ความหมายของ “พระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ รัชกาลที่ 9” ที่อัญเชิญไว้บนเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช

ในการพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 นี้ จะได้มีการอัญเชิญ “พระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ รัชกาลที่ 9” ประดิษฐานบนบุษบกบัลลังก์บนเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช

ความเป็นมาของ “พระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ รัชกาลที่ 9” ต้องย้อนกลับไปเมื่อพุทธศักราช 2506 หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จนิวัตพระนคร ทรงมีพระราชดำริสร้างพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ประจํารัชกาลตามโบราณราชประเพณี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างขึ้น

และในปีนั้นยังเป็นปีมหามงคลแห่งในการพระราชเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 3 รอบ จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกอบพระราชพิธีสมโภชพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ รัชกาลที่ 9 ในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาในคราวเดียวกันนั้น โดยมีประติมากรผู้ปั้นหุ่นคือ นายพิมาน มูลประมุข

พระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ ภาพจากหนังสือ พระพุทธปฏิมาในพระบรมมหาราชวัง

พระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ รัชกาลที่ 9 มีขนาดหน้าตักกว้าง 17.50 เซนติเมตร สูงเฉพาะองค์พระ 22.50 เซนติเมตร สูงจากฐานถึงยอดฉัตร 58.10 เซนติเมตร เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งแบบวัชราสนะ แสดงภูมิสปรรศมุทรา พระหัตถ์ (มือ) ซ้ายวางเหนือพระเพลา (ตัก) ถือตาลปัตร ส่วนพระหัตถ์ขวาคว่ำอยู่บนพระชานุ (เข่า) และมีนิ้วทั้ง 4 ยาวเสมอกัน

พระพักตร์ (ใบหน้า) ค่อนข้างเป็นวงรี พระนลาฏ (หน้าผาก) ค่อนข้างกว้าง พระขนง (คิ้ว) โก่ง พระเนตร (ตา) เหลือบต่ำ พระนาสิก (จมูก) โด่ง พระโอษฐ์ (ปาก) เรียว พระกรรณ (หู) ยาวเกือบจรดพระอังสา (บ่า) พระเศียร (หัว) ประกอบด้วยเม็ดพระศกเป็นตุ่มขนาดเล็กมีเกตุมาลาและรัศมีรูปเปลวไฟอยู่เบื้อง บน

องค์พระพุทธรูปครองอุตราสงค์ (จีวร) เรียบห่มเฉียง มีชายอุตราสงค์พาดบนพระอังสาซ้าย ห้อยยาวลงมาจรดพระนาภี (ท้อง) ปลายเป็นลายเขี้ยวตะขาบ อันตรวาสก (ผ้าสบง) ที่ทรง เรียบไม่มีริ้ว เช่นเดียวกับอุตราสงค์ที่ทรงอยู่ มีขอบที่ข้อพระบาท (ข้อเท้า) ทั้งสองข้าง ตาลปัตรมีลักษณะเรียวแหลมคล้ายรูปใบโพหล่อด้วยเงินจําหลักลาย

พระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ ภาพจากหนังสือ พระพุทธปฏิมาในพระบรมมหาราชวัง

พระพุทธรูปประทับนั่งเหนือปัทมาสน์ (ฐานบัว) ประกอบด้วยกลีบบัวหงายซ้อนกันสามชั้น เหนือฐานแข้งสิงห์บนฐานเขียงจําหลักคําจารึก เบื้องหน้าฐานมีผ้าทิพย์ขนาดใหญ่จําหลักลายลงยาสี ห้อยปกคลุมฐานปัทม์และฐานแข้งสิงห์ดังกล่าว องค์พระพุทธรูปกางกั้นด้วยฉัตรทองคําลายฉลุ 5 ชั้นประกอบเบื้องบน

สําหรับคําจารึกที่ฐานพระพุทธรูปมี ดังนี้

(จารึกด้านหน้า)

มานสํ วีริยํ ขนฺติ   ภูมิเว อิทฺธิยา พลํ
อิทฺธิงคโต ส รญเชติ   ปณฺฑิโต ชยวฒฺฑโน

แปลว่า ความตั้งใจมุ่งมั่น ความเพียร ความมีขันติเป็นพลังที่เป็นเหตุให้ประสบความสําเร็จโดยแท้
ผู้บรรลุถึงความสําเร็จนั้น เป็นบัณฑิต ได้รับความชนะมากย่อม ให้เกิดความสุขยินดี

(จารึกด้านหลัง)

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงหล่อเมื่อ วันพฤหัสบดีที่ ๓๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๐๖

ปัจจุบันพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ รัชกาลที่ 9 ประดิษฐานในหอพระสุลาลัยพิมาน ในหมู่พระมหามณเฑียร ภายในพระบรมมหาราชวัง


อ้างอิง :

รศ.ดร. ม.ร.ว. สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์. พระพุทธปฏิมาในพระบรมมหาราชวัง. สำนักพิมพ์อมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊ป, 2535.