“นโยบายกันชน” ของรัชกาลที่ 5 มีจริงหรือ? ทำไมต้องมี? (ตอนที่ 1 ประวัติความเป็นมา)

รัชกาลที่ 5
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

หลักฐาน 4 ชิ้นมีที่มาต่างกรรมต่างวาระกัน และค้นพบห่างไกลจากกันในอังกฤษ, สหรัฐอเมริกา, เยอรมนี และฝรั่งเศส มีอายุเก่าแก่ถึง 138 ปี, 129 ปี, 126 ปี และ 122 ปี ตามลำดับ และต่างก็ไม่เกี่ยวข้องกันเลย แต่ล้วนชี้ไปยังทิศทางเดียวกันว่าเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่คล้ายคลึงกันเกี่ยวกับนโยบายบางอย่างจากสยาม และการดำเนินนโยบายต่างประเทศอันซับซ้อนของพระมหากษัตริย์ไทยที่เต็มไปด้วยไหวพริบปฏิภาณ ด้วยการวางตัวบุคคลใกล้ชิดระดับพระญาติวงศ์และเสนาบดีคู่พระทัยให้ไปทำภารกิจสำคัญ อันเป็นหลักเกณฑ์หนึ่งของนโยบายกันชนที่มิได้ทรงจัดการเอง แต่ทรงมอบหมายให้ผู้อื่นไปจัดการและโยนหินถามทางฝ่ายตรงข้ามก่อนที่พระองค์จะทรงดำเนินการเองเมื่อเวลามาถึง


เมื่อปี พ.ศ. 2543 ศาสตราจารย์ ดร. เพ็ญศรี ดุ๊ก ได้กรุณามอบหนังสือที่ท่านจัดพิมพ์ขึ้นเล่มหนึ่งให้ผู้เขียนเป็นที่ระลึกพร้อมด้วยคำปรารภและลายเซ็นของท่าน ซึ่งผู้เขียนก็ได้ยึดถือเป็นคัมภีร์เล่มใหญ่ในการค้นคว้าเรื่อยมา

ในความนำของหนังสือเล่มนั้นกล่าวถึงนโยบายต่างประเทศของสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยท่านอาจารย์เรียกว่าเป็น “นโยบายลู่ตามลม” และ “นโยบายถ่วงดุลอำนาจ” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถอดแบบมาจากนโยบายผูกมิตรกับมหาอำนาจหนึ่งไว้คานมหาอำนาจอื่น ซึ่งสยามเริ่มใช้ครั้งแรกในรัชกาลที่ 4 และเป็นภูมิปัญญาด้านการเมืองการปกครองของพระเจ้าแผ่นดินไทยที่น่าศึกษาเรื่องหนึ่ง [10]

อีก 6 ปีถัดมา ในปี พ.ศ. 2549 ผู้เขียนก็สามารถต่อยอดความรู้เพิ่มเติมขึ้นไปอีก และได้เขียนประมวลไว้ในบทความเรื่องทัศนะใหม่ รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรป จากทฤษฎีพันธมิตรซ้อนพันธมิตร “ไม่ได้รัสเซียก็ขอเป็นเยอรมนี” พิมพ์อยู่ในหนังสือเล่มหนึ่งต่างหากชื่อ เบื้องหลังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรป (สำนักพิมพ์มติชน, 2549) [2]

ต่อมาอีกหลายปีก็ยังไม่หยุดค้นคว้าและได้พบหลักฐานแปลกใหม่จากยุโรปและอเมริกาอีก 4 ชิ้นซึ่งให้ข้อมูลแตกแขนงออกไป อ้างถึงนโยบายอีกลักษณะหนึ่งคล้าย “ทฤษฎีกันกระทบ” ของผู้นำสยาม ซึ่งยังไม่มีที่ใดวิเคราะห์มาก่อน โดยจะขอเรียกเสียใหม่ว่า “นโยบายกันชน”

ประวัติความเป็นมาของนโยบายกันชน

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ปรากฏข้อมูลเกี่ยวกับทฤษฎีการเมืองทฤษฎีหนึ่งเกิดจากอุบายที่จะหลีกเลี่ยงการประจันหน้ากัน เพื่อปลดชนวนเรื่องทะเลาะเบาะแว้งระหว่างคน 2 ฝ่ายเมื่อเกิดวิวาทกันขึ้น ซึ่งอาจลุกลามกลายเป็นวิกฤติการณ์ใหญ่โตทั้งที่ในเบื้องต้นอาจเป็นเพียงการเข้าใจผิดกันเท่านั้น

นโยบายกันชนซึ่งก็คือระบบป้องกันตนเองจากการกระทบกระทั่งกับคู่กรณีและหลีกเลี่ยงการหักหาญน้ำใจกันซึ่งๆ หน้า โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้ได้ผลมาแล้วทั้งในและนอกประเทศ นอกจากจะขจัดความขุ่นข้องหมองใจต่อกันแล้ว ยังทำให้สยามเกิดความมั่นใจตนเองยิ่งขึ้นอีกด้วย

นโยบายกันชน ครั้งแรกสุดในสมัยรัชกาลที่ 5 เกิดขึ้นเป็นปฐมฤกษ์เมื่อต้นรัชกาล ภายหลังเสวยราชย์ได้เพียง 6 ปีเมื่อปี พ.ศ.2417 (ค.ศ.1874) ในเหตุการณ์ “วิกฤติการณ์วังหน้า” (เอกสารต่างประเทศนิยมเรียกว่า Front Palace Crisisผู้เขียน) คุณณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม นักประวัติศาสตร์ไทยชี้แจงว่า “เรื่องเหตุร้ายกรณีวังหน้า เป็นเรื่องใหญ่มากใน จ.ศ. 1236 (พ.ศ. 2417) พระพุทธเจ้าหลวงทรงดำเนินพระวิเทโศบายอย่างฉลาดหลักแหลมด้วยพระปรีชาสามารถจึงทรงสามารถชำนะศัตรูนำสยามรัฐนาวาผ่านหินร้ายทางการเมืองภายในและภายนอกมาได้โดยปลอดภัย” [7]

พระรูปกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ หรือวังหน้า ในสมัยต้นรัชกาลที่ ๕ ต้นเหตุที่ทำให้เกิดนโยบายกันชนครั้งแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ ความสาหัสของวิกฤติการณ์วังหน้าเกือบทำให้สยามต้องถูกแบ่งแยกออกเป็นเสี่ยงๆ ดีว่าเหตุการณ์ถูกระงับไว้ได้ทันท่วงที
พระรูปกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ หรือวังหน้า ในสมัยต้นรัชกาลที่ ๕ ต้นเหตุที่ทำให้เกิดนโยบายกันชนครั้งแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ ความสาหัสของวิกฤติการณ์วังหน้าเกือบทำให้สยามต้องถูกแบ่งแยกออกเป็นเสี่ยงๆ ดีว่าเหตุการณ์ถูกระงับไว้ได้ทันท่วงที

วิกฤติการณ์วังหน้าเป็นบทเรียนของความขัดแย้งและการวางตัวผู้นำชาติเมื่อขึ้นรัชกาลที่ 5 ใหม่ๆ ทำให้
เราได้เห็นบทบาทของผู้ไกล่เกลี่ยหรือ Negotiator (คำนี้ถูกนำไปตั้งเป็นชื่อภาพยนตร์ของฮอลลีวู้ดเมื่อเกิดวิกฤติการณ์หนักๆ และจำต้องอาศัยคนกลางเป็นผู้เจรจาไกล่เกลี่ยผู้เขียน) ตลอดจนนโยบายภายในของรัชกาลที่ 5 ทรงเป็นผู้วางตัวบุคคลหรือคนกลางจากผู้ที่คู่กรณีทั้ง 2 ฝ่ายยอมรับได้ ให้เข้ามาเจรจาแทนพระองค์ในภารกิจพิเศษที่พระองค์ไม่ทรงสามารถจัดการเองได้

เหตุการณ์นี้ลุกลามมาจากการแต่งตั้งผู้นำประเทศคนใหม่ซึ่งตามประเพณีดั้งเดิมของสยามแล้วจะมีวังหลวงและวังหน้าถูกสถาปนาขึ้นคู่กัน วังหลวงคือมกุฎราชกุมาร หรือพระราชโอรสองค์โตของกษัตริย์ผู้สวรรคต ส่วนวังหน้าก็คือพระราชโอรสองค์โตของพระมหาอุปราช หรือสมเด็จพระราชอนุชาของพระมหากษัตริย์ จึงเป็นผู้มีศักดิ์และสิทธิทัดเทียมกัน

แต่เนื่องจากการแต่งตั้งวังหน้าในรัชกาลนี้พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งเอง (ตามธรรมเนียมโบราณ) แต่ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในยุคนั้นคือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นคนตัดสินใจเลือกสรรเอง วังหน้าที่สมเด็จเจ้าพระยาฯ แต่งตั้งก็คือกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ ทำให้วังหน้าองค์ใหม่ ทรงระแวงว่าจะถูกปลดออกจากตำแหน่ง เพราะรัชกาลที่ 5 หรือพระมหากษัตริย์องค์ใหม่มิได้เป็นผู้ทรงวินิจฉัยเอง ทำให้เกิดหวาดเกรงกันในหมู่ผู้สนับสนุนทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งถือหางเจ้านายของตนอยู่

ชนวนของเหตุวิวาทถูกจุดขึ้นในคืนหนึ่งปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2417 เมื่อเกิดไฟไหม้ใกล้โรงเก็บดินปืนและโรงก๊าซภายในวังหลวง เหมือนมีคนสร้างสถานการณ์ขึ้น ทางฝ่ายวังหน้าส่งกองทหารพร้อมอาวุธจะเข้ามาช่วยดับไฟ  แต่ทางวังหลวงไม่อนุญาตเพราะเห็นผิดปกติวิสัย

พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ในปี พ.ศ. ๒๔๑๗ ในขณะที่เกิดวิกฤติการณ์วังหน้า และเพราะเหตุการณ์นี้จึงได้ทรงทดลองใช้นโยบายกันชนเป็นครั้งแรกในรัชสมัยของพระองค์ ทำให้วิกฤติการณ์ร้ายแรงสงบลง (ภาพเก่าหาดูยาก ของสะสม คุณไกรฤกษ์ นานา)
พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ในปี พ.ศ. ๒๔๑๗ ในขณะที่เกิดวิกฤติการณ์วังหน้า และเพราะเหตุการณ์นี้จึงได้ทรงทดลองใช้นโยบายกันชนเป็นครั้งแรกในรัชสมัยของพระองค์ ทำให้วิกฤติการณ์ร้ายแรงสงบลง (ภาพเก่าหาดูยาก ของสะสม คุณไกรฤกษ์ นานา)

ไฟถูกดับลงได้แต่กลับเกิดการเผชิญหน้ากัน และทางกรมพระราชวังบวรฯ ทรงระแวงไปว่ารัชกาลที่ 5 ทรงลิดรอนสิทธิของพระองค์ และไม่ไว้ใจพระองค์ ทำให้ทรงน้อยพระทัยหนีเข้าไปอาศัยหลบภัยอยู่ภายในสถานกงสุลอังกฤษ และเรียกร้องให้ชาวต่างชาติหรือคนอังกฤษที่ชาวสยามเกรงใจคือ เซอร์แอนดรูว์ คลาร์ก (Sir Andrew Clarke) ข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำสิงคโปร์เดินทางเข้ามาตัดสินการกระทำของวังหลวง

รายละเอียดของวิกฤติการณ์ครั้งนั้นรุนแรงมากถึงขั้นเขม็งเกลียวจะเกิดสงครามภายในขึ้นที่กรุงเทพฯ ดังที่คุณณัฐวุฒิอธิบายว่า

“เนื่องจากกรณีพิพาทระหว่างวังหลวงกับวังหน้าครั้งนี้กงสุลฝรั่งเศสและกงสุลอังกฤษได้แนะนำให้แบ่งประเทศสยามออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ส่วนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาถึงแม่น้ำแม่กลองให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ปกครอง และอีกส่วนหนึ่งตั้งแต่แม่น้ำแม่กลองลงไปให้วังหน้าปกครอง เพื่อประกันอำนาจของทุกฝ่าย แต่ก็ไม่อาจตกลงกันได้ กงสุลอังกฤษจึงได้มีใบบอกไปยังผู้สำเร็จราชการอังกฤษที่เมืองสิงคโปร์ให้เข้ามาตัดสินเหตุพิพาทนี้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ได้ทรงต้อนรับผู้สำเร็จราชการและนายพลอังกฤษมาจากที่สิงคโปร์เป็นอันดียิ่ง ทรงเอาอกเอาใจผู้สำเร็จราชการ และนายพลเหล่านั้นเป็นอย่างดีทุกประการ และทรงขอร้องว่า เรื่องนี้เป็นเหตุพิพาทในระหว่างราชตระกูล พระองค์ทรงเห็นว่าพอที่จะจัดการกันเองได้ ไม่จำเป็นต้องถึงแบ่งประเทศ ผู้สำเร็จราชการที่สิงคโปร์เห็นว่า ถ้าแบ่งเมืองไทยออกจริงดั่งว่าแล้ว ฝรั่งเศสก็คงจะเอาภาคตะวันออกแม่น้ำเจ้าพระยาไป อังกฤษก็จะได้ฝั่งตะวันตก ซึ่งเป็นทำเลการค้าหาผลประโยชน์สู้ภาคตะวันออกแม่น้ำเจ้าพระยานั้นไม่ได้ และอีกประการหนึ่ง หากมีการแบ่งเป็นภาคดังกล่าวนั้น อาจจะเป็นเหตุทำให้การค้าขายของอังกฤษในเมืองไทยสมัยนั้นเสื่อมลงก็ได้ ผู้สำเร็จราชการอังกฤษจึงไม่ได้แบ่งเมืองไทยออกเป็น 3 ภาค

รูปสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ทำหน้าที่คนกลางไกล่เกลี่ยความบาดหมางระหว่างรัชกาลที่ ๕ กับกรมพระราชวังบวรฯ ในวิกฤติการณ์วังหน้า (ซ้าย) และรูปนายน็อกซ์หรือมิสเตอร์ น็อกซ์ กงสุลอังกฤษประจำสยาม (ขวา)
รูปสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ทำหน้าที่คนกลางไกล่เกลี่ยความบาดหมางระหว่างรัชกาลที่ ๕ กับกรมพระราชวังบวรฯ ในวิกฤติการณ์วังหน้า (ซ้าย) และรูปนายน็อกซ์หรือมิสเตอร์น็อกซ์ กงสุลอังกฤษประจำสยาม (ขวา)

และเนื่องด้วยเหตุนี้ กงสุลอังกฤษและกงสุลฝรั่งเศสได้เรียกเรือรบเข้ามาเมืองไทย โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันรักษาคนในอารักขาของตน ซึ่งความจริงเป็นเรื่องคอยหาโอกาสแทรกแซงเอาเมืองไทยเป็นเมืองขึ้น กงสุลอังกฤษพยายามขอร้องให้ข้าหลวงสิงคโปร์ส่งเรือรบมายึดเมืองไทย เมืองไทยในขณะนั้นเกือบจะเป็นเมืองขึ้นของชาติมหาอำนาจไป

แต่อาศัยพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงที่ทรงพระคุณสมบัติสุขุมคัมภีรภาพมิได้ทรงวู่วามทรงต้อนรับข้าหลวงสิงคโปร์ และพวกทหารเรืออังกฤษเป็นอย่างดียิ่งประการหนึ่ง ประกอบกับความสามารถของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในยุคนั้นประการหนึ่ง เรื่องเหตุการณ์ร้ายครั้งนั้นก็คลี่คลายลงได้ จนถึงเดือน 3 แรม 5 ค่ำ กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญเสด็จคืนวังหน้า” [6]

 รูปพระยาภาสกรวงศ์ (ซ้าย) เดินทางไปอังกฤษเพื่อหาทางปรองดองและฟ้องร้องเรื่องนายน็อกซ์แทรกแซงกิจการภายในของสยามในวิกฤติการณ์วังหน้า และตันกิมเจ๋ง (ขวา) กงสุลสยามประจำสิงคโปร์
รูปพระยาภาสกรวงศ์ (ซ้าย) เดินทางไปอังกฤษเพื่อหาทางปรองดองและฟ้องร้องเรื่องนายน็อกซ์แทรกแซงกิจการภายในของสยามในวิกฤติการณ์วังหน้า และตันกิมเจ๋ง (ขวา) กงสุลสยามประจำสิงคโปร์

การขอร้องอังกฤษ ซึ่งเป็นมือที่สามเป็นเรื่องน่าอับอายและไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะแสดงถึงความแตก
แยกและไม่ไว้วางใจกันเองภายในราชสำนัก รัชกาลที่ 5 ทรงแต่งตั้งผู้เจรจาฝ่ายไทยขึ้นทันทีประกอบด้วยเหล่าขุนนางชั้นผู้ใหญ่ในตระกูลบุนนาค นำทีมโดยสมเด็จเจ้าพระยาฯ และเพราะ “คนกลาง” กลุ่มนี้นี่เองที่ช่วยปลดล็อคทำให้วิกฤติการณ์ดังกล่าวคลี่คลายลงได้

แต่ข้อมูลภายในระหว่างการเจรจา และบทบาทของคนกลางเหล่านี้ได้กลายเป็นบรรทัดฐานของการดำเนินนโยบายกันชนในภายหลัง ดังพระราชปรารภบางตอนที่ควรทราบต่อไปนี้

ร. ที่ 195 วัน 7  2 ค่ำ 1236

ถึง ท่านกรมท่า

ด้วยการที่เธอคิดเลิกจะไม่ลงไปตามที่ปรึกษากันนั้นฉันไม่ทราบว่าตกลงกันอย่างไร แต่ฉันเห็นว่า ถ้าเธอไม่ลงไปแล้วก็ไม่ต้องทำอะไรเลย จะให้เจ้าลงไปอีกนั้นก็เปล่าจะพูดอะไรเป็น แล้วจึงน่าจะให้อะไรมา คงว่าส่งที่เธอแล้ว การที่เธอจะไปพูดกับวังหน้านั้นไม่ต้องพูดอะไร ชั่วแต่ขอสัญญาเท่านั้น การก็ได้พูดกันไว้แล้ว ทำไมจึงไม่โต้เจ้าคุณท่านบ้างเลย ฉันมีความเสียใจเป็นที่สุด การไม่ต้องจัดสิ่งไรต่อไปแล้ว ถึงจะทำก็เห็นไม่สำเร็จ ถ้าเธอไม่ไปวันนี้ ก็ไม่มีการสิ่งไรต่อไป

(พระบรมนามาภิไธย) Chulalongkorn R.S. [6]

พระบรมสาทิสลักษณ์รัชกาลที่ ๕ เมื่อทรงตั้งพระทัยจะเสด็จประพาสยุโรป (ซ้าย) แต่แล้วก็ทรงเปลี่ยนพระทัยแล้วทรงส่งท่านกรมท่า (ขวา) ไปแทน
(ซ้าย) พระบรมสาทิสลักษณ์รัชกาลที่ ๕ เมื่อทรงตั้งพระทัยจะเสด็จประพาสยุโรป แต่แล้วก็ทรงเปลี่ยนพระทัยแล้วทรงส่งท่านกรมท่าไปแทน (ขวา) รูปเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี หรือท่านกรมท่า (ภาพ “ท่านกรมท่า” จาก คุณอรรถดา คอมันตร์)

ร. ที่ 200 สมมุติเทวราชอุปบัต

วัน 7  9  2 ค่ำ 1236

ถึง คุณสุรวงษไวยวัฒน์

ด้วยวันนี้เมื่อเวลาเที่ยง ท่านกรมท่ามาหาฉันบอกว่าได้ลงไปที่วังหน้าพูดอ่อนโยนดี ว่าจะส่งหนังสือมาเวลาบ่าย 3 โมง แต่การจะอย่างไรต่อไปไม่ทราบ ให้เธอฟังดูที่ไปเรียนเจ้าคุณด้วย ถ้าการเป็นแน่ ได้หนังสือมาวันนี้ก็เห็นจะต้องปรึกษากันเสียได้แล้ว เวลาบ่ายวันนี้ให้เธอมาหาฉันจะได้ปรึกษากัน การที่เสนาบดีจะนำข้อประนีประนอมนั้น เจ้าคุณท่านจะร่างมาเสียแล้ว จึงประชุมหรือจะประชุมก่อนแล้วจึงจะร่าง ถ้าร่างเสียก่อนแล้วจะได้ประชุมต่อมะรืนนี้ ถ้าจะประชุมก่อนจะได้ประชุมพรุ่งนี้ ให้เธอฟังดูด้วยแล้วมาพบกับฉันเอง 

(พระบรมนามาภิไธย) Chulalongkorn R.S. [6]

รูปเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี หรือท่านกรมท่า ถ่ายที่สตูดิโอในลอนดอน ขณะเดินทางไปเป็นราชทูตพิเศษและผู้แทนพระองค์รัชกาลที่ ๕ ในการดำเนินนโยบายกันชนถึงประเทศอังกฤษ ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
รูปเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี หรือท่านกรมท่า ถ่ายที่สตูดิโอในลอนดอน ขณะเดินทางไปเป็นราชทูตพิเศษและผู้แทนพระองค์รัชกาลที่ ๕ ในการดำเนินนโยบายกันชนถึงประเทศอังกฤษ ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ (ขอบคุณภาพจาก คุณอรรถดา คอมันตร์)

ร. ที่ 201 สมมุติเทวราชอุปบัต

วัน 7  9  2 ค่ำ 1236

ถึง เจ้าคุณสมเด็จเจ้าพระยา ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน

ด้วยวันนี้ เจ้าพระยาภานุวงษ์ลงไปหาวังหน้า กลับมาบอกฉันว่า วังหน้าพูดจาอ่อนโยนดี ดูเป็นจะยอมให้แล้วกัน ท่านกรมท่าคงจะเรียนเจ้าคุณให้ทราบแล้ว แลข้อซึ่งกรมพระราชวังขอมานั้น ขอให้เจ้าคุณตรวจดูกับข้อประนีประนอมเก่า ซึ่งเจ้าคุณทำส่งไปนั้น การจะควรอย่างไรบ้าง ขอให้เรียบเรียงเสียก่อน แล้วจึงค่อยประชุมปรึกษากัน แต่ที่จะไขข้อซึ่งเจ้าคุณคิดไว้นั้น วันนี้คุณสุรวงษบอกฉันว่า เจ้าคุณจะใคร่ได้สมเด็จกรมพระด้วย ท่านทราบการในธรรมเนียมมากนั้นก็ดีแล้ว

การครั้งนี้เป็นที่น่ากลัวเมืองจะเป็นบำรุงอังกฤษแต่ยังเป็นบุญของแผ่นดินอยู่มาก ที่ฉันโต้ตอบเขาเห็นด้วยทุกอย่าง เป็นการช่วยแข็งแรงดีทีเดียว ไม่ต้องกลัวเหตุการณ์จะมีไปข้างหน้า ที่จะเกิดแต่ภายนอกคือคนต่างประเทศเป็นแน่ ยังอยู่แต่การฝ่ายในกรมพระราชวัง แลผู้ช่วยบ่าวไพร่เป็นที่เสียใจมากในการครั้งนี้ แต่ที่จะหาเหตุไปหาเขาอีกนั้นยากอยู่ ถ้าจะทำได้ก็แต่การในเมืองเห็นจะไม่ยากนักการครั้งนี้เป็นเกียรติยศอยู่ ที่ไปว่ากรมพระราชวังโดยดีไม่มาจนประกาศฉุดลากเอามาได้ เป็นที่คนหัวเราะเยาะมากนัก ที่กรุงก็เรียบร้อยดีแล้วไม่มีเหตุการณ์ แต่การภายนอกนั้นฉันไว้ใจเธอให้สอดส่องการดูให้ตลอด อย่าให้มีเหตุการณ์สิ่งไรขึ้นได้ ให้เอาใจสอดส่องดูจงมาก ถ้ามีสิ่งใดแปลกประหลาดให้บอกมาให้ทราบโดยเร็วจะได้ทันแก้ไข

(พระบรมนามาภิไธย) Chulalongkorn R.S. [6]

“ทีมงานเสนาบดี” และ “เครือข่ายขุนนางตระกูลบุนนาค” หลายท่านที่ถูกเอ่ยนามถึงได้แสดงบทบาทและฝีมือของความเป็นผู้เจรจาหลัก ผู้ไกล่เกลี่ย และผู้ทนแรงเสียดทานของฝ่ายตรงข้ามแทนพระมหากษัตริย์ได้เป็นอย่างดีและเป็นทีมงานกันชนทีมแรกที่มีผลงาน และจะมีบทบาทต่อไปในกิจการที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศ โดยเฉพาะเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี หรือท่านกรมท่าในตำแหน่งเสนาบดีต่างประเทศคนแรกของสยาม ดังที่จะกล่าวต่อไป [1]

อ่านต่อตอนที่ 2 : “นโยบายกันชน” ของรัชกาลที่ 5 มีจริงหรือ? ทำไมต้องมี? (ตอนที่ 2 การนำไปใช้นอกประเทศ)

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 ธันวาคม 2559