ย้อนชมวัดธรรมิการาม ลพบุรี ชาวบ้านเรียก “วัดค้างคาว” มรดก-หลักฐานล้ำค่าที่ถูกลืม

จิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถวัดธรรมมิการาม จังหวัดลพบุรี

วัดธรรมิการาม ลพบุรี มีสิ่งของที่น่าจะถือว่าเป็นมรดกล้ำค่า เป็นหลักฐานที่ต้องบันทึก และความเป็นมาของคำที่ชาวบ้านเรียกว่า “วัดค้างคาว” ? ในวัดมีอะไรน่าสนใจบ้าง?

ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำบางขาม ตำบลบางขาม อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี เป็นที่ตั้งของวัดๆ หนึ่งชื่อว่า “วัดธรรมิการาม” แต่ชาวบ้านเรียกว่า “วัดค้างคาว”

ชื่อของวัดธรรมิการามคงไม่เป็นที่รู้จักเท่าไหร่นัก แต่หากกล่าวชื่อว่าวัดค้างคาวคงเป็นชื่อที่คุ้ยเคยมากกว่า ชาวบ้านในพื้นที่เองก็มักจะเรียกชื่อว่าวัดค้างคาว นายนา บรรจงเปลี่ยน ผู้เฒ่าในพื้นที่เคยให้สัมภาษณ์เมื่อกว่า 30 ปีที่แล้วถึงเหตุผลของชื่อวัดว่า แต่เดิมในอดีตด้านหน้าวัดทิศตะวันออกที่ติดริมแม่น้ำมีค้างคาวขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “ค้างคาวแม่ไก่” มาเกาะอยู่ตามต้นไม้เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงเรียกวัดนี้ว่า “วัดค้างคาว”

ค้างคาวแม่ไก่จำนวนมากที่มาอาศัยเกาะอยู่ตามต้นไม้หน้าวัดธรรมิการามหรือวัดค้างคาวได้ก็เพราะว่า เจ้าอาวาสวัดแต่ละรูปเห็นความสำคัญของชีวิตสัตว์โดยเฉพาะค้างคาวที่มาอาศัยอยู่ที่นี้ จึงพยายามปกป้องคุ้มครองให้พ้นจากการรบกวนของชาวบ้านมาตลอด จนกลายเป็นสัญลักษ์และที่มาของชื่อวัดที่ชาวบ้านเรียกและรู้จักกันดีตลอดจนกระทั่งทุกวันนี้

นายนา บรรจงเปลี่ยน เล่าว่าตอนที่ตนอายุประมาณ 8 ขวบ ซึ่งตอนนั้นหลวงพ่อหลง อินทรสรเป็นเจ้าอาวาสก็มีค้างคาวมาอาศัยอยู่แล้ว และพบเห็นเรื่อยมาถึงสมัยหลวงพ่อโข่ (มรณภาพเมื่อประมาณปี 2471) และหลวงพ่อชุด สุวรรณโณ (พระครูศีลสารสุทร เป็นเจ้าอาวาสตั้งแต่ประมาณปี 2471 – 2505)

จนกระทั่งถึงสมัยของพระครูธรรมธร (ยอด อภิปปสันโน) เป็นเจ้าอาวาสตั้งแต่ปี 2505 คาดว่า อาจให้ความสนใจที่จะคุ้มครองสัตว์อย่างค้างคาวน้อยกว่าที่ผ่านมา ค้างคาวจำนวนมากจึงถูกรบกวนจากชาวบ้านที่หวังนำเอามาเป็นอาหาร ดักจับบ้าง ยิงตอนเกาะในตอนกลางวันบ้าง จนในที่สุดค้างคาวก็เหลือเพียงชื่อที่เรียกขานเท่านั้น

ทั้งนี้ วัดธรรมิการามหรือวัดค้างคาวใช่ว่าจะมีความน่าสนใจเพียงที่มาของชื่อวัด เมื่อเข้าไปชมในวัดพบว่ามีสิ่งที่เป็นของเก่าน่าดูหลายอย่าง และเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจอย่างใบเสมาเก่า พระพุทธรูปปางสมาธินาคปรก และที่โดดเด่นเห็นจะเป็นจิตรกรรมฝาผนังมีทั้งในพระอุโบสถและในพระวิหาร

นายนา บรรจงเปลี่ยน เล่าอีกว่าในสมัยก่อนแถบลำน้ำบางขามจะมีวัดเก่าอยู่เพียง 2 วัดเท่านั้นคือ วัดไลย์กับวัดค้างคาว ส่วนวัดอื่นๆ ตามริมฝั่งน้ำจะเป็นวัดที่สร้างขึ้นภายหลังทั้งสิ้น

ความเก่าแก่ของวัดค้างค้าวมีหลักฐานที่หลงเหลืออยู่ให้พบเห็น อย่างแรกคือใบเสมาสลักหินทราย เหลืออยู่พียงหลักเดียว ปักอยู่มุมหน้าพระอุโบสถทางตะวันตกเฉียงเหนือ ลักษณะรูปแบบทางศิลปกรรมแบบอู่ทองหรืออยุธยาตอนต้น

นอกจากนี้ยังพบพระพุทธรูปสลักหินทรายปางสมาธินาคปรกอยู้ด้านนอกผนังหน้าพระอุโบสถ ตามพุทธลักษณะเป็นแบบศิลปะสมัยลพบุรี (ขอม) พระพุทธรูปองค์นี้เดิมอยู่ในบริเวณซากวัดร้างคือ “วัดโพธิ์ล้ม” ซึ่งอยู่ติดกับวัดค้างคาวไปทางเหนือเล็กน้อย (บ้านบางสงค์ หมู่ที่ 3 ในปัจจุบัน) แต่บริเวณนี้ชาวบ้านจะเรียกว่า “โคกตาโต” หรือ “วัดโคกตาโต” หรือ “วัดร้างโคกตาโต”

ในสมัยพระครูธรรมธร (ยอด) เป็นเจ้าอาวาส พระพุทธรูปสลักหินทรายปางนาคปรกถูกโจรขโมยพระเศียรไป ภายหลังทางวัดและชาวบ้านช่วยกันบูรณะปั้นพระเศียรต่อใหม่ด้วยปูนซีเมนต์

พระอุโบสถวัดค้างคาวลักษณะทางสถาปัตยกรรมแต่เดิมนั้น พระอำนวย สิริจันโท และนายนา บรรจงเปลี่ยน เล่าตรงกันว่า ลักษณะหน้าบันของพระอุโบสถแต่เดิมมีเครื่องถ้วยชามเผาเคลือบฝังประดับอยู่ที่พื้นหน้าบันทั้งด้านหน้าและด้านหลัง แต่ถูกแกะขโมยเอาไปขายเมื่อประมาณช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และแนวสันหลังคาเดิมก็ไม่มีช่อฟ้า ซึ่งน่าจะเป็นลักษณะช่อฟ้าแบบหัวนาคมากกว่าที่นิยมมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ชาวบ้านเรียกลักษณะพระอุโบสถนี้ว่า “ทรงขอมแปลงปัจจุบันทั้งหน้าบันและช่อฟ้าถูกบูรณะเปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว

ศิลปกรรมที่โด่ดเด่นที่สุดในวัดค้างคาวคือจิตกรรมฝาผนังที่มีทั้งในพระอุโบสถและในพระวิหาร จิตกรรมฝาผนังในพระอุโบสถเล่ากันว่าเขียนโดยช่างหลวงซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์ชื่อ “เกษร” จนชาวบ้านเรียกว่า “หม่อมเกษ” หรือ “ช่างสอน” ก็มี เริ่มเขียนตั้งแต่แนวบนของกรอบหน้าต่างขึ้นไปจนสุดผนังโดยรอบทั้ง 4 ด้าน แต่ตรงกลางผนังด้านหน้าจะเขียนภาพพระพุทธเจ้าประทับยืนในซุ้มเรือนแก้วอยู่ตอนล่างของของผนังเพียงจุดเดียวเท่านั้น

ส่วนล่างสุดของภาพเขียนจะเขียนเป็นลายดอกต่อเนื่องกันไปเป็นกรอบล่างในแนวเส้นตรงทุกผนัง (ลักษณะแบบลายดอกประจำยามก้านแย่งต่อเนื่องกันเป็นหัวกระดาน)

อายุของจิตรกรรมฝาผนังอยู่ในช่วงรัชกาลที่ 5 – 6 เขียนเป็นเรื่องของพุทธประวัติ การจัดภาพและแบ่งภาพแต่ละตอนจะเขียนเป็นกลุ่มๆ แต่ก็ไม่แบ่งตอนกันอย่างเด็ดขาด ส่วนใหญ่จะเชื่อมเรื่องราวในแต่ละตอนด้วยภาพธรรมชาติเป็นหลัก แต่บางตอนก็เชื่อมเหตุการณ์แต่ละตอนด้วยเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ ในพุทธประวัติบ้างก็มี

การเขียนภาพบนผนังพระอุโบสถวัดค้างคาวได้นำเอาเทคนิคการเขียนแบบตะวันตกเข้ามาใช้ด้วยคือ การเขียนแบบมีมุมมอง (Perspective) ให้เห็นภาพใกล้-ไกล มีความลึก มีแรเงา ส่วนภาพที่ดำเนินเรื่องจะยังคงใช้สีแบบราบแล้วตัดเส้นตามแบบจิตกรรมไทยรุ่นเก่าอยู่

สำหรับคุณค่าทางจิตกรรมในพระอุโบสถนี้ เป็นจิตรกรรมประเพณีแบบช่างหลวงของภาคกลาง และช่างได้วาดภาพชีวิตไทยร่วมสมัยสอดแทรกเข้าไปด้วย เช่น ภาพคนจีนลากรถ ภาพเรือนไทยและเรือนคนจีนขายเหล้า ภาพเรือกำปั่นไฟ เป็นต้น

ในส่วนของจิตกรรมผาฝนังในพระวิหาร ด้านความงดงามเห็นจะด้อยกว่าจิตรกรรมในพระอุโบสถเพราะว่าเป็นฝีมือการเขียนภาพแบบพื้นบ้านโดยแท้ เขียนแบบเรียบง่าย แต่ภาพยังคงสมบูรณ์ดีกว่าในพระอุโบสถ ภาพจิตรกรรมผาฝนังพระวิหารเป็นภาพทศชาติชาดก ภาพวิถีชีวิตพื้นบ้านไทย ภาพเรือนไทย การแต่งกาย ชีวิตความเป็นอยู่ ภาพพายเรือ ตกปลา ทำงาน หุงหาอาหาร และยังระบุว่า “เขียนเดือน 11 ขึ้น 8 ค่ำ ปีกุล สำเร็จแล้วปีชวด พ.ศ. 2467 เป็นราคา 94 บาท ช้างเพง เปนผู้เขียนไวในพระพุทสาสนา ขอให้ข้าพเจ้า เจรินสุกนิพพาน ปจะโยโหตุ”

 สมชาย นิลอาธิ ผู้เขียนบทความเรื่องมรดกล้ำค่าที่วัดค้างคาว พยายามสืบเสาะตัวช่างเพง แต่ยังไม่พบว่ามาจากบ้านแห่งไหน ทราบแต่ว่าเป็นหลวงพ่อหลงว่าจ้างให้มาเขียน ใช้เวลาอย่างต่ำไม่น้อยกว่า 2-3 เดือนอย่างแน่นอน เมื่อเขียนเสร็จแล้วช่างไม่ยอมกลับบ้านเดิม ขออาศัยที่วัดค้างคาวจนเสียชีวิตที่วัดค้างคาว

ฝีมือช่างท้องถิ่นที่เขียนภาพจิตกรรมฝาผนังพระวิหารวัดค้างคาวมีคุณค่าอยู่ไม่น้อย เพราะในแถบตลอดลำน้ำบางขามจนถึงอำเภอบ้านหมี่แทบไม่พบการเขียนภาพโดยช่างพื้นบ้านเลย

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

สมชาย นิลอาธิ. “มรดกล้ำค่าที่วัดค้างคาว หลักฐานที่ต้องบันทึกเพราะถูกลืมมานาน”. ใน ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 6 ฉบับที่ 11 (กันยายน 2528). หน้า 120 – 128.

วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดลพบุรี. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2543.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 มกราคม 2563