90 ปี ปฏิวัติ 2475 พลังแห่งอดีต ที่ยังคงเคลื่อนไหวในปัจจุบันและอนาคต

ที่ 2 จากขวา-ประยูร ภมรมนตรี และสมาชิกคณะราษฎรคนอื่นๆ ที่กรุงปารีส (ภาพจากปกนิตยสารไท-สัปดาห์)

ประวัติศาสตร์ คือการศึกษาเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงในอดีตผ่านหลักฐานต่างๆ เพื่อนำมาเป็นบทเรียนในปัจจุบัน ดังคำกล่าว “ศึกษาอดีต เพื่อเข้าใจปัจจุบัน และมองอนาคต” เพราะฉะนั้นการจะเข้าใจการเมืองและสังคมไทยในปัจจุบันได้เป็นอย่างดีนั้นจะหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของประเทศมิได้ นั่นคือ “การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475”

วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2565 สำนักพิมพ์มติชน มติชนสุดสัปดาห์ ศิลปวัฒนธรรม ศูนย์ข้อมูลมติชน และคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดปาฐกถาและเสวนา (อ่าน) 90 ปี คณะราษฎร อดีต ปัจจุบัน อนาคต ปาฐกถา โดย ศ. (พิเศษ) ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ ดร. ตามไท ดิลกวิทยรัตน์

ภาพผู้ฟังเสวนา (อ่าน) 90 ปีคณะราษฎร อดีต ปัจจุบัน อนาคต

ศ. (พิเศษ) ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ได้กล่าวว่า ถ้าเราต้องการรู้เรื่องราวการปฏิวัติ 2475 ของสยาม ท่านจะต้องศึกษาเรื่องราววันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน ถึงวันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ รวมไปถึงควรที่จะศึกษาเรื่องราวของคณะราษฎรและคณะเจ้า เรื่องราวก่อนหน้าเหตุการณ์ปฏิวัติ 2475 อาทิ กบฏ รศ. 130, คํากราบบังคมทูล ร.ศ. 103 เป็นต้น โดยอาจารย์ชาญวิทย์ได้สรุปว่า การปฏิวัติ 2475 ไม่ได้ชิงสุกก่อนห่าม แต่มาพร้อมกับ modernity ของโลกทั้งโลก

ขณะที่ ดร. ตามไท ดิลกวิทยรัตน์ ปาฐกถาอธิบายภาพกว้างของการศึกษาประวัติศาสตร์ช่วง 2475 ไว้สามประการสำคัญ คือ ประการที่หนึ่ง คือการศึกษาเกี่ยวกับปัญหาของระบอบเก่า ประการที่สอง ศึกษากลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิวัติ 2475 และประการที่สาม ผลกระทบของการปฏิวัติ 2475 โดยอาจารย์ตามไทได้อธิบายว่า สาเหตุที่ต้องศึกษาประวัติศาสตร์การปฏิวัติ 2475 ว่า “ไม่ใช่แต่อนาคตที่ยังเคลื่อนไหวอยู่ อดีตก็เป็นสิ่งที่เคลื่อนไหวอยู่เหมือนกัน” เพราะฉะนั้นการศึกษาประวัติศาสตร์ 2475 จึงมีการเปลี่ยนแปลง และก้าวหน้าอยู่เรื่อยๆ

นอกจากนี้ ในงานเสวนา (อ่าน) 90 ปี คณะราษฎร อดีต ปัจจุบัน อนาคต ได้เชิญวิทยากร 3 ท่าน ที่เป็นนักเขียนและบรรณาธิการหนังสือเล่มใหม่ของสำนักพิมพ์มติชน ได้แก่คุณนริศ จรัสจรรยาวงศ์ (หนังสือทหารเรือกบฏ “แมนฮัตตัน”) ผศ.ดร. ณัฐพล ใจจริง (หนังสือราษฎรปฏิวัติ: ชีวิตและความฝันใฝ่ของคนรุ่นใหม่สมัยคณะราษฎร) และ ผศ.ดร. ชาติชาย มุกสง (หนังสือปฏิวัติที่ปลายลิ้น ปรับรสแต่งชาติ อาหารการกินในสังคมไทยหลัง 2475)

ภาพหนังสือ ราษฎรปฏิวัติ: ชีวิตและความฝันใฝ่ของคนรุ่นใหม่สมัยคณะราษฎร,ปฏิวัติที่ปลายลิ้น ปรับรสแต่งชาติ อาหารการกินในสังคมไทยหลัง 2475,ทหารเรือกบฏ “แมนฮัตตัน” (ฉบับปรับปรุงใหม่)

อาจารย์ณัฐพล ได้อธิบายบรรยากาศช่วงปฏิวัติ 2475 ว่า เป็นปฏิบัติการลับ รู้หลายคนไม่ได้ หากมีคนรู้มากก็อาจล้มเหลวเหมือนเหตุการณ์กบฏ ร.ศ. 130 ส่วนคนหนุ่มสาวหลังการปฏิวัติ 2475 ไม่ได้ต่อต้านการปฏิวัติ กลับชื่นชมและยินดีกับเหตุการณ์นั้นด้วย เพราะคนรุ่นใหม่เห็นว่า ระบอบเก่าไม่ได้เอื้อโอกาสให้พวกเขา การยินดีและชื่นชมของเยาวชนในยุคนั้นเห็นได้จากการเขียนเรียงความในงานฉลองรัฐธรรมนูญ หรือแม้กระทั่งเยาวชนต้องการอาสาไปปราบปรามกบฏบวรเดชเพื่อช่วยคณะราษฎร

คุณนริศ จรัสจรรยาวงศ์ ได้เสริมการอธิบายของอาจารย์ณัฐพลถึงบรรยากาศการปฏิวัติ 2475 ในพื้นที่ห่างไกลอย่างจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่มีท่านพุทธทาสเทศนาสนับสนุนคณะราษฎรในเรื่อง “รัฐธรรมนูญของเรา” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความรับรู้การเปลี่ยนแปลงการปกครองในพื้นที่ห่างไกล นอกจากนี้ คุณนริศได้อธิบายต่อไปถึงกลุ่มคนในคณะราษฎรที่ประกอบไปด้วยหลายกลุ่ม ทั้งทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน โดยความแตกต่างกันจึงทำให้แต่ละกลุ่มผลัดขึ้นมามีอำนาจ และทำให้เกิดปมความขัดแย้ง และระเบิดออกมาเห็นชัดที่สุดในเหตุการณ์กบฏ “แมนฮัตตัน”

ขณะที่อาจารย์ชาติชาย ได้อธิบายถึงผลงานสำคัญของคณะราษฎรนั่นคือ การปฏิวัติเรื่องโภชนาการ โดยอาจารย์ชาติชายได้ย้อนไปถึงมายาคติว่าการเปลี่ยนแปลงโภชนาการเกิดจากการนำของเจ้านาย ส่วนการสร้างจิตสำนึกใหม่ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม อาทิ ก๋วยเตี๋ยว รัฐนิยม เป็นเพียงความชื่นชอบส่วนตัวเพียงเท่านั้น แต่จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้ชี้ให้เห็นว่า คณะราษฎรได้ตั้งกองส่งเสริมอาหาร (พ.ศ. 2482) ซึ่งนับเป็นการปฏิวัติการกินอาหารของคนไทย อย่างเช่น ลดความเผ็ด ลดความเค็ม กินเอาประโยชน์เพื่อสุขภาพ หรือกินข้าวพอสมควร กินกับมากๆ เป็นต้น เพราะฉะนั้นก๋วยเตี๋ยวที่มีรสชาติกลางๆ จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เกิดในนโยบายโภชนาการใหม่ในผู้นำคณะราษฎร

ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2565 จะครบรอบ 90 ปีปฏิวัติสยาม งานเสวนาในครั้งนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลที่คณะราษฎรส่งต่อมาให้กับสังคมในปัจจุบัน เพื่อที่จะให้สังคมไทยมีบทเรียนและสามารถมองเห็นอนาคตได้อย่างชัดเจน

ติดตามรับชมเสวนาย้อนหลังได้ที่นี่ :


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 มิถุนายน 2565