระมหาอุปราช เชื้อพระวงศ์ทั้งชายและหญิง ดังตัวอย่างที่กล่าวถึงชื่อบุคคลในชั้นนี้ เช่น

กูมะ (Ku Mad) ตวนอับดุลเลาะฮ. (Tuan Abdullah) ตวนกูซากียะฮ. (Tuanku Zakiyah) เติงกูมูฮาญีดิน (Tengku Muhayiddin)

ตัวอย่างที่ 1 เมื่อชายชื่อเติงกูอารีฟีนแต่งงานกับหญิงในชั้นใดก็ตามลูกชายและลูกสาวจะได้รับคำนำหน้าเป็น กู ตวน เติงกู ตวนกู หมด

ชนชั้นเหล่านี้สืบทอดมาตั้งแต่อดีตสมัยนครรัฐมลายูรุ่งเรือง คำนำหน้าเหล่านี้จะปรากฏนำหน้าชื่อของลูกหลานตลอด แต่จะหายไปกรณีฝ่ายหญิงชั้นนี้ไปแต่งงานกับสามัญชน ชนชั้นของลูกๆ เธอจะหายไปเป็นอย่างอื่นดังตัวอย่าง

ตัวอย่างที่ 2 เมื่อหญิงชื่อตวนกูไมมูนะฮ. แต่งงานกับสามัญชนทั่วไป ลูกชายและลูกสาวจะใช้คำนำหน้าว่า “นิ” หรือ “นิค” ดังที่จะกล่าวในชนชั้นต่อไป

ชนชั้น “นิ หรือ นิค” (Ni/Nik) คือคำนำหน้าลูกหลานที่เกิดจากที่หญิงในชนชั้นเจ้าไปแต่งงานกับชนชั้นสามัญชนทั่วไป ในกรณีเดียวกันเมื่อหญิงในชนชั้นนี้ไปแต่งงานกับสามัญชนชั้น “นิ หรือ นิค” ลูกๆ ของเธอจะหายไปด้วย ดังตัวอย่างชื่อบุคคลที่เรียกในชั้นนี้

นิซาลีนา (Ni Zalina) นินาสรียะฮ. (Ni Nazriyah) นิคอามาลีนา (Nik Amalina) นิคคอตีญะฮ. (Nik Khatijah)

ชนชั้น “แว” หรือ “วัน” (Wae Wan) คือคำนำหน้าชื่อบุคคลสามัญชนทั่วไปที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ การเรียกชื่อนำหน้าเช่นนี้ยังมีใช้กันอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้และในประเทศมาเลเซียบางรัฐ เช่น กลันตันและตรังกานู ดังตัวอย่างชื่อบุคคลที่เรียกในชั้นนี้

แวอับดุลเราะฮ.มาน (Wae Abdulrahman) แวซารีเฟาะฮ. (Wae Sarifah) วันกาเดร์ (Wan Khadir) วันอับดุลเลาะฮ. (Wan Abdullah)

ชนชั้น “เจ๊ะ” เป็นการเรียกนำหน้าชื่อของมุสลิมใหม่ คือบุคคลที่เปลี่ยนศาสนาจากอื่นและเข้ารับอิสลาม ลูกหลานของเขาจะสืบทอดคำนำหน้าว่า “เจ๊ะ” ตลอดไป ดังตัวอย่างชื่อบุคคลดังนี้

เจ๊ะอับดุลเลาะฮ. (Cik Abdullah) เจ๊ะฟาตีมะฮ. (Cik Fatimah) ซึ่งคำนำหน้าเช่นนี้อาจจะมีการเขียนและความหมายต่างกันกับประเทศมาเลเซีย เช่น ในมาเลเซียจะเขียนว่า Encik เป็นคำหน้านามเหมือนกับความหมายว่า “คุณ” ในภาษาไทย (แต่เวลาพูดจะเหมือนกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ “เจะ” หรือ Cik ตัว En ข้างหน้าจะเป็นเพียงเสียงขึ้นจมูก หรือบางทีจะหายไป

นอกจากการสืบทอดสายครอบครัวเช่นดังที่กล่าวแล้วในสังคมมลายูทั้งหลายจะมีคำนำหน้าที่สำคัญอีกกลุ่มหนึ่งคือ “ไซค์” (Syeikh) หรือเชค ซึ่งในภาษาพูดที่นิยมเรียกในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ “ซาเฮะ หรือ ไซค์” กล่าวกันว่ากลุ่มชนเหล่านี้มีบรรพชนมาจากประเทศอาหรับและมีสายเลือดของเหล่าบรรดาสาวกผู้ใกล้ชิดกับศาสดานะบีมุฮัมมัด รอซูลุลเลาะฮ. (ศาสดาคนสุดท้ายของอิสลาม) ในบางครั้งจะเรียกใช้คำนำหน้าคนอาหรับที่มีภูมิลำเนาจากเมือง Hadramaut (เยเมนขาว?) หรือนำหน้าผู้รู้ นักวิชาการศาสนา (พจนานุกรม Kamus Dewan, Dewan Bahasa dann Pustaka, 1989)

การเรียกชื่อนำหน้าดังกล่าวข้างต้นเป็นเพียงวัฒนธรรมหนึ่งที่ในอดีตค่อนข้างจะเข้มแข็งและรักษากฎเกณฑ์อย่างจริงจัง กล่าวคือชนชั้นเจ้าจะเป็นคนกำหนดกรอบการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในชั้นเดียวกันและต่างชนชั้น เป็นกลุ่มเป็นพวกชัดเจน การพูดคุย การเรียกตัวเอง และการขานรับของคนที่มีชนชั้นไม่เหมือนตน (ต่ำกว่า?) ในบางกลุ่มชนชั้นเดียวกันยังปรากฏมีความสูงต่ำที่แตกต่างกันโดยเฉพาะชนชั้นเจ้าที่เป็นนักปกครอง ผู้เคยมีการสืบสานที่สูงกว่าและมีอำนาจกับชนชั้นเจ้าที่อาจจะมีอำนาจปลายแถว

ในหลายครั้งคนแก่เฒ่าเล่าว่าการรักษาชนชั้นเป็นเรื่องที่ยึดถือและจริงจังมากขนาดไม่ยอมให้ลูกหลานแต่งงานข้ามชนชั้นเลยทีเดียว (ซึ่งอาจจะนับถือศาสนาเดียวกันก็ได้?) นานวันในปัจจุบันการแบ่งชนชั้นที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับวิถีชุมชนที่เกิดจากตำแหน่งการงานเช่นชนชั้นข้าราชการ (ประเภทต่างๆ ที่เหลื่อมล้ำกันมาก) กลุ่มพ่อค้า กลุ่มนักการเมือง (ทุกระดับ) เป็นต้น อีกทั้งยังสามารถแยกแยะในวัฒนธรรมย่อยในแต่ละประเภทที่น่าสนใจยิ่ง

การแบ่งชนชั้นอาจจะลดความเข้มข้นลงในสังคมปัจจุบัน เพราะการศึกษาและความเข้าใจในแก่นแท้ของศาสนาอิสลามมากขึ้น รูปแบบลักษณะการแบ่งชนชั้นนี้เป็นสิ่งที่ขัดกับหลักศาสนา เพราะถือว่าความเท่าเทียมกันในเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นเรื่องใหญ่ หากจะแตกต่างกันบ้างในฐานะทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ถูกกำหนดมาแล้ว และความไม่เท่าเทียมกันในเรื่องการศึกษาความรู้ของแต่ละคนถือเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนสามารถแสวงหาได้ตามหน้าที่ของความเป็นมุสลิมที่ศรัทธา ในความเป็นจริงที่มั่นคง คือกลุ่มชนที่ถ่อมตน ประกอบคุณงามความดีแก่เพื่อนมนุษย์อย่างเป็นธรรมคือชนชั้นที่มีคุณค่าสูงสุด


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 เมษายน 2560