“อินทรชิตดูดนมนางมณโฑ” และภาพกาก เกร็ดน่ารู้ในวัดพระแก้ว ที่ไม่ได้มีแค่พระแก้วมรกต

"วัดพระแก้ว" หรือ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (ภาพจากหนังสือ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก)

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือที่เรียกกันติดปากว่า “วัดพระแก้ว” ถือเป็นวัดสำคัญระดับประเทศและมีชื่อเสียงระดับโลก เมื่อนึกถึงวัดแห่งนี้ ภาพที่ตามมาย่อมเป็น พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือ “พระแก้วมรกต”

งานศึกษาเชิงวิชาการเกี่ยวกับพระแก้วมรกตตลอดหลายปีที่ผ่านมาปรากฏการรวบรวมบันทึกหลักฐาน เรื่องเล่าเชิงตำนาน และข้อมูลรูปแบบอื่นๆ ที่อธิบายความเป็นมาจนถึงคติความเชื่ออันเกี่ยวข้องกับพระแก้วมรกตมาแล้วมากมาย ความสำคัญของพระแก้วมรกตเป็นเรื่องปฏิเสธไม่ได้อย่างแน่นอนในบริบทสังคมไทย พระแก้วมรกต ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งคนส่วนใหญ่จดจำกันได้ดี แต่นอกเหนือจากความสำคัญของพระแก้วมรกตแล้ว วัดแห่งนี้ยังมีมุมอื่นที่น่าสนใจอีกมาก

พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือ “พระแก้วมรกต” พระประธานในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามในพระบรมมหาราชวัง

การเปลี่ยนแปลงภายใน “วัดพระแก้ว”

เมื่อปี พ.ศ. 2326 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นสำหรับเป็นพระอารามหลวงในพระบรมมหาราชวัง เป็นวัดที่มีแต่ส่วนพุทธาวาสเท่านั้น เวลาต่อมา พระองค์ยังทรงมีพระราชศรัทธา โปรดเกล้าฯ สถาปนาอาคารต่างๆ ในพระอาราม อาทิ พระเจดีย์ทอง 2 องค์ สร้างอุทิศถวายพระราชบิดาและพระราชมารดา ไปจนถึงสร้างที่ประดิษฐานพระไตรปิฎกใหม่ในตำแหน่งเดิมภายหลังจากหอพระมณเฑียรธรรมถูกเพลิงไหม้ไป การสถาปนาอาคารเหล่านี้ล้วนสะท้อนถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ซึ่งบอกเล่าความเป็นไปในสังคมยุคนั้นแก่คนรุ่นหลังได้

ในบันทึกของ คาร์ล บ็อค ( Cark Bock) นักภูมิศาสตร์ชาวนอร์เวย์ที่เข้ามาสำรวจทางภูมิศาสตร์ของไทยในปีพ.ศ. 2424 เขียนบันทึกเล่าในหนังสือ Temples and Elephants ซึ่ง เสฐียร พันธรังษี และอัมพร ทีขะระ ถอดความเรียบเรียงได้ว่า

“พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงเริ่มสร้างอาราม[วัดพระแก้ว]อันงามเลิศนี้ขึ้น ถวายแด่พระแก้วมรกต เพื่อเป็นศรีสง่าแก่พระนคร เป็นเครื่องแสดงบุญญาธิการของพระองค์ และเป็นงานชิ้นพิเศษ ที่แสดงพระราชศรัทธาในพุทธศาสนา…”

คลิกอ่านเพิ่มเติม : รัชกาลที่ 5 ทรงเร่งสร้าง “วัดพระแก้ว” ให้เสร็จทันฉลองกรุง 100 ปี

ในสมัยรัชกาลที่ 3 พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ตกแต่งลานวัด จึงปรากฏการก่อภูเขา ทำแท่นที่นั่ง กระถางต้นไม้ และตั้งตุ๊กตาหินต่างๆ ประดับพระอาราม ดังที่เห็นได้ในปัจจุบัน ในสมัยรัชกาลที่ 3 นี้เองที่มีปั้นยักษ์ยืนประตูจำนวน 6 คู่หันเข้าหาพระอุโบสถ ไม่เพียงเท่านั้น ยังปรากฏการปฏิสังขรณ์พระอารามและทรงสร้างพระพุทธรูปรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2 ประดิษฐานในพระอุโบสถ และสร้างเครื่องทรงพระแก้วสำหรับฤดูหนาวเพิ่มด้วย

ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวัดพระแก้วเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยพระองค์มีพระราชประสงค์สร้างพระอุโบสถใหม่ เนื่องจากพระองค์ทรงเห็นว่า พระอุโบสถที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตอยู่ต่ำกว่าพระมณฑปที่ประดิษฐานพระไตรปิฏก ดังนั้นแล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “พระพุทธปรางค์ปราสาท” ตรงบริเวณหน้าพระมณฑปเพื่อประดิษฐานองค์พระแก้วมรกต และสร้างพระเจดีย์ เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

นอกจากนี้ ในสมัยรัชกาลที่ 4 ยังโปรดเกล้าฯ ให้ถ่ายแบบจำลองนครวัดจากกัมพูชา นำมาสร้างถวายเป็นพุทธบูชาและให้ประชาชนได้ชมกันว่าเป็นของแปลกน่าสนใจ ดังที่ปรากฏเห็นกันมาตลอด

เมื่อลองย้อนกลับมาเปิดบันทึกของคาร์ล บ็อค นักภูมิศาสตร์ที่กล่าวถึงแล้วในข้างต้น ยังปรากฏเนื้อหาเล่าสภาพในสมัยรัชกาลที่ 5 อีก โดยตามสำนวนการเรียบเรียงของ เสฐียร พันธรังษี และอัมพร ทีขะระ ถอดความได้ว่า ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสวยราชสมบัติ มีการให้คําปฏิญาณว่า จะสร้างวัดให้สําเร็จเมื่อวันอังคาร ตรงกับวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2422 และมีการเริ่มกันใหม่ในระยะเดือนต่อไปจนสําเร็จเรียบร้อยลง เมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2425 ซึ่งเป็นระยะเวลาถึง 2 ปี 3 เดือน 20 วัน ราวกับว่างานใหญ่ๆ เช่นนี้ เตรียมไว้ให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเท่านั้น ทั้งพระองค์ยังต้องใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และต้องอาศัยกําลังร่วมมือของบรรดาผู้ที่ได้รับมอบให้ไปปฏิบัติงานอย่างกะทันหันเพื่อสร้างวัดพระแก้วให้สําเร็จทันวันฉลองพระนครครบร้อยปี เพื่อเป็นสวัสดิมงคลแก่บ้านเมืองสืบไป

ภายหลังจากสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ล้วนโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะปฏิสังขรณ์สิ่งปลูกสร้างต่างๆ ภายในวัด และในอีกส่วนหนึ่ง พอจะกล่าวได้ว่า ทุกๆ 50 ปีจะปรากฏการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่เกิดขึ้น

แม้จะมีการปฏิสังขรณ์เกิดขึ้นหลายครั้ง แต่บางแห่งยังปรากฏร่องรอยที่สะท้อนเหตุการณ์ในอดีตได้ อาทิ เหตุเพลิงไหม้บุษบกซึ่งรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมใหม่ เมื่อพ.ศ. 2350 ให้ซ่อมให้ทันฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดารามในปลายรัชกาล ซึ่งจากการศึกษาของรองศาสตราจารย์ หม่อมราชวงศ์ แน่งน้อย ศักดิ์ศรี (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น) ระบุไว้ว่า ร่องรอยไฟไหม้ครั้งนั้นยังปรากฏให้เห็นที่ไม้แกนของบุษบก เมื่อครั้งซ่อมใหญ่หลังฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี เมื่อพ.ศ. 2525

ปราสาทนครวัดจำลอง บนฐานไพทีข้างพระมณฑป วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

จิตรกรรม “รามเกียรติ์” และ “ภาพกาก”

ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งอันสืบเนื่องมาจากการบูรณะปฏิสังขรณ์ หรือการสร้างเพิ่มเติมในแต่ละสมัย กรณีหนึ่งที่สามารถยกมากล่าวถึงเป็นตัวอย่างได้คือกรณีการสร้างพระระเบียง

พระระเบียงในวัดพระแก้วมีรูปแบบเป็นอาคารโอบล้อมอาคารทุกหลังที่อยู่ภายในวัด แตกต่างจาก “พระระเบียง” โดยทั่วไปซึ่งมักสร้างล้อมพระสถูป พระเจดีย์ หรือพระวิหาร พระระเบียงในวัดพระแก้ว ถูกสร้างแบบโอบล้อมทุกอาคารเพื่อให้แยกจากเขตพระราชฐานของพระบรมมหาราชวัง (ยกเว้นพระปรางค์ 6 องค์ทางทิศตะวันออก)

ไม่ปรากฏหลักฐานว่าพระระเบียงแห่งวัดพระแก้วสร้างขึ้นในสมัยใด งานวิจัยของรศ. หม่อมราชวงศ์ แน่งน้อย ศักดิ์ศรี (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น) ระบุข้อสันนิษฐานไว้ว่า รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นพร้อมกับพระอุโบสถและหอพระมณเฑียรธรรมองค์เดิม เมื่อมาถึงพ.ศ. 2331 หอพระมณเฑียรธรรมองค์เดิมเกิดเพลิงไหม้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหอพระมณเฑียรธรรมใหม่ ไปสร้างขึ้นอยู่ตรงทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระอุโบสถ และขยายพระระเบียงไปทางทิศเหนือตามแนวที่ปรากฏในภายหลัง การสร้างพระระเบียงจึงอาจเป็นการสร้างขึ้น 2 ครั้ง หรืออาจสร้างครั้งเดียวพร้อมกับการขยายขอบเขตของวัด

เมื่อปรากฏการขยายพระระเบียง รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้เขียนภาพจิตรกรรมฝาหนังเรื่องรามเกียรติ์อยู่รอบพระระเบียง ภาพรามเกียรติ์นี้เลือนลงไปในสมัยรัชกาลที่ 3 ประกอบกับพระระเบียงมีสภาพชำรุดลงไปด้วย รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมแซมพระระเบียงและเขียนภาพรามเกียรติ์ขึ้นใหม่ทั้งหมด เมื่อมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้เขียนใหม่ในส่วนที่ชำรุดอีกครั้ง

พิเภก ออกจากลงกามาสวามิภักดิ์พระราม ซึ่งเป็นฝ่ายศัตรู ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระระเบียงคด วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

สำหรับภาพรามเกียรติ์มีทั้งหมด 178 ภาพ เริ่มตั้งแต่ประตูทิศเหนือ เวียนไปถึงทิศตะวันตก ไม่เพียงแค่ภาพรามเกียรติ์ จิตรกรรมบนผนังยังปรากฏภาพพระนารายณ์ปางต่างๆ และตัวละครสำคัญในรามเกียรติ์ ด้านล่างของภาพปรากฏชื่อและโคลงที่ข้าราชการและพระบรมวงศานุวงศ์ร่วมนิพนธ์ทุกภาพ ถ้าสำรวจค้นหาดีๆ ย่อมพบรายละเอียดที่น่าสนใจแฝงอยู่เบื้องหลังภาพที่ปรากฏในสถานที่

จิตรกรรม​ฝา​ผนัง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือ วัดพระแก้ว (ภาพสแกนจาก​ฐาน​ข้อมูล​ห้องสมุด​ภาพ เจ้าของภาพคือ คุณ​กำธร เสริม​เกษม​สิน)

ตัวอย่างหนึ่งที่นักวิชาการตั้งข้อสังเกตคือ จิตรกรรมฉาก “อินทรชิตดูดนมนางมณโฑ” ซึ่งอาจารย์รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล จากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เจ้าของงานวิจัยเรื่อง “จิตรกรรมระเบียงคดวัดพระศรีรัตนศาสดาราม” อธิบายไว้ว่า ไม่ปรากฏในรามเกียรติ์สำนวนใดเลย แม้กระทั่งในจารึกโคลงภาพรามเกียรติ์ ก็ไม่ปรากฏ และไม่พบต้นตอเรื่องว่าช่างเขียนนำมาจากที่ใด

อย่างไรก็ตาม อาจารย์รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ภาพอินทรชิตดูดนมนางมณโฑ คงไม่เขียนจากจินตนาการส่วนบุคคลของช่าง เพราะในยุคปัจจุบันโขนของกรมศิลปากรยังเล่นโขน และปรากฏในภาพจำหลักที่พาไลพระอุโบสถวัดพระเชตุพนฯ ภาพเหตุการณ์ตอนนี้ยังมีปรากฏภาพร่างลายเส้นของพระเทวาภินิมมิต (ฉาย เทียมศิลปไชย) ด้วย

ภาพอีกส่วนที่น่าค้นหานอกเหนือจากรายละเอียดในภาพรามเกียรติ์แล้ว ย่อมเป็น “ภาพกาก” หมายถึงรายละเอียดที่อยู่นอกเหนือจากโครงเรื่องหลักของภาพ แต่จิตรกรเจ้าของงานเขียนขึ้นจากความคิดส่วนตัวแทรกเข้าไปในภาพด้วย อาจเป็นรายละเอียดเชิงวิถีชีวิตทั่วไป เช่น การละเล่น ทานอาหาร ไปจนถึงภาพฉากบรรเลงบทรักกันเลยก็มี (หากสังเกตดีๆ)

อันที่จริงแล้ว หมู่อาคารในบริเวณพระบรมมหาราชวังที่มีเกร็ดข้อมูลน่าสนใจยังมีอีกหลายแห่ง และหลายจุดยังผ่านสายตาของผู้คนจำนวนมากแต่ด้วยเหตุผลบางประการอาจทำให้บางคนยังไม่รับรู้ข้อมูลและความน่าสนใจเกี่ยวกับอาคารหรือสิ่งที่อยู่ภายในอาคารเหล่านี้

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

เมื่อพูดถึงพระราชพิธีสำคัญของประเทศ หลายครั้งที่จะเห็นว่าช่วงหนึ่งของพระราชพิธีจะประกอบขึ้นในท้องพระโรงกลางของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท สิ่งของที่งดงามภายในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทย่อมมีความเป็นมาซึ่งหลายท่านอาจยังไม่ทราบ

หากจำภาพท้องพระโรงกลางกันได้ บริเวณนั้นจะมีโคมระย้าแก้วเจียระไนขนาดมหึมาที่ห้อยลงมาจากเพดาน ซึ่งมีข้อมูลปรากฏว่าเดิมทีนั้น โคมดังกล่าวเป็นของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ที่นำมาถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 แต่มีผู้ค้นหาหลักฐานเพิ่มเติมแล้วพบว่า โคมระย้านี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงซื้อหามาด้วยพระองค์เอง ไม่เกี่ยวข้องแม้แต่น้อยกับสมเด็จเจ้าพระยาฯ

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท (ภาพจาก หนังสือประมวลองค์ความรู้พระราชพิธีบรมราชาภิเษก)

ตัวอย่างอื่นๆ ที่จะยกมาเอ่ยถึงในที่นี้ได้อีก ส่วนหนึ่งคือพิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ผ้าไทยที่รวบรวมองค์ความรู้ ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์เครื่องแต่งกายของไทย มีข้อมูลเกี่ยวกับผ้าชนิดต่างๆ เก็บเอกสารเรื่องผ้าไทยไปจนถึงรักษาผ้าไทย และลักษณะเครื่องแต่งกายในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นจนถึงยุคปัจจุบัน ข้อมูลบางกลุ่มยังสะท้อนเชื่อมโยงไปถึงความสัมพันธ์กับชนชาติต่างๆ ที่ใกล้ชิดกับสยามในอดีตอีกด้วย

หากมีเวลาเพียงพอ เชื่อว่า ควรถือโอกาสใช้เวลาไปสำรวจสิ่งที่น่าสนใจภายในพระบรมมหาราชวัง และวัดพระแก้วในมุมนอกเหนือจากที่เคยมอง ยิ่งเมื่อในสมัยนี้เดินทางได้สะดวกสบายมากขึ้น สามารถเดินทางด้วยรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน มาลงที่สถานีสนามไชย ซึ่งเป็นสถานีที่มีชื่อเสียงเรื่องการออกแบบภายในอย่างสวยงาม ใช้ทางออกที่ 1 เดินไปทางซ้ายของถนนสนามไชยอีกประมาณ 900 เมตร

สำหรับผู้ที่สนใจ นับเป็นโอกาสอันเหมาะสมที่ช่วงต้นปี 2564 จะมีกิจกรรม MRT Happy Jouney with BEM นำประชาชนทั่วไป เยาวชน และนักเรียน เข้าเยี่ยมชมวัด วัง ที่สำคัญในกรุงเทพฯ หลายเส้นทาง

สำหรับเส้นทางที่จะได้เข้าชมสถานที่สำคัญซึ่งกล่าวมาข้างต้น เป็นเส้นทางที่อยู่ในทริป “เที่ยววัด ชมวัง ดั่งเทพสร้าง” โดยจะพาเข้าชมวัดพระแก้ว พระบรมมหาราชวัง วัดพระเชตุพน ไปจนถึงมิวเซียมสยาม ถือเป็นโอกาสดีสำหรับการสัมผัสรายละเอียดในสถานที่สำคัญในมุมที่แตกต่างจากการเยี่ยมชมอื่นๆ