อังกฤษไม่เคย “เช่า” เกาะฮ่องกง 99 ปี แต่ (ใจดี?) ยกคืนให้จีนเอง

กวางตุ้ง เมืองชายทะเล จีนเรือรบ อังกฤษ ถล่ม สงครามฝิ่นครั้งที่ 2
กวางตุ้งเมืองชายทะเลของจีนถูกเรือรบอังกฤษถล่ม ขณะเกิดสงครามฝิ่นครั้งที่ 2-ภาพจาก ILLUSTRATED TIMES, 21 March 1857 (ภาพจากไกรฤกษ์ นานา)

หนึ่งในความเข้าใจผิดที่มักจะได้ยินบ่อยๆ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของฮ่องกงก็คือ สงครามฝิ่นคือสาเหตุที่ทำให้จีนต้องเสียเกาะ “ฮ่องกง” ให้กับอังกฤษในลักษณะของ “สัญญาเช่าเป็นระยะเวลา 99 ปี” คนไทยที่ผูกใจกับประวัติศาสตร์ “เสียดินแดน” มาก ก็มักจะเสียดายว่าทำไมไทย (หรือสยาม) ถึงไม่ทำสัญญาลักษณะนี้กับประเทศนักล่าอาณานิคมบ้างจะได้ไม่ต้อง “เสียดินแดน” หลายแห่งไปเป็นการถาวร

แต่ความเข้าใจดังกล่าว (อังกฤษเช่าเกาะฮ่องกง) เป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะที่จริงผลของสงครามฝิ่นครั้งที่ 1 (ค.ศ. 1839-1842) ซึ่งทำให้จีนต้องเสียเกาะฮ่องกงตามผลของสนธิสัญญานานกิงนั้น เป็นการเสียอธิปไตยโดยสิ้นเชิง ไม่มีการสงวนสิทธิที่จะได้เกาะฮ่องกงคืนอย่างที่หลายคนเข้าใจ ทั้งนี้ตามมาตรา 3 ของสนธิสัญญาฉบับนี้ ซึ่งมีความว่า

“It being obviously necessary and desirable that British subjects should have some port whereat they may [maintain] and refit their ships when required, and keep stores for that purpose, His Majesty the Emperor of China cedes to Her Majesty the Queen of Great Britain, &c., the Island of Hong-Kong, to be possessed in perpetuity by Her Britannic Majesty, her heirs and successors, and to be governed by such laws and regulations as Her Majesty the Queen of Great Britain, &c., shall see fit to direct.”

(“การที่บุคคลในบังคับของบริเตนควรต้องมีท่าเรือที่พวกเขาอาจใช้ในการ [ซ่อมบำรุง] ปรับปรุงเรือเมื่อถึงเวลาอันควร และเก็บเสบียงเพื่อการนั้น ถือเป็นความจำเป็นอย่างแจ้งชัด และเป็นสิ่งที่ควรปรารถนา สมเด็จพระจักรพรรดิจีนจึงได้มอบเกาะฮ่องกงให้กับสมเด็จพระราชินีแห่งบริเตนใหญ่ ฯลฯ เพื่อการครอบครองอย่างถาวรภายใต้พระราชอำนาจของพระองค์ สืบเนื่องไปถึงรัชทายาท และผู้สืบต่ออำนาจของพระองค์ และให้ปกครองตามกฎหมายและระเบียบตามที่สมเด็จพระราชินีแห่งบริเตน ฯลฯ เห็นสมควร”)

โดยผลของสนธิสัญญานี้ทำให้เกาะฮ่องกงตกเป็นของอังกฤษ (หรือบริเตน) อย่างถาวรแล้ว ไม่ใช่ว่า อังกฤษชนะสงครามฝิ่นแล้วจึงได้สิทธิในการเช่าเกาะฮ่องกงแต่อย่างใด

ต่อมาอีกสักราวยี่สิบปี ก็ได้เกิดสงครามฝิ่นรอบสอง (ค.ศ. 1856-60) คราวนี้จีนก็ต้องเสียดินแดนเพิ่มอีกในส่วนของคาบสมุทรเกาลูนและเกาะสโตนคัตเตอร์ส (Stonecutters Island) ตามอนุสัญญาปักกิ่งเพื่อยุติความขัดแย้ง ซึ่งก็เป็นการเสียอธิปไตยในดินแดนส่วนนี้อย่างสิ้นเชิงเช่นกัน

เมื่อต้องพ่ายแพ้ให้กับมหาอำนาจตะวันตก รวมถึงญี่ปุ่นมาอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลจีนที่อ่อนแอใกล้ล่มสลายเจอฝรั่งต่างชาติมากดดันเข้าหน่อยก็ต้องยอมยกประโยชน์ต่างๆ ให้แต่โดยดี อังกฤษเจ้าเก่าเห็นจีนยกดินแดนหลายส่วนให้มหาอำนาจอื่นแสวงประโยชน์แล้ว ก็กลัวจะน้อยหน้า (และกลัวภัยคุกคามต่อเกาะฮ่องกงจากมหาอำนาจอื่นด้วย) จึงได้เข้ามากดดันให้จีนต้องยอมยกดินแดนแถวๆ เกาะฮ่องกงเพิ่มเติมในส่วนที่เรียกว่า นิวเทอร์ริทรีส์ (New Territories) ในปี ค.ศ. 1898


พื้นที่สามส่วนของฮ่องกง (ภาพจากเว็บไซต์ Top China Travel)

จุดนี้เองที่ทำให้หลายๆ คนสับสนเรื่อง “สัญญาเช่า 99 ปี” เนื่องจากดินแดนที่อังกฤษได้มาคราวนี้ (ไม่ได้ผ่านการทำสงคราม) เป็นดินแดนที่อังกฤษเช่าโดยตกลงที่จะคืนให้กับจีนในอีก 99 ปีให้หลัง ซึ่งพื้นที่ตรงนี้มีขนาดใหญ่กว่าเกาะฮ่องกง หรือเกาลูนมาก โดยมีสัดส่วนเกือบ 90 เปอร์เซนต์ของพื้นที่ที่เป็นเขตปกครองซึ่งเรียกรวมกันว่า “ฮ่องกง” ทั้งหมด

ด้วยความที่พื้นที่ที่ต้องคืนตามสัญญามีขนาดใหญ่กว่าพื้นที่ที่อังกฤษได้มาโดยถาวรมาก และพื้นที่ทั้งสามส่วนที่รวมกันกลายเป็นฮ่องกงนั้นก็มีความเชื่อมโยงกันในแทบทุกกิจการจนแยกจากกันได้ลำบาก พอถึงเวลาที่อังกฤษจะต้องคืนนิวเทอร์ริทรีส์ให้กับจีน อังกฤษก็เลยตัดสินใจยกเกาะฮ่องกง และเกาลูนคืนให้พร้อมกันไปเลย

อธิบายแบบนี้อาจจะฟังดูง่ายๆ แต่กว่าจะได้ข้อสรุปเช่นนี้ ทั้งสองฝ่ายก็ต้องผ่านการเจรจาต่อรองกันมาอย่างยาวนาน จนกระทั่งได้มาซึ่งแถลงการณ์ร่วมของอังกฤษและจีนในปี ค.ศ. 1984 ถึงการจัดการฮ่องกงต่อไปหลังจากที่อังกฤษถอนตัวออกจากฮ่องกงในวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1997 ซึ่งการส่งมอบในครั้งนั้นเป็นไปอย่างราบรื่น

เกาะฮ่องกง (ภาพประกอบเนื้อหาจาก pixabay)

แต่เมื่อจีนพยายามควบคุมทิศทางการเมืองของฮ่องกงมาก แรงต่อต้านการแทรกแซงจีนโดยชาวฮ่องกงก็ได้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงจุดสูงสุดในปี ค.ศ. 2014 ซึ่งมีการประท้วงครั้งใหญ่เป็นระยะเวลายาวนาน ความเคลื่อนไหวก็ยังคงดำเนินอยู่ถึง ค.ศ. 2017 และปี ค.ศ. 2019-2020 จวบจนถึงปัจจุบันจะเห็นได้ว่าบทบาทของจีนในฮ่องกงมีอิทธิพลยิ่ง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 มิถุนายน 2560