อะแซหวุ่นกี้ ขอดูตัวเจ้าพระยาจักรี ฤาสะท้อนอิทธิพลสามก๊กในการเล่าพงศาวดาร?

พระราชพงศาวดารการจลาจลในกรุงธนบุรี ตอนสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก กลับจากราชการทัพเมืองเขมร (นายขำ, พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน พระนครศรีอยุธยา)

“เวลาเมื่อพม่ากำลังตั้งค่ายล้อมเมืองนั้น อะแซหวุ่นกี้ยกพลเลียบค่ายไปเที่ยวตรวจชัยภูมิทุก ๆ วันเจ้าพระยาสุรสีห์คุมพลออกโจมตี สู้พม่าไม่ได้ต้องถอยมา เจ้าพระยาจักรีคุมพลออกรบเองตีพม่าต้องถอยหนีเข้าค่ายไปหลายครั้ง อะแซหวุ่นกี้ยกย่องฝีมือเจ้าพระยาจักรี ถึงให้มาบอกว่าจะมาขอพบปะให้รู้จักกัน ครั้นเวลาวันหนึ่งจึงนัดหยุดรบ อะแซหวุ่นกี้กับเจ้าพระยาจักรี ออกไปพบกันที่ในสนามยืนม้าเจรจากัน ความที่เจรจากล่าวไว้ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า

อะแซหวุ่นกี้ให้ล่ามถามเจ้าพระยาจักรีว่าอายุเท่าใด เจ้าพระยาจักรีให้บอกไปว่าอายุได้ ๓๐ เศษ แล้วจึงให้ถามอายุอะแซหวุ่นกี้บ้าง บอกมาว่าอายุได้ ๗๒ ปี อะแซหวุ่นกี้พิจารณาดูรูปลักษณะเจ้าพระยาจักรีแล้วสรรเสริญว่า ท่านนี้รูปก็งาม ฝีมือก็เข้มแข็ง อาจสู้รบเราผู้เป็นผู้เฒ่าได้ จงอุตส่าห์รักษาตัวไว้ ภายหน้าจะได้เป็นกษัตริย์เป็นแท้

ความข้างต้นคัดมาจากพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่องไทยรบพม่า เมื่อครั้งกรุงธนบุรีคราว “อะแซหวุ่นกี้” ตีหัวเมืองเหนือ ซึ่งครั้งนั้น อะแซหวุ่นกี้แม่ทัพแก่พรรษาเป็นผู้นำทัพพม่าเข้าโจมตีหัวเมืองฝ่ายเหนือสมัยกรุงธนบุรี ซึ่งฝ่ายกรุงธนบุรีก็มีเจ้าพระยาจักรีรอรับมือแม่ทัพพม่าที่เมืองพิษณุโลก และฝีมือในการรบของเจ้าพระยาจักรีก็ทำให้แม่ทัพใหญ่ของพม่าประทับใจจนต้อง “ขอดูตัว”

อย่างไรก็ดี นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้เคยให้ความเห็นไว้ว่า “การเจรจาขอดูตัว” นี้น่าจะเป็นเรื่องที่เติมเข้ามาด้วยอิทธิพลของ “สามก๊ก” นิยายจีนที่มีการแปลขึ้นในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เช่นเดียวกับพระราชพงศาวดารซึ่งมีความระบุถึงการขอดูตัวเจ้าพระยาจักรีนั้นก็เป็นพงศาวดารที่มีการชำระขึ้นร่วมสมัยหรือหลังการแปลนิยายสามก๊กอย่างพระราชพงศาวดารฉบับพระพนรัตน์ และพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาซึ่งชำระขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โดยมีพระราชพงศาวดารฉบับพระพนรัตน์เป็นต้นร่างนั่นเอง

นิธิ ยังตั้งข้อสังเกตว่า การขอดูตัวที่มีการอ้างถึงในพงศาวดารบางฉบับนั้นหากพิจารณาตามหลักกฎหมายของทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายพม่าแล้ว “ออกจะเป็นการกระทำถึงขั้นขบถศึกอยู่ทีเดียว” นอกจากนี้ในพระราชพงศาวดารฉบับพระพนรัตน์ก็ยังมีความที่ถูกเติมเข้ามาอีกหลายตอนเช่น การถอยทัพจากเมืองพิษณุโลกที่ทำกันอย่างเป็นระเบียบ เจ้าพระยาจักรีให้ทิ้งค่ายนอกเมืองมารบในเมือง แล้วให้เอาพิณพาทย์ขึ้นตีบนกำแพง (!) ซึ่งก็น่าจะเป็นข้อความที่ได้อิทธิพลมาจากสามก๊กเช่นกัน

ขณะที่พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศและบริติชมิวเซียมกลับมิได้มีข้อความในลักษณะดังกล่าว ตรงกันข้ามพงศาวดารทั้งสองฉบับกลับบรรยายไว้ว่า การโจมตีของกองทัพพม่าเหลือกำลังที่กองทัพฝ่ายไทยจะต้านทานได้อยู่จนต้องแตกทัพอย่างไม่เป็นขบวน ดังความในฉบับพันจันทนุมาศที่ระบุว่า

“…เจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยาสุรศรี เห็นเหลือกำลังก็พาทหารฝ่ากองทัพพะม่าหนี ออกจากเมืองพิษณุโลก ฝ่ายกองทัพทั้งปวงก็แตกกันเป็นอลหม่าน กองทัพพะม่าได้ทีก็ยกไล่ติดตาม…”

อย่างไรก็ดี หากการถอยทัพของเจ้าพระยาจักรีมีลักษณะแตกไม่เป็นขบวนอย่างที่พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศว่าไว้จริง นิธิก็เชื่อว่าการเสียเมืองพิษณุโลกน่าจะไม่ได้อยู่ในลักษณะเมือง “แตก” แต่น่าจะเป็นความพยายามตีแหกวงล้อมของกองทัพพม่าตามรับสั่งของพระเจ้ากรุงธนบุรีเอง ด้วยเหตุดังกล่าว เจ้าพระยาจักรีจึงได้เลื่อนยศขึ้นไปเป็นเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกหลังการศึก ส่วนการแต่งเติมพระราชพงศาวดารที่ชำระขึ้นในสมัยหลังก็น่าจะเป็นไปเพื่อป้องกันหรือเพิ่มพูนพระเกียรติของราชวงศ์จักรีนั่นเอง

คลิกอ่านเพิ่มเติม : อะแซหวุ่นกี้ขอดูตัวเจ้าพระยาจักรี ความคิด, ความหมายที่เปลี่ยนแปลง

คลิกอ่านเพิ่มเติม : ค้นหลักฐานศึกอะแซหวุ่นกี้ กับ “ธรรมเนียมการดูตัว” สะท้อนอะไรได้บ้าง


อ้างอิง :

นิธิ เอียวศรีวงศ์. ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในพระราชพงศาวดารอยุธยา. กรุงเทพ : มติชน, 2543.


แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาครั้งล่าสุดเมื่อ 7 มิถุนายน 2562