ขวดน้ำแร่ที่เก่าสุดในนครศรีธรรมราช นักวิชาการตั้งข้อสังเกตเหตุที่โผล่สมัยอยุธยา

(ซ้าย) ชิ้นส่วนขวดที่พบ (ขวา) ภาพขวดสมบูรณ์ ภาพจาก Volker Thies สิทธิ์ใช้งาน CC BY-SA 3.0

ชิ้นส่วนขวดน้ำแร่นี้ขุดพบใต้ดินของตึกยาวบวรนคร ท่าวัง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ของนายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช ในชั้นดินสมัยอยุธยา ลึกลงไปจากพื้นผิวดินปัจจุบันประมาณ 60 เซนติเมตร โดยมีนายเตชสิทธิ์ แสนสุข (เชน) ควบคุมการขุดค้น และได้รับอนุญาตการขุดค้นจากกรมศิลปากร สาเหตุที่ขุดก็เพื่อพัฒนาพื้นที่ตรงนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ของเมืองนครในอนาคต

ก่อนหน้านี้ผมก็ตั้งข้อสังเกตว่า เศษภาชนะดินเผานี้คงเป็นของยุโรป แต่ไม่แน่ใจ เพราะไม่เคยเห็น แต่สาเหตุที่สรุปว่าเป็นขวดน้ำแร่ เพราะเมื่อวันก่อนหลังจากโพสต์ถามทางเพื่อให้รู้แน่ชัดว่าเป็นของสมัยไหนกันแน่นั้น ก็ได้หลายๆ ความเห็นจากมิตรสหาย

มีบางคนให้ความเห็นว่าเป็นเตาปะโอ จ.สงขลา ก็เกือบเชื่อเหมือนกัน แต่ก็ได้คุณอรรถสิทธิ์ สุขขำ ให้ความเห็นว่าเป็นของยุโรป เพราะเนื้อดินละเอียด แต่ยังไม่รู้ว่าผลิตจากที่ไหนกันแน่ จนเมื่อวานซืนคุณจักรพันธ์ เพ็งประไพ นักโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 12 กรมศิลปากร ส่งข้อมูลมาให้ พอเห็นภาพก็ถึงบางอ้อทันทีว่า ใช่แน่ๆ เป็นขวดน้ำแร่จากเยอรมัน และไม่เคยพบในเขตนครศรีธรรมราชมาก่อน ต้องขอบคุณทุกคนมากที่ช่วยให้ความเห็นจนไขปริศนานี้ได้

ชิ้นส่วนขวดใบนี้เป็นเนื้อ stoneware (เนื้อแกร่ง) ที่ไหล่ของขวดมีลายประทับในกรอบวงกลม รอบกรอบมีตัวอักษร T E R ซึ่งคำเต็มของทั้งสามตัวนี้คือ SELTERS (เซลเตอร์ส) ซึ่งในภาษาเยอรมันนั้นคำว่า Selters ก็แปลว่า น้ำแร่ และเป็นยี่ห้อด้วย (คำเต็มของคำว่าน้ำแร่ในภาษาเยอรมันคือ selterswasser ปัจจุบันชาวเยอรมันเรียกน้ำแร่ว่า mineralwasser)

ตรงกลางมีร่องรอยคล้ายส่วนหัวและขาของสัตว์ ซึ่งคือโลโก้รูปสิงโต ที่เป็นตราสัญลักษณ์ของยี่ห้อน้ำแร่นี้ ซึ่งผลิตที่เมือง Niederselters ทางตะวันตกของประเทศเยอรมัน

เพื่อนอาจารย์ผู้สอนภาษาเยอรมันอธิบายว่า น้ำแร่ยี่ห้อนี้รสชาติของน้ำแร่นี้ไม่เหมือนกับน้ำแร่ทั่วไป แต่มีความซ่าแบบโซดา เพราะอัดก๊าซเข้าไปด้วย

อาจารย์คงกฤช พุกกะมาน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ตราสิงห์นั้นคือ ตราประจำรัฐเฮสเซน (Hesse) ในเยอรมันที่เขตผลิตน้ำแร่นี้นั่นเอง

ภาพข้างล่างนี้ผมลองทำจะได้เห็นภาพกันง่ายขึ้น ซ้ายมือเป็นชิ้นส่วนของขวดที่พบ ขวามือเป็นภาพขวดสมบูรณ์จากวิกิพีเดีย ซึ่งเป็นขวดในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ขอใช้ไปพลางๆ ก่อน โดยขวดที่ขุดพบที่นครศรีธรรมราชนี้คาดว่าอายุราวคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งได้รับข้อมูลยืนยันจากนักโบราณคดีเยอรมัน (อายุของขวดนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงอีก คงต้องวิเคราะห์ต่อ)

(ซ้าย) ชิ้นส่วนขวดที่พบ (ขวา) ภาพขวดสมบูรณ์ ภาพจาก Volker Thies สิทธิ์ใช้งาน CC BY-SA 3.0

ข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตระบุว่า น้ำแร่นี้ผลิตบรรจุขวดส่งออกจำนวนมากมายมหาศาลในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 18 คาดกันว่าส่งออกไปขายทั่วโลกราวๆ 1 ล้านขวดกันเลยทีเดียว

น้ำแร่ขวดนี้มาที่นครฯ ได้อย่างไร?

เป็นไปได้ว่าในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลายที่การค้าเจริญรุ่งเรือง พ่อค้าของบริษัทการค้าของฮอลันดา (VOC) และโปรตุเกสคงนำเข้าน้ำแร่มาดื่มด้วย เพราะลูกจ้างในบริษัททั้งสองนี้มีชาวเยอรมันรวมอยู่ด้วย แต่ก็แอบคิดเล่นๆ ว่าหรือเป็นนายแพทย์แกมเฟอร์ ชาวเยอรมันที่เดินทางเข้ามาในกรุงศรีอยุธยากันนะที่พกติดตัวมาด้วย แค่คิดเล่นๆ แต่ไม่มีหลักฐานเชื่อมโยงกับท่าน

ปล. เพิ่งมีคนแจ้งมาว่าเคยพบขวดแบบนี้ที่ชนะสงครามด้วย กำหนดอายุสมัย ร.1 แต่ของทางนครศรีธรรมราชนี้เก่ากว่า (ได้รับการยืนยันจากนักโบราณคดีเยอรมัน ขอบใจคุณพิมพ์ชนก พงษ์เกษตรกรรม) แสดงว่า พวกฝรั่งตั้งแต่อยุธยาตอนปลายถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้นดื่มน้ำแร่อัดโซดามาตลอด คงไม่ต่างจากดื่มน้ำอัดลม

 

คลิกอ่านเพิ่มเติม : กำเนิด “โคคา-โคลา” ต้นโคคา สู่น้ำหวาน ใครคือต้นคิดน้ำดำอมตะ? เขารวยแบบที่คิดจริงหรือ?


หมายเหตุ: เนื้อหานี้คัดมาจากเฟซบุ๊ก Pipad Krajaejun เขียนโดย ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ เผยแพร่เมื่อ 30 พฤษภาคม 2564 ได้รับอนุญาตให้นำมาเผยแพร่ต่อแล้ว (จัดย่อหน้าใหม่โดยกองบรรณาธิการ)