“นายกฯ” มาจากไหน ทำไมเรียกตำแหน่งนี้ว่า “นายกรัฐมนตรี”

การประชุมสภา ครั้งแรก มี นายกรัฐมนตรี
การประชุมสภาสมัยแรก หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475

นายกฯ หรือ นายกรัฐมนตรี คำนี้มาจากไหน ทำไมเรียกตำแหน่งนี้ว่า “นายกรัฐมนตรี”

ตำแหน่ง “หัวหน้าผู้บริหารประเทศ” หรือ นายกรัฐมนตรีมีมาแต่อดีต เพียงแต่ยังไม่มีศัพท์คำว่า นายกรัฐมนตรีใช้เท่านั้น เช่น จีนเรียกว่า “ไจ๊เสี่ยง” หรือ “มหาอุปราช” วรรณคดีสามก๊ก โจโฉ ก็เป็นดำรงตำแหน่งดังกล่าว, อินเดีย วรรณคดีเรื่องกามนิต-วาสิฏฐี ใช้คำว่า “ประธานมนตรี” ไทยเราก็ใช้คำว่าอัครมหาเสนาบดี, อัครมหาเสนาภิมุข, สมุหนายก, ประธานกรรมการราษฎร ฯลฯ

แล้วคำว่า “นายกรัฐมนตรี” คำนี้มาจากไหน เกิดขึ้นเมื่อใด ใครเป็นผู้บัญญัติศัพท์ขึ้น!!

(แถวแรกที่ 4 จากซ้าย) พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ถ่ายภาพร่วมกับคณะรัฐมนตรี ในปี 2477

เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยแล้ว ได้ดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ซึ่งกำหนดว่าจะให้เสร็จภายในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475  หนึ่งในจำนวนนั้นคือ “ร่างกฎหมายเปลี่ยนชื่อเสนาบดีเป็นรัฐมนตรี” ที่มีอภิปรายในการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญตกลงเห็นควรให้เปลี่ยน “เสนาบดี” และ “กรรมการราษฎร” มาใช้เป็น “รัฐมนตรี” แทน

ส่วนคำว่า “ประธานกรรมการราษฎร” ยังไม่ได้กำหนดว่าจะใช้อย่างไร จึงมอบให้ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) ดำเนินการต่อ พระยามโนปกรณ์ฯ ขอให้ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ช่วยหาข้อมูลเรื่องนี้จากรัฐธรรมนูญต่างชาติ และให้ พระธรรมนิเทศทวยหาร (อยู่ อุดมศิลป์) ตำแหน่งอนุศาสนาจารย์ แปลเป็นภาษาไทย

พระธรรมนิเทศทวยหาร (อยู่ อุดมศิลป์) (ภาพจาก เว็บไซต์ กองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารบก)

หลวงประดิษฐ์ฯ เขียนบันทึกไว้สั้น ๆ ว่า “ได้พบรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสเขาเรียกหัวหน้าผู้บริหารประเทศของเขาว่า ‘Premier’ ส่วนอังกฤษนั้นเขาเรียก ‘Prime-Minister’ เยอรมันเรียกว่า ‘Chancellor’ จะเทียบคำไทยอย่างไรสุดแต่คุณพระจะพิจารณา”

พระธรรมนิเทศฯ ได้เทียบคำดังนี้ Premier เป็น นาย + ก ตามหลักภาษาบาลี แปลว่า “ผู้เป็นนาย” ในที่นี้นายกรัฐมนตรีคือ ผู้อยู่เหนือ หรือผู้นำคณะมนตรีของประเทศ

คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญคนสำคัญ 3 ท่าน คือ พระยามานวราชเสวี (ปลอด วิเชียร ณ สงขลา), หลวงประดิษฐ์ฯ และ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ลงมติให้ใช้คำว่านายกรัฐมนตรี แทนคำว่า “ประธานคณะกรรมการราษฎร” ตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา

ไทยเป็นประเทศแรกที่กำหนดและใช้คำว่า นายกรัฐมนตรีสำหรับตำแหน่งหัวหน้าผู้บริหารประเทศ จากนั้นกัมพูชาเป็นประเทศที่ 2 ใช้เมื่อสมเด็จเจ้านโรดมสีหนุ เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2488 และลาวใช้ประเทศที่ 3 พ.ศ. 2488 เมื่อเจ้าเพชรราชดำรงตำแหน่งหัวหน้า

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ที่มา :

ดร. กวี อิศริวรรณ. “กำเนิดตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี”, ศิลปวัฒนธรรม กรกฎาคม 2531.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ พฤศจิกายน 2560