“ช้างเอราวัณ” ในศิลปกรรม ทำไมถึงมี 3 เศียร ไม่ใช่ 33 เศียร?

ช้างเอราวัณ
พระอินทร์และพระศจีทรงขี่ช้างเอราวัณศักดิ์สิทธิ์ห้าเศียร (ภาพ : wikicommon)

“ช้างเอราวัณ” เป็นช้างพาหนะประจำกายของ “พระอินทร์” ในตำนานและคัมภีร์ต่าง ๆ กล่าวไว้ว่า ช้างเอราวัณเป็นช้างขนาดใหญ่ มีผิวสีขาวหรือกายเผือกผ่อง มี 33 เศียร 7 งา แต่ละงายาวสี่ล้านวา แต่ถ้าเราสังเกตในงานศิลปกรรม จะเห็นว่าส่วนใหญ่แล้ว ช้างเอราวัณมักมีแค่ 3 เศียร

ทำไม “ช้างเอราวัณ” ในศิลปกรรม ถึงมี 3 เศียร ไม่ใช่ 33 เศียร?

“ช้างเอราวัณ” หรือในภาษาสันสกฤตมักเรียกว่า “ไอราวต” หรือ “ไอราวณ” มีความหมายว่า กลุ่มก้อนเมฆที่มีฟ้าแลบ และทำให้เกิดฝนตก ซึ่งเชื่อมโยงกับเหตุการณ์เมื่อพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ท่องไปบนสวรรค์ แล้วก่อให้เกิดน้ำฝนตกลงมายังโลก

หลายตำนานได้พูดถึงช้างเอราวัณไว้มากมาย บ้างก็ว่าช้างเชือกนี้เป็นเทพบุตรชื่อเอราวัณ มีหน้าที่เนรมิตกายเป็นช้างพาหนะของพระอินทร์เมื่ออยู่บนสรวงสรรค์ รวมถึงยามลงมาดูมนุษย์บนโลก หรือบ้างก็ว่าช้างเอราวัณเกิดมาจากการที่พระอิศวรประทานแก่พระอินทร์

ช้างเอราวัณเป็นช้างที่มีบทบาทสำคัญทางศาสนา เป็นเจ้าแห่งช้างทั้งปวงในสากลจักรวาล และเป็นสัญลักษณ์แห่งความดีและความอุดมสมบูรณ์

ช้างเอราวัณ
ช้างเอราวัณ (ภาพ : fb พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ สมุทรปราการ)

กลับมาที่คำถามว่าแล้วเหตุใดในทางศิลปกรรม “ช้างเอราวัณ” ถึงมีเพียง 3 เศียร ไม่ใช่ 33 เศียรอย่างที่ปรากฏในตำนานหรือคัมภีร์ที่เล่าขานกันยาวนาน

เรื่องนี้พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ จ. สมุทรปราการ ได้กล่าวไว้ในบทความ “มหัศจรรย์แห่งเอเชีย สรวงสวรรค์แห่งองค์อินทร์” ไว้ว่า…

“เหตุที่ในทางศิลปกรรมนิยมทำรูปช้างเป็นสามเศียรแทนสามสิบสามเศียรนั้น เป็นการลดรูปทางศิลปะให้มีสัดส่วนที่สมดุลงดงามลงตัว”

อ่านต่อได้ที่นี่ :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

https://bit.ly/4d6ZtFh

ผาสุข อินทราวุธ. ช้าง : สัตว์ที่มนุษย์ยกย่อง, หน้าจั่ว ว่าด้วยประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมและสถาปัตยกรรมไทย. ฉบับที่ 2 ปี 2004.

พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต พุ่มพวง). พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ, ใน วารสาร มจร การพัฒนาสังคม. ปีที่ 6 ฉบับที่ 2 พฤษภาคม-สิงหาคม, 2564 (หน้า 186-197).


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 กรกฎาคม 2567