รู้จัก เพอร์ซี ชอว์ ชาวบ้านผู้คิดค้น “ตาแมว” เพิ่มความปลอดภัยบนถนนโดยบังเอิญจนร่ำรวย

ภาพประกอบเนื้อหา - ไลท์โดม (Lightdome) บนถนน เมื่อมีนาคม 2009 ไม่ปรากฏสถานที่ (ไฟล์ public domain/wikimedia commons)

รู้จัก “เพอร์ซี ชอว์” ชาวบ้านผู้คิดค้น ตาแมว เพิ่มความปลอดภัยบนถนนโดยบังเอิญจนร่ำรวย

จากผู้รับเหมาก่อสร้างถนนที่ทำธุรกิจมาแล้วหลากหลายอย่าง เพอร์ซี ชอว์ (Percy Shaw) ชาวเมืองยอร์คเชียร์ กลับกลายเป็นเศรษฐี จากความบังเอิญที่เขาเหลือบไปเห็นแสง 2 จุด ส่องทะลุขึ้นมาในความมืด ขณะขับรถกลับบ้านตอนกลางคืน

ชอว์มีพี่น้องทั้งหมด 15 คน ครอบครัวของเขาอาศัยอยู่ในบ้านที่สร้างตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 หลังเล็กๆ ในเมืองยอร์คเชียร์ ที่ไม่มีทั้งไฟฟ้าและแก๊ส

สมาชิกทุกคนในบ้านหลังนี้มีความสามารถทางดนตรี โดยเฉพาะเพอร์ซี ชอว์ เขาชอบเล่นฟรุตและไวโอลิน ทว่าความสามารถทางดนตรีของเขาไม่สามารถไปได้ไกลกว่านี้ เมื่อชอว์ต้องออกจากโรงเรียนตอนอายุ 13 แล้วเข้าไปทำงานในโรงงานผลิตผ้าห่ม เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

สงครามโลกครั้งที่ 1 (ค.ศ. 1914) นำความยากแค้นและหวาดหวั่นมาสู่ชาวอังกฤษ แต่กลับเป็นโอกาสในการสร้างตัวของสองพ่อลูกตระกูลชอว์

เพอร์ซีกับพ่อซึ่งทำงานในโรงงานย้อมผ้า ได้ดัดแปลงโรงนาเป็นสถานที่ผลิตลวดชนิดพิเศษที่ใช้ทำผ้าพันแข้งทหาร และทำโรงงานตีเหล็กสำหรับกล่องกระสุนและหัวปลอกกระสุนให้กับกองทัพอีกด้วย ในปี ค.ศ. 1930 หลังจากพ่อแม่เสียชีวิตแล้ว เพอร์ซียังอาศัยอยู่ที่บ้านหลังเดิม และรับเหมาสร้างถนนรวมทั้งทางเดินในสวนส่วนตัว

วันหนึ่งขณะเพอร์ซีขับรถฟอร์ดที่เขาซื้อในปี ค.ศ. 1916 ผ่านถนนเชื่อมระหว่างควีนส์เบรีกับบูธทาวส์ ซึ่งมีรางเหล็กของรถรางไฟฟ้าฝังบนถนน นอกจากนี้ถนนยังลาดชัน หมอกลงจัด และค่อนข้างมืด

เพอร์ซีค่อยๆ ขับรถและรู้สึกไม่ดีเมื่อนึกถึงข้อที่ว่าคนจำนวนมากต้องมาจบชีวิตบนถนนเส้นนี้ เพราะมองไม่เห็นอะไรสักอย่างจนต้องพลัดตกลงข้างทาง ทันใดนั้นชอว์ก็มองเห็นแสงสว่าง 2 จุดวาบขึ้นมาในความมืด เขาพบว่าแสงนั้นเกิดจากดวงตาของแมวตัวหนึ่งที่นั่งอยู่บนรั้วตรงฝั่งถนนที่ลาดเทลงไป…แมวตัวนั้นเองที่ช่วยชีวิตเขาไว้ และเพอร์ชีก็เกิดความคิดเข้าท่าซึ่งจะทำให้เขาร่ำรวยมหาศาล

สิ่งที่ผุดขึ้นมาในหัวเพอร์ซี่คือ หมุดสะท้อนแสงสำหรับถนน เขาลงทุนเดินทางไปเชโกสโลวะเกีย เพื่อหาผลึกแก้วบริสุทธิ์ที่จะใช้ทำหมุด และเปิดโรงงานเล็กๆ ในโรงนาที่รวมธุรกิจทุกอย่างของตระกูลไว้ด้วยกัน

ทุกคืนเพอร์ซีจะนำหมุดต้นแบบที่หลอมเสร็จแล้วออกไปยังท้องถนนแล้วฝังมันลงไปบนพื้น…แล้วแกะกลับบ้านเพื่อตรวจสอบคุณภาพ

เขาใช้หมอนยางรองหมุดที่ปิด-เปิดได้เหมือนเปลือกตาเวลารถแล่นทับ ทำให้หมุดดูสะอาดอยู่เสมอ แม้ผู้คนมากมายจะหัวเราะเยาะสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ แต่เพอร์ซีขอจดสิทธิบัตรหมุดสะท้อนแสงสำหรับถนน ที่เขาเรียกว่า “ตาแมว” ในปี ค.ศ. 1934

เพอร์ซียินยอมออกค่าใช้จ่ายเองเพื่อสาธิตให้เจ้าหน้าที่รัฐดูว่ามันทำงานได้ผลแค่ไหน แม้หลายคนจะพอใจผลงานของเขา แต่ก็ยังคิดว่าไม่มีความจำเป็นเท่าใดนัก กระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 ปะทุขึ้น จึงเริ่มกลายเป็นสินค้าทำเงิน

ยิ่งเมื่อหนังสือพิมพ์พาดหัวข่าวว่า “ตาแมว” 5,000 ตัว ช่วยแก้ปัญหาเวลาไฟดับ ยิ่งทำให้ใบสั่งซื้อหลั่งไหลเข้ามามากขึ้นจนเพอร์ซีต้องขยายโรงงานเลยทีเดียว

ชายหนุ่มแห่งยอร์คเชียร์ได้รับเลือกให้เป็นบุคคลสำคัญในภาคเหนือในปี ค.ศ. 1947 และแม้แต่เจ้าหญิงอลิซเบธที่ 2 (ในขณะนั้น) ยังชื่นชมว่า เป็นประดิษฐกรรมยอดเยี่ยมที่สุดเพื่อประโยชน์บนท้องถนน ทั้งยังพระราชทานโอกาสให้เพอร์ซีเข้าเฝ้าอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้จะร่ำรวยและมีชื่อเสียง แต่เพอร์ซีก็ยังคงใช้ชีวิตอย่างสมถะ โดยอาศัยอยู่ที่บ้านหลังเดิมและเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกเล็กๆ น้อยๆ เข้าไปเท่านั้น ของฟุ่มเฟือยอย่างเดียวที่มีคือ รถโรลสรอยซ์ 2 คัน ที่เขาจอดไว้ในสวนข้างบ้านด้วยความภาคภูมิใจ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “สิ่งประดิษฐ์ของคนหัวรั้น…ของธรรมดาที่เปลี่ยนโลก (ตอนที่ 1)” เขียนโดย วารยา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2553


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2565