“ถวัลย์ ดัชนี” กับงานศิลป์ที่ถูกกรีด “ยอมรับไม่ได้” ในไทย ถึงคำชี้แนะของศิลป์ พีระศรี

ภาพประกอบเนื้อหา - ถวัลย์ ดัชนี (ภาพจากศูนย์ข้อมูลมติชน)

พัฒนาการงานศิลปะในไทยดำเนินต่อเนื่องนับตั้งแต่ยุคโบราณจวบจนปัจจุบัน ในประวัติศาสตร์ศิลป์ของไทยเคยเกิดข้อกังขาในตัวชิ้นงานมาแล้วหลายครั้ง จนในปี พ.ศ. 2562 ดำเนินมาถึงกรณี “พระพุทธรูปอุลตร้าแมน” และในบรรดาครั้งที่ถูกจดบันทึกในประวัติศาสตร์ล้วนสะท้อนบริบทสังคมและทัศนคติของบุคคลต่างๆ ในช่วงเวลานั้นได้เป็นอย่างดี

ข้อถกเถียงเกี่ยวกับศิลปศึกษาในไทยไม่ใช่เพิ่งเริ่มต้นขึ้น แต่ในแวดวงศิลปะเกิดข้อถกเถียงทั้งแง่ชิ้นงานไปจนถึงกระบวนการสอนกันมานักต่อนัก โดยเฉพาะเรื่องระบบและการสอน ดังที่ดำรง วงศ์อุปราช อาจารย์และผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะเขียนบรรยายในหนังสือ “ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี” เมื่อปี พ.ศ. 2521 ว่า “…บางท่านประสงค์ให้ศิลปคงไว้ซึ่งลักษณะแบบไทยตามประเพณีนิยม แนะว่านักศึกษาควรจะลอกแบบจากของเก่า…ปัญหาอีกด้านหนึ่งก็คือพิจารณาถึงความต้องการด้านศิลปร่วมสมัย ณ ที่นี้เรามีปัญหาซึ่งแตกต่างจากสมัยโบราณโดยสิ้นเชิง…”

ความต้องการด้านศิลปร่วมสมัย (ในสมัย 40 ปีก่อน) ที่ว่า คือจิตรกรรมและประติมากรรมประยุกต์เข้ากับงานรูปแบบภาพเหมือน ภาพปั้น อนุสาวรีย์ เหรียญ สิ่งตกแต่งทางสถาปัตยกรรม ภาพเขียน และภาพปั้นเพื่อตกแต่งห้องส่วนตัว ภาพประกอบเรื่อง โปสเตอร์ และการออกแบบโฆษณา ฯลฯ ด้วยเหตุนี้มหาวิทยาลัยอย่างศิลปากรก็เริ่มปรับการสอนด้วยการก่อตั้งคณะต่างๆ ขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2498 เพื่อให้ผู้จบการศึกษาจะเป็นศิลปิน “ก็โดยการปรับปรุงศิลปของตนและหาแบบอย่างส่วนบุคคลโดยการหาประสบการณ์และทำงานศิลปต่อไป”

ความเปลี่ยนแปลงข้างต้นเป็นอีกหนึ่งหลักไมล์ในแวดวงศิลปะในไทย แต่ก่อนที่จะมีการดำเนินการรับกับความเปลี่ยนแปลง มีหลายเหตุการณ์ที่กระทบต่อพัฒนาการแวดวงศิลปะในไทย หนึ่งในนั้นคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผลงานของถวัลย์ ดัชนี

ถวัลย์ ดัชนี (27 กันยายน พ.ศ. 2482-3 กันยายน พ.ศ. 2557) ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ. 2544 ที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกกับมหาวิทยาลัยศิลปากรเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่นในฐานะที่ถวัลย์ เป็นลูกศิษย์รุ่นที่ 15 (พ.ศ. 2501) ของมหาวิทยาลัยศิลปากร นับตั้งแต่มีพระราชบัญญัติจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากรเมื่อ พ.ศ. 2486 และได้รับการศึกษาจากศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ศิลปินอิตาเลียนที่เข้ามารับราชการในไทย มีผลงานและอิทธิพลต่อการศึกษาศิลปะในไทย

ถวัลย์ ดัชนี เข้ามาจากเชียงราย และเรียนในโรงเรียนเพาะช่างก่อนจะเข้าศึกษาที่ศิลปากร ในบันทึกที่ถวัลย์ เขียนถึงอาจารย์ศิลป์ ศิลปินแห่งชาติผู้ล่วงลับกล่าวถึงอาจารย์ศิลป์ว่า “อาจารย์ไม่ใช่ปั้นดินให้เป็นดาว หากแต่นิรมิตมนุษย์ให้เป็นเทพ รังสรรค์ลมหายใจแห่งความรักออกมาเป็นงานศิลปะ”

กระนั้น อาจารย์ศิลป์ ยังเรียกถวัลย์ว่า “นายคนภูเขา” สืบเนื่องมาจากนักเรียนรายนี้เป็นนักเรียนคณะจิตรกรรมคนแรกและคนเดียวของท่านที่มาจากเชียงราย โดยถวัลย์ บรรยายลักษณะของตัวเองว่า “ชอบเสื้อสีแดงชายครุยกรุยกรายของกระเหรี่ยง เครื่องประดับชาวเขาหลายเผ่า อาวุธและเครื่องใช้ในพิธีกรรมของชาวเขาเผ่าต่างๆ…”

ถวัลย์ เล่าความหลังเมื่อครั้งศึกษากับศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ว่า แม้จะขยัน ตั้งใจเรียน และทำงานอย่างหนักตลอด 6 เดือนแรกในการเป็นนักศึกษาใหม่ เนื่องจากรากฐานทักษะยังไม่มั่นคงเพราะมาจากเพาะช่าง ดำริชอบ เข้าใจชอบยังขาดอยู่ มีแต่เพียรชอบ วิริยะชอบ ตั้งใจชอบ นั่นจึงทำให้เขาตกซ้ำแล้วซ้ำเล่าแทบทุกวิชา ซึ่งอาจารย์ศิลป์ ได้ชี้แนะถวัลย์ ไว้อย่างน่าสนใจ ดังเนื้อหาที่ถวัลย์ เขียนเล่าไว้ว่า

“นายคนภูเขา นายมันโง่แล้วขยัน ไม่ดีนะนาย นายยิ่งทำงานหนัก ยิ่งล่มจม เหมือนอียิปต์และเขมร ประเทศชาติล่มจมเพราะทำปิรามิด สร้างเทวาลัยมากเกินไป นายหัดคิดเสียบ้าง อย่าเอาแต่ทำ ขยันเกินไป โง่เกินไป ทำปุ๋ยยังไม่ดีนาย…”

ข้อชี้แนะของอาจารย์ศิลป์ มีส่วนช่วยให้ถวัลย์ หยุดทบทวนบทบาทของตัวเองใหม่ เรียน แสวงหา ค้นคว้า ไต่ถาม กระทั่งปีต่อมาได้คะแนนขั้นดีเป็นเลิศครั้งแล้วครั้งเล่าแทบทุกวิชา โดยเฉพาะวาดเส้น วิจัยศิลปะไทย

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ยังเป็นผู้ชี้แนะและสนับสนุนให้ถวัลย์ สอบชิงทุนไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศ ชีวิตในเนเธอร์แลนด์หลายปีหล่อหลอมกระบวนการคิดและสร้างสรรค์งานของถวัลย์ ดัชนี กระทั่งจบการศึกษาปริญญาโท สาขาจิตรกรรมฝาผนัง อนุสาวรีย์ ผังเมือง และปริญญาเอก สาขาอภิปรัชญาและสุนทรียศาสตร์

ไม่เพียงแค่สภาพการศึกษาในต่างแดน ความสัมพันธ์ระหว่างถวัลย์ กับบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยอย่างม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ไปจนถึงการซึมซับวิชาจากครูอย่างพระเทวาพินิจมิตร หลวงวิศาลศิลปกรรม พระพรหมพิจิตร รวมถึงศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ล้วนช่วยหล่อหลอมและส่งอิทธิพลสำคัญต่อการสร้างงานของศิลปินแห่งชาติรายนี้ (ธวัชชัย สมคง, 2547)

ไม่เพียงแค่การปรับตัวให้เข้ากับชีวิตในต่างแดน หลังจากกลับมาไทย ถวัลย์ก็ยังต้องเผชิญวิบาก เขาจัดงานแสดงศิลปะไม่กี่ครั้ง ครั้งหนึ่งรูปของถวัลย์ ดัชนี ถูกกรีดโดยผู้ไม่ประสงค์ดี ปฏิกิริยาที่มีต่อเหตุการณ์นี้เชื่อกันว่า เป็นการปฏิเสธงานของถวัลย์ ครั้งรุนแรงที่สุด ด้วยสาเหตุหนึ่งว่าคนที่รับชมอาจเข้าไม่ถึงความคิดของผู้สร้างสรรค์งานอย่างแท้จริง สื่อต่างประเทศรับรู้กันว่าในช่วงนั้นงานของถวัลย์ ดัชนี ถูกกลุ่มอนุรักษ์นิยมมองว่าเป็นการไม่เคารพต่อพระพุทธเจ้า แต่ยังมีกลุ่มบุคคลสำคัญในแวดวงศิลปะในไทยสนับสนุน ผลงานของถวัลย์ ยังแพร่หลายไปในหลายประเทศทั่วโลก

เว็บไซต์หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ บรรยายเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า “รูปเขียนขนาดใหญ่ของเขาหลายรูป ถูกนักเรียนกรีดทำลายด้วยเหตุที่ว่างานของเขานั้นดูหมิ่นพระพุทธศาสนา ทำให้ถวัลย์ ดัชนี เลิกแสดงผลงานในประเทศไทยไปนานหลายปี กว่าคนไทยจะยอมรับได้ ก็ต้องใช้เวลานานถึงสามสิบกว่าปี”

หลังจากนั้น ถวัลย์ เลิกแสดงงานศิลปะในไทย การชื่นชมผลงานของถวัลย์ ส่วนใหญ่ต้องผ่านหนังสือหรือสื่อต่างประเทศ อันเป็นอุปสรรคต่อการศึกษางานศิลปะในหมู่นักศึกษาและผู้สนใจงานศิลปะ

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า ถวัลย์ ไม่ได้ “ท้อ” กับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ปฏิกิริยาของศิลปินคือการพยายามหาหนทางเพื่อแสดงออกทางความคิดในพื้นที่อื่น ขณะที่การปฏิเสธความคิดนั้น ศิลปินที่มองโลกกว้างขวางย่อมเข้าใจได้ ดังวลีที่ถวัลย์ เคยพูดถึงอาจารย์ศิลป์ ว่า “อาจารย์ศิลป์เป็นครูที่ยิ่งใหญ่ เพราะครูที่ยิ่งใหญ่นั้นย่อมยอมให้ศิษย์ปฏิเสธความคิดของครูได้”

ในอีกด้านหนึ่ง ผลงานของถวัลย์ ดัชนี เป็นที่ยอมรับในต่างประเทศและได้รับรางวัลมากมาย ร่องรอยเหล่านี้ชวนให้นึกถึงข้อความบอกเล่าของถวัลย์ เองที่เคยเขียนเล่าช่วงความผิดหวังในการส่งงานเข้าแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ถวัลย์ ส่งเข้าไปอีกครั้งหลังจากเคยร่วมแสดงเมื่อครั้งอยู่เพาะช่าง ครั้งนี้ส่งเข้า 5 รูป แต่แล้วกลับถูกคัดงานออก 7 รูป

ทำไมส่ง 5 แล้วถูกคัดออก 7 ?

ถวัลย์ เล่าว่า อีก 2 รูป เป็นงานติดบอร์ดที่เคยภูมิใจ ไม่รู้ว่า “ผู้หวังดี ประสงค์ร้าย” ท่านใดช่วยส่งเข้าไปสมทบซ้ำเติม วันที่รู้ผลเป็นวันที่สร้างความหดหู่ อับอาย และความรู้สึกไม่เข้าใจแก่ถวัลย์

“ผมนั่งรออยู่คนเดียวจนมืดค่ำ เมื่อแน่ใจว่าไม่มีใครเห็น ไม่มีใครทัก ผมค่อยๆ ย่องเข้าไปแบกรูปมากองไว้มุมตึกทีละรูป เรียกรถตุ๊กๆ มาขนกลับไปไว้ในส้วมร้างข้างบ้าน เพราะไม่มีที่เก็บ ต่อมาผมทาสีดำทับ เพื่อเอาไว้ใช้เขียนรูปอื่นต่อไป

แต่ผมไม่เคยท้อแท้ ไม่เคยเหนื่อยหน่าย ยอมรับความผิดหวัง หากยังมีพลัง ยังมีไฟศิลป์ที่ลุกเรืองอยู่ในจิตวิญญาณนิรันดร์…”

ข้อชี้แนะตัวอย่างหลังจากนั้นจากอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่ถวัลย์ หยิบยกมาบอกเล่า คือ

“นายคนภูเขางานของนายมีแต่ถูกต้อง มันเป็นงานเรียน มันเป็นอะคาเดมิกนะนาย มันไม่มีชีวิต ปลาของนายว่ายน้ำไม่ได้ ไม่มีกลิ่นคาว ม้าของนายตายแล้ว ยืนตาย วิ่งไม่ได้ ร้องไม่ได้ วัดของนายเหมือนฉากลิเก ฟ้าของนายไม่มีอากาศ หายใจไม่ได้ รูปของนายไม่มีมิสติคเลย นายไม่เข้าใจนะ คนภูเขา”

นัยยะจากข้อชี้แนะที่อาจารย์ศิลป์ พีระศรี กล่าวคือ งานที่ถูกต้องตรงตามตำราไปเสียหมด บางครั้งทำให้ขาดชีวิตชีวาไป

ถึงได้ 90 คะแนนในชั้นเรียนกลับถูกคัดออก แต่งานรูปเขียนปลาของรุ่นพี่ที่จัดแสดงงานศิลปกรรมครั้งนั้นได้ 15 คะแนน

นี่คงเป็นเช่นเดียวกับความคิดสร้างสรรค์กระมัง


อ้างอิง:

ถวัลย์ ดัชนี. ใน อาจารย์ศิลป์กับลูกศิษย์. กรุงเทพฯ : สำนักวิจัยศิลป์ พีระศรี, 2551.

ดำรง วงศ์อุปราช. ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี. กรุงเทพฯ : ปาณยา, 2521

ประวัติศิลปิน ถวัลย์ ดัชนี. หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ. ออนไลน์. เข้าถึงเมื่อ 9 กันยายน พ.ศ. 2562. <http://www.queengallery.org/th/exhibitions/past/artist?artist=6466>

ธวัชชัย สมคง. “บทความพิเศษ: ถวัลย์ ดัชนี”. ใน นิตยสาร FINE ART. ฉบับ ปฐมฤกษ์ เดือนมกราคม ปี พ.ศ. 2547. ออนไลน์. เข้าถึงเมื่อ 9 กันยายน พ.ศ. 2562. <http://www.fineart-magazine.com/%E0%B8%96%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%A5%E0%B8%A2%E0%B9%8C-%E0%B8%94%E0%B8%B1%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B8%B5/>


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 9 กันยายน พ.ศ.2562