ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ปกติแล้ว “พระที่นั่ง” ของพระมหากษัตริย์มักจะมีรูปแบบที่คล้ายคลึงกันและยึดรูปแบบ ประเพณี และวัฒนธรรมไทยเป็นส่วนใหญ่ แต่ “พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ” (เทียนเม่งเต้ย) ที่ พระราชวังบางปะอิน จ. พระนครศรีอยุธยา กลับแตกต่างออกไป เพราะเป็นการตกแต่งแบบจีน
“พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ” หรือ เทียนเม่งเต้ย (แปลว่าพระที่นั่งฟ้าสว่าง) เป็นพระที่นั่งที่กรมท่าซ้าย ซึ่งเป็นกลุ่มของเหล่าพ่อค้าใหญ่ๆ หรือชาติจีน นำโดยพระยาโชฎึกราชเศรษฐี (เถียน โชติกเสถียร) สร้างขึ้นเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5)
ในหนังสือ “พระราชวัง” ของ ส. พลายน้อย ได้ระบุวันที่สร้างเสร็จและเหตุการณ์เฉลิมฉลองหลังสร้างพระที่นั่งแห่งนี้เสร็จว่า…
“พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ สร้างเสร็จและมีการเฉลิมพระที่นั่ง เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2432 การเฉลิมฉลองได้ทำตามแบบจีน เช่น โปรดเกล้าฯ ให้จัดเสื้อกุยเฮง และเสื้อตั้วตั๋งแพรแลป่านสีต่าง ๆ พระราชทานแก่พระเจ้าน้องยาเธอและข้าราชการที่เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
และโปรดเกล้าฯ ให้พระครูญวนครองผ้าสวมหมวก ถือตาลปัตรยศและถือกระจกเงาเข้าไปยืนสวดคาถาเบิกพระเนตรพระภูมิ กระจกนั้นสำหรับส่องฉายรูปพระภูมิ พระภูมินั้นคล้ายรูปตุ๊กตาจีน ปิดทองคำเปลวทั้งองค์
พระครูญวนเอาชาดเจิมที่เงาพระภูมิในกระจกแล้วเจิมนัยน์ตา เจิมคิ้ว จมูก ปาก ที่รูปพระภูมิ สมมุติว่าเบิกพระเนตรพระภูมิ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้พระสวัสดิวามดิษฐ์ (ฟัก) จัดพู่กันแลหมึกกระดาษแดงพับคล้ายสมุดไทยกว้างประมาณคืบ 1 สำหรับเซ็นชื่ออย่างจีน”
ก่อนช่วงบ่าย วันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2432 จะได้พระฤกษ์เสด็จขึ้นประทับพระที่นั่งเวหาศน์จำรูญตามธรรมเนียมเป็นแบบอย่างขึ้นพระที่นั่งใหม่ เมื่อเข้าช่วงค่ำรัชกาลที่ 5 ทรงฉลองบาท ฉลองพระองค์พระมาลาอย่างจีนที่พระราชทาน ส่วนข้าทูลละอองก็สวมเสื้ออย่างจีนเช่นกัน
ภายในงานมีการบรรเลงเพลงจีน การคำนับก็มีความพิเศษ กล่าวคือถ้าเป็นข้าราชการไทยก็คำนับแบบไทยปกติ แต่พระยาโชฎึกราชเศรษฐีกับพระยาสวัสดิวามดิษฐ์ ได้ถวายคำนับแบบจีน คนละ 9 ครั้ง

ภายในพระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ (เทียนเม่งเต้ย)
พระที่นั่งแห่งนี้ เป็นเรือนไม้ 2 ชั้น ท้องพระโรงด้านล่าง มี “อัฒจันทร์หินอ่อน” โดยพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ทรงอธิบายถึงท้องพระโรงนี้ไว้ว่า
“ทางด้านเหนือซึ่งมีอัฒจันทร์หินขึ้นไปนั้น มีพระราชบัลลังก์ และที่หน้าพระราชบัลลังก์นี้มีเครื่องหมายปลาสองตัว ดำ ๑ ขาว ๑ ซึ่งอธิบายกันว่า มีความหมายถึงอำนาจสูงสุดในแผ่นดินก็ได้ ถึงสาระที่เป็นคู่กัน เช่น ดินกับฟ้า หรือหญิงกับชายก็ได้ อย่างไรก็ดีเราย่อมเห็นใช้เพื่อแสดงอธิปไตยบ่อย ๆ เช่น ตราแผ่นดินเกาหลีเมื่อก่อนญี่ปุ่นเข้าครอบครองก็ใช้อย่างนี้ การที่เรานำมาใช้ในที่นี้ก็คงจะหมายถึงอำนาจอธิปไตยในแผ่นดิน”
ส่วนด้านบน มีพระแท่นบรรทมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่สลักลายจีนปิดทองรูปมังกร และมีพระป้ายภาษาจีนปรากฏพระนามพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระนามสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี เพื่อแสดงออกถึงการเคารพนับถือบรรพบุรุษ
ด้านการตกแต่ง ตกแต่งพระที่นั่งเป็นแบบจีนทั้งหมด ถึงขั้นมีการสั่งให้ช่างมีฝีมือจากจีนมาทำกันเลยทีเดียว มีการนำเรื่องราวของสามก๊กมาร้อยเรียงไว้ที่กระเบื้องเคลือบสำหรับมุงหลังคาและไม้จำหลัก ข้าวของเครื่องใช้ภายในก็มาจากประเทศจีน
แม้แต่ห้องสรงก็ทำฝักบัวยื่นออกมาจากมังกรให้เป็นแบบจีนโดยแท้ ทว่าในสมัยรัชกาลที่ 6 มีการเปลี่ยนแปลงให้เป็นแบบฝรั่งเพื่อความสะดวกสบาย
“พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ” จึงเป็นพระที่นั่งที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่เหมือนใคร และเป็นพระที่นั่งที่มีความเป็นจีนประกอบอยู่มากในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
อ่านเพิ่มเติม :
- “พระที่นั่งอนันตสมาคม” สถาปัตยกรรมที่รัชกาลที่ 5 ทรงจำใจสร้างแบบฝรั่ง
- ข่าวลือ “ชุมชนจีนเกิดเหตุร้าย” กับการย้าย “ศาลเจ้าพ่อเสือ” สมัยรัชกาลที่ 5
- “เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์” รางวัลเกียรติยศมรดกเรือโลก
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ส. พลายน้อย. พระราชวัง. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2539.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 กรกฎาคม 2567