“นโยบายกันชน” ของรัชกาลที่ 5 มีจริงหรือ? ทำไมต้องมี? (ตอนที่ 2 การนำไปใช้นอกประเทศ)

นายกร้านท์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ เดินทางมาเยือนสยาม ในปี พ.ศ. ๒๔๒๒ เขาได้เข้าเฝ้ารัชกาลที่ ๕ ภายในพระบรมมหาราชวัง ในการนี้นายกร้านท์ได้ทูลเชิญให้รัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสอเมริกา ต่อมาก็ได้ทรงส่งกรมหมื่นนเรศรวรฤทธิ์ไปแทนพระองค์ในฐานะราชทูตพิเศษ

อ่านตอนที่ 1 : “นโยบายกันชน” ของรัชกาลที่ 5 มีจริงหรือ? ทำไมต้องมี? (ตอนที่ 1 ประวัติความเป็นมา)

นโยบายกันชนถูกนำไปใช้นอกประเทศครั้งแรก

หลังจากที่วิกฤติการณ์วังหน้ายุติลงเพียง 4 ปี ก็เกิดคดีความระหว่างประเทศครั้งใหม่ขึ้นในปี พ.ศ. 2421 (ค.ศ. 1878) เรียก “คดีความกับกงสุลอังกฤษ” และนโยบายกันชนก็จะถูกนำกลับมาใช้ทันท่วงทีอีกครั้ง เพื่อป้องกันการกระทบกระทั่งระหว่างไทยกับอังกฤษ

ในสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อเนื่องมาถึงรัชกาลที่ 5 นั้น รัฐบาลอังกฤษมีบทบาทอย่างมากในการปลูกฝังค่านิยม  ไปจนถึงปลอบขวัญและปลุกความกระตือรือร้นในหมู่ชาวสยาม คนอังกฤษจึงนับเป็นชนชาติที่คุ้นเคยและรับใช้ใกล้ชิดพระเจ้าแผ่นดินไทยมาตั้งแต่ในรัชกาลที่ 4 โดยในปี พ.ศ. 2394 มีนายทหารปลดระวางชาวอังกฤษ 2 คนชื่อกัปตันอิมเป และร้อยเอกน็อกซ์ (Thomas George Knox) (ต่อไปจะเรียกสั้นๆ ว่านายน็อกซ์ - ผู้เขียน) เดินทางเข้ามายังกรุงเทพฯ ภายหลังได้ยินกระแสข่าวว่ารัชกาลที่ 4 โปรดชาวอังกฤษ เช่น ทรงว่าจ้างแหม่มแอนนาเข้ามาสอนภาษาให้พระราชโอรสธิดาและได้เป็นถึงราชเลขานุการิณีในพระองค์

นายทหารอังกฤษทั้ง 2 คนสมัครเข้ามารับราชการเป็นครูฝึกทหารวังหลวงก่อน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กษัตริย์วังหน้า (ผู้ที่รัชกาลที่ 4 ทรงแต่งตั้งด้วยพระองค์เอง - ผู้เขียน) ก็ได้ทูลขอนายน็อกซ์ไปเป็นครูฝึกทหารวังหน้า พระองค์โปรดนายน็อกซ์มาก ถึงกับพระราชทานหญิงไทยนางหนึ่งชื่อปรางให้เป็นภรรยา ในระยะเดียวกันนั้นรัฐบาลอังกฤษเริ่มตั้งกงสุลขึ้นในกรุงเทพฯ นายน็อกซ์พูดภาษาไทยได้คล่องแคล่วจึงลาออกจากครูทหารแล้วสมัครเป็นล่ามประจำกงสุลอังกฤษ เพียงไม่กี่ปีก็ได้เลื่อนขั้นขึ้นเป็นกงสุลเสียเอง เพราะไม่มีตัวเลือกที่ดีกว่า

การที่นายน็อกซ์รู้ซึ้งถึงจุดอ่อนของวังหลวงกับวังหน้าเป็นอย่างดี จึงมักจะเขี่ยกลางสร้างความเข้าใจผิดให้ 2 วังอยู่เสมอๆ เพื่อถือหางวังหน้าเจ้านายเก่าของตน เช่น ลงบทความในหนังสือพิมพ์ติเตียนฝ่ายวังหลวงและยกย่องวังหน้าเป็นผู้ริเริ่มสร้างไมตรีกับทางอังกฤษและความสำเร็จด้านการทูตนั้นเป็นผลงานของวังหน้าทั้งสิ้นเพราะรู้ดีว่าวังหน้าให้ท้ายตนเสมอ

แต่เรื่องวุ่นๆ ก็ยังไม่เกิดขึ้นจนกระทั่งบุตรสาวลูกครึ่งไทย-อังกฤษของนายน็อกซ์ ชื่อแฟนนี่เกิดรักใคร่ชอบพอกับขุนนางวังหลวงชื่อพระปรีชากลการ (สำอาง อมาตยกุล) ถึงขั้นที่พระปรีชาฯ ได้สู่ขอแฟนนี่มาเป็นภรรยาอย่างออกนอกหน้า แต่จะกลายเป็นมูลเหตุของคดีความที่กงสุลอังกฤษเข้ามาแทรกแซงนโยบายภายในของราชสำนักด้วยปัญหาที่ลูกเขยสร้างขึ้น [5]

อันว่าพระปรีชากลการผู้นี้ว่ากันว่าเป็นที่โปรดปรานของรัชกาลที่ 5 (คือวังหลวง) ถึงขนาดที่พระราชทานสัมปทานให้ไปขุดทองที่เมืองกบินทร์บุรี แต่แล้วก็มีคนฟ้องเข้ามาว่าพระปรีชากลการประพฤติมิชอบ และฉ้อโกงเงินแผ่นดินจากการขุดทองดังประวัติภาคพิสดารที่ถูกบันทึกไว้ว่า

พระปรีชาคนนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงไว้วางพระราชหฤทัย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปทำบ่อทองที่เมืองกระบินทร์ พระปรีชาได้สร้างโรงงานใหญ่อยู่ที่หน้าเมืองปราจิณฝั่งตรงข้าม กับได้ทำทางรถไฟขึ้นไปจากแม่น้ำเมืองปราจิณจนถึงเมืองกระบินทร์ที่บ่อทอง เมื่อระเบิดที่บ่อทองเมืองกระบินทร์นั้น และขนหินส่งลงมา ณ โรงงานใหญ่ ทางแม่น้ำตั้งแต่เมืองปราจิณจนถึงท่าเมืองกระบินทร์ มีหลักตออยู่ใต้น้ำกีดทางเรือขึ้นล่องเป็นอันมาก พระปรีชาจึงให้เกณฑ์เลขหัวเมืองให้ดำลงไป ขุดตอใต้น้ำนั้นตามฎีกาที่ฟ้องว่าได้เอาถ่อง่ามค้ำคอคนที่ดำลงไปนั้น บางที่ลงไปขาดใจตายในน้ำ และใช้อำนาจอันทารุณกรรมอย่างร้ายแรงเป็นหลายประการ ห้องที่ขังคนโทษได้เอาไม้เสาทำคอกเหมือนคอกหมูอยู่ใต้ครัวไฟ คนโทษซึ่งอยู่ในที่ขังต้องลุยย่ำและนอนอยู่ในน้ำครำใต้ครัวไฟนั้น กับพระปรีชาได้ใช้เงินของแผ่นดินไปหลายหมื่นชั่ง กับได้ส่งทองลิ่มที่ทำขึ้นได้นั้นเข้ามาถวายหลายลิ่ม แต่ทองที่ได้นั้นไม่เพียงพอแก่การโสหุ้ยในการที่ทำตามเหตุที่กล่าวนี้

ครั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงรับฎีกาซึ่งราษฎรเมืองปราจิณมาร้องทุกข์แล้ว ก็โปรดเกล้าฯ พระราชทานฎีกานั้นลงมาให้คณะเคาน์ซิลออฟสเตทๆ ได้ตรวจฎีกาของราษฎรซึ่งมาร้องทุกข์นั้นแล้ว มีความเห็นเป็นเหตุที่อุกฉกรรจ์ ร้ายแรงมาก คณะเคาน์ซิลออฟสเตท จึงให้มีหมายเรียกไปเอาตัวพระปรีชาเข้ามา ครั้นเอาตัวเข้ามาถึงยังกรุงเทพฯ แล้ว ก็มีคำสั่งให้จำตรวนและเอาตัวเข้าคุมขังไว้ที่หลังทิมดาบกระทรวงวังและได้เบิกเอาตัวพระปรีชามาสอบถามปากคำตามคำกล่าวหาของราษฎรอยู่ประมาณ 2 วัน [6]

นายน็อกซ์อดรนทนไม่ได้จึงรุดไปพบสมเด็จเจ้าพระยาฯ ขอให้ปล่อยพระปรีชากลการไปและไม่เอาโทษ แถมขู่ว่าถ้าไม่ปล่อย ตนในฐานะผู้แทนประเทศมหาอำนาจก็จะเรียกเรือรบเข้ามาถล่มกรุงเทพฯ และจะจับตัวสมเด็จเจ้าพระยาฯไปเป็นตัวประกันอยู่บนเรือรบอังกฤษจนกว่าจะส่งตัวบุตรเขยคืนมา ภายหลังที่ยื่นคำขาดไปแล้ว นายน็อกซ์ก็สั่งให้เรือรบอังกฤษเข้ามาจริงๆ และคดีพระปรีชากลการก็ลุกลามกลายเป็นข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศ [5]

ฝ่ายทางกรุงเทพฯ นี้ ก็ได้ประชุมเคาน์ซิลออฟสเตทหารือในการที่นายน็อกซ์ได้มาท้าทายก่อการชวนวิวาท กับได้หารือนายอาลบาสเตอร์ ซึ่งเกี่ยวอยู่ในตำแหน่งที่ปรึกษาส่วนพระองค์ ที่ปรึกษาทั้งหลายได้มีความเห็นพร้อมกันว่า ในการที่นายน็อกซ์ได้มาสำแดงอาการอาละวาดเกี่ยวกับการแผ่นดินเช่นนี้ควรจะต้องจัดราชทูตพิเศษให้ออกไปเจรจาการเมืองยังประเทศอังกฤษ ครั้งตกลงเห็นชอบพร้อมกันเช่นนี้แล้ว จึงนำข้อความซึ่งได้ปรึกษาตกลงกันนั้นไปแจ้งให้สมเด็จเจ้าพระยาฯ ซึ่งอยู่ยังราชบุรีทราบ

สมเด็จเจ้าพระยาฯ จึงทำหนังสือขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า ต้องหาคนที่สมควร พระยาสุรวงศ์ (หมายถึงเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์) หรือก็เพิ่งกลับมาจากราชการ ซึ่งเป็นทูตไปฟ้องเรื่องมองซิเออร์โอบาเรต์ กงสุลที่เมืองฝรั่งเศส ผู้ที่จะเป็นทูตออกไปคราวนี้นั้น ท่านเห็นมีอยู่แต่พระยาภาสกรวงศ์ (ชุมพร บุนนาค) ผู้เดียว ซึ่งเป็นผู้รู้จักขนบธรรมเนียมฝรั่ง และทั้งรู้ภาษาอังกฤษด้วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงอนุมัติเห็นชอบด้วยในความเห็นของสมเด็จเจ้าพระยาฯ นั้น

ในครั้งนั้นก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุขึ้นกับนายน็อกซ์กงสุลเยนเนอราลอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้กะให้พระยานรรัตนราชมานิต (โต) เป็นราชทูต นายจ่ายวด (พระยาฤทธิรงค์รณเฉท - สุข ชูโต) เป็นอุปทูต จะตั้งสถานทูตขึ้นใหม่อยู่ในกรุงลอนดอนเป็นครั้งแรก ครั้นเมื่อเกิดคดีความเรื่องนายน็อกซ์ขึ้นแล้ว การแต่งตั้งราชทูตถาวรจึงต้องพักไว้ก่อน ส่วนจมื่นสราภัยสฤษดิ์การ ก็ได้เอาเสื้อสำหรับนายจ่ายวดซึ่งจะเป็นอุปทูตนั้นมาใช้ไปพลางๆ เสื้อนั้นไม่เหมาะกับตัวจมื่นสราภัยสฤษดิ์การเลย แขนเสื้อและกางเกงสั้นไปมากแต่ก็จำเป็นต้องใช้ไปพลางๆ ก่อน

ครั้นปีขาลเอกศก จุลศักราช 1240 พ.ศ. 2421 ในขณะเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาภาสกรวงศ์เป็นราชทูต (คือเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ ชุมพร บุนนาค) จมื่นสราภัยสฤษดิ์การเป็นอุปทูต (คือเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เจิม แสง-ชูโต) รับราชอำนาจเป็นราชทูตออกไปเจรจาการเมืองด้วยเรื่องนี้ ณ ประเทศอังกฤษนั้น พระยาภาสกรวงศ์ราชทูตหนึ่ง จมื่นสราภัยสฤษดิ์การอุปทูตหนึ่งได้กราบถวายบังคมลาจะไปลงเรือเมล์บางกอกออกจากกรุงเทพฯ

เมื่อราชทูตและอุปทูตได้เข้าไปเฝ้ากราบถวายบังคมลา ณ ออฟฟิศในบนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำพระมหาสังข์และทรงเจิม และหลั่งน้ำพระมหาสังข์ และเอาใบมะตูมทัดหูให้ราชทูตและอุปทูต กับให้ทำพระราชพิธีตัดไม้ข่มนามด้วย กับโปรดเกล้าฯ พระราชทานพรและพระบรมราโชวาทและทรงสั่งเสียกิจการเป็นอันมาก พระราชพิธีตัดไม้ข่มนามนี้เป็นพระราชพิธีใหญ่ ถ้าแม้จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ทรงใช้ให้ผู้ใดเป็นแม่ทัพออกไปแล้ว ก็ต้องใช้พระราชพิธีตัดไม้ข่มนามเป็นประเพณีดังนี้ [6]

อนึ่งนโยบายของไทยที่เกี่ยวกับมิสเตอร์น็อกซ์ ซึ่งคณะทูตรับนโยบายไปนั้นตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีเป็น 2 ทาง คือ ทางหนึ่งมีหนังสือไปฟ้องขอให้มิสเตอร์น็อกซ์ออกจากที่เป็นต้นเหตุ อีกทางหนึ่งคือไทยมีความร้อนใจจะผิดกลัวว่าคอเวอนเมนต์อังกฤษจะฟังคำมิสเตอร์น็อกซ์บอกไป เราจึงรีบออกไปชี้แจงการให้คอเวอนเมนต์อังกฤษทราบเรื่องความเป็นต้นเหตุแล้วจึงขอว่า มิสเตอร์น็อกซ์มีสาเหตุกันอยู่อย่างนี้แล้วจะอยู่ด้วยกันต่อไปโดยเรียบร้อยคงไม่ได้ นี้อีกประการหนึ่ง

และเมื่อสถานการณ์เข้าสู่ภาวะหน้าสิ่วหน้าขวานเช่นนี้ แผนการที่จะตั้งพระยานรรัตนราชมานิตเป็นราชทูตถาวรประจำอังกฤษจึงต้องระงับไว้ก่อน แล้วรัชกาลที่ 5 ก็ทรงส่งพระยาภาสกรวงศ์ไปแทนในฐานะราชทูตพิเศษสำหรับราชการจร เพื่อไปฟ้องร้องรัฐบาลอังกฤษให้ทราบพฤติกรรมของนายน็อกซ์ และเพื่อสงบศึกระหว่างนายน็อกซ์กับสมเด็จเจ้าพระยาฯ ลงชั่วคราว อันเป็นการหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าของผู้รับผิดชอบโดยตรง ทั้งยังเป็นการรักษาระยะห่างให้เรื่องสงบลงก่อนโดยใช้ผู้เจรจาหน้าใหม่ไปเป็นกันชน และแก้ไขสถานการณ์แทน [5]

ที่ลอนดอนพระยาภาสกรวงศ์ได้ดำเนินยุทธศาสตร์กันชนโดยลำดับเหตุการณ์ต่างๆ ให้รัฐบาลอังกฤษทราบ ยังผลให้นายน็อกซ์ถูกเรียกตัวกลับไปสอบสวน และความตึงเครียดของสถานการณ์คลี่คลายลงในระดับหนึ่ง

นโยบายกันชนก่อเกิดการปฏิบัติภารกิจพิเศษแทนพระองค์ที่ไม่เคยมีมาก่อน

แต่วิกฤติการณ์ร้ายแรงถึง 2 ครั้งทั้งจากกรณีวังหน้าและกรณีคดีความกับกงสุลอังกฤษ ทำให้สยามเข้าไปข้องแวะกับรัฐบาลอังกฤษอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และแม้นว่าจะได้ส่งพระยาภาสกรวงศ์ในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทยไปชี้แจงให้อังกฤษเข้าใจถึงข้อเท็จจริงในแง่มุมของไทยแล้วก็ตาม แต่รัชกาลที่ 5 ก็ยังไม่ทรงแน่พระทัยว่าพระยาภาสกรวงศ์จะทำสำเร็จหรือไม่ ทั้งยังทรงหวั่นพระทัยอยู่เสมอว่านายน็อกซ์จะแก้แค้นรัฐบาลไทยเมื่อใดก็ตามที่มีโอกาส

ปัจจัยใหม่เป็นสาเหตุสำคัญที่กดดันให้รัชกาลที่ 5 มีพระราชปรารภที่จะเสด็จฯ ไปอังกฤษด้วยพระองค์เอง เพื่อจะได้แก้ไขปัญหาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันให้หมดสิ้นไป เนื่องจากทรงวิตกอยู่เสมอว่านายน็อกซ์อาจจะกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดใส่ร้ายให้รัฐบาลอังกฤษเข้าใจผิดเกี่ยวกับเมืองไทยได้ พระองค์ทรงมั่นพระทัยว่า การที่เสด็จฯ ไปเองจะได้ใช้โอกาสนั้นเยี่ยมเยือนผู้นำชาติต่างๆ ในยุโรปเพื่อกระชับสัมพันธไมตรี

ในการนี้พระองค์มีพระราชดำริที่จะแต่งตั้งสมเด็จเจ้าพระยาฯ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนในระหว่างการเสด็จประพาสยุโรปซึ่งมีหมายกำหนดการอันน่าตื่นเต้นประกาศออกไปตอนต้นปี พ.ศ. 2423 (ค.ศ. 1880) แต่แล้วสมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็ทูลให้ทรงทราบว่าท่านสุขภาพไม่ดีและเจ็บออดๆ แอดๆ มานาน ดังนั้นคงไม่สามารถสนองพระมหากรุณาธิคุณไปได้ตลอดรอดฝั่งจนกว่าจะเสด็จฯ กลับ [6] พระราชวินิจฉัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ปรากฏอยู่ในพระราชหัตถเลขารัชกาลที่ 5 ทรงมีไปถึงพระยาอัษฎงค์ตทิศรักษา (ตันกิมเจ๋ง - กงสุลสยามประจำเมืองสิงคโปร์) ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานสำคัญเกี่ยวพันถึงสาเหตุของการเปลี่ยนแผนการเสด็จประพาสยุโรปแล้วจัดส่งขุนนางคนอื่นไปแทนพระองค์ในภารกิจที่จะหาทางปรองดองกับอังกฤษ

ร. ที่ 1/42

ถึง พระยาอัษฎงค์ตทิศรักษา

ด้วยท่านกรมท่านำหนังสือของท่านมีมาถึงกรมท่า ลงวันที่ 7 เดือนมาชมาให้เราดู การเรื่องนี้ไม่ได้มีหนังสือออกมาถึงท่านเอง เพราะเราเห็นว่าคงจะต้องเป็นการคิดเปล่าๆ เป็นแน่ แต่บัดนี้ต้องมีหนังสือมา บางทีพระยาอัษฎงค์ตจะเข้าใจว่า เรายังคิดดื้อที่จะไปหรือจะโกรธในคำที่ผู้ใดพูดว่าไม่ควรที่จะไป แต่การไม่เป็นอย่างนั้นเลย

ซึ่งเราคิดจะไปครั้งนี้นั้น มีความประสงค์ 3 อย่างๆ หนึ่งเห็นว่าความอ้ายสำอาง คอเวอนเมนต์อังกฤษได้ประพฤติดีต่อเรา แต่เราได้ใช้กฎหมายจนเต็ม เพราะการจำเป็นที่จะต้องใช้ดูเหมือนหนึ่งเราไม่เกรงใจคอเวอนเมนต์อังกฤษราวกะถือตัวว่าชนะความเรื่องนี้ เราไม่อยากเป็นคนชนะอังกฤษดังเช่นการที่เราประพฤติเป็นการแรง จึงอยากจะไปเยี่ยมเยียนให้เป็นการอ่อนน้อมแลแสดงกิริยาให้เห็นว่าเราไม่ได้หยิ่งในการเรื่องนั้น

ความประสงค์ที่สอง การที่เป็นความลำบากในเมืองเรามีอยู่หลายสิ่งคือ เรื่องสุรา และเรื่องสัปเยกต์เป็นต้น เราคิดว่าถ้าตัวเราเองได้ไปถึง คอเวอนเมนต์ทั้งปวงคงจะได้พูดจาชี้แจงการเหล่านี้ให้เข้าใจกันก่อน ที่เราจะขอจัดการได้โดยละเอียดมาก แต่มิใช่เราจะเป็นผู้ไปทำหนังสือสัญญาเอง เป็นแต่พูดกันให้เข้าใจก่อน

ความประสงค์ที่สาม เราเห็นว่าเมื่อได้พบปะกับเจ้านายขุนนาง ได้รู้จักคุ้นเคยกัน ดังนั้นแล้วจะเป็นคุณแก่เราในการที่จะคิดการ หรือรักษาบ้านเมืองเมื่อมีเหตุผลอันใดขึ้นง่ายกว่าเดี๋ยวนี้ เราจะได้เห็นการแลเห็นธรรมเนียมซึ่งเป็นทางซึ่งจำเป็นจะต้องเดินต้องใช้ เป็นประโยชน์แก่ตัวเราต่อไป

ซึ่งเราคิดในการซึ่งจะไปครั้งนี้ ประสงค์ในทางราชการมากกว่าที่จะสนุกที่จะสบายเป็นความจริง เพราะเราอยู่ทางบางกอกเดี๋ยวนี้เราก็สบายมากอยู่แล้ว ถ้าไปจะต้องละความสุขสบายแลเป็นห่วงด้วยเมืองเป็นห่วงด้วยครอบครัวทุกอย่าง แต่เป็นการจำเป็น เพราะเห็นว่าจะมีประโยชน์ และจะไม่มีเวลาอื่นต่อไปอีกมาก เพราะสมเด็จเจ้าพระยาฯ ชราแล้ว จึงได้คิดในเวลานี้และเมื่อเราคิดนั้นสมเด็จเจ้าพระยาฯ ยังไม่เจ็บ ท่านได้ลงเห็นด้วยในการที่เราคิดโดยจริงทุกอย่าง ครั้นต่อมาท่านป่วยลง เราก็เป็นคิดว่าต้องเลิก
แน่ในการเรื่องนี้ แต่ท่านไม่ยอมให้เลิก ท่านว่าจะหายทัน แต่เราไม่แลเห็นเลยจึงไม่ได้ตระเตรียมอันใดแต่สักสิ่งเดียว จนท่านให้พระยาประภาออกมาดูเรือเราจึงมีหนังสือห้ามพระยาประภายังไม่ให้ใช้เงินในการเรื่องนี้

ซึ่งสมเด็จเจ้าพระยาฯ ท่านไม่ยอมจะบอกว่าท่านป่วยซึ่งเป็นการขัดขวางแก่การที่เราไปนั้น เพราะท่านว่าที่เราคิดจะไปเป็นราชการมาก ถ้าจะเป็นการขัดขวางเพราะตัวท่าน ฉวยว่าบ้านเมืองมีเหตุการณ์อย่างไร จะเป็นเพราะท่านขัดขวางผู้เดียวเพราะเหตุดังนี้ เราจึงยังไม่รู้ที่จะพูดออกมากับพระยาอัษฎงค์ตว่ากระไร เพราะการที่คิดไปนั้นน้อยวัน ที่คิดไม่ไปนั้นมากวัน มาบัดนี้เป็นตกลงกันว่าการที่จะไปนั้นต้องเลื่อน เพราะสมเด็จเจ้าพระยาฯ อาการอ่อนเปลี้ยไม่หาย แต่ท่านก็ยังหมายอยู่ว่าจะหาย ที่จะให้เราได้ไปต่อทีหลัง แต่เราบอกพระยาอัษฎงค์ตได้เป็นแน่ว่าในเวลาสมเด็จเจ้าพระยาฯ ยังมีชีวิตอยู่ เราคงจะไม่ได้ไปเพราะไม่แลเห็นว่าอาการท่านจะคงเป็นปรกติ

การที่จะจัดต่อไปอย่างไร เรายังบอกแน่ไม่ได้ บอกได้แต่ว่าไม่ไปเป็นแน่ จะขอหยุดหนังสือไว้เพียงเท่านี้ก่อน

เขียนที่พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร

ณ วัน 7 3  5 ค่ำ ปีมะโรง ยังเป็นเอกศ12  ศักราช 1241
ตรงกับวันที่ 13 เดือนมาช คริสตศักราช 1880

(พระบรมนามาภิไธย) สยามินทร์ [6]

ข้อมูลใหม่ อันเป็นสาเหตุแวดล้อมที่น่าตกใจและอาจเป็นเหตุผลที่แท้จริงของการระงับการเสด็จฯ ไปอังกฤษในปี พ.ศ. 2423 กลับไม่ใช่ความชราภาพของสมเด็จเจ้าพระยาฯ เท่านั้น แต่เป็นการสวรรคตโดยกะทันหันของสมเด็จพระอัครมเหสีในรัชกาลที่ 5 ในระยะเดียวกันนั้นเอง ดังที่มีรายงานยืนยันว่า

“ในที่สุด พระราชดำริที่จะเสด็จยุโรปก็ได้ยุติลง โดยทรงเห็นว่าสมเด็จเจ้าพระยาฯ ท่านป่วยชรา เกรงจะมีเหตุร้ายขึ้นในแผ่นดิน ประกอบกับต่อมาเพียงไม่กี่เดือนก็เกิดเหตุเรือพระประเทียบล่ม สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์และเจ้าฟ้าพระราชธิดาสิ้นพระชนม์ลง พระองค์ทรงเศร้าโศกเสียพระราชหฤทัยเป็นอันมาก การเสด็จพระราชดำเนินยุโรปต้องงดตลอดมา” [6]

ทว่าแผนขั้นต้นของการเดินทางไปแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์กับอังกฤษก็ยังต้องดำเนินต่อไป และจะเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของการส่ง “ผู้แทนพระองค์” ไปดำเนินการแทนองค์พระเจ้าอยู่หัว เกิดเป็นผู้ปฏิบัติภารกิจด้านการทูตครั้งแรกแทนรัชกาลที่ 5 ที่ควรได้รับการบันทึกไว้  เพราะจะเป็นบรรทัดฐานและโครงการนำร่องของการส่งผู้แทนพระองค์ในคราวต่อๆ ไป หลังจากนี้ในรัชกาลเดียวกัน

เจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯ โมเดล ปรากฏการณ์ใหม่ของนโยบายกันชน

ดังนั้นในปี พ.ศ. 2423 (ค.ศ. 1880) จึงเกิดเหตุการณ์พิเศษอีกครั้งหนึ่ง เมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงคัดเลือกเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) เสนาบดีต่างประเทศคนแรกของสยามประเทศให้เดินทางไปยุโรป โดยมีจุดหมายอยู่ที่อังกฤษเป็นหลัก เพื่อคลี่คลายปัญหาที่ยังคาราคาซังอยู่กับอังกฤษ อันเป็นการดำเนินนโยบายกันชนแทนพระองค์โดยตรง เพราะเป็นการไปในฐานะผู้แทนพระมหากษัตริย์ไม่ใช่แทนสมเด็จเจ้าพระยาฯ หรือผู้แทนรัฐบาลดังในกรณีของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์

ก่อนหน้านั้นเกิดเป็นตำแหน่งใหม่เรียกว่าราชทูตพิเศษ หรือ Envoy Extraordinary and Minister Plenipotentiary แทนตำแหน่งราชทูตถาวร หรือ Permanent Ambassador  ประดุจพระมหากษัตริย์เสด็จฯ ไปเอง และทางฝ่ายเจ้าภาพก็จะต้องให้ความสำคัญกับราชทูตพิเศษนี้มากกว่าการรับรองทูตในภาวะปกติทั่วไป

ดังจะเห็นได้ว่ารัชกาลที่ 5 ทรงกำชับชี้นำเจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯ (ต่อไปจะเรียกสั้นๆ ว่าท่านกรมท่า - ผู้เขียน) อย่างใกล้ชิดมากกว่าการมอบหมายให้เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ในคราวก่อน เพราะการไปครั้งนี้พระองค์ทรงต้องการให้ท่านกรมท่าดูปฏิกิริยาของฝ่ายอังกฤษและสอดส่องไปถึงตัวบุคคลด้วยความเอาใจใส่ถึงกับทรงขู่สำทับว่าถ้าเกิดผิดพลาดขึ้นหรือล้มเหลวลงด้วยประการใดก็จะเป็นโทษทัณฑ์ถึงกับเสียชื่อเสียงวงศ์ตระกูลและความเสียหายต่อแผ่นดิน แต่ในการมอบหมายงานตามช่องทางปกติแล้วจะไม่มีการคาดโทษเช่นนั้น

ร. ที่ 224

51

ถึง ท่านกรมท่า

ด้วยฉันตริตรองถึงการที่จะเอาตราไปส่งที่กวีนวิกตอเรียนั้น เดิมไม่มีเหตุการณ์อันใดก็คิดกะไว้ว่าจะเอาพระยาภาษกรวงษ์ออกไป มาภายหลังเกิดเหตุขึ้น ก็เอาพระยาภาษกรวงษ์ออกไปด้วยราชการเสียครั้งหนึ่ง ส่วนพระยาภาษกรวงษ์ได้รับตราตั้งเป็นทูตได้ส่งเครเดนเฉียลไว้ต่อฟอเรนออฟฟิซๆ ยอมรับเป็นราชทูตสำหรับเมืองอังกฤษ ยังไม่ได้ถอนทูตกลับเหมือนหนึ่งยังเป็นทูตลากลับมาเมืองตัวเท่านั้น ครั้นจะให้พระยาภาษกรวงษ์เป็นผู้เชิญตราออกไปอีกครั้งหนึ่งก็เหมือนหนึ่งให้คนที่อยู่เมืองอังกฤษถวายตรากวีนเหมือนกัน ข้างฝ่ายเขาๆ ไม่เอากงซุลสำหรับเมืองมาให้ ก็ดูไม่สู้ชอบกลแล้ว ข้างฝ่ายพระยาภาษกรวงษ์ออกไปครั้งก่อนเป็นเหมือนน้ำร้อนของอังกฤษ ครั้งนี้จะออกไปเป็นการเยนร้อนกับเยนจะปนกันไม่สู้เป็นยินดีมาก

แต่การข้อนี้ก็ไม่เป็นการสำคัญนัก ฉันมีความวิตกอยู่อีกข้อหนึ่ง ที่มิสเตอนอกซ์ก็ออกไปอยู่เมืองอังกฤษ จะคิดคุ้ยเขี่ยหาความใส่เมืองเราต่างๆ ด้วยความซึ่งเกี่ยวข้องฤๅไม่ได้เกี่ยวข้องในตัวเองก็ดีดังเช่นเมชั่นบอกมา ถ้าเขาพูดจาประการใดพระยาภาษกรวงษ์ก็ไม่ทราบราชการตลอด ฤๅจะสู้มิสเตอนอกซ์ไม่ได้ ก็จะเป็นที่เสียทีมาก

ฉันจึงเห็นว่าถ้าเธอออกไปได้เอง จะเป็นที่วางใจทุกอย่างและจะเป็นที่ยินดีของอังกฤษด้วย เพราะการที่มิสชันเอาตราไปดังนี้ เขาเคยใช้คนที่โตๆ มากแล้ว การสิ่งใดเป็นที่มัวหมองขัดข้องเธอ จะได้ชี้แจงแก้ไขได้สว่างทุกอย่าง แลเมื่อรู้ทางกระบวนราชการของฟอเรนออฟฟิซที่นอกแล้ว กลับเข้ามาถึงจะมีการงานอันใดขึ้นก็คงจะคิดเดินลู่ทางได้ถูกความคิดกว้างขวางมากขึ้น เห็นว่ารักไปคราวนี้จะมีประโยชน์กว่าไปคราวก่อนมาก ด้วยจะต้องการสิ่งใดก็คงต้องมุ่งหมายเอาเป็นสิ่งเป็นอันด้วยว่างมากอยู่แล้ว คงจะไม่ไปแลตลึงอยู่ทุกอย่างเหมือนอย่างครั้งก่อน

แต่ส่วนทางการกรุงเทพฯ นี้ ฉันก็มีความหนักใจมาก ไม่อยากจะปล่อยให้เธอออกไปเลย แต่วิตกการข้างน่าแลเห็นประโยชน์ที่จะได้มาก จึ่งได้กล่าวว่ามาแก่เธออย่างนี้ถ้าโดยจะไปจริง ฉันยอมให้เธอไปเพียงสี่เดือนเข้ามาเท่านั้น คือไปเดือนมาเดือนหนึ่ง เที่ยวแวะเวียนเมืองต่างๆ เดือนหนึ่ง อยู่ที่ลอนดอนเดือนหนึ่ง ถ้าเกินกว่านั้นฉันไม่ยอมอนุญาตแล้ว

การข้างกรุงเทพฯ นี้ ฉันก็จะปล้ำไปกับสมเด็จเจ้าพระยาฯ จนเต็มกำลังในระหว่าง ๔ เดือน ถ้าไม่มีการสำคัญก็จะไม่พอเป็นไร ที่มีที่หมายอยู่เรื่องหนึ่งเป็นแน่นั้น คือมิสเตอปัลเครฟจะเข้ามาถึงกรุงเทพฯ แต่บางทีจะมาถึงเสียก่อนเธอออกจากกรุงเทพฯ ถ้าเขาขอร้อง ฤๅมิสเตอกูลย์ยุแหย่อย่างไรจะเป็นการลำบากอยู่

การเรื่องที่ฉันจะให้เธอไปนี้ ยังไม่เป็นคำสั่งเป็นแต่ปฤกษาก่อน ขอให้เธอตริตรองโดยเลอียดเถิด ถ้าเห็นว่าเธอจะไปไม่ได้ ให้พระยาภาษกรวงษ์ไปดีกว่าคนอื่นไป ด้วยรู้ทางความตลอดได้เป็นผู้แก้ผู้ผูกมา แลรู้ทางราชการในฟอเรนออฟฟิซที่นอกแล้วด้วย ถ้าจะเอาคนอื่นออกไป นอกจากเธอไม่รู้การเก่าใหม่ตลอดแล้วเป็นไม่ได้เป็นอันขาด  การที่จะไปครั้งนี้เป็นแต่ถวายตราแก่กวีนก็จริง แต่เป็นการสำคัญมาก ที่ทางพระราชไมตรีมีเป็นหมอกเกิดขึ้น จะไปชำระปัดเป่าให้เรียบร้อยสมัคสมานกันต่อไป เห็นว่าควรแก่ตัวเธอทีเดียวในการครั้งนี้ ขอให้เธอคิดดูจะเห็นประการใด ถ้าตกลงกันแล้วฉันจึงจะปฤกษากับสมเด็จเจ้าพระยาฯ ต่อไป

จดหมายมาแต่พระที่นั่งวโรภาศพิมาน เกาะบางปอิน ณ วัน 4 3  3 ค่ำ ปีเถาะเอกศ12 ศักราช 1241

(พระบรมนามาภิไธย) สยามินทร์ [6]

ร. ที่ 66

42

ถึง ท่านกรมท่า

ด้วยฉันจดหมายฉบับนี้ ขอเตือนเธอตามความเหนไปรเวตอินสตรักชั่น แต่ความซึ่งจะว่ามาครั้งนี้ ถ้าอยู่ในกรุงเทพฯ ฉันจะไม่อาจพูดอย่างนี้ เพราะคงจะเปนการฟุ้งส้าน เย่อหยิ่ง ซึ่งจะฟังไม่ได้ทีเดียว แต่เหนว่าบัดนี้เธอจะออกไปถึงประเทศยุโรป ซึ่งเปนทางไกล แลเปนที่ตั้งของการซึ่งจะได้พิเคราะห์ดูให้ชัดเจนว่า คำที่ฉันตักเตือนมานี้ จะควรประพฤติได้ฤๅมิควรประพฤติ ด้วยอาไศรยความสังเกตตริตรองโดยปัญญาความคิดของเธอ แลอาไศรยสืบสวนแบบอย่างประเทศทั้งปวง แลอาไศรยที่ปฤกษาซึ่งควรจะไว้ความลับมีพระยาสยามธุรพาห์ฤๅกะไรเปนต้น แล้วแลเลือกใช้ตามการที่ควรเถิด

เพราะฉะนั้นขอให้เธอจะไว้ก่อน ว่าการที่ฉันจะกล่าวต่อไปบัดนี้ เพราะความรักบ้านเมือง อยากจะให้การสิ่งซึ่งเปนการเจริญเจริญขึ้นตามเวลา แลมีความผูกพันวิตกแทนเธอที่เปนผู้ออกมาราชการอันยิ่งใหญ่ครั้งนี้ ถ้าการสำเร็จได้ก็จะเปนเกียรติยศแลเปนความศุขแก่บ้านเมือง แลเปนความดีของเธออยู่ในแผ่นดินไม่รู้สิ้นสุด

ถ้าการครั้งนี้เสียไปฤๅไม่ตลอดไป ก็จะเสียเกียรติยศแผ่นดินแลเสียชื่อเธอเปนอันมาก เพราะฉะนั้นคำเตือนของฉันฉบับนี้ ขอให้เธอถือว่าเปนคำเตือนไปรเวต โดยน้ำใจที่ระฤกถึงกัน จะปฤกษาได้แต่ผู้ที่ควรจะได้ไว้ความลับ และขออย่าให้กลับเข้ามาถึงผู้ซึ่งจะคุ้ยเปิดออกเปนการดังเพราะเหตุที่จะจับค้านฉันอย่างเดียว แต่จะเปนที่กเทือนเสียการบ้านเมืองด้วย

การที่เธอจะไปครั้งนี้ ขออย่าเพ่อได้มีความท้อถอยอ่อนใจไปเสียว่ากลัวการจะไม่สำเรจในการทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อการสิ่งจะไม่สำเรจจริงก็ให้ไม่สำเรจไป แต่ฉันยังมีความอุ่นใจอยู่ว่าการสิ่งไรที่ไปทำนอกนั้น ดูเหมือนจะเบากว่า ที่ทำในกรุงเทพฯ แทบทุกอย่าง ซึ่งฉันตักเตือนมาในหนังสือฉบับนี้เปนคำเรี่ยวแรงทุกสิ่งทุกอย่าง บางทีจะเปนเหตุเพิ่มความวิตกของเธอขึ้น ซึ่งว่ามานี้เปนความจริงแลจำจะต้องเปนทุกสิ่งทุกอย่าง ขอให้เธอตริตรองถ้อยคำที่ฉันพูดทุกข้อโดยลเอียด

อนึ่งฝรั่งที่อยู่นอกเหนมีมิสเตอคะนะดีอีกคนหนึ่ง เปนคนรู้การในเมืองไทยมาก ถ้าเธอไม่ได้เข้ารับราชการเสีย แลไม่ขัดขวางกับเมซัน ควรจะเสียเงินให้บ้างเอามาใช้สอยถึงถ้ารับราชการอยู่ก็ดี ควรจะต้องเอาไว้ให้อยู่ อย่าให้ไปเปนสัตรูขึ้น ลางที่จะปฤกษาอะไรได้บ้าง เธอเหนจะรู้จักกันแต่เดิมแล้ว คงจะเกลี้ยกล่อมให้สนิทได้ง่าย

ฉันขออวยไชยให้พรแก่เธอให้ไปจัดการครั้งนี้ได้สมประสงค์ทุกสิ่งทุกประการ เพราะการที่เธอต้องได้ความลำบากยากหนักครั้งนี้ ก็ด้วยการบ้านเมืองโดยแท้ ซึ่งสิ่งเปนใหญ่เปนประธานในโลกฤๅเทพยดา ซึ่งรักษากรุงเทพฯ คงจะอุดหนุนกำลังสติปัญญาความคิดของเธอให้ปลอดโปร่งในการที่คิดจะพูดแลจะป้องกันรักษาอันตรายมิให้ตกต้องตัวเธอทุกประการ.

เขียนที่พระที่นั่งบรมราชสฐิตยมโหฬาร

วัน 2 ฯ2  7 ค่ำ ปีมโรงโทศ13  ศักราช 1242

(พระบรมนามาภิไธย) สยามินทร์ [9]

ความตั้งใจทำงานที่ได้รับมอบหมายของท่านกรมท่าบวกกับการ “โค้ช” อย่างพิถีพิถันของรัชกาลที่ 5 ทำให้ภารกิจที่ลอนดอนผ่านไปด้วยดี สยามสามารถปรับความเข้าใจกับรัฐบาลอังกฤษส่งผลให้คดีความกับนายน็อกซ์ยุติลงอย่างราบรื่น ท่านกรมท่ายังได้เข้าเฝ้าพระราชินีนาถวิกตอเรีย ในการนี้ได้ถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือกสยามพิเศษแก่พระนางด้วย (ในปี พ.ศ. 2423 เครื่องราชอิสริยาภรณ์
จักรีบรมราชวงศ์ยังไม่ถูกสร้างขึ้น ตราช้างเผือกจึงเป็นเครื่องราชฯ ชั้นสูงสุดที่พระราชทานแก่ผู้นำต่างชาติ – ผู้เขียน) ทั้งยังมีโอกาสไปดูงานที่ฝรั่งเศสและเยอรมนีด้วย [8]

ภารกิจแทนพระองค์ของท่านกรมท่าได้กลายเป็นโมเดลต้นแบบของนักการทูตในสมัยหลัง และเมื่ออิทธิพลของเหล่าขุนนางในตระกูลบุนนาคเบาลงแล้วผู้รับช่วงต่อไปได้เปลี่ยนมือไปเป็นเจ้านายฝ่ายหน้าชั้นสมเด็จพระราชอนุชาอีก 3 พระองค์ ผู้ที่รัชกาลที่ 5 ทรงเลือกสรรแล้วว่าเหมาะสมที่สุด

หลักฐานใหม่ 4 ชิ้น แจงผลงานของนโยบายกันชน

ภายหลังความพยายามที่จะดำเนินยุทธศาสตร์กันชนกับอังกฤษประสบผลสำเร็จเป็นที่พอใจ นโยบายกันชนก็ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายโดยเฉพาะกับชาติมหาอำนาจอื่นๆ ที่เบียดอังกฤษขึ้นมาเป็นคู่แข่งที่น่ากลัว มีอาทิ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ฝรั่งเศส และรัสเซีย เมื่อนักการทูตจากสยามออกไปปรากฏตัวบ่อยขึ้นในโลกตะวันตก สื่อมวลชนหลายสำนักก็เริ่มวิจารณ์เหตุผลของการมาของชาวสยามที่ดูออกจะผิดสังเกตสักหน่อย

ผู้เขียนใช้เวลาประมาณ 10 ปี ค้นคว้าติดตามความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับนโยบายกันชนนี้ จึงพบว่ามีหลักฐานไม่ต่ำกว่า 4 ชิ้นรายงานโดยสำนักข่าวต่างประเทศอ้างถึงราชการลับเบื้องหลังการเยี่ยมเยือนราชสำนักยุโรป ซึ่งแม้นว่าฉากหน้าจะเป็นภารกิจทางการทูตในภาวะปกติ แต่ก็มีฉากหลังที่แอบแฝงไว้ด้วยนัยยะอื่นๆ ที่ไม่ต้องการเปิดเผยอยู่ด้วยเสมอ

หลักฐานที่ ๑ หนังสือพิมพ์อังกฤษตีแผ่เหตุการณ์ในวิกฤติการณ์วังหน้า ชี้ว่ากรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ (No.1) ทรงขอพึ่งอำนาจอังกฤษโดยเข้าไปลี้ภัยอยู่ในสถานทูตอังกฤษ (No.2) ต่อมาสมเด็จเจ้าพระยาฯ (No.3) ก็สามารถดำเนินยุทธศาสตร์กันชนเข้ามาเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยให้วังหลวงและวังหน้าเข้าใจกัน (ภาพจาก THE ILLUSTRATED LONDON NEWS, 6 February 1875)
หลักฐานที่ ๑ หนังสือพิมพ์อังกฤษตีแผ่เหตุการณ์ในวิกฤติการณ์วังหน้า ชี้ว่ากรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ (No.1) ทรงขอพึ่งอำนาจอังกฤษโดยเข้าไปลี้ภัยอยู่ในสถานทูตอังกฤษ (No.2) ต่อมาสมเด็จเจ้าพระยาฯ (No.3) ก็สามารถดำเนินยุทธศาสตร์กันชนเข้ามาเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยให้วังหลวงและวังหน้าเข้าใจกัน (ภาพจาก THE ILLUSTRATED LONDON NEWS, 6 February 1875)

หลักฐานที่ 1 : คอลัมน์ข่าวการเมืองจากหนังสือพิมพ์อังกฤษ ฉบับปี ค.ศ. 1875 (พ.ศ. 2418) รายงานว่า “ราชสำนักสยามกำลังมีปัญหาการเมืองภายในที่ค่อนข้างวุ่นวายและเข้าใจยากในสายตาคนภายนอก กล่าวคือวังหลวงซึ่งกำกับราชการโดยพระเจ้าแผ่นดินองค์ปัจจุบันเกิดขัดแย้งกับวังหน้า หรือพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ 2 ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของพระองค์เป็นเหตุให้วังหน้าหันไปพึ่งบารมีกงสุลอังกฤษ และหนีเข้ามาลี้ภัยภายในสถานกงสุลของเราที่กรุงเทพฯ ในขณะนี้ท่าน Regent ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินและเป็นผู้ที่ทั้ง 2 กษัตริย์เคารพยำเกรง กำลังทำหน้าที่คนกลางไกล่เกลี่ยความบาดหมางที่เกิดขึ้น เราได้ลงภาพของพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ 2 และ Regent มาให้ผู้อ่านได้ชมในข่าวนี้ด้วย” [14]

การพุ่งความสำคัญไปที่สมเด็จเจ้าพระยาฯ ว่าเป็นผู้เจรจาไกล่เกลี่ยและเป็นกันชนให้คู่กรณีทั้ง 2 ฝ่าย ย่อมยืนยันบทบาทและอิทธิพลของสมเด็จเจ้าพระยาฯ ต่อการประสานรอยร้าวในวิกฤติการณ์นั้น [6]

หลักฐานที่ ๒ หนังสือพิมพ์อเมริกัน รายงานการมาถึงของกรมหมื่นนเรศรวรฤทธิ์ ราชทูตพิเศษในรัชกาลที่ ๕ ปฏิบัติภารกิจแทนพระองค์ในฐานะเจ้านายชั้นสูงผู้แทนพระมหากษัตริย์ไทยอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน พร้อมลงพระรูปกรมหมื่นนเรศรฯ ในรายงานนี้ด้วย (มุมขวาบน) (ภาพจาก FRANK LESLIE’S ILLUSTRATED, 17 May 1884)
หลักฐานที่ ๒ หนังสือพิมพ์อเมริกัน รายงานการมาถึงของกรมหมื่นนเรศรวรฤทธิ์ ราชทูตพิเศษในรัชกาลที่ ๕ ปฏิบัติภารกิจแทนพระองค์ในฐานะเจ้านายชั้นสูงผู้แทนพระมหากษัตริย์ไทยอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน พร้อมลงพระรูปกรมหมื่นนเรศรฯ ในรายงานนี้ด้วย (มุมขวาบน) (ภาพจาก FRANK LESLIE’S ILLUSTRATED, 17 May 1884)

หลักฐานที่ 2 : คอลัมน์ข่าวการเมืองจากหนังสือพิมพ์อเมริกัน ฉบับปี ค.ศ. 1884 (พ.ศ. 2427) รายงานว่า “เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 1884 ที่ผ่านมานี้ ได้มีคณะราชทูตพิเศษปฏิบัติหน้าที่เฉพาะกิจจากสยามเดินทางมาถึงแผ่นดินอเมริกันเป็นครั้งแรก นำทีมโดย Prince Nares  ร่วมคณะด้วยคือ Prince Sonabundit โดยการมอบหมายของ King Chulalongkorn เป็นที่ทราบกันดีว่าพระองค์ทรงต้องการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับสหรัฐมานานแล้ว และนี่ก็เป็นคราวแรกที่มีพระราชวงศ์ชั้นสูงถูกส่งออกมาจริงๆ Prince Nares ยังได้ลงพระนามในสนธิสัญญาควบคุมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในนามของรัฐบาลสยามด้วย” [11]

การมาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์เป็นการเดินทางไปดูลาดเลา และตอบรับคำเชิญของอดีตประธานาธิบดีกร้านท์ (Gen. Grant) แห่งสหรัฐ ผู้เคยเดินทางมาเยือนสยามระหว่างวันที่ 11-16 เมษายน 1879 (พ.ศ. 2422) ให้ฐานะแขกของรัฐบาล ครั้งนั้นนายกร้านท์ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ได้เข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์และได้พระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำอย่างสมเกียรติในฐานะประมุขจากประเทศมหาอำนาจซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก คำเชื้อเชิญของนายกร้านท์เท่ากับเปิดทางให้สยามเข้าไปใกล้ชิดกับสหรัฐ ในฐานะประเทศมหาอำนาจใหม่ที่ใจกว้าง มีท่าทีอะลุ้มอล่วย และมีทัศนคติเป็นกลางมากกว่าชาวยุโรปอื่นๆ ที่สยามเคยคบค้าด้วย เป็นการชิมลางและทดสอบความตั้งใจของรัฐบาลสหรัฐอย่างจริงจังในรัชกาลนี้ [14]

หลักฐานที่ ๓ ภาพกรมหมื่นเทวัญอุไทยวงศ์ (ต่อมาคือสมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ) เข้าเฝ้าสมเด็จพระยุพราชเยอรมัน (ต่อมาเสวยราชย์เป็นพระเจ้าไกเซอร์วิลเฮล์มที่ ๒) เพื่อกระชับความสัมพันธ์อันใกล้ชิด ช่วยให้เยอรมนีเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นของสยามตลอดรัชกาลที่ ๕ (ภาพจาก ILLUSTRIRTE ZEITUNG, 2 August 1887)
หลักฐานที่ ๓ ภาพกรมหมื่นเทวัญอุไทยวงศ์ (ต่อมาคือสมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ) เข้าเฝ้าสมเด็จพระยุพราชเยอรมัน (ต่อมาเสวยราชย์เป็นพระเจ้าไกเซอร์วิลเฮล์มที่ ๒) เพื่อกระชับความสัมพันธ์อันใกล้ชิด ช่วยให้เยอรมนีเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นของสยามตลอดรัชกาลที่ ๕ (ภาพจาก ILLUSTRIRTE ZEITUNG, 2 August 1887)

หลักฐานที่ 3 :  คอลัมน์ข่าวการเมืองจากหนังสือพิมพ์เยอรมัน ฉบับปี ค.ศ. 1887 (พ.ศ. 2430) รายงานว่า “ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจการไปเยือนอังกฤษ ในฐานะผู้แทนพระองค์พระเจ้ากรุงสยามของพระราชอนุชา และเสนาบดีว่าการต่างประเทศคนใหม่ผู้มีพระนามว่า Prince Devawong (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นเทวัญอุไทยวงศ์ - พระยศในขณะนั้น) เพื่อร่วมในงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ของพระราชินีนาถวิกตอเรีย (หรืองาน Jubilee) สิ้นสุดลง เจ้าชายองค์นี้ก็เสด็จทันทีไปยังเยอรมนีเพื่อถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเยี่ยมเยือนสมเด็จพระยุพราชของเรา (คือเจ้าชายวิลเฮล์ม ซึ่งต่อมาอีก 1 ปี ในปี ค.ศ. 1888  ก็เสวยราชย์เป็นพระเจ้าไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 2 และได้กลายเป็นพระสหายสนิทของรัชกาลที่ 5 เมื่อทรงพบกันในที่สุดเมื่อปี ค.ศ. 1897 – ผู้เขียน)” [12]

การให้ความสำคัญกับเยอรมนีในระยะนี้มีมูลเหตุจากการที่สยามตัดสินใจเปิดสถานทูตแห่งที่ 2 ประจำยุโรปที่เยอรมนี (แห่งแรกที่อังกฤษ, แห่งที่ 3 ที่ฝรั่งเศส) ในปี ค.ศ. 1887 ปีเดียวกับที่กรมหมื่นเทวัญอุไทยวงศ์เสด็จไปที่นั่นเพื่อสร้างความมั่นใจ สยามเริ่มตระหนักถึงอำนาจของเยอรมนีที่เขยิบขึ้นมาเป็นเจ้ายุโรปแทนที่ฝรั่งเศสภายหลังชัยชนะในสงครามฟรังโก-ปรัสเซียในปี ค.ศ. 1871 [2]

หลักฐานที่ ๔ หนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสรายงานข่าวการเสด็จมาเยือนปารีสว่าเป็นทางผ่านต่อไปยังรัสเซียอันเป็นจุดประสงค์หลักในการไปเข้าเฝ้าพระเจ้าซาร์รัสเซียเพื่อตรวจสอบจุดยืนทางการเมืองที่แน่นอนของซาร์ (ภาพจาก Le Petit Parisien, 1 November 1891)
หลักฐานที่ ๔ หนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสรายงานข่าวการเสด็จมาเยือนปารีสว่าเป็นทางผ่านต่อไปยังรัสเซียอันเป็นจุดประสงค์หลักในการไปเข้าเฝ้าพระเจ้าซาร์รัสเซียเพื่อตรวจสอบจุดยืนทางการเมืองที่แน่นอนของซาร์ (ภาพจาก Le Petit Parisien, 1 November 1891)

หลักฐานที่ 4 : คอลัมน์ข่าวการเมืองจากหน้าหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส ฉบับปี ค.ศ. 1891 (พ.ศ. 2434) รายงานว่า “เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเจ้านายชั้นสูงจากราชสำนักสยามพระนามว่า Prince Damrong ได้เสด็จมาเยือนปารีสและได้เข้าเยี่ยมคำนับ ฯพณฯ Sadi Carnot ประธานาธิบดีของเราที่พระราชวังเอลิเซ่ การมาครั้งนี้สร้างความประหลาดใจแก่เราอย่างมากเพราะพระองค์ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงธรรมการที่เกี่ยวกับการศึกษา แต่กลับเสด็จมาเป็นราชทูตพิเศษด้านการต่างประเทศ โดยจุดหมายอยู่ที่รัสเซียเพื่อเข้าเฝ้าพระเจ้าซาร์ตามพระราชบัญชาของพระเจ้ากรุงสยาม และฝรั่งเศสก็เป็นเพียงทางผ่านเท่านั้น” [13]

แน่นอนที่สำนักข่าวของฝรั่งเศสให้ความสนใจกับการเสด็จของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผู้ได้สมญานามว่า “มือขวา” ของรัชกาลที่ 5 การเสด็จแทนพระองค์ไปรัสเซียเกิดขึ้นภายหลังการมาเยือนสยามของมกุฎราชกุมารนิโคลาส (ซาเรวิช) เพียง 3 เดือนก่อนหน้านั้น นับเป็นสัญญาณหนึ่งที่รัฐบาลยุโรปให้ความสนใจและติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด เพราะแท้จริงแล้วรัชกาลที่ 5 ทรงส่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ไปติดตามผลลัพธ์และผลงานจากการที่สยามให้การต้อนรับซาเรวิชเนื่องด้วยสยามมีแผนการที่จะผูกสัมพันธ์กับรัสเซียไว้คานอำนาจของฝรั่งเศสนั่นเอง

ลายพระหัตถ์ฉบับหนึ่งของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ จากรัสเซียถึงรัชกาลที่ 5 ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2434 เน้นย้ำถึงรายงานที่กรุงเทพฯ รอฟังข่าวด้วยใจจดใจจ่อระบุว่า “เจ้านายรูเซียพูดเปนเสียงเดียวกันหมดว่าการรับรองที่กรุงเทพฯ เปนอย่างดีกว่าที่อื่นๆ ทุกแห่งหมด จึงเปนความยินดีที่เหนได้แน่ว่า พระราชทรัพย์และพระราชอุตสาหะที่ได้ออกไปในการรับซารวิตซ์ ไม่ขาดทุนเลย” [3]

สรุป นโยบายกันชนสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นกระบวนการของการต่อสู้ดิ้นรนภายใต้เงื่อนไขจากภาวะความกดดันและการขาดสมรรถภาพทางการเมือง จึงจำเป็นต้องใช้กุศโลบายในการปกป้องสิทธิ์ของตนเอง การที่สยามเป็นประเทศเล็กและอ่อนแอกว่าชาติมหาอำนาจทำให้ต้องตกเป็นเบี้ยล่างอยู่เสมอ แต่เมื่อต้องการจะเอาชนะคะคานแล้วก็จำเป็นต้องแสดงความกระตือรือร้นที่จะมีปากเสียงด้วย และต้องกล้าพูดกล้าทำโดยไม่แสดงความอ่อนแอหรือ weak ให้ฝ่ายตรงข้ามเห็นทั้งที่เสียเปรียบอย่างมาก แม้นว่าไม่สามารถทำด้วยตนเองได้ก็ต้องใช้ผู้อื่นทำการแทน

ความหมายของนโยบายนี้ ปรากฏอยู่ในพระพจนารถของรัชกาลที่ 5 ทรงมีถึงท่านกรมท่าขณะเดินทางไปปฏิบัติภารกิจแทนพระองค์ที่อังกฤษในปี พ.ศ. 2423 ความว่า

“การที่จะพูดกับอังกฤษครั้งนี้ ที่จะให้ได้สำเร็จเร็วนั้นฉันเข้าใจและเหนการชัดว่าอังกฤษชอบแขงแรงกล้าพูด ถ้าพูดออดแอดเขาเหนว่าวีกคืออ่อน ซึ่งเปนคำของอังกฤษเคยติเตียนแลไม่มีความวางใจแก่คอเวอนเมนต์ที่วีกอ่อนอยู่เสมอ แลมักจะดูถูกถ้าพูดออดแอดอย่างนั้นเหมือนหนึ่งยุเข้าไปว่าจะให้ก็ได้ไม่ให้ก็ได้ โดยนึกเสียว่าไม่ให้ก็ไม่เถียงดอก เปนใจของใครก็ต้องไม่ให้ทั้งนั้นเพราะจะเสียให้ทำไมเปล่าๆ ถ้าไม่พอที่จะต้องเปนเหตุเปนผลเปนปากเปนเสียงแล้วเขาก็จะไม่เสียดายตายหยากอะไรนัก ความข้อนี้ถ้าเธอมีความสงไสยอยู่ว่าจะเปนคำฟุ้งส้านของฉันกลัวจะเสียทีก็ขอให้ปรึกษา (นาย) เมซันดู ถ้าการที่เปนสิ่งสมควรแล้ว ฉันหวังใจเปนแน่ว่า เมซันเหนจะแนะนำเธอเหมือนอย่างเช่นฉันเตือนมา” [9]

ความอยู่รอดของชาติบ้านเมือง เป็นวาระแห่งชาติที่พระพุทธเจ้าหลวงทรงให้ความสำคัญอยู่เสมอจนตลอดรัชกาล นโยบายกันชนที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระองค์เป็นมาตรการหนึ่งที่ทรงใช้ทั้งในทางลับและที่แจ้งเพื่อกำหนดมาตรฐานทางการเมืองไปสู่ความเป็นเลิศในทางทฤษฎีและทางปฏิบัติเมื่อต้องอาศัยคนกลางเข้ามาช่วยแก้ไขสถานการณ์

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


กิตติคุณประกาศ : ขอขอบคุณ คุณอรรถดา คอมันตร์ ที่เอื้อเฟื้อให้ใช้ภาพถ่ายเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี ภาพถ่ายสมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ และภาพถ่ายสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในบทความนี้

ref


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 ธันวาคม 2559