ย้อนอ่านบทสัมภาษณ์ อ. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ครั้งดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาตร์

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ พลิกโฉมหน้าธรรมศาสตร์ : ฉีกภาพการเมือง เพิ่มพลังด้านศิลปวัฒนธรรม สร้างภูมิปัญญา และภูมิธรรมสู่สังคม

ริมฝั่งเจ้าพระยา ท่าพระจันทร์ แม่โดมยังคงยืนอวดโฉมตระหง่าน ท้าทายแดดลมและสายฝนอย่างทระนง เหมือนชีวิตที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมายาวนาน เคียงคู่มากับการเจริญเติบโตอย่างมั่นคงและแข็งแรงของต้นหางนกยูง ที่ยืนต้นเจริญวัยรายล้อมแม่โดมมาเนิ่นนานด้วยเช่นกัน

บนเนื้อที่ 50 ไร่ สีเหลืองแดงของดองหางนกยูงยังคงความสดใส ชูช่อเบ่งบานโดดเด่นอยู่เช่นเดิมแม้เวลาจะผ่านล่วงมาแล้วถึง 60 กว่าปี

สิ่งเหล่านี้คือสัญลักษณ์ที่หล่อหลอมความรู้สึกจิตวิญญาณของคนแปลกหน้าที่เดินทางเข้ามาสู่อ้อมกอดของแม่โดมอย่างมาดมั่น เพื่อจะร่วมกันสังสรรค์และผดุงรักษาไว้ซึ่งความเป็นธรรมความถูกต้องให้คงอยู่ในสังคมตามครรลองและวิถีประชาธิปไตย

อุดมการณ์ของลูกโดมทั้งหลายจึงเป็นหนึ่งเดียวกันเหมือนที่สะท้อนออกมาเป็นภาษากวีว่า สิ่งเหล่านี้ที่โดมโหมจิตข้า ให้แกร่งกล้าเดือนปีไม่มีหวั่น หากขาดโดม เจ้าพระยา ท่าพระจันทร์ ก็ขาดสัญลักษณ์ พิทักษ์ธรรม

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สถาบันอุดมศึกษาแห่งที่ 2 ของประเทศไทย มีวิวัฒนาการมาพร้อม ๆ กับวิวัฒนาการทางด้านการเมืองการปกครองของประเทศ การดำรงอยู่ในท่ามกลางความผันผวนของสังคมและการเมือง ทำให้สถาบันการศึกษาแห่งนี้เป็นชนวนจุดประกายความคิด จนกลายเป็นพลังขับเคลื่อนที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงเสมอมา

ความเป็นมหาวิทยาลัยที่เสนอทางเลือกและให้ภูมิปัญญากับสังคมอย่างสร้างสรรค์เป็นความโดดเด่นในความเป็นเลิศกับภารกิจหลักของสถาบันอุดมศึกษาแห่งนี้ แต่กระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกและสังคมที่หลากไหลเข้ามาจากทุกสารทิศ รวมถึงการแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตายของโลกทุนนิยมในยามนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ไม่อาจที่จะทนทานต่อกระแสความเปลี่ยนแปลงที่เชี่ยวกรากนี้ได้

ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ริมฝั่งเจ้าพระยาแห่งนี้จึงเริ่มพลิกเป็นบทใหม่ด้วยการเปิดคณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ ซึ่งจะเป็นการสนองภารกิจหลักอีกด้านหนึ่งของมหาวิทยาลัยคือ การให้บริการทางวิชาการแก่สังคม แต่การเปลี่ยนแปลงทิศทางการเดิน รวมถึงปรัชญาของการผลิตบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ใหม่ครั้งนี้นำมาซึ่งข้อครหา และการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง ทั้งจากเหล่าบรรดาลูกโดมทั้งหลายและจากประชาชนทั่วไป

เหตุผลของผู้บริหารมหาวิทยาลัยในขณะนั้นที่ปรับเปลี่ยนปรัชญาจากเดิมที่เคยยึดถือกันมาตลอดนั้น เพราะคิดว่าการบริหารทางวิชาการแก่สังคม การวิจัย หรือการผลิตบัณฑิต ถ้าไม่สอดคล้องกับความต้องการของสังคมแล้วถือเป็นการล้มเหลวของการปฏิบัติภารกิจของสถาบันอุดมศึกษาด้วยเช่นกัน

มาถึงวันนี้ วันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เปิดโฉมหน้าใหม่พร้อม ๆ ไปกับการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารชุดใหม่อีกวาระหนึ่งด้วย

ทุกคนคงได้เห็นวิธีการและการได้มาซึ่งตำแหน่งสูงสุดของมหาวิทยาลัยแห่งนี้คือ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ คงจะเป็นภาพสะท้อนวิถีทางประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ที่ไม่แตกต่างจากวิถีทางประชาธิปไตยของการเมืองระดับประเทศเลยแม้แต่น้อย อย่างไรก็ตาม การที่ประชาคมธรรมศาสตร์มอบความไว้วางใจให้กับ อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ คณบดีคณะศิลปศาสตร์ ลูกหม้อคนสำคัญของแม่โดมคนนี้นั้นเป็นการบอกถึงความต้องการอะไรบางอย่างของประชาคมธรรมศาสตร์ที่จะเกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัยในยุคนี้ ความสามารถที่โดดเด่นของอาจารย์ชาญวิทย์ทั้งในด้านสังคมศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และรัฐศาสตร์ซึ่งเป็นศาสตร์สคัญพื้นฐานของสถาบันอุดมศึกษานี้ จึงน่าจะเป็นความสอดคล้องและเหมาะสมที่อธิการบดีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในยุคโลกานุวัตรจะพึงมีคุณสมบัติในลักษณะดังกล่าวนี้

ผมเชื่อในหลักการขององค์ประกอบ 3 ด้านของการศึกษา คือหากเราสร้างปฏิสัมพันธ์ของศาสตร์ 3 ประสาน คือ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีให้เป็นหลักการใหม่และเป็นที่ยอมรับของประชาคมธรรมศาสตร์ขึ้นมาได้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เราจะก้าวไกล นำสังคมไปในทิศทางที่มีทั้งความเจริญทางเทคโนโลยี ในขณะเดียวกันก็รักษาลักษณะของสังคมและวัฒนธรรม ที่เป็นรากเหง้าของความเป็นไทยและความเป็นธรรมศาสตร์ไว้ได้ มีทั้งภูมิปัญญาที่เป็นสากลและภูมิปัญญาของไทยเราเอง ผมคิดว่านี่แหละคือผลงานสำคัญของชาวธรรมศาสตร์ในสังคมใหม่ เหมือน กับที่ได้ฝากผลงานของการสร้างเสริมประชาธิปไตย รักความเป็นธรรม และมีความคิดอิสระตลอดมา อาจารย์ชาญวิทย์กล่าวถึงแนวนโยบายของการบริหารอันเป็นทิศทางใหม่ของมหาวิทยาลัยในสังคมใหม่

แม้ว่าอาจารย์ชาญวิทย์จะเป็นนักวิชาการด้านศิลปศาสตร์สนใจศึกษาและหวงแหนด้านศิลปวัฒนธรรมอย่างมาก แต่ความสนใจของท่านก็มิได้ปฏิเสธวัฒนธรรมใหม่วิถีชีวิตแบบใหม่ที่มาพร้อมกับความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ซึ่งความคิดเช่นนี้จะเป็นที่วิตกกังวลให้กับประชาคมธรรมศาสตร์บางกลุ่ม

ธรรมศาสตร์คงหลีกเลี่ยงกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกไม่พ้น ในแง่ของความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มันอยู่ที่ว่าการเปลี่ยนแปลงอันนี้ เรามีขอบเขตขีดจำกัดแค่ไหน อันนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะปัจจุบันเป็นโลกที่เราจะต้องอยู่กับวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีก้าวหน้า ดังนั้นธรรมศาสตร์จะเดินทางไปในทิศทางนั้นได้อย่างไรโดยที่ไม่สูญเสียความเป็นตัวของตัวเองที่มีมาตั้งแต่ต้น ขณะเดียวกันก็ไม่ล้าหลัง อันนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก คือเป็นเรื่องที่มนุษย์จะต้องเผชิญกับมันและรักษาตัวเองให้อยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในสังคมนี้มันเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก ไม่ใช่เรื่องปัญหาที่จะออกมาเป็นขาวหรือดำ

ถ้าเราไม่เอาของใหม่เลย มันก็ไม่ได้ ดังนั้นโดยรวมแล้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ตัดสินใจแล้วว่าจะเลือกทางเดินอันนี้ในแง่ที่ว่าต้องการให้มี 3 ประสาน คือ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ในแง่วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีนั้น เราพยายามทำให้มีลักษณะพิเศษเด่นเฉพาะของธรรมศาสตร์ เช่นเรื่องการตั้งคณะวิทยาศาสตร์ ตอนแรกนั้นเราพูดกันถึงวิทยาศาสตร์ประยุกต์ที่เอาไปใช้กับชีวิตในโลกสมัยใหม่ได้ ในด้านการแพทย์ก็มีลักษณะของการรับนักศึกษาแพทย์ที่ต่างจากมหาวิทยาลัยอื่น คือไม่รับนักศึกษาแพทย์จากมัธยมศึกษา แต่จะรับคนที่จบปริญญาแล้วมาเรียน ดังนั้นแพทย์ของธรรมศาสตร์จึงค่อนข้างจะเป็นผู้ใหญ่ เราเปิดมาแล้ว 4 ปีและมีลักษณะการเรียนที่เรียกว่า P.B.L.คือ Problem base learning หมายความว่าเรียนจากปัญหาจริงที่เกิดขึ้นจากชุมชน หรือการเรียนจากกรณีที่เกิดขึ้นจริง ๆ ได้สัมผัสกับผู้คนให้มากที่สุด เราให้แพทย์ของธรรมศาสตร์นั้นเรียนรู้เกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บ และรู้เกี่ยวกับโลกของมนุษย์ด้วย

อาจารย์ชาญวิทย์ยืนยันว่าศาสตร์ที่ว่าด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีนั้น มีการเรียนการสอนมานานแล้วในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่ปี 2505 เพียงแต่แฝงอยู่ในคณะศิลปศาสตร์ เช่น วิชาคณิตศาสตร์ สถิติ เป็นต้น จึงเท่ากับว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีพื้นฐานอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ความโดดเด่นทางด้านสังคมศาสตร์ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ก็ยังเป็นที่ห่วงกังวลกันอยู่เหมือนกันว่าจะโดดเด่นเหมือนเช่นเคยหรือไม่ เพราะเมื่อต้องทุ่มงบประมาณ และกำลังคนให้กับศาสตร์ที่เปิดใหม่มากเป็นพิเศษ

ผมคงให้คำยืนยันถึงคุณภาพของสายสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์คงไม่ได้ แต่คงต้องดูผลผลิตของเรา เพราะถ้ายืนยันไปแล้วถ้ามันไม่จริงก็ไม่มีประโยชน์ที่จะพูด ต้องดูจากผลผลิต ดูบัณฑิตของธรรมศาสตร์ ดูจากบทบาทของชาวธรรมศาสตร์ทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และด้านศิลปวัฒนธรรมที่ผ่านมาดีกว่า

หลักการ 3 ประสานระหว่างศิลปวัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีมันเป็นหลักการที่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเหมือนกับความพยายามที่จะเอาน้ำมาผสมกับน้ำมัน

ถ้าจะอธิบายในรูปธรรมของหลักการประสานที่ผมว่า มันจะอยู่ที่หลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอนมากกว่า ตอนนี้มันเป็นจังหวะดีที่ต้องปรับปรุงหลักสูตรพอดี ซึ่งผู้บริหารของมหาวิทยาลัยได้มีการเวียนพูดคุยกับคณาจารย์คณะต่าง ๆ แล้วในเรื่องของหลักปรัชญาของมหาวิทยาลัยว่าเรากำลังจะสร้างคนที่มีความรู้ที่ประสานวิทยาการต่าง ๆ ให้ได้

แต่ข้อพึงระวังของอาจารย์ชาญวิทย์ คือการที่อาจารย์ผู้สอนเผอเรอสอนเจาะลึกในเฉพาะเรื่อง เฉพาะสาขาเป็นพิเศษ โดยไม่ได้ให้มองในความกว้าง จึงกลายเป็นการสร้างบัณฑิตที่เหมือนเป็นม้าแข่งเฉพาะลู่ของตัวเอง และเป็นม้าแข่งที่มีกะบังปิดไว้โดยมองไม่เห็นว่ามีอะไรที่อยู่รอบข้างบ้าง


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 27 มิถุนายน 2562