ทัศนคติของจีนโพ้นทะเลรุ่นบุกเบิกที่ควรปฏิบัติต่อคนจีนด้วยกัน

อุเทน เตชะไพบูลย์ (ภาพจาก อุเทน เตชะไพบูลย์ เจ้าสัวผู้ปลูกกุศลไว้ในแผ่นดิน)

ถ้าย้อนหลังไปประมาณ 40-50 ปีก่อนเป็นต้นไป สังคมของคนไทยเชื้อสายจีน หรือลูกหลาน จีนโพ้นทะเล ในไทย (และน่าจะร่วมถึงพื้นที่อื่น) พบว่าแต่ละชุมชนมักจะเป็นการรวมตัวของผู้คนที่มีภูมิลำเนาเดิมเดียวกัน (ที่เมืองจีน), การซื้อขายอุดหนุนช่วยเหลือกันคนแซ่เดียวกันก่อน ฯลฯ ค่อนข้างเหนียวแน่น

อุเทน เตชะไพบูลย์ (พ.ศ. 2456-2550) ที่มีบ้านเกิดอยู่ที่ตำบลซัวเล่ง, อำเภอเตี้ยเอี้ย เมืองแต้จิ๋ว มณฑลกวางตุ้ง ซึ่งอพยพมาสร้างธุรกิจในเมืองไทย เจ้าสัวหมื่นล้านเจ้าของกิจการใหญ่ในอดีตไม่ว่าจะเป็นธนาคาร, กิจการสุรา, ประกันภัย, อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ ขณะที่ในกิจการงานกุศลก็เคยเป็นกรรมการรุ่นบุกเบิกของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง และประธานกรรมการของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง กล่าวถึงทัศนคติของคนจีนต่อคนจีนด้วยกันว่า

คนจีนไปอยู่ที่ไหนในโลกนี้ ควรต้องมีความสัมพันธ์อย่างน้อย 3 รูปแบบคือ ต้องมี 地缘 (ตี่อ๊วง) 血缘 (ฮ้วยอ๊วง) และ 善缘 (เสี่ยงอ๊วง)

คำว่า ตี่อ๊วง หมายถึง สายสัมพันธ์ในกลุ่มท้องถิ่นบ้านเกิดที่มีภาษาพูดและวัฒนธรรมเดียวกัน ในเมืองไทยตอนนี้มีอยู่ 9 สมาคม เช่น สมาคมแต้จิ๋ว สมาคมฮกเกี้ยน เป็นต้น

ฮ้วยอ๊วง หมายถึง สายสัมพันธ์ทางสายเลือดตระกูลแซ่เดียวกัน ไม่ว่าจะเกิดที่ไหนก็ถือว่าบรรพบุรุษเดียวกัน อย่างแซ่แต้ของเรารวมกันตั้งสมาคมเตชะสัมพันธ์ มีสมาชิกเกือบหมื่นคน มาร่วมกันทำบุญคารวะบรรพบุรุษและร่วมกันทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ เช่น ก่อสร้างศูนย์บริการสาธารณสุขให้กับทางราชการ

เสี่ยงอ๊วง หมายถึง สายสัมพันธ์ทางบุญวาสนาและวัฒนธรรม เรามาร่วมกันประกอบกุศล อย่างมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งมีเครือข่ายพันธมิตรบรรเทาภัย 46 องค์กร มาร่วมกันมีทั้งสมาคม มูลนิธิ และหนังสือพิมพ์จีน เวลาเราทำอะไรก็เหมือนว่าคนจีนทั้งหมดทุกกลุ่มมาช่วยกันทำ มากบ้างน้อยบ้างตามแต่กำลัง เขายกให้มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งเป็นผู้นำ”

แม้ปัจจุบันทัศนคติเช่นนี้จะคลายไปบ้าง แต่ก็ใช่ว่าจะหมดไปเสียทีเดียว ในเครือข่ายธุรกิจของจีนโพ้นทะเล ยังคงมีเรื่องคนบ้านเกิดเดียวกัน, คนแซ่เดียว เป็น “ลมใต้ปีก” ที่ค่อยเกื้อหนุนกันเสมอ

คลิกอ่านเพิ่มเติม : ชาวจีนอพยพใหม่ เหมือน-แตกต่าง จากชาวจีนโพ้นทะเลอย่างไร?


ข้อมูลจาก :

พ.ญ. กรรณิการ์ ตันประเสริฐ. อุเทน เตชะไพบูลย์ เจ้าสัวผู้ปลูกกุศลไว้ในแผ่นดิน, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก ธันวาคม 2545


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 กันยายน 2564