
ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ถอดความหมายหน้าบันวัดเบญจมบพิตรทั้ง 14 ด้าน สะท้อนคติรัฐสมัยใหม่ยุครัชกาลที่ 5
หน้าบันวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร มีความพิเศษแตกต่างจากวัดอื่น ๆ เพราะแฝงคติเรื่องรัฐสมัยใหม่ยุครัชกาลที่ 5 เข้าไปผสมผสานอย่างลงตัว
โดยหน้าบันภายในวัดมีทั้งหมด 14 ด้าน แบ่งออกเป็น หน้าบันพระอุโบสถ 4 ด้าน และหน้าบันพระระเบียง 10 ด้าน
หน้าบันพระอุโบสถ ออกแบบโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นการนำตราพระราชลัญจกรที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้ประทับสั่งว่าราชการ 4 แบบ มาเป็นต้นแบบของลวดลายบนหน้าบันพระอุโบสถทั้ง 4 ด้าน ประกอบด้วย พระครุฑพ่าห์, มหาอุณาโลม, ไอยราพต และจักรรถ

หน้าบันพระระเบียง ออกแบบโดยพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นวรวัฒน์สุภากร เป็นการนำตราประจำกระทรวงต่าง ๆ ในสมัยรัชกาลที่ 5 มาประยุกต์กลายเป็นลวดลายใหม่บนหน้าบันพระระเบียงทั้ง 10 ด้าน
หากเริ่มจากทิศใต้มุขตะวันออกเวียนไปทางขวา จะมีลำดับดังนี้ 1. ตราราชสีห์ – กระทรวงมหาดไทย 2. ตราพระยมทรงสิงห์ – กระทรวงนครบาล 3. ตราพระสุริยมณฑล (ใหญ่) มีนกยูงรำแพนอยู่ท้ายรถที่เทียมราชสีห์ – กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ 4. ตราพระเพลิงทรงระมาด – กระทรวงธรรมการ 5. ตราบัวแก้ว – กระทรวงต่างประเทศ
6. ตราพระพิรุณทรงนาค – กระทรวงเกษตราธิการ 7. ตราพระรามทรงรถ – กระทรวงโยธาธิการ 8. ตราจันทรมณฑล – กระทรวงยุติธรรม 9. ตราพระราม (?) ทรงยักษ์ – กระทรวงวัง (แบบเดิมก่อนจะปรับปรุงเป็นตรามหาเทพทรงนนทิกร) 10. ตราคชสีห์ – กระทรวงกลาโหม

ศาสตราจารย์ ดร. ชาตรี ประกิตนนทการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิเคราะห์ไว้ว่า หน้าบันวัดเบญจมบพิตรเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนแนวคิดการเมืองการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
สำหรับหน้าบันพระระเบียงที่มาจากตราสัญลักษณ์ทั้ง 10 กระทรวงนั้น กระทรวงเหล่านี้ก็เป็นระบบการบริหารราชการแผ่นดินแบบใหม่ที่มีการแบ่งกรมกองและหน้าที่ในการทำงานตามแบบตะวันตก กระทรวงต่าง ๆ ยังสะท้อนการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจสู่ส่วนกลางและสู่องค์พระมหากษัตริย์

ศาสตราจารย์ ดร. ชาตรี กล่าวว่า “แม้ว่าถ้าดูโดยทั่วไปภาพวาดลวดลายเหล่านั้นจะเป็นเพียงรูปเทพเทวดาต่าง ๆ อันชวนให้คิดว่าเป็นการสะท้อนเรื่องราวในคติความเชื่อแบบเก่าที่อิงอยู่กับเทพเทวดา ตำนาน และความเชื่อต่าง ๆ ในไตรภูมิ แต่แท้จริงแล้วลวดลายหน้าบันเหล่านี้มิได้สร้างขึ้นเพื่อจุดมุ่งหมายในการสะท้อนความเชื่อแบบดั้งเดิมแต่อย่างใด”
ดังนั้น พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์จึงถูกสะท้อนผ่านพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร โดยใช้สัญลักษณ์บนหน้าบันพระอุโบสถทั้ง 4 ด้านเป็นสื่อแสดงถึงการประทับสั่งว่าราชการต่าง ๆ และใช้สัญลักษณ์บนหน้าบันพระระเบียงทั้ง 10 ด้านเป็นสื่อแสดงถึงการบริหารราชการแผ่นดินในรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสมัยรัชกาลที่ 5
อ่านเพิ่มเติม :
- “วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม” กับที่มาของชื่อวัดแห่งรัตนโกสินทร์และ 5 เจ้านายในชื่อ
- แนวคิดเรื่องเขตแดนสมัยใหม่ จากภาพเขียนภายในพระอุโบสถ “วัดเบญจมบพิตร”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ชาตรี ประกิตนนทการ. พระพุทธชินราช ในประวัติศาสตร์สมบูรณาญาสิทธิราชย์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2551.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 เมษายน 2568