สังคีติยวงศ์ เอกสารสมัยรัชกาลที่ 1 เผยสภาพอยุธยาหลังกรุงแตก

หนึ่งในเอกสารที่มีการบันทึกถึงสภาพของกรุงศรีอยุธยาหลังกรุงแตกคือ “สังคีติยวงศ์” นับว่าเป็นเอกสารร่วมสมัยที่สำคัญมากเอกสารหนึ่ง ผู้แต่งคือ สมเด็จพระวันรัตน วัดพระเชตุพนในรัชกาลที่ 1 เป็นผู้รจนาเป็นภาษาบาลี [พระยาปรินัติธรรมธาดา (แพ ตาลลักษมณ) แปลเป็นภาษาไทย] ความที่บันทึกไว้มีดังนี้

“ในปีระกาที่ 6 พระเจ้ารตนอาวราช ให้ตระเตรียมการรบแล้ว ก็ส่งมหาสุรโยธา พร้อมเสนาเปนอันมาก เพื่อจะยึดเอากรุงอโยธยนคร ลำดับนั้น มหาสุรโยธาก็พาพลนิกายมากมายมายังกรุงอโยธยนคร ได้รบด้วยชาวพระนครทั้งหลาย แต่ชาวพระนครไม่รู้จักรบ ขี้ขลาดไม่เปนน้ำหนึ่งกัน ไม่เปนใจเดียวกัน ไม่ปลงงานเดียวกัน มีใจต่าง ๆ กัน ต่างพากันหนีเสีย

Advertisement

พระนครนั้นต้องล้อมอยู่ 2 ปี ชาวเมืองทั้งหลายก็สิ้นเสบียงอ่อนเพลียเสียพระนคร เมื่อพุทธศักราชล่วงได้ 2310 ปีกุนกับปีจอต่อกัน เดือนสาม ขึ้น 9 ค่ำ วันอังคารยามเสาร์เพลาราตรี ก็เปนที่สุดการสงคราม

พระนครนั้น ก็ฉิบหายตามกาลอย่างใด ความฉิบหายอย่างใด สิ้นอายุแล้วอย่างใด แปรปรวนแล้วอย่างใด สาปสูญโดยประการใด (พม่าฆ่าศึก) จับเอาประชาชนทั้งหลายมีพระราชวงศ์เปนต้นด้วย เก็บทรัพย์ทั้งหลายมีประการเปนอันมากด้วย แล้วเผาพระนครแลปราสาทสามองค์ แลพระอารามวิหารเสียด้วย แล้วทำลายกำแพงเมืองเสียด้วย แล้วทำพัศดุของกรุงอโยธยนคร มีพระธรรมแลพระวินัย คือไตรปิฎกเปนต้น ให้พินาศเสียแล้ว ก็กลับไปสู่เมืองของตน ได้ถวายทรัพย์ทั้งหลายเปนอันมากเ้วย แลถวายอาวุธน้อยใหญ่ สำหรับราชสกุลเปนต้นด้วยแก่เจ้านายของตน ครั้งนั้นชาวเมืองอริมัททนนคร ก็พากันเกิดรุ่มรวยด้วยแก้วแหวนเงินทองเปนมากมาย

เมื่อกรุงอโยธยนครนั้น อันพม่าปัจจามิตรได้ให้พินาศโดยเหตุทั้งหลายต่าง ๆ ในคราวนั้น สมเด็จพระเจ้ากรุงอโยธยราชก็หนีออกจากพระนครไปซ่อนอยู่ในป่า อดพระกระยาหาร ครั้นปัจจามิตรจับได้ อ่อนกำลังแล้วก็สิ้นชีพไปเอง ประชาชนทั้งหลายถ้วมทับอยู่ด้วยความโศก ปริเทวทุกข์โทมนัสอุปายาส [แปลว่า ความคับแค้นใจ] มากมาย

ต่างพากันหิวโหยโรยแรงทั่วไป พลัดพรากจากญาติมิตรลูกเมียทั้งหลาย ฉิบหายวายร้ายจากเครื่องใช้สอย อุปโภค บริโภค ทรัพย์สินเงินทองแก้วแหวนเข้าของทั้งหลาย หาที่พึ่งพามิได้ เปนทุคตกำพร้าร้ายกาจเปนอันมาก ปราศจากเข้าปลาอาหารผ้าผ่อน เครื่องนุ่งห่ม ซูบผอมเผือดผิดร่างกายซุดโทรมไป ได้แต่ต้นไม้ใบหญ้า เครือเถาเหง้าเปลือกใบไม้ดอกผลพืชเปนอาทิเปนอาหาร พวกมนุษย์ทั้งหลายมากมายพลัดพรากกันไป ต่างเที่ยวสัญจรซัดเซไปในตำบลต่าง ๆ เลี้ยงชีวิตฝืดเคืองแสนทุกข์ยากเปนอันมาก

มนุษย์ทั้งหลายนั้นคุมกันเปนหมู่เปนพวก ปล้นชิงเข้าเปลือกเข้าสาน เกลือเปนอาทิ ได้อาหารบ้าง มิได้บ้าง ซูบผอมลง เนื้อเลือดก็ลดน้อยลง รุมรึงอยู่ด้วยทุกข์ยากสาหัส ตายไปบ้าง ยังไม่ตายบ้าง

ประชาชนได้ถึงความวิโยค 2 ประการ คือ ญาติวิโยค 1 สมบัติวิโยค ได้ปราศจากเมตตาจิตรซึ่งกันแลกัน อันภัยเกิดแต่ความหิว หากบีบคั้นหนักเข้าแล้ว ก็ไม่สามารถเอื้อเฟื้อต่อพระพุทธรูปแลพระธรรมพระสงฆ์ได้ เลี้ยงชีพของตนด้วยความคับแค้น

ฝ่ายภิกษุทั้งหลาย เมื่อไม่ได้อาหารบิณฑบาตแต่ทายกแล้ว ก็เหนื่อยยากลำบากเข้า ไม่สามารถจะครองกาสาวพัตรได้ ใช้ให้ศิษย์ไปขวนขวายหาอาหารเพื่อได้เลี้ยงท้อง ได้บ้างมิได้บ้าง ก็เหนื่อยหน่ายจากการบวช ด้วยความลำบากที่จะครองเพศเปนสมณะ ได้พากันสึกออกหาเลี้ยงชีวิตรตามสติกำลัง

บางพวกที่ยังรักกาสาวพัตรอยู่ ก็อุสสาหะพยุงกายด้วยการแสวงหาน่าเวทนายิ่งนัก ได้ฉันบ้างไม่ได้ฉันบ้าง ก็มีรูปกายวิปริต สพรั่งไปด้วยเกลียวหนังแลเส้นเอ็น ก็ไม่เปนน้ำหนึ่งใจเดียวกันได้ หมดความอาลัยรักษาพระพุทธรูปและพระธรรมไว้ไม่ได้ พากันสำเร็จอยู่ตามสถานอันสมควร”

แม้ “สังคีติยวงศ์” จะเป็นบันทึกการสังคายนาพระธรรมวินัย ที่ความส่วนใหญ่จะกล่าวถึงพระพุทธศาสนา แต่ก็มีส่วนที่บันทึกสภาพของกรุงศรีอยุธยาหลังกรุงแตก ซึ่งทำให้เห็นข้อมูลอีกแง่มุมหนึ่งนอกเหนือจากข้อมูลในพระราชพงศาวดารหรือบันทึกของชาวต่างชาติ


อ้างอิง :

สมเด็จพระวันรัตน. ปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาลลักษมณ), ผู้แปล. (2466). สังคีติยวงศ์: พงศาวดาร เรื่อง สังคายนาพระธรรมวินัย. พระนคร : โรงพิมพ์ไทย.

นิยะดา เหล่าสุนทร. (เมษายน, 2557). “อยุธยาพิโรธใต้ เพลิงกัลป์” : บันทึกของผู้อยู่ในเหตุการณ์เมื่อเสียกรุงครั้งที่ 2. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 35 : ฉบับที่ 6.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 กรกฎาคม 2564