ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2552 |
---|---|
ผู้เขียน | ปรามินทร์ เครือทอง |
เผยแพร่ |
น่าเสียดายที่พระราชพงศาวดารไม่ได้มีตอนจบของพระยาพิชัยไว้ให้ แต่การล้างบางข้าราชการแผ่นดินเก่านั้นเกิดขึ้นจริง กลุ่มแรกเป็นพวกกรมขุนอนุรักษ์สงคราม รวม 39 คน พวกพระยาสรรค์ 4 คน และพระญาติพระโอรสพระเจ้าตากอีกจำนวนหนึ่ง
นอกจากนี้ยังมี “โจทก์เก่า” ของเจ้าพระยาสุรสีห์ซึ่งบัดนี้คือกรมพระราชวังบวรฯ ในรัชกาลที่ 1 อีก 80 คน “บรรดาที่มีความผิดขุ่นเคืองกับพระองค์มาแต่ก่อน ให้ประหารชีวิตเสียสิ้นทั้งแปดสิบคนเศษ”
ทำให้บรรดาข้าราชการขุนนางในแผ่นดินเก่า (เท่าที่บันทึกในพระราชพงศาวดาร) ถูกกำจัดไปร้อยกว่าคน จะมีพระยาพิชัยดาบหักอยู่ในจำนวนนี้หรือไม่
ส่วนกรณีที่มีการถามพระยาพิชัยว่าจะยอมอยู่หรือตายตามนายนั้น ต้องกับพระราชอัธยาศัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ อยู่บ้างเหมือนกัน เหตุการณ์เช่นเดียวกันนี้เกิดขึ้นกับกรมขุนอินทรพิทักษ์พระราชโอรสของพระเจ้าตาก เมื่อถูกจับได้หลังเปลี่ยนแผ่นดิน ก็ถูกถามด้วยคำถามเดียวกับที่ถามพระยาพิชัยดาบหักว่า “ถ้ายอมอยู่จะเลี้ยง ด้วยตัวหาความผิดมิได้ กรมขุนอินทรพิทักษ์ให้การว่า ไม่ยอมอยู่ จะขอตายตามบิดา” เป็นคำพูดเดียวกับพระยาพิชัยดาบหักเกือบจะทุกคำ
อย่างไรก็ดี ในการตั้งข้าราชการในแผ่นดินใหม่นี้ ขุนนางหัวเมืองเหนือถูกตั้งเกือบยกสำรับ (บางตำแหน่งว่างอยู่ตั้งแต่แผ่นดินกรุงธนบุรี) เช่น หลวงนราเป็นพระยาพิษณุโลก พระวิเชียรเป็นพระยาสุโขทัย หลวงไชยณรงค์เป็นพระนครสวรรค์ ขุนวิเศษเป็นพระชัยนาท ขุนด่านเป็นพระสวรรคโลก และที่สำคัญที่สุดตำแหน่งเจ้าเมืองพิชัยคนใหม่ หลวงเมืองเป็น “พระวิไชย” ซึ่งพระราชพงศาวดารทุกฉบับรวมถึงเอกสาร คำปฤกษาตั้งข้าราชการในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 สะกดคำตรงกันหมด น่าจะหมายถึง “พระพิชัย”นั่นเอง
หลักฐานนี้น่าจะยืนยันได้ว่าพระยาพิชัยดาบหักคงถูกประหารแน่ เมื่อต้นรัชกาลที่ 1 นั่นเอง นอกจากนี้ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ก็มีนามเจ้าเมืองพิชัยคนใหม่แล้วคือ “พระยาพิชัย (โต)” ท่านผู้นี้ พระยาศรีสัชฯ อธิบายว่า เคยเป็นเจ้าเมืองคนก่อนพระยาพิชัยดาบหัก แต่ถูกพม่าจับไปเมื่อสงครามเสียกรุง ภายหลังหนีกลับมาได้ จึงโปรดฯ ยกตำแหน่งเดิมให้
แต่ข้อที่น่าสังเกตคือ เนื่องจาก “คำสั่งประหาร” จากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ นั้นปรากฏแต่เพียงบุตรหลานพระเจ้าตากกับกลุ่มต่อต้านรัฐประหาร ดังนั้นโอกาสที่พระยาพิชัย ซึ่ง “หาความผิดมิได้” และไม่มีบทบาทใดในการต่อต้านการทำรัฐประหารของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ โดยพระราชอัธยาศัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ พระยาพิชัยก็ไม่น่าจะถูกกำจัดในกลุ่มนี้ (หรือถ้ามีก็เป็น “คำสั่งประหาร” นอกพงศาวดาร)
ส่วนข้าราชการทั่วไปที่ถูกประหาร 80 คนเศษนั้นเป็นคำสั่งของกรมพระราชวังบวรฯ เป็นไปได้หรือไม่ว่าพระยาพิชัยดาบหักจะจัดอยู่ในกลุ่มนี้ แม้ว่าพระยาพิชัยดาบหักจะร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่อยู่กับเจ้าพระยาสุรสีห์ก็ตาม แต่ความใกล้ชิดนั้นอาจเป็นเพื่อนตายก็ได้ หรือมีการกระทบกระทั่งกันก็ได้ ในจำนวนคนที่ถูกประหาร 80 คนนั้น ไม่ทราบข้อหาแน่ชัด
รู้แต่เพียงว่า “มีความผิดขุ่นเคืองกับพระองค์มาแต่ก่อน” พระยาพิชัยดาบหักก็อาจจะเป็นหนึ่งในข้อหานี้ก็เป็นได้
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ชำแหละประวัติวีรบุรุษ “พระยาพิชัยดาบหัก” ของแท้ หรือ เรื่องแต่ง” เขียนโดย ปรามินทร์ เครือทอง ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2552
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 พฤษภาคม 2561