เปิดประวัติ “นายหนู อมาตยกุล” ช่างชุบนิกเกิลคนแรก บนแผ่นดินสยาม

นายหนู อมาตยกุล

ภาพขนาดแคบิเนตจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัส ภ.001 หวญ 50-53 ด้านหน้าพิมพ์ชื่อร้านถ่ายรูปว่า F. CHIT & SON BANGKOK

ด้านหลังพิมพ์เครื่องกำกับงานเป็นตราแผ่นดินรุ่นแรก ถัดลงไปเป็นเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา (มีขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2425) ถัดลงไปพิมพ์ว่า ขุนฉายาสาทิศกร F. CHIT & SON BY APPOINTMENT PHOTOGRAPHER H. M. THE SUPREME KING OF SIAM BANGKOK

กับมีลายมือของเจ้าของรูปเขียนด้วยปากกาดำ ดังนี้ “วันที่ 12 กันยายน ร.ศ. 113 คำนับให้ไว้กับคุณพระอินทรเทพผู้มีพระคุณแลที่นับถือเป็นที่รฤก นายหนู”

ในภาพ นายหนูถ่ายครึ่งตัว สวมเสื้อนอก มีเหรียญเห็นไม่ชัดห้อยที่หน้าอก เชื่อได้ว่าคือนายหนู อมาตยกุล ช่างแช่ชุบข้าวของต่าง ๆ สมัย ร. 5

ในหนังสือชื่อ ประชุมพงศาวดารภาคที่ 47 เรื่องจดหมายเหตุของคณะพ่อค้าฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาตั้งครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พิมพ์ในงานปลงศพนายหนู อมาตยกุล พ.ศ. 2471 มีรูปนายหนูเมื่อมีอายุ ไว้หนวด สวมแว่นตา ลง 1 รูป เห็นได้ว่ามีเค้าหน้าเดียวกัน

ประวัตินายหนูในหนังสืองานศพเขียนโดยพระยาอุดมพงศเพ็ญสวัสดิ์ (ม.ร.ว.ประยูร อิศรศักดิ ณ อยุธยา) สรุปได้ว่า

เกิดเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2402 ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2471 นายโหมด (พระยากระสาปน์กิจโกศล) เป็นบิดา นิ่ม ในสุกลไกรฤกษ์เป็นมารดา

เรียนหนังสือไทยที่บ้านบิดา เรียนหนังสืออังกฤษกับหมอชานเดอเล แล้วไปเรียนต่อที่โรงเรียนในพระบรมมหาราชวัง เป็นผู้ใฝ่ใจทางวิชาช่าง

พ.ศ. 2417 ถวายตัวเป็นมหาดเล็กหลวงในรัชกาลที่ 5 รับราชการในกรมกระสาปน์สิทธิการคราวหนึ่ง

พ.ศ. 2446 ได้รับราชการในกองมหันตโทษ ได้เป็นเจ้ากรมด้วยราว 4 ปี ฝึกหัดนักโทษให้ทำการช่างต่าง ๆ เช่นเครื่องไม้เริ่มทาน้ำมันวานิชได้อย่างของต่างประเทศ

ออกจากราชการประจำแล้วก็เลี้ยงชีพด้วยวิชาช่าง เช่น ชุบ ทอง นาก เงินด้วยเครื่องไฟฟ้า “กับเริ่มชุบนิกเกิลในกรุงเทพฯ เป็นคนแรก” แลด้วยเป็นช่างชุบ จึงทำการสนองพระคุณ ร. 5 จนได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา และอื่น ๆ ทรงใช้สอยให้ทำการช่างเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ และให้เฝ้าแหน ตลอดจนร่วมเล่นเครื่องโต๊ะของเก่าประกวดในงานหลวง ได้รับพระราชทานเลี้ยงร่วมโต๊ะเสวยในบางคราว ฯลฯ

เป็นนักเล่นของเก่าเช่น ถ้วย ป้าน หรือของใหม่แปลก ๆ เช่น เครื่องจักร เครื่องยนต์ เป็นสมาชิกสโมสรต่าง ๆ หลายแห่ง เป็นนายกสโมสรช่างในสามัคยาจารย์สมาคมคนแรก ชอบเล่นดนตรี และกีฬา

แต่งงานกับนางหนู (ชื่อเดียวกัน) บุตรีพระยาธรรมสารนิติ (ตาด อมาตยกุล) เมื่อ พ.ศ. 2426 มีบุตรชายหญิง 12 คน เช่น พระยาอมาตยพงศ์ธรรมพิศาลฯ (ประสงค์) อธิบดีผู้พิพากษามณฑลปัตตานี และมณฑลพายัพ

ป่วยเป็นโรคมะเร็งในกระเพาะอาหาร ปลงศพที่วัดจักรวรรดิราชาวาสในวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2471 ประวัติในหนังสืองานศพมีที่สำคัญแค่นี้

นายหนู อมาตยกุล (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2539)

ชื่อเสียงของนายหนูนั้น ผู้เขียนได้ยินมานานแล้ว ท่านผู้นี้เคยลงโฆษณารับจ้างแช่ของในหนังสือพิมพ์สยามไสมย ของหมอสมิธมาตั้งแต่ พ.ศ. 2426 คือเริ่มลงแต่ปีที่ 2 ฉบับที่ 6 จ.ศ. 1245 หน้า 46 มีเนื้อความว่า

“ข้าพเจ้านายหนู เปนผู้รับจ้างแช่สิ่งของเครื่องรูปพรรณต่าง ๆ คือแช่ถ้วยแก้ว ไม้ แช่สังกะสีดีบุก เหล็ก แช่ทองเหลือง ทองแดง ทองขาว ทองลงหิน ฤาสิ่งของเครื่องรูปพรรณต่าง ๆ ที่แช่มาแต่ยุโรป ฤาประเทศอื่น ๆ ที่อกเสีย ไม่งามเหมือนอย่างเดิมนั้น ข้าพเจ้าจะรับทำให้เป็นนาคเป็นทองเป็นเงินเหมือนอย่างเดิม…”

ใครสนใจท่านว่าให้ไปที่บ้านตึกริมตึกไปรษณีย์ (เข้าใจว่าคือตึกที่ถูกรื้อสร้างสะพานพระปกเกล้าฯ หมดเมื่อ พ.ศ. 2525) แสดงว่านายหนูรับจ้างแช่ชุบของมาตั้งแต่อายุ 24 ปีแล้ว ครูของท่านก็ควรเป็นนายโหมด ผู้บิดา เพราะ ก.ศ.ร.กุหลาบเคยบอกในสยามประเภท ฉบับวันที่ 20 กันยายน ร.ศ. 120 พ.ศ. 2444 ว่า

“ท่านพระยากระสาปน์กิจโกศล (โหมด) ผู้นี้ เดิมที่เปนสิศย์ท่านสังฆราชฝรั่งเศสชื่อดงยวง ปาเลอกัว บิฉบ ได้เรียนวิชาเปนช่างชุบแช่ทองเงิน เปนวิชาช่างอย่างเอก ชุบแช่ทองเงินเปนก่อนมนุษย์ทั้งสิ้นในแผ่นดินสยาม แลเปนช่างถ่ายรูปก่อนมนุษย์ทั้งสิ้นในแผ่นดินสยาม ต้องที่นับว่าพระยากระสาปน์เปนต้นคิด เปนช่างชุบแช่ทองเงิน, ช่างถ่ายรูป, ช่างแก้จักรกลต่าง ๆ”

หมายความว่านายโหมดเป็นคนไทยคนแรกที่เรียนวิชานี้มาจากฝรั่ง

เรื่องของนายหนู ยังมีอีกบ้างในหนังสือนิทานชาวไร่ เล่ม 4 ของ นาวาเอกสวัสดิ์ จันทนี ให้ดูหน้า 176 ฉบับองค์การค้าของคุรุสภาจัดพิมพ์ ในนั้นมีเกร็ดเล่าว่ากรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงชอบใจนายหนู อ้อนวอนขอให้นายหนูไปเป็นพัศดีใหญ่ นายหนูเป็นคนพูดไม่ใคร่ชัด เพราะลิ้นไก่สั้น ท่านไม่อยากไปทำหน้าที่ก็ขอสัญญาข้อหนึ่งว่า หากท่านเดินไปทางไหน นักโทษต้องก้มหน้า ถึงจะยอม

ภายหลังมีนักโทษแอบดู เจ้ากรมหนูจึงสั่งให้เฆี่ยน “หนึ่งโหย” (หนึ่งโหล) ทำให้นักโทษไม่ชอบถึงขนาดคิดฆ่า นักโทษเหล่านั้นช่วยกันขุดหลุมใส่ขวดแตกไว้ กะตีด้วยไม้พลอง ผลักลงหลุมแล้วฝังเสียเลย โชคดี มีนักโทษคนหนึ่งกลับใจ กระชากตัวเจ้ากรมหนูขณะกำลังจะเดินเข้าไปตรงบริเวณนั้น จึงรอดชีวิตมาได้ เจ้ากรมหนูได้เสนอความชอบนักโทษคนนั้นขึ้นไป ปรากฏว่า ร. 5 ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้ปล่อยตัวเป็นรางวัล

ภาพที่นำมาตีพิมพ์เข้าใจว่าเป็นผลงานของขุนฉายาสาทิศกร (ทองดี จิตราคนี) ซึ่งได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยาเมื่อ พ.ศ. 2434 และถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2438 ควรถ่ายราว พ.ศ. 2437 หรือก่อนหน้านั้นไม่นาน

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 เมษายน 2565