พระสุหร่าย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงพระสุหร่ายน้ำพระพุทธมนต์พระราชทานแก่ประชาชน ในพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร

การใช้น้ำประพรมเพื่อเป็นสวัสดิมงคลแก่บุคคลหรือสถานที่นั้นเป็นคตินิยมสืบเนื่องกันมาช้านาน ในพระพุทธศาสนาตามพระบาลีก็ได้กล่าวถึงการเสกน้ำพระพุทธมนต์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและประพรมเพื่อระงับโรคภัย ส่วนคติพราหมณ์ก็มีการเสกน้ำเทพมนตร์ด้วยมนตร์คาถาต่างๆ จากคัมภีร์พระเวท และไม่เพียงแต่ในแถบทวีปเอเชียเท่านั้นที่นิยมการประพรมน้ำ หากแต่ศาสนาคริสต์ โดยเฉพาะนิกายโรมันคาทอลิกและศาสนาอิสลาม ก็ยังปรากฏมีการประพรมน้ำในศาสนพิธีให้เห็นอยู่เนืองๆ

เท่าที่ปรากฏอยู่ในเวลานี้ ในพุทธศาสนพิธีนิยมใช้มัดหญ้าคาหรือกิ่งมะยมจุ่มน้ำพระพุทธมนต์เพื่อประพรม อย่างไรก็ดีวิธีประพรมน้ำในพิธีแบ็พทิสต์ (Baptism) ของคริสต์ศาสนาในบางท้องที่รวมไปถึงการประพรมน้ำบนมือคู่บ่าวสาวในพิธีแต่งงานของชาวมุสลิมแถบมลายูนั้น มีอุปกรณ์พิเศษที่ต่างออกไปจากพุทธศาสนา อุปกรณ์นั้นมีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า “Rosewater Sprinkler” หรือที่คนไทยเรียกว่า “สุหร่าย” หรือ “เต้าสุหร่าย” เป็นภาชนะคล้ายขวดคอสูง ที่ปลายปากขวดมีรูเล็กๆ สำหรับให้น้ำกระเซ็นออกมาเป็นฝอยเวลาสลัดหรือฟาด

“สุหร่าย” มาจากคำว่า “Surahi” ในภาษาเปอร์เซียซึ่งไทยเรารับเข้ามาใช้ ทั้งนี้พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานได้นิยามไว้ว่า “เครื่องโปรยน้ำให้เป็นฝอยอย่างฝักบัว สำหรับสรง”

เต้าสุหร่าย หรือ Rosewater Sprinkler นั้นมีทั้งแบบฝรั่งและแบบอาหรับ สำหรับของฝรั่งนั้นนิยมใช้บรรจุน้ำอบน้ำหอม เช่น น้ำกุหลาบ เพื่อประพรมร่างกายเป็นเครื่องประทิ่น อันเป็นที่มาของชื่อ Rosewater Sprinkler คือเต้าพรมน้ำกุหลาบ อนึ่ง Rosewater Sprinkler นั้นเป็นของที่ฝรั่งผู้ดีมักมีไว้ใช้ประจำโต๊ะเครื่องแป้ง ในสมัยก่อนบริษัทเครื่องแก้วชั้นนำก็เคยผลิตออกจำหน่ายเช่นกัน สำหรับวัสดุที่ใช้ทำเต้าสุหร่ายนี้มีทั้งแก้ว ทอง เงิน และโลหะอื่นๆ การตกแต่งสลักเสลารูปแบบและลวดลายก็แตกต่างกันไปตามแต่ละภูมิภาค

ไทยเรารับเอาเต้าสุหร่ายมาใช้ประกอบเป็นราชภัณฑ์ในพระราชพิธีแต่ครั้งใดไม่อาจทราบแน่ชัด แต่พอสันนิษฐานได้ว่าอย่างน้อยก็มีมาแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โดยมีหัวเมืองประเทศราชได้ทูลเกล้าฯ ถวายเต้าสุหร่ายเป็นหนึ่งในเครื่องราชบรรณาการ เต้าสุหร่ายที่ใช้ในพระราชพิธีนั้นมี ๒ ลักษณะ คือ “สุหร่ายฟาด” เป็นสุหร่ายที่ใช้กิริยาฟาดหรือสะบัดให้น้ำในเต้ากระเซ็นออกมาเป็นฝอย มีทั้งที่ทำจากทองคำและเงิน และ “สุหร่ายฉีด” คือสุหร่ายที่ทำจากทองคำมีกลไกใช้บิดเพื่อฉีดน้ำออกมาเป็นสาย ดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชาธิบายเรื่องพระสุหร่ายฉีดไว้ในพระราชนิพนธ์พระราชพิธีสิบสองเดือน ความว่า

“…มีสุหร่ายอย่างหนึ่งซึ่งเป็นเครื่องราชบรรณาการมาในครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ที่เดี๋ยวนี้จะหาซื้อไม่ได้ ด้วยเขาเลิกทำแบบนั้นเสียแล้ว แต่ข้าพเจ้าอยู่ข้างหยอด มาแต่เล็กจนเดี๋ยวนี้ดูน่าเล่นนัก สุหร่ายนั้นไม่ได้กรอกน้ำตามธรรมเนียม ใช้ขันควงติดกับกระบอกฉีด กระบอกฉีดนั้นวางลงในขันแล้วสูบเข้าไปข้างก้นสุหร่าย อัดเข้าไปทั้งน้ำและลมพร้อมกัน เมื่อเต็มที่แล้วหันสุหร่ายออกจากกระบอกฉีดมาตั้งไว้เท่าใดๆ ก็ได้ เวลาที่สรงน้ำพระจึงเปิดก๊อก น้ำก็ฉีดออกจากสุหร่ายเอง ไม่ต้องฟาดหรือเขย่าหรือบีบอย่างหนึ่งอย่างใดเลย น้ำเป็นสายเล็กพุ่งไปได้ถึงสิบศอกสามวา รดถึงพระได้ทุกองค์ เว้นแต่ท่านขุนศรีสยุมพรแกมักขลุกขลักเกิดความบ่อยๆ คือน้ำอบที่แกสูบเข้าไปนั้นมีผงเสียมากๆ บางทีสายน้ำก็เบี้ยวเฉโก๋ ไป บางทีก็ไหลปรีดๆ อยู่เสมอปากช่องสุหร่าย บางทีก็ถึงต้องแหย่ต้องเป่ากันประดักประเดิด และอะไรมันหลวมๆ เพราะเก่าอยู่หน่อยหนึ่ง ถ้าสูบเต็มๆ มาตั้งไว้มักเป็นน้ำซึมซาบอาบเอิบอยู่ทั่วๆ สุหร่าย แต่ถ้าแก้ไขให้ดีคงดีได้ สุหร่ายเช่นนี้มีสองอันพอสูบผลัดเปลี่ยนกันทันไม่ขาดพระหัตถ์ ดูความคิดเก่าในเรื่องนี้เขาดีกว่าเครื่องบีบน้ำอบฝรั่งที่มีมาใหม่ๆ แต่พอชมเพ้อเจ้อจะห้องเส็ง หรืออย่างไรไม่ทราบเลย สุหร่ายสองอันนี้ดูเป็นใช้น้ำอบอย่างเทือกแป้งสด…”

ปัจจุบันพระสุหร่ายฉีดจะนำออกใช้เฉพาะในพระราชพิธีสงกรานต์ ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ ๑๕ เมษายนของทุกปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือผู้แทนพระองค์ จะทรงใช้พระสุหร่ายฉีดนี้ ฉีดพระสุคนธ์สรงปูชนียวัตถุในพระมหามณเฑียรและในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรและพระพุทธรูปฉลองพระองค์ต่างๆ ซึ่งประดิษฐานอยู่บนชุกชีสูงเป็นอาทิ ตลอดจนทรงใช้เพื่อฉีดสรงพระโกศพระบรมอัฐิสมเด็จพระบวรราชเจ้า กับทั้งพระอัฐิพระบรมวงศ์และพระสัมพันธวงศ์ ซึ่งประดิษฐาน ณ หอพระนาก ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามด้วย

ส่วนพระสุหร่ายฟาด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเอ่ยถึงไว้ว่า “…แต่น้ำอบดีๆ อย่างพระสุคนธ์ ใช้สุหร่ายลงยาอันหนึ่ง สุหร่ายเงินอันหนึ่ง…แต่สุหร่ายทั้งสองอันนี้ต้องใช้ฟาดอย่างเมื่อยแขน และมักเปียกเสื้อทั้งสองสุหร่าย”

เรามักได้เห็นพระสุหร่ายฟาดอยู่เสมอ เพราะเป็นเครื่องใช้ในพระราชพิธีและพิธีมงคลที่มีการเสด็จพระราชดำเนินแทบทุกงาน แต่พระสุหร่ายทองคำลงยาจะเชิญออกให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเฉพาะการทรงพระสุหร่ายในพระราชพิธีสำคัญ เช่น การทรงพระสุหร่ายเครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์ ในการสมโภชสิริราชสมบัติ ในพระราชพิธีฉัตรมงคล เป็นต้น

สำหรับพระเต้าสุหร่ายเงินนั้น ได้จัดทำเพิ่มอีกหลายองค์ สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ทรงใช้ในพระราชพิธีและพิธีที่ต้องทรงประพรมน้ำพระพุทธมนต์พระราชทานหรือประทาน เป็นต้นว่าในพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงใช้พระสุหร่ายเงินบรรจุน้ำที่ได้จากการสรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรเจือพระสุคนธ์สุหร่ายพระราชทานแก่ประชาชนผู้มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท

นอกจากนี้ยังทรงใช้พระเต้าสุหร่ายเงินในพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ วางศิลาฤกษ์ เปิดอาคาร ตัดลูกนิมิต ยกช่อฟ้า พุทธาภิเษก เจิมเทียนรุ่ง เจิมเทียนพรรษา ฯลฯ โดยจะทรงพระสุหร่ายลงบนพระบรมรูป แผ่นจารึก หรือวัตถุต่างๆ ในพิธีก่อน แล้วค่อยทรงเจิม บ้างก็ใช้ทรงพระสุหร่ายพระราชทานแก่บุคคล เช่น ในการต่อท่ารำเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพซึ่งต้องกระทำหน้าพระที่นั่งโดยได้รับพระบรมราชานุญาตนั้น ก็จะทรงพระสุหร่ายพระราชทานแก่ผู้รำก่อนเพื่อเป็นสวัสดิมงคล

น้ำที่ใช้บรรจุในพระเต้าสุหร่าย สามารถแบ่งได้เป็นสองกรณี คือหากเป็นกรณีที่ทรงพระสุหร่ายพระราชทานเพื่อเป็นสิริมงคลแก่บุคคล สถานที่ หรือวัตถุสิ่งของ ก็จะบรรจุน้ำพระพุทธมนต์ลงในพระเต้า แต่หากทรงพระสุหร่ายสรงปูชนียวัตถุ ปูชนียสถาน เช่น พระบรมธาตุเจดีย์ หรือพระพุทธปฏิมานั้น ก็จะบรรจุพระสุคนธ์คือน้ำอบน้ำหอมลงในพระเต้าสุหร่ายแทน บริเวณที่เปิดได้เพื่อกรอกน้ำลงไปนั้นส่วนมากอยู่ระหว่างรอยต่อของน้ำเต้ากับคอขวด โดยสามารถหมุนเกลียวถอดแยกออกจากกันได้เป็นแต่ละส่วน

แต่นี้ต่อไปเมื่อได้ยินคำว่า “ทรงพระสุหร่าย” หรือ “พระเต้าสุหร่าย” ก็คงได้กระจ่างแก่ใจแล้วว่ากิริยาเช่นนั้น หรือขวดชื่อแขกๆ หน้าตาแปลกๆ ที่เห็นนั้น คืออะไร และมีไว้เพื่ออะไร


เชิงอรรถ

๑. หยอด เป็นศัพท์แผลงในสมัยนั้น หมายความว่า ชอบมาก มาจากที่พูดกันว่า “เป็นของรักราวกับจะหยอดลงไปนัยน์ตาได้”

๒. โก๋ เป็นศัพท์แผลง หมายความว่า หลง เหตุมาแต่เจ้านายแต่ก่อนพระองค์หนึ่งมีมหาดเล็กสำหรับขึ้นท้ายรถตามติดพระองค์ ชื่อโก๋ เวลาต้องพระประสงค์อะไรก็เป็นเรียกอ้ายโก๋ บางทีอ้ายโก๋ไม่อยู่ ก็หลงเรียกด้วยติดพระโอษฐ์ ทีหลังมีผู้ใดร้องเรียกอะไรหลงๆ จึงว่ากันว่า หลงราวกับเรียกอ้ายโก๋

๓. ห้องเส็ง หมายความว่า อ้างถึงอะไรๆ อย่างเหลวไหล มาแต่ผู้ซึ่งชอบแสดงความจดจำของเก่าแก่แต่ก่อนอวดพวกชั้นหนุ่มๆ ที่ไม่เคยเห็น มีผู้หนึ่งแสดงว่าเมื่อกระนั้นที่ในท้องพระโรงพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย มีนาฬิกาห้องเส็งตั้งอยู่เรือนหนึ่ง แต่ครั้นไล่เลียงว่านาฬิกาห้องเส็งมีรูปร่างเป็นอย่างไร และเหตุใดจึงเรียกนาฬิกาห้องเส็ง ก็ไม่สามารถจะอธิบายได้