ทำไม “แรด” ถึงไปเป็น “แรดรับบุษบกไฟ” ในงานพระเมรุพระมหากษัตริย์?

ภาพสลัก พระเพลิงทรงแรด พระอัคนีทรงแรด ปราสาทนครวัด ประกอบ แรดรับบุษบกไฟ
ภาพสลักพระเพลิงหรือพระอัคนีทรงแรดหรือระมาด (องค์กลาง) ที่ปราสาทนครวัด

“แรดรับบุษบกไฟ” ใน “งานพระเมรุ” ทำไมต้องเป็น “แรด” ? 

งานพระเมรุของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ในคำให้การขุนหลวงหาวัด มีอยู่ตอนหนึ่งบอกว่า

“กระบวรแห่พระบรมศพมีม้านำริ้ว 1 คู่ แล้วมีธงต่างๆ และมีเครื่องผ้าย่ามทำบุญแห่หน้าด้วย ถัดมามีรูปสัตว์แรตรับบุษบกไฟ มีคันชิงหน้าแรต คู่ 1…”

Advertisement
แผนผังริ้วกระบวนพระบรมราชอิสริยยศ พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จะเห็นภาพบุษบกเพลิงบนหลังแรด

และมีภาพแผนผังริ้วกระบวนพระบรมราชอิสริยยศ พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งในรูปนั้นจะมีภาพ “แรดรับบุษบกไฟ”

บุษบกเพลิง บน หลัง แรด
ภาพลายเส้นบุษบกเพลิงบนหลังแรด

เหตุผลที่ต้องเป็น “แรด” เพราะเชื่อกันว่า ไฟที่อยู่บนหลังแรดเป็นตัวแทนของเทพเจ้า คือ พระเพลิง หรือ พระอัคนี ซึ่งทรงระมาดหรือแรดเป็นพาหนะ

ทั้งนี้ อ. สมบัติ พลายน้อย ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2553 ได้อธิบายถึง “แรด” ไว้ว่า

“แรด ช่างเขียนไทยสมัยแรกคงไม่รู้จักแรด เมื่อจะเขียนรูปแรดจึงทำเป็นรูปมีงวงคล้ายตัวสมเสร็จ ดังที่ปรากฏในดวงตราพระเพลิงทรงระมาด ซึ่งเคยใช้เป็นตราประจำตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงธรรมการอยู่สมัยหนึ่ง

ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 5 เจ้าเมืองน่านส่งลูกแรดมาถวายตัวหนึ่ง คนกรุงเทพฯ จึงรู้จักแรดตัวจริงกันในครั้งนั้น และเคยเอาบุษบกเพลิงตั้งบนหลังแรดตัวนั้นแห่พระศพครั้งหนึ่ง (ตามปรกติใช้รูปหุ่น) ที่เอาบุษบกเพลิงตั้งบนหลังแรดก็เพราะมีตำนานว่า พระเพลิงบันดาลให้บังเกิงแรดขึ้นเป็นพาหนะ

ตั้งแต่ได้เห็นแรดตัวจริงแล้ว รูปแรดในตำราสัตว์หิมพานต์ก็ยกเลิกไป ไม่มีใครเขียนรูปแรดเป็นตัวแบบตัวสมเสร็จอีก”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 ตุลาคม 2560