“พระยาพิชัยดาบหัก” ในคราวตีฝ่าวงล้อมออกจากกรุงศรีฯ พร้อม “พระเจ้าตาก”

พระยาพิชัยดาบหัก อนุสาวรีย์ อุตรดิตถ์
พระยาพิชัยดาบหัก

การไล่เรียงประวัติของบุคคลในประวัติศาสตร์ที่มีอายุย้อนไปเป็นร้อย ๆ ปีให้ตรงกับข้อเท็จจริงไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะประวัติของบุคคลธรรมดา หรือข้าราชการที่ไม่ใช่ระดับสูง ซึ่งยากจะแทรกเข้าไปในบันทึกของทางการได้ เรื่องราวของคนเหล่านี้คงอยู่ในลักษณะของเรื่องเล่าแบบปากต่อปาก ซึ่ง พระยาพิชัยดาบหัก เป็นอีกบุคคลหนึ่งซึ่งเข้าข่ายนี้

มีผู้เรียบเรียงประวัติพระยาพิชัยดาบหักขึ้นอย่างค่อนข้างละเอียดทีเดียวตั้งแต่เล็กจนโต แต่ชื่อของท่านปรากฏหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรในพงศาวดารเพียงไม่กี่ครั้ง หนึ่งในนั้นคือคราวที่พระยาตาก (ตำแหน่งของพระเจ้าตากในขณะนั้น) นำทหารกล้าแหกค่ายออกจากกรุงศรีอยุธยา ดังความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาที่ระบุว่า

“จึงชุมนุมพรรคพวกพลทหารไทยจีนประมาณพันหนึ่ง สรรพด้วยเครื่องสรรพาวุธ กับทั้งนายทหารผู้ใหญ่คือพระเชียงเงินหนึ่ง หลวงพรหมเสนาหนึ่ง หลวงพิชัยอาสาหนึ่ง หลวงราชเสน่หาหนึ่ง ขุนอภัยภักดีหนึ่ง เป็นห้านาย กับขุนหมื่นผู้น้อยอีกหลายคน จัดแจงกันคิดจะยกทัพหนีไปทางตะวันออก”

แต่ปัญหาก็คือในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และฉบับบริติชมิวเซียมกลับระบุว่าเป็น “หลวงพิชัยราชา” ไม่ใช่ “หลวงพิชัยอาสา” ซึ่งพระยาศรีสัชนาลัยบดี (เลี้ยง ศิริปาละกะ) ผู้เรียบเรียงประวัติพระยาพิชัยดาบหัก (ฉบับมาตรฐานที่คนทั่วไปยึดถือ) ระบุว่า เป็นตำแหน่งของพระยาพิชัยดาบหักเมื่อแรกเข้ารับใช้พระยาตาก

ความตอนเดียวกันในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุว่า

“จึงชุมนุมพรรคพวกพลทหารไทยจีนประมาณ ๑,๐๐๐ เศษ สรรพด้วยเครื่องสาตราวุธต่างๆ แลประกอบด้วยนายทหารผู้ใหญ่นั้น พระเชียงเงิน หลวงพรหมเสนา หลวงพิชัยราชา หลวงราชเสนา ขุนอภัยภักดี หมื่นราชเสน่หา แล้วยกออกไปตั้ง ณ วัดพิชัยอันเป็นที่มงคลมหาสถาน”

ส่วนความเป็นไปได้ที่ “หลวงพิชัยอาสา” กับ “หลวงพิชัยราชา” จะเป็นคนเดียวกันนั้น อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ บอกว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยหากยอมรับเรื่องรับตามประวัติที่เรียบเรียงโดยพระยาศรีสัชนาลัยบดี

อาจารย์นิธิบอกว่า ราชทินนาม “พิชัยราชา” นั้นมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ส่วน “พิชัยอาสา” ปรากฏหลักฐานอยู่ที่เดียวว่าอาจเคยใช้ในยุคกรุงธนบุรี และหมายถึงเจ้าเมืองพิชัยหลัง พ.ศ. 2313 และเหตุที่หลวงพิชัยราชาจะเป็นพระยาดาบหักมิได้นั้น อาจารย์นิธิอธิบายว่า

“แต่มีหลักฐานที่ส่อให้เห็นว่าหลวงพิชัยราชาที่ออกจากกรุงพร้อมพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้น จะเป็นพระยาพิชัยดาบหักไม่ได้ (หากยอมรับเค้าของประวัติพระยาพิชัยดาบหักตามที่พระยาศรีสัชนาลัยบดีเล่า) เพราะหลวงพิชัยราชาผู้นี้เป็นจีนดังที่กล่าวไว้ชัดเจนในพระราชพงศาวดารตอนรบกับเหล่าร้ายที่เมืองระยอง”

การเปลี่ยน “พิชัยราชา” เป็น “พิชัยอาสา” จึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เชื่อว่า พระยาพิชัยดาบหัก เป็นขุนพลคนสนิทที่ร่วมกับพระเจ้าตากในการกอบกู้บ้านเมืองให้เป็นปึกแผ่นมาตั้งแต่ต้น

แต่เมื่อปรากฏความไม่สอดคล้องกันในตอนนี้จึงน่าสงสัยว่า พระยาพิชัยดาบหักซึ่งน่าจะเป็นบุคคลที่มีส่วนสำคัญท่านหนึ่งในราชการสมัยกรุงธนบุรี แต่จะเริ่มมีบทบาทตั้งแต่เมื่อครั้งที่พระยาตากรวบรวมไพร่พลตีฝ่าออกจากกรุงศรีอยุธยาเลยหรือไม่นั้นยังเป็นเรื่องที่น่าสงสัยอยู่ (แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ เพียงแต่ไม่มีหลักฐานอื่นที่จะช่วยยืนยันได้ชัดเจนในขณะนี้)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ปรามินทร์ เครือทอง.“ชำระประวัติวีรบุรุษ ‘พระยาพิชัยดาบหัก’ ของแท้ หรือ เรื่องแต่ง?”. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ ธันวาคม 2552

นิธิ เอียวศรีวงศ์. “การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี”. พิมพ์ครั้งที่ 9. กรุงเทพฯ : มติชน, 2550


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 ธันวาคม 2561