ชะตากรรมเจ้าหญิงอยุธยาหลังกรุงแตก ย้อนบันทึกพม่าที่น่าสลดใจ

หลังกรุงแตก คน วุ่นวาย บ้านเมือง
ความวุ่นวาย บ้านเมืองในยามศึกเมื่อกรุงแตก จิตรกรรมฝาผนังสมัยรัชกาลที่ 4 ภายในหอราชพงศานุสรณ์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (ภาพจาก จิตรกรรมแบบสากลสกุลช่างขรัวอินโข่ง. 2522)

หลังกรุงแตก พระราชวงศ์กรุงศรีอยุธยาที่ตกค้างอยู่ในพระราชวังหลวงจำนวนหนึ่ง ถูกพม่ากวาดต้อนไปรวมกันไว้ที่ค่ายโพธิ์สามต้นฐานทัพใหญ่ของกองทัพพม่า รายงานในเอกสารพม่าแจ้งจำนวนพระราชวงศ์กรุงศรีอยุธยาไว้ประมาณ 63 พระองค์ ที่เป็นระดับพระมเหสี พระราชโอรส พระราชธิดา พระราชนัดดา นอกจากนี้ยังมี พระสนม เจ้านายชั้นรองลงมาอีกกว่า 2,000 พระองค์

“พระสนมที่เปนเชื้อพระวงษ์พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา รวม 869 องค์ พระราชวงษานุวงษ์ชายหญิงของพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยารวมทั้งสิ้น 2,000 เศษ” [6]

หากจำนวนที่กล่าวนี้เป็นจริง ก็นับได้ว่า หลังกรุงแตก เจ้านายพระราชวงศ์กรุงศรีอยุธยาน่าจะแทบสิ้นพระราชวงศ์เลยทีเดียว ซึ่งตัวเลขนี้ก็น่าจะเป็นไปได้ เพราะการบันทึกครั้งนั้น ทำไว้ค่อนข้างละเอียด มีการกล่าวถึงพระนามของเจ้านายชั้นสูงไว้ถึง 63 พระองค์ และเมื่อเทียบกับจำนวนเชลยสงครามทั้งหมดที่กองทัพพม่ากวาดต้อนไปได้ครั้งนั้นมากถึง 100,000 กว่าคน

ในขณะที่เอกสารฝ่ายไทย กล่าวถึงจำนวนเชลยสงครามที่ถูกกองทัพพม่ากวาดต้อนไปครั้งนั้นราว 30,000 คน [7]  และกล่าวถึงจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งจากการสู้รบ ป่วยไข้ อดอาหาร มีจำนวนสูงถึง 200,000 คน

เหตุที่ว่ากองทัพพม่าค่อนข้างละเอียดในการจดบันทึกจำนวนพระราชวงศ์กรุงศรีอยุธยานั้น ดูเหมือนว่าพระราชวงศ์เป็น “ของมีค่า” ที่น่าจะหมายถึงการปูนบำเหน็จรางวัลอย่างสูงแก่ผู้จับได้ ดังนั้น จึงมีความพยายามของแม่ทัพนายกองของพม่าที่จะ “เม้ม” ไว้เสียเอง จนเนเมียวสีหบดีแม่ทัพใหญ่ต้องออกมาประกาศให้คืนแก่ตนทั้งหมด

“ฝ่ายเนเมียวสีหบดีแม่ทัพใหญ่ จึงใช้ทหารไปประกาศแก่นายทัพทั้งปวงว่าตัวเรากระทำการตีกรุงศรีอยุธยาได้สำเร็จเพราะปัญญาและฝีมือเรา ซึ่งนายทัพทั้งหลายจะมาคอยชุบมือเอาส่วน กวาดเอาพระราชวงศ์กษัตริย์ไทยไปไว้ทุกค่ายทัพเป็นบำเหน็จมือของตัวนั้นไม่ชอบ ให้เร่งส่งมาให้เราทั้งสิ้น ถ้ามิส่งมาเราจะยกไปตีเอาขัตติยราชวงศ์ทั้งปวงมาให้จงได้” [8]

บรรดาพระราชวงศ์กรุงศรีอยุธยาที่ถูกจับไปนั้น ก็ไม่น่าจะตกระกำลำบากมากนัก เพราะเหตุว่าทุกพระองค์ “ถึงมือ” พระเจ้ากรุงอังวะทั้งสิ้น

“แลพระราชวงษ์แลพระมเหษีแลพระสนมทั้งปวงกับเครื่องภาชนใช้สอยเงินทองทั้งปวงถวายแด่พระเจ้ากรุงอังวะสิ้น” [9]

แต่ถ้าการกวาดต้อนเป็นแบบ “เก็บละเอียด” เช่นนี้ แล้วเหตุใดในพระราชพงศาวดารตอนต่อมาจึงปรากฏว่า มีพระราชวงศ์หลงเหลืออยู่ติดค่ายโพธิ์สามต้นอีกหลายพระองค์?

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะยังมีเจ้านายบางพระองค์หนีรอดไปได้ และบางส่วนเนเมียวสีหบดีคงไม่อยากเอาติดกองทัพไปด้วย อาจเพราะมีพระอาการประชวร หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง

“แล้วเนเมียวสีหบดีให้กองทัพทางเหนือทั้งปวง คุมเอาสมเด็จพระอนุชาธิราชซึ่งทรงผนวชกับพระราชวงศานุวงศ์ทั้งนั้นไปทางเหนือ ยังเหลืออยู่บ้างแต่ที่ประชวร จึงมอบไว้ให้แก่พระนายกอง ที่เล็ดรอดหนีไปได้นั้นก็มีบ้าง” [10]

นี่จึงเป็นที่มาที่ไปว่าเหตุใดจึงมีเจ้าหญิงอยุธยามารับราชการในราชสำนักกรุงธนบุรี…

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

[6] นายต่อ (แปล). มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า. (กรุงเทพฯ : มติชน, 2545), น. 270.

[7] พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา, น. 297.

[8] เรื่องเดียวกัน, น. 297.

[9] มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า, น. 271.

[10] พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา, (กรุงเทพฯ : คลังวิทยา, 2516), น. 298.


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาบางส่วนจากบทความ “‘ท้องกับเจ๊ก’ : การเมืองฝ่ายในของราชสำนักกรุงธนบุรี” เขียนโดย ปรามินทร์ เครือทอง ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2558


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 กันยายน 2559