ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2554 |
---|---|
ผู้เขียน | ติ๊ก แสนบุญ เขียนรูปและเล่าเรื่อง |
เผยแพร่ |
พัฒนาการ “ทวารบาล” บริเวณ “เชิงบันได” สิ่งคุ้มครองปกปักรักษาบ้านเมืองในไทย อีสาน
ในบริบทสังคมวัฒนธรรมหนึ่ง ๆ ต้องมีพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นที่อยู่สิงสถิตแห่งพลังอำนาจเหนือธรรมชาติที่จักคุ้มครองป้องกันภัย อย่างในวิถีสังคมเก่าแต่ละชุมชนก็จะมี โขลนทวาร หรือเป็นลักษณะที่เรียกว่า ชื่อบ้าน อยู่บริเวณปากประตูทางเข้าออกของผู้คนในหมู่บ้านที่เป็นเสมือนปราการด่านแรกที่เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกสถานภาพถึงความมีตัวตนอยู่ของกลุ่มบุคคลหรือสังคมชุมชนนั้น ๆ
แน่นอนว่าต้องมีผู้อารักษ์ หรือคุ้มครองดูแลความปลอดภัยให้กับกลุ่มชนสังคมวัฒนธรรมนั้นๆ ทั้งในโลกแห่งความเป็นจริงที่เป็นคนจริง ๆ และในโลกแห่งจินตนาการความเชื่อที่อาศัยรูปสัญลักษณ์บางอย่าง ที่คนในและคนนอกจักต้องให้ความเคารพยำเกรง โดยแสดงออกผ่านรูปสัญลักษณ์ในเชิงช่างและเรื่องเล่าหรือประเพณีแห่งพิธีกรรมต่าง ๆ เพื่อสื่อสารกับผู้ที่เข้ามาสัมผัสเกี่ยวข้องไม่ทางตรงก็ทางอ้อม อย่างที่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ในหนังสือสาส์นสมเด็จ ที่ว่า
“…มนุษย์ย่อมต้องมีเครื่องป้องกันภัย อย่างต่ำมีประตูบ้านเรือน ต่อขึ้นมาจนถึงการเลือกสรรคนกล้าแข็งรักษาประตู ต่อขึ้นมาถึงผู้เป็นอัจฉริยบุรุษ อาจจะหัดสัตว์ร้ายให้รักษาประตูได้ มูลเหตุอันนี้เอง ที่เลยมาเป็นรูปภาพ ถึงแต่ชื่อสิงห์ก็นับว่าเป็นเกียรติยศสูง…”
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าพื้นที่ทางเข้าออกทั้งในระดับบ้านและชุมชนหรือในระดับเมือง ได้ก่อเกิดเป็นงานช่าง อย่างที่เป็นรูปอารักษ์ที่ทำหน้าที่คุ้มครองป้องกันภัยอันตราย หรือที่ถูกเรียกขานต่อมาว่า ทวารบาล โดยในงานช่างไทยส่วนใหญ่จะนึกถึง เซี่ยวกาง
ในมิติความหมายทางภาษา มีคำอธิบายในหนังสือสาส์นสมเด็จ กล่าวว่า เซี่ยวกาง น่าจะมาจากคำว่า จรีกาง หรือ จารีกาง นอกจากนี้ อาจารย์เฉลิม ยงบุญเกิด สันนิษฐานว่า น่าจะมาจากภาษาจีนแต้จิ๋ว คือ คำว่า เซ่ากัง แปลว่า ยืนยาม ตู้ยาม ซุ้มยาม แต่คำว่าเซี่ยวกาง นิยมใช้เรียกแทนรูปลักษณะของทวารบาลที่มีรูปแบบศิลปะแบบจีนและโดยเฉพาะที่เป็นรูปลักษณะอย่างมนุษย์ ที่นิยมสร้างสรรค์อยู่บริเวณโถงบันไดทางขึ้นหรือสร้างอยู่ข้าง ๆ ประตูทางเข้าออกช่องบันได
ซึ่งวัฒนธรรมหลวงเรียกงานช่างส่วนนี้ว่า พลสิงห์ หรือบันไดพลสิงห์ ที่หมายถึงพนักบันไดที่ใช้เทคนิคการก่อสร้างแบบก่ออิฐถือปูนโดยมีการตกแต่งส่วนที่เป็นพนักด้านข้างของตัวขั้นด้วยปูนปั้นหรือบ้างก็ใช้การตกแต่งเพียงเส้นขอบรอบนอกแบบเรียบ ๆ ธรรมดาหรือทำเป็นปูนปั้นรูปสัตว์สัญลักษณ์ต่าง ๆ เช่น พญานาค หัวสิงห์ เป็นต้น
ในบริบทวัฒนธรรมไทย-ลาวชาวอีสาน อาณาบริเวณบันไดทางขึ้นศาสนาคารต่าง ๆ ก็มีวัฒนธรรมการสร้างสรรค์เช่นกันภายใต้กรอบแนวคิด ทวารบาลคติ ด้วยรูปแบบที่มีเอกลักษณ์อย่างศิลปะพื้นบ้านพื้นเมืองอีสาน โดยสะท้อนให้เห็นถึงโลกทรรศน์แห่งรสนิยมการแสดงออกในเชิงช่างของคนอีสานโบราณ โดยปรากฏเป็นรูปลักษณะต่าง ๆ ตามสายสกุลช่าง คือ 1. กลุ่มช่างชาวบ้าน 2. กลุ่มช่างพื้นเมืองที่รับอิทธิพลจากช่างหลวง และ 3. กลุ่มสกุลช่างญวน
โดยทั้ง 3 กลุ่มได้สร้างสรรค์นฤมิตกรรมออกแบบเป็นรูปลักษณะต่าง ๆ ดังนี้ คือ กลุ่มรูปสัตว์แบบเหมือนจริงและแบบที่มีการเลียนแบบรูปลักษณะในโลกแห่งจินตนาการอย่างสัตว์หิมพานต์ที่มีการผสมผสานกันของสัตว์หลากหลายชนิด ที่ปรากฏอยู่ในวรรณคดีอันประกอบด้วย พญานาค ซึ่งถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์อันดับหนึ่งของการถูกนำมาสร้างสรรค์ ภายใต้กรอบแนวคิดเรื่องนาคาคติที่สืบทอดคตินี้มาจากลัทธิบูชางู โดยพบอยู่ทุกกลุ่มสกุลช่างโดยมีรูปแบบที่เป็นไปตามจินตนาการ
รองลงมาได้แก่ จระเข้ มกร หรือ ตัวเหราคายนาค ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กับวัฒนธรรมความเชื่อกับเทพเจ้าหลายองค์ แต่ทั้งหมดล้วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับน้ำ โดยถูกนำไปใช้เป็นสัตว์สัญลักษณ์ที่เป็นพาหนะของเทพเจ้าที่เกี่ยวกับน้ำ โดยรัชกาลที่ 6 ทรงอธิบายว่า มกร คือ เหรา (ส.พลายน้อย, สัตว์หิมพานต์. 2532, น. 224.)
โดยกลุ่มช่างชาวบ้านยังมีการนำสัตว์อย่างตัวแลนหรือตะกวด (โดยคำว่า แลน นี้เป็นคำลาว ตะกวด เป็นคำ เขมร) ที่เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ในวัฒนธรรมสุวรรณภูมิและเป็นสัตว์สัญลักษณ์อย่างหนึ่งของความอุดมสมบูรณ์ รวมถึงตามประวัติชาดก 500 พระชาติของพระพุทธเจ้าก็เคยเสวยพระชาติเป็นแลน หรือตะกวดมาก่อน (สุจิตต์ วงษ์เทศ หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันพุธที่ 15 กรกฎาคม 2552) ดังที่ปรากฏอยู่ที่วัดราสิยาราม เมืองอำนาจเจริญ เป็นต้น
และที่น่าสนใจที่ถือได้ว่าเป็นสีสันของช่างอีสานอย่างหนึ่งที่จะหลงลืมไม่ได้เลย คือ กลุ่มช่างญวนที่นำเอารูปแบบศิลปะรสนิยมอย่างจีนมาผสานกับความเป็นลาวชาวอีสาน หรือที่เรียกว่า ศิลปะอย่างเจ๊กปนลาว โดยสัตว์ที่พบตามเชิงบันไดได้แก่ นาคที่มีลักษณะอย่างรูปมังกร หมา เสือ สิงห์ ม้า ช้าง สิงโตจีน ตัวมอม ซึ่งทั้งหมดล้วนมีความหมายในเรื่องความเป็นมงคลและพลังอำนาจที่จะปกป้องคุ้มครองเป็นกรอบแนวคิดหลัก
หรือจะเป็นรูปอย่างมนุษย์หรือเทพอารักษ์ เช่น ทหารยาม แขกยาม เซี่ยวกาง ซึ่งเป็นที่นิยมใน อีสาน ยุคสมัยหลังการปฏิรูปการปกครองตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยรูปทวารบาลทหารได้ปรากฏอยู่ตามงานช่างฝีมือช่างญวน (รวมถึงงานฮูปแต้ม) ทั้งแบบปูนปั้นนูนต่ำ นูนสูง จนถึงประติมากรรมลอยตัวที่ทำเป็นรูปทหารยืนถือปืนอยู่ตามเชิงบันได บ้างก็ใช้เทคนิคการเขียนสี อย่างตัวอย่างที่พบอยู่ที่เชิงบันไดหอแจกเก่า วัดหนองมะนาว เมืองอุบล และที่โดดเด่นมากคือกลุ่มทวารบาลสกุลช่างญวนที่เชิงบันไดสิม วัดเซเป็ด เมืองอุบล
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าถ้ามองในแง่ของพัฒนาการทางศิลปะกับสังคมในวิถีสังคมในอดีต พบว่าดินแดนอีสานนั้นมีความเป็นตัวของตัวเองสูงมาก และเช่นกันก็มีการปรุงปรับดัดแปลงยอมรับความเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทเงื่อนไขโดยมีพลังต่อรองของท้องถิ่นสังคมชุมชนที่เข้มแข็งบนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเอง จนก่อเกิดงานช่างที่แปลกและแตกต่างจากวัฒนธรรมอื่น ๆ ด้วยเพราะมีวิถีอย่างชาวบ้านเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก
ดังนั้น รูปรอยที่ปรากฏอยู่ที่พนักเชิงบันได ไม่ว่าอยู่ในวัฒนธรรมหลวง หรือวัฒนธรรมชาวบ้าน ล้วนแล้วแต่มีเป้าประสงค์อย่างเดียวกันที่จะแสดงถึงการ กระชับพื้นที่ จำกัดอำนาจในเชิงสัญลักษณ์ แก่อาคันตุกะผู้มาเยือน ที่ต้องจำกัดปริมาณอำนาจแห่งอัตตาที่มีอยู่ในตัวตนให้ลดน้อยถอยลง และอีกนัยยะหนึ่งก็แสดงให้เห็นว่าพื้นที่นั้น ๆ มีความปลอดภัย ที่จะช่วยคุ้มครองป้องกันตนเองจากเภทภัยต่าง ๆ
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าแม้โลกแห่งวิทยาศาสตร์จะก้าวหน้ามากเพียงไร แต่มนุษย์ยังคงต้องพึ่งพาอาศัยอำนาจทางจิตวิญญาณเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ เรียกความเชื่อมั่นที่โลกสมัยใหม่ อย่างสังคมวิทยาศาสตร์ไม่สามารถให้มนุษย์ได้ โดยแสดงผ่านปรากฏการณ์ความเชื่อต่าง ๆ ที่จะทำให้มนุษย์ยำเกรงในรูปของผี ทั้งฝ่ายดี และฝ่ายเลว
อ่านเพิ่มเติม :
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 สิงหาคม 2565