คนไทยเราเริ่ม “จูบปากกัน” ตั้งแต่เมื่อใด?

จูบปาก ผู้ชายผู้หญิง จิตรกรรม
ภาพชายหญิงขณะกำลัง "จูบปาก" ในภาพจิตรกรรม

พฤติกรรมการ “จูบปาก” ไม่เคยปรากฏในวัฒนธรรมไทยก่อนจะรับวิถีปฏิบัติจากฝรั่ง?

ทำไม? ตอบแบบง่ายๆ คือ ต่อให้ปากสตรีนางนั้นบางเฉียบเป็นรูปกระจับ ดูเหมือนจะน่าจูบ แต่ถ้านึกถึงภาพความจริงที่ว่าไม่ว่าชาย-หญิงนิยมกินหมาก ฟันที่แข็งแรงคงทนแต่สีดำเป็นนิลขนาดนั้นคงไม่น่าภิรมย์สักเท่าใด

ย้ำน้ำหนักความน่าเชื่ออีกนิดคือ ฟันที่สีดำสนิทนั้นก็ไม่เคยสัมผัสกับแปรงสีฟัน มีก็ใช้เปลือกหมากถูๆ หรืออย่างมากก็ใช้ไม้ข่อย ฉะนั้นแค่หอมแก้ม จุ๊บปากก็น่าจะอิ่มเอมแล้วสำหรับบทเข้าพระเข้านางแบบสยามๆ

แล้วหลังจากที่มีคำสั่งให้คนไทยเลิกกินหมากล่ะ ปากนั้นน่าจูบ (อย่างดูดดื่มในหนังไทย?) ขึ้นบ้างมั้ย?

ก็ไม่เชิง! สาเหตุลึกๆ น่าจะมาจากความเชื่อ ทัศนคติที่ว่าข้างในปากนั้นเป็นอาณาเขตส่วนตั๊วส่วนตัว สกปรก! ไม่สมควรที่จะมีการแลกเปลี่ยนขี้ฟันกันดูด จะว่าไปก็ไม่ต่างจากการถือหัวของผู้ชาย หรือการถือว่าผ้านุ่งเป็นของต่ำ จึงห้ามผู้ชายลงไปป้วนเปี้ยนกับเบื้องล่างของสตรีด้วย

ยุคมาลานำไทย สมัยที่จอมพลแปลก พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ชัดเจนในเรื่องการรับอิทธิพลความคิดการปฏิบัติตนแบบฝรั่ง ก็มีเพียงข้อกำหนดให้สามีต้อง “หอมแก้ม” ภรรยาก่อนออกจากบ้าน

เมื่อรื้อค้นลึกลงไปในส่วนของภาพจิตรกรรมฝาผนังพูดกันตรงๆ คือภาพสังวาส

แม้จะมีภาพหญิงชายเกี้ยวพาราสี กอดรัดฟัดกันอย่างนัวเนียจนผ้าผ่อนหลุดลุ่ย หรือภาพของการเข้าพระเข้านาง อย่างมากแค่ “หอมแก้ม”!

แล้วคนไทยเริ่ม จูบปาก กันตั้งแต่เมื่อไหร่?

ถ้าจะหากันจะจะแบบที่มีเป็นลายลักษณะอักษร บทอัศจรรย์ในงานวรรณกรรม มุ่งตรงไปที่งานวรรณกรรมในราชสำนักก่อน เนื่องจากในช่วงก่อนจะรับจารีตของประชาชน (คือการใช้ความเปรียบในบทอัศจรรย์) จะกล่าวถึงพฤติกรรมทางเพศอย่างตรงไปตรงมา เริ่มที่บทอัศจรรย์ในเรื่องราชาพิลาป แต่งราวสมัยรัตนโกสินทร์

“ป่างเรียมแรกสมสอง   วรราชเทวี
รมเยศสุขเลศฤดี   รศราคปรีดา
เคยพาดพระหัตถ์เหนือ   อุรราชกัญญา
กอกเกี้ยวคือกาญจนลดา   อันโอบอ้อมทุมามาลย์
พิศพักตรมณฑล   ศศิสุทธิเปรมปราณ
เปรมร่วมมฤธุรศบันดาล   ฤดิดัศบรรเจิดใจ
อุรบรรทับอุร   ราขอนงค์ชงค์ไกล
จุมพิตณนงคริมไร   โอษฐคันธกัลยา
ปริสังคกรคององค์   อรอนงค์วนิดา

สมสุขเสนหา   วรภาคย์ไกวกร”

สิ่งที่ปรากฏยังคงเป็นการจุมพิตริมไรโอษฐ์!

ที่น่าสนใจคือ มีบทอัศจรรย์ที่การบรรยายข้องแวะอยู่แถวๆ ปาก อีกตอนหนึ่งปรากฏอยู่ในลิลิตพระลอ บทที่พระลอได้พระเพื่อนพระแพง บรรยายไว้ว่า

ส่วนสามกษัตริย์แก่นท้าว   กรโอบองค์โน้มน้าว
แนบเนื้อเรียงรมย์ ฯ

เชยชมชู้ปากป้อน   แสนอมฤตรสข้อน
สวาทเคล้าคลึงสมร ฯ

กรเกี้ยวกรกอดเกื้อ   เนื้อแนบเนื้อโอ่เนื้อ
อ่อนเนื้อเอาใจ ฯ

พักตราใสใหม่หม้า   หน้าแนบหน้าโอ่หน้า
หนุ่มหน้าสรสม ฯ

นมแนบนมนิ่มน้อง   ท้องแนบท้องโอ่ท้อง
อ่อนท้องทรวงสมร ฯ

เชยชมชู้ปากป้อน แสนอมฤตรสข้อน สวาทเคล้าคลึงสมร ฯ” น่าจะให้ภาพของการจูบปาก แต่เมื่อตีความหมายกันจริงๆ แล้วกลับไม่ใช่ เพราะ “ปากป้อน” ที่ว่ากลับหมายถึงการพูดฉะอ้อน พูดเอาใจ ก็เหมือนกับที่คนเก่าๆ เอ็ดให้ว่าอย่า “ปากมาก” ก็ไม่ได้หมายความว่ามีหลายปาก แต่หมายถึงอย่าพูดมากนั่นเอง

มาดูอีกบทที่น่าจะเป็นการจูบปากแบบสมัยใหม่ เรื่องอิเหนาคำฉันท์ ของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) แต่งขึ้นในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อของสองสมัยนี้ (แต่งเสร็จใน พ.ศ. 2322)

“ตรัสพลางตระโบมโลม   วรราชดัดผธม
จุมพิตปรางชม   อุระแนบอุราดร
สองชงฆสอดชา   ณุสองกรสอดกร
สองโอษฐเอมอร   ตฤบรสรสาสรรพ์
พร่างพักตรพรายเนตร   บ่ยลเดือนตระวันจันทร์

พยุหพโยมครร   ชิตวิชุลดาพราย
พิรุณโรยก็โปรยต้อง   บุษปแย้มผกาขยาย”

ในทำนองเดียวกัน “สองโอษฐเอมอร ตฤบรสรสาสรรพ์” ตฤบรส หมายถึงอิ่มเอมในรส แต่ “สองโอษฐเอมอร” หาใช่สองปากสัมผัสแลกเปลี่ยนความอิ่มเอมในรสเพศ

โอษฐ ก็คือปาก และปาก ก็คือการพูด หมายความว่าทั้งสองต่างฉะอ้อน ฉอเลาะแก่กันและกันเท่านั้นเอง!

ผู้รู้บางท่านสันนิษฐานว่า ถ้าเป็นในส่วนของเรื่องราวที่มีการจารึกเป็นลายลักษณ์อักษร น่าจะเริ่มขึ้นเมื่อมีการแปลงานเขียนจากต่างประเทศ อย่างเร็วก็ในสมัยรัชกาลที่ 6 กระนั้นก็ไม่รับรองในส่วนของพฤติกรรมส่วนตัว

การจูบปากยังคงเป็นเรื่องส่วนตัวที่อาจมีการเลียนแบบ แต่ก็เฉพาะแวดวงแคบๆ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ได้สัมผัสกับวัฒนธรรมฝรั่ง เช่นไปศึกษาต่อต่างประเทศ ซึ่งเริ่มเป็นที่นิยมนับแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา

แต่ถ้าเป็นวิถีไทยแท้ๆ วัฒนธรรมการจูบไม่เคยมีในสังคมไทย อาจจะเพราะความถนัดของแต่ละชาตินั้นต่างกัน ไทยเรากลับถนัดใช้จมูกแทนปาก คือหอมไปทั่วตัว

ทว่า ก็เป็นเพียงการตั้งข้อสังเกตชวนถก (เถียง) เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างคนสองคนจะมีใครรู้ดีไปกว่าผู้สวมบทบาทเป็นไม่มี ต่อให้มีบุคคลที่สามแอบส่องตามช่องเล็กก็ตาม (ฮา)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


แก้ไขปรับปรุงในระบบออนไลน์ล่าสุดเมื่อ 20 ตุลาคม 2562