“อะแซหวุ่นกี้” ขอดูตัว “เจ้าพระยาจักรี” กับความคิดและความหมายที่เปลี่ยนแปลง

พระบรมราชานุสาวรีย์ เจ้าพระยาจักรี พิษณุโลก
พระบรมราชานุสาวรีย์หล่อด้วยโลหะสำริดรูปเจ้าพระยาจักรียืนม้า ที่จังหวัดพิษณุโลก มีผู้ยืนกั้นสัปทน กล่าวกันว่าบุคคลผู้นั้นต่อมาคือ พระยาอุทัยธรรม ด้านหน้ามีไก่ชนใช้เป็นของบูชาและแก้บนเหมือนที่ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

“อะแซหวุ่นกี้” ขอดูตัว “เจ้าพระยาจักรี” ใน “ศึกอะแซหวุ่นกี้” กับความคิดและความหมายที่เปลี่ยนแปลง

การชำระพระราชพงศาวดาร มีโอกาสทำให้ประวัติศาสตร์เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เพราะการชำระแต่ละครั้งจะมีการเพิ่มเติมเรื่องราว หรือตัดข้อความให้สั้นกระชับ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเหตุผลบางอย่าง โดยจริงเท็จแค่ไหนก็แล้วแต่ชนชั้นนำสมัยนั้นๆ จะให้เป็น

“ศึกอะแซหวุ่นกี้” เป็นประวัติศาสตร์เรื่องหนึ่งที่มีการชำระในยุคต่อๆ มา ทำให้ลักษณะการเล่าเรื่องเปลี่ยนไปตามยุคสมัยนั้นๆ

นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมกราคม พ.ศ. 2561 วริศรา ตั้งค้าวานิช อาจารย์สาขาวิชาสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม พิษณุโลก ศึกษาเหตุการณ์สำคัญของ ศึกอะแซหวุ่นกี้ จากหลักฐานพระราชพงศาวดารต่างๆ และงานนิพนธ์ทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะเหตุการณ์แม่ทัพอะแซหวุ่นกี้ขอดูตัวเจ้าพระยาจักรี ซึ่งเขียนไว้ในบทความชื่อว่า “ประวัติศาสตร์ เรื่องเล่า และอนุสาวรีย์ในเหตุการณ์อะแซหวุ่นกี้ขอดูตัวเจ้าพระยาจักรี”

เจ้าพระยาจักรี รัชกาลที่ 1
ประติมากรรมหล่อโลหะเจ้าพระยาจักรีและกองทัพไทย อยู่ฝั่งซ้ายของพระบรมราชานุสาวรีย์

“ศึกอะแซหวุ่นกี้” หรือ “ศึกเมืองพิษณุโลก” เป็นสงครามครั้งสำคัญในสมัยธนบุรี ที่ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มีพระบรมราชโองการให้ เจ้าพระยาจักรี และ เจ้าพระยาสุรสีห์ ไปปกป้องเมืองพิษณุโลกจากการรุกรานของพม่า

เจ้าพระยาจักรีควบคุมกำลังพลสู้รบกับพม่าที่ล้อมเมืองพิษณุโลกทั้งสองฟากแม่น้ำอย่างไม่ท้อถอย จนแม่ทัพอะแซหวุ่นกี้ต้องชื่นชมและขอดูตัวเจ้าพระยาจักรี ต่อมามีการสู้รบกันอีกหลายครั้ง ระยะเวลาในการทำศึกล่วงเลยไปหลายเดือน ทำให้อาหารที่มีอยู่เริ่มขาดแคลน เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์จึงตัดสินใจตีฝ่าวงล้อมพม่าออกมา

เป็นที่น่าแปลก เหตุการณ์สำคัญอย่างครั้งที่อะแซหวุ่นกี้ขอดูตัวเจ้าพระยาจักรี กลับไม่ปรากฏในหลักฐานพระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ซึ่งเป็นพระราชพงศาวดารอันเก่าแก่ที่สุด ที่บันทึกเรื่องราวในสมัยธนบุรี-ต้นรัตนโกสินทร์ อีกทั้งยังเป็นฉบับต้นแบบให้กับการชำระในภายหลังอย่างพระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์

แต่เหตุการณ์ อะแซหวุ่นกี้ ขอดูตัว เจ้าพระยาจักรี เริ่มปรากฏครั้งแรกในพระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ และเหตุการณ์ครั้งนี้ก็ได้ถูกเล่าขานมาจนถึงปัจจุบัน ดังนี้

“ครั้นรุ่งขึ้นเจ้าพระยาจักรีขี่ม้ากั้นสัปทน ยกพลทหารออกไปยืนม้าให้อแซหวุ่นกี้ดูตัว อแซหวุ่นกี้ถามว่า อายุเท่าใด บอกไปว่าอายุได้สามสิบเศษ จึงถามถึงอายุอแซหวุ่นกี้บ้าง ล่ามบอกว่าอายุได้เจ็ดสิบสองปี แล้วอแซหวุ่นกี้พิจารณาดูรูปดูลักษณะเจ้าพระยาจักรี แล้วสรรเสริญว่า รูปก็งามฝีมือก็เข้มแข็ง สู้รบเราผู้เป็นผู้เฒ่าได้ จงอุตส่าห์รักษาตัวไว้ภายหน้าจะได้เป็นกษัตริย์เป็นแท้ แล้วให้เอาเครื่องม้าทองสำรับหนึ่งกับสักหลาดพับหนึ่ง ดินสอแก้วสองก้อน น้ำมันดินสองหม้อมาให้เจ้าพระยาจักรี…”

วริศราได้แสดงความคิดเห็นกับประวัติความเป็นมาของสมเด็จพระพนรัตน์ (แก้ว) ผู้เขียนพระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ไว้ในบทความว่า

“สมเด็จพระพนรัตน์ (แก้ว) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ซึ่งมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจคือ เกิดสมัยกรุงศรีอยุธยาในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เคยเป็นพระราชาคณะสมัยกรุงธนบุรี ตำแหน่งสูงสุดที่พระพิมลธรรม แต่เกิดต้องโทษในช่วงปลายรัชกาล เนื่องจากขัดแย้งกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี”

วริศรายังตั้งข้อสังเกตต่อหลักฐานในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ว่า ศึกอะแซหวุ่นกี้ เป็นสงครามที่สำคัญในสมัยธนบุรี ถึงจะเป็นศึกที่ไม่ชนะ แต่กลับมีการนำมากล่าวซ้ำ เพราะมีเหตุการณ์อะแซหวุ่นกี้ขอดูตัวเจ้าพระยาจักรี และทำนายว่าจะได้เป็นกษัตริย์พร้อมทั้งมอบสิ่งของกำนัลให้เจ้าพระยาจักรี แสดงให้เห็นถึงความคิดของชนชั้นนำในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เห็นว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการยอพระเกียรติ และเป็นสิ่งที่น่าสรรเสริญ

ประติมากรรมหล่อโลหะอะแซหวุ่นกี้และกองทัพพม่า อยู่ฝั่งขวาของพระบรมราชานุสาวรีย์

แต่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความคิดของชนชั้นนำไทยได้เปลี่ยนไป ดังจะเห็นได้จาก “โคลงภาพพระราชพงศาวดาร” ที่เกิดจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลือกเรื่องพระราชพงศาวดารต่างๆ โปรดให้ช่างมาเขียนภาพ และมีการแต่งโคลงเพื่ออธิบายเกี่ยวกับรูปภาพนั้นๆ ทรงพระราชนิพนธ์เองบ้าง หรือพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางแต่งถวายบ้าง ซึ่งมีเหตุการณ์อะแซหวุ่นกี้อยู่ในลำดับที่ 70 ความตอนหนึ่งกล่าวถึงการรับของกำนัลจากอะแซหวุ่นกี้ว่า

“พลางให้ของเครื่องม้า   ทองคำ
หวังจักส่อศึกทำ   แยบย้อน
เจ้าพระยาจักรีสำ   เหนียกทราบ ประสงค์แฮ
กลับยักกลศึกส้อน   คิดซ้อนกลภุกาม ฯ”

จากโคลงภาพดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเจ้าพระยาจักรีรู้เท่าทันอะแซหวุ่นกี้ และทราบเจตนาแอบแฝงของพม่าที่มอบเครื่องม้าทองคำเป็นของกำนัล ซึ่งความคิดนี้แตกต่างจากพระราชพงศาวดารของรัตนโกสินทร์ตอนต้น

งานนิพนธ์เรื่อง “สามกรุง” ของ พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ เป็นงานนิพนธ์ที่อิงจากพระราชพงศาวดาร ก็เน้นย้ำว่าของกำนัลของอะแซหวุ่นกี้เป็นสิ่งที่ไม่ดี โดยทรงพระนิพนธ์ไว้ว่าหลังจากที่ได้รับของกำนัล เจ้าพระยาจักรีก็รีบนำความไปกราบทูลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในภายหลัง

วริศรากล่าวถึงการรับของกำนัลจากฝ่ายตรงข้ามว่า “จะเห็นได้ว่าชนชั้นนำไทยในสมัยรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์เกิดสำนึกความเป็นชาติ เกิดการสร้างศัตรูของชาติขึ้นมา ทำให้การที่พระมหากษัตริย์ไทยรับของกำนัลจากแม่ทัพพม่าดูจะเป็นการรับของจากศัตรูซึ่งไม่สมควรอย่างยิ่ง”

จากหลักฐานที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าหลักฐานพระราชพงศาวดารต้นรัตนโกสินทร์ กล่าวถึง ครั้งที่แม่ทัพอะแซหวุ่นกี้ให้ของกำนัลและการขอดูตัวเจ้าพระยาจักรี ถือว่าเป็นเรื่องที่มีเกียรติยศ แสดงให้เห็นว่าเป็นการยอพระเกียรติ เมื่อสยามเข้าสู่ยุคการเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง ก็เกิดสำนึกความเป็นชาติขึ้นมา ความคิดของชนชั้นนำจึงเปลี่ยนไป โดยจะมองว่าการรับของกำนัลจากฝ่ายตรงข้าม ถือว่าเป็นกบฏต่อบ้านเมือง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 

ปกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม ๒๕๖๑

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 มกราคม 2561